ร่างของวาฬสเปิร์มที่ถูกซัดขึ้นมาเกยตื้นบนชายหาด อาจทำให้เราตั้งข้อสงสัยกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ แต่หากเดินเข้าไปเพ่งมองใกล้ๆ เราคงต้องตกใจกับถุงและขวดพลาสติกหลายกิโลกรัม ยังไม่นับรวมเศษพลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อยอีกจำนวนมหาศาล อัดแน่นอยู่ภายในท้องของวาฬที่น่าสงสาร
หลายปีที่ผ่านมา เรารับรู้ถึงปัญหาพลาสติกที่ทะลักล้นออกสู่ทะเล สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งชีวิตมากมาย แต่การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อลดใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันดูเป็นเรื่องยาก กระทั่งเรามีโอกาสได้ไปซึมซับแนวคิดรักษ์โลกกับเทศกาล Wonderfruit 2018 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 13-16 ธันวาคม 2561 ก็ทำให้เราตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่ทุกคนไม่ควรนิ่งนอนใจ อีกทั้งได้เรียนรู้วิธีจัดการพลาสติกในวันที่ขยะล้นโลก และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
Plastic Dreams | โลกไร้พลาสติก
ภายใต้บรรยากาศการเฉลิมฉลองของเหล่าวันเดอร์เรอร์ ท่ามกลางเสียงเพลงและงานศิลปะที่คึกคักตลอด 4 วันเต็ม วันเดอร์ฟรุ๊ตยังคงยึดมั่นในแนวคิด Plastic Dreams สานต่อความตั้งใจเพื่อโลกที่ปราศจากมลภาวะขยะพลาสติก โดยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์กรระดับสากล Plastic Pollution Coalition (PPC) มาตั้งแต่ปี 2017
โครงสร้างสถาปัตยกรรมบนทุกพื้นที่ของเทศกาลวันเดอร์ฟรุ๊ต ใช้วัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่เป็นหลัก และออกแบบให้กลมกลืนกับธรรมชาติ เพื่อสะท้อนความคิดสร้างสรรค์และตอกย้ำแนวคิดความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นสเตจสุดอลังการ บูธอาหาร ไปจนถึงโซนเวิร์คช็อปต่างๆ นอกจากนี้ บางส่วนภายในเทศกาล เช่น งานศิลปะ ที่นั่งพัก หลังคาบังแดด ยังสร้างสรรค์จากพลาสติกรีไซเคิลดีไซน์เก๋อีกด้วย
Singing Sea | เสียงสะท้อน จากมหาสมุทร
งานอินสตอลเลชันอาร์ตที่กลายเป็นไฮไลต์ในเทศกาลวันเดอร์ฟรุ๊ตของปีนี้ Singing Sea ผลงานของศิลปินไทย Satit Raksasri ซึ่งเกิดแรงบันดาลใจจากการเดินทางไปทำงานร่วมกับชุมชน และใช้ชีวิตอยู่ทะเลมานานถึง 3 ปี ได้เห็นผลกระทบของขยะในทะเล จึงต้องการสื่อสารออกมาในรูปแบบงานศิลปะ และตั้งคำถามกับคนดูว่า จริงๆ แล้ว เราฟังเสียงของธรรมชาติอยู่หรือเปล่า
ระฆังยักษ์สร้างขึ้นจากขยะทะเลที่รวบรวมมาได้ ตั้งแต่ แห อวน เชือกไนลอน ภาชนะพลาสติก ซากรองเท้าแตะ ไปขนถึงไฟแช็ก ภายในระฆังต่อวงจรเสียงที่สามารถโต้ตอบกับคนดูอัตโนมัติ เมื่อเราเคาะผนัง ระฆังก็จะมีซาวน์แอมเบียนต์ก้องกังวาล ชวนให้จินตนาการถึงเสียงโหยหวนของทะเล หากตีเบาเสียงก็จะเบา ตีดังเสียงก็จะดัง ซึ่งศิลปินต้องการสื่อความหมายว่า การที่เราทิ้งขยะมากน้อยก็ส่งผลกระทบในระดับที่ต่างกันไป แต่ท้ายที่สุดมันก็สะท้อนกลับมาที่ตัวเราอยู่ดี
ศิลปินนำวัสดุอย่างแห หรืออวน ที่ส่งมาจากชาวบ้านในจังหวัดสตูล สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมถึงขยะพลาสติกในทะเลพัทยา มาสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ โดยวัสดุส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Trash Hero Thailand กลุ่มอาสาสมัครที่มีภารกิจเก็บขยะ และ ทะเลจร แบรนด์รองเท้ารีไซเคิล ผลิตจากรองเท้าแตะที่หลงทางลอยมากับทะเลกลายเป็นขยะตามชายหาด ซึ่งศิลปินได้นำส่วนที่เหลือจากการทำพื้นรองเท้ามาเป็นองค์ประกอบในชิ้นงาน
“ขยะไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีพาสปอร์ต มันเดินทางไปได้ทั่วโลก แล้วก็เป็นอะไรที่สากล เราจึงตั้งใจนำขยะมาถ่ายทอดเป็นงานศิลปะ”
Precious Plastic | ขยะมีค่า รีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากการออกแบบตามแนวคิด Eco ที่สอดแทรกอยู่ในทุกรายละเอียด วันเดอร์ฟรุ๊ตยังสร้างประสบการณ์การอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน หนึ่งในนั้นคือเวิร์คช็อปที่ทั้งสนุกและได้ความรู้จาก Precious Plastic Bangkok เวิร์คช็อปง่ายๆ ที่ทำให้เราเห็นคุณค่าของพลาสติก เปลี่ยนมุมมองจากขยะที่ไร้ประโยชน์ นำกลับมาสร้างมูลค่าได้อีกครั้ง
Precious Plastic เป็นคอมมูนิตีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก มีต้นกำเนิดจากประเทศเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ปี 2013 เพื่อเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับขยะพลาสติกที่ใครๆ ก็มองว่าไร้ค่า ให้กลายเป็นโปรดักต์เก๋ๆ โดยสร้างเครื่องรีไซเคิลพลาสติกขึ้นมา 2 ตัว ได้แก่ เครื่องบดและเครื่องอัดรีดพลาสติก
ขั้นตอนเวิร์คช็อปเริ่มจากคัดแยกสีของฝาขวดพลาสติก จากนั้นใส่ลงไปในเครื่องบดเพื่อย่อยออกมาเป็นเกร็ดเล็กๆ สเต็ปต่อมานำเกร็ดพลาสติกที่ได้ไปใส่เครื่องอัดรีดพลาสติก ความร้อนจะหลอมพลาสติกออกมาเป็นเส้นๆ แล้วจึงขึ้นรูปเข้ากับแม่พิมพ์เป็นสิ่งของต่างๆ เช่น ที่รองแก้ว ถ้วยชาม โคมไฟ กระถางต้นไม้
Precious Plastic ยังจับมือกับ Trash Hero และองค์กรอื่นๆ ร่วมกันเก็บขยะกับชุมชน และเวิร์คช็อปเผยแพร่ความรู้เรื่องรีไซเคิลพลาสติก ซึ่งนอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาขยะพลาสติกไม่ให้ออกไปสู่แม่น้ำลำคลองแล้ว ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิลยังช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน นอกจากนี้ ทุกชุมชนก็สามารถประกอบเครื่องรีไซเคิลพลาสติกนี้ด้วยตนเอง แถมบนเว็บไซต์ยังมี Blueprints และ Technical Drawing ให้ทุกคนเข้าไปดาวน์โหลดมาใช้ได้ฟรีๆ preciousplastic.com
“ขยะชิ้นหนึ่งอยู่บนโลกถึง 50 ปี แต่เราแปรรูปมันมาเป็นกระถางต้นไม้ ภาชนะในบ้าน แล้วมันอยู่ได้อีก 20 ปี ดีกว่าไปอยู่ในแหล่งน้ำหรือท้องทะเล”
Pay It Forward | ความคิดเปลี่ยนโลก เริ่มที่ตัวเรา
หัวใจสำคัญของวันเดอร์ฟรุ๊ต ยังคงยืดมั่นในนโยบายไม่ให้มีพลาสติกใช้แล้วทิ้งในงาน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปีแรกที่จัดเทศกาลวันเดอร์ฟรุ๊ตต่อเนื่องมาจนถึงปีที่ 5 โดยเชิญชวนให้เหล่าวันเดอเรอร์นำกระบอกน้ำพกพาของตนเองมาใช้เติมน้ำดื่มภายในเทศกาล แทนการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง
น้ำดื่มที่ชุ่มฉ่ำและคลายร้อนได้เป็นอย่างดีจากจุดเติมน้ำฟรีทั่วงาน เป็นน้ำที่มาจากทะเลสาบภายในพื้นที่จัดเทศกาลวันเดอร์ฟรุ๊ต ซึ่งผ่านกรรมวิธีเพื่อให้เป็นน้ำสะอาดปลอดภัย ดื่มได้สดชื่นตลอดทั้งวัน
ส่วนภาชนะจากทุกร้านก็ทำจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Biodegradable) ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่มีสารเคมีตกค้าง เพื่อเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นโลกไร้พลาสติกในอุดมคติ
หากกำลังมองหาไอเท็มรักษ์โลกเก๋ๆ ต้องเดินเข้ามาที่บูธของ Fuse Culture ที่นำสร้อยข้อมือสุดฮิป 4Ocean มาขายในไทย หากดูเผินๆ สร้อยข้อมือนี้อาจดูไม่ต่างจากแอคเซสเซอรีทั่วไป แต่ความพิเศษคือลูกปัดใสๆ ที่ร้อยกับสายสร้อย ล้วนทำจากขยะรีไซเคิลอย่างแก้วและพลาสติกที่เก็บขึ้นมาจากทะเล ซึ่งรายได้จากสร้อยข้อมือ 1 เส้น จะช่วยกวาดขยะออกจากมหาสมุทรและชายฝั่งได้ถึง 1 ปอนด์ หรือประมาณ 0.45 กิโลกรัม
ไอเดียนี้เริ่มต้นมาจากหนุ่มนักเซิร์ฟสองคนที่ก่อตั้ง 4Ocean องค์กรพิทักษ์มหาสมุทรขึ้นในปี 2017 ที่ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาขยะทะเล เฉพาะปี 2017 4Ocean เก็บขยะได้รวมน้ำหนัก 250,000 ปอนด์ หรือ 113,398 กิโลกรัม และทำให้คนทั่วโลกสนใจที่จะมีส่วนร่วม
ปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องช่วยกัน หากไม่เริ่มต้นตอนนี้ วันข้างหน้าเราอาจต้องจมอยู่ในกองขยะพลาสติก ไม่ต่างจากเหล่าสัตว์น้ำไร้เดียงสาที่ต้องเผชิญกับมลภาวะขยะฝีมือมนุษย์
คุณเองก็สามารถลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ เพื่อโลกและอนาคตของเรา เช่นเดียวกับกลุ่มคนตัวเล็กๆ ที่ได้พบเจอในเทศกาลที่เต็มไปด้วยสีสันและความสนุกนี้ ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจดีๆ และความหวังที่จะได้เห็นโลกกลับมาสวยงามไร้ขยะพลาสติกอีกครั้ง