A.R.M.Y x ร้านรถเข็น ติ่งเกาหลีฟื้นชีวิตแม่ค้าตัวเล็ก - Urban Creature

4 โมงเย็น วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2564 ฉันสวมหูฟังเปิดมิวสิกวิดีโอดนตรีสนุกอย่าง ‘Dynamite’ จากบอยแบนด์เกาหลีใต้วงบีทีเอส หรือ BTS ซึ่งย่อมาจาก 방탄소년단 (บังทันโซนยอนดัน) เพราะเป็นวันที่มิวสิกวิดีโอของพวกเขายอดวิวทะลุ 750 ล้านวิวพอดี สารภาพว่าขนาดฉันไม่ใช่อาร์มี่ หรือ A.R.M.Y (ชื่อแฟนคลับวงบีทีเอส) ยังฟังแทบทุกวันและขึ้นแท่นเพลงโปรด 5 อันดับแรกที่เปิดฟังทุกเช้าก่อนเข้าออฟฟิศ

ส่วนเฉลยว่าทำไมต้องฟังตอน 4 โมงเย็น ตอบไม่ยืดยาวได้ว่าฉันอยากไปซื้อลูกชิ้นปิ้งร้าน ‘ป้าหน่อย’ ที่เริ่มตั้งร้านเวลานั้น หน้าห้างฯ เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก กินสักหลายๆ ไม้ พร้อมถ่ายภาพหน้าร้านที่มีป้ายสุขสันต์วันเกิดวัย 26 ปี ของคิม แทฮยอง หรือ วี หนึ่งในสมาชิกวงบีทีเอส

‘คชา’ เจ้าของแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ @nuna_vmin หนึ่งในผู้ดูแลเบื้องหลังโปรเจกต์บอกฉันว่าการติดป้ายสุขสันต์วันเกิดศิลปินครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนๆ ตรงที่ไม่ได้ทำเพื่อโปรโมตศิลปินที่รักเพียงอย่างเดียว แต่ตั้งใจเพิ่มรายได้ให้แม่ค้าตัวเล็กๆ ผ่านพ้นสถานการณ์โควิดอันยากลำบากนี้ไปพร้อมๆ กัน

ขอสารภาพตรงนี้ว่าตลอดการเขียนบทความชิ้นนี้ ฉันมีความในใจถึงเหล่าอาร์มี่เป็นประโยคสั้นๆ ว่า “วีต้องภูมิใจกับของขวัญวันเกิดปีนี้แน่นอน”


01 Dynamite – สว่างสดใสเหมือนระเบิดไดนาไมต์

“เป็นครั้งแรกที่มีน้องๆ มาขอติดป้ายโฆษณาหน้ารถเข็นเรา ป้าเลยได้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเพราะกลุ่มแฟนคลับน้องแทฮยอง พอคนเข้ามาถ่ายรูปกันเสร็จ ก็จะอุดหนุนป้าต่อ ดีใจมาก”

ป้าหน่อย-บุษบา สมทา แม่ค้าลูกชิ้นวัย 43 ปี สวมหมวกสีกรม เสื้อยืดสีฟ้า พกใบหน้ายิ้มร่า ต้อนรับลูกค้าทุกคน ในขณะที่มือสองข้างพลันหยิบลูกชิ้นและไส้กรอกเสียบไม้ขึ้นปิ้งบนตะแกรง เธอบอกฉันว่า หลังจากที่ป้ายสุขสันต์วันเกิดวี วงบีทีเอส ถูกติดครั้งแรกวันที่ 24 ธันวาคม ปีที่แล้ว จนมาถึงต้นปีใหม่นี้ รายได้จากการขายลูกชิ้นเพิ่มขึ้นจากแต่ก่อน ซึ่งไม่ใช่ป้าหน่อยคนเดียวในละแวกนี้ที่ถูกติดป้าย ยังมีลุงพ่อค้าขายลูกชิ้น คนขายข้าวไข่เจียว และรถอาหารรวม 4 คัน

นอกจากจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้นเพราะได้รับความสนใจจากผู้พบเห็นแล้ว อาร์มี่ยังได้โปรโมตศิลปินที่รักไปพร้อมๆ กัน

“ป้าสนับสนุนให้มีแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไอเดียน่ารักมาก แถมเด็กๆ ยังบอกป้าว่าพวกเขาจะกระจายข่าวให้กลุ่มแฟนคลับศิลปินคนอื่นๆ ติดป้ายช่วยเหลือแม่ค้าตัวเล็กๆ แบบนี้ในหลายๆ พื้นที่ทั่วไทยเลย”

ก่อนป้ายโฆษณาจะถูกโยกย้ายมาไว้หน้ารถเข็นของป้าหน่อย หลายคนอาจคุ้นตาหรือเดินผ่านป้าย LED ขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและบนดิน ที่เป็นผลงานชิ้นโบแดงของเหล่าแฟนด้อมเกาหลีเพื่อโปรโมตศิลปินที่รักให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยวัฒนธรรมการติดป้ายสุขสันต์วันเกิดศิลปินนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าติ่งเกาหลีนี่แหละที่เป็นผู้บุกเบิก ซึ่งพวกเขาเรียกการจัดโปรเจกต์นี้ว่า ‘การเปย์’

อย่างที่รู้กันว่าการเปย์ก็คือการจ่าย ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออัลบั้ม การซื้อของออฟฟิเชียล การส่งของขวัญไปให้ศิลปิน และรวมไปถึงการสนับสนุนที่เรียกว่าการจ่ายทางใจอย่างการสตรีมเพลง การปั่นยอดเข้าชมมิวสิกวิดีโอก็นับเป็นการจ่ายด้วยเช่นกัน แต่มันลึกซึ้งกว่านั้น เพราะการจ่าย 1 ครั้ง ของติ่งเกาหลี = การต่อความสุขให้ตัวเองในวันแย่ๆ สดใสขึ้นทันตา และต่อเวลาให้ศิลปินที่ชอบอยู่หน้าสปอตไลต์ไปได้อีกนานๆ

“การจัดโปรเจกต์วันเกิด เราทำเพื่อฉลองให้ศิลปิน และเป็นโอกาสในการนัดรวมตัวกันในหมู่แฟนคลับ เรื่องพวกนี้ส่งผลดีในแง่ความรู้สึกมาก เพราะเป็นความสุขทางใจที่ได้ทำเพื่อศิลปิน แม้ศิลปินจะรับรู้หรือไม่ แต่เหล่าแฟนคลับก็ยินดีและเต็มใจทำเสมอ”

นี่คือประโยคแรกๆ ที่ ‘คชา’ เจ้าของแอ็กเคานต์ @nuna_vmin หนึ่งในตัวแทนอาร์มี่ผู้ดูแลโปรเจกต์ป้ายวันเกิดวีบอกฉันขณะสัมภาษณ์ ก่อนยิ้มภูมิใจให้กับป้ายฟิวเจอร์บอร์ดขนาด 100 x 46 ซม. และเสริมว่า

“ความภูมิใจของเราคือการที่ป้ายสุขสันต์วันเกิดที่เราทำกันเป็นประจำก่อนหน้านี้ ในวันนี้ไม่ได้ทำหน้าที่แค่โปรโมตศิลปินที่เรารักอย่างเดียวแล้ว แต่ยังเป็นพลังช่วยชีวิตคนที่ประสบปัญหาในช่วงนี้ได้ด้วย”

02 Spring Day – อยากจับมือคุณไว้

คชา วัย 37 ปี ชื่นชอบวีและเป็นอาร์มี่มา 3 ปี นิยามความรักระหว่างตนกับศิลปินว่าเป็น Unconditional love ที่หวังให้วีมีความสุขและยิ้มได้ในทุกๆ วัน ส่วนในวันที่คชารู้สึกแย่เอง แค่นั่งดูคลิปน่ารักๆ ของวี เปิดเพลงบีทีเอสที่แฝงเนื้อร้องให้กำลังใจดังลั่นห้อง แค่นี้วันแย่ๆ ก็ไม่แย่สักเท่าไหร่

“ช่วงนี้คิดถึงเขาไหม” ฉันถาม
“คิดถึงเขามากๆ อยากเจอ แต่เจอไม่ได้ช่วงโควิดค่ะ (ส่งสติกเกอร์รูปร้องไห้)” คชาตอบ

คชาบอกฉันว่าปกติแล้วการจัดทำป้ายโฆษณาโปรโมตศิลปิน กลุ่มแฟนด้อมเกาหลีนิยมทำป้าย LED ในสถานีรถไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นขนส่งสาธารณะที่คนเมืองใช้บริการมากและมองเห็นได้ง่าย แต่หลังเกิดเหตุการณ์ปิดสถานีรถไฟฟ้าในช่วงชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ทุกแฟนด้อมของติ่งเกาหลีต่างพากันยกเลิกการติดตั้งป้ายในสถานีรถไฟฟ้า เพราะไม่เห็นด้วยกับการปิดทางสัญจรให้ผู้ชุมนุม

เมื่อขนส่งสาธารณะเดิมที่เคยติดเป็นประจำในวันนี้ต้องโบกมือลา คชาและทีมจึงคิดหาการติดป้ายแบบใหม่ที่คนมองเห็นได้เยอะ (กว่าเดิม) แถมยังได้หลีกหนีจากระบบคนตัวใหญ่มาช่วยเหลือคนตัวเล็กแทน ‘รถตุ๊กตุ๊ก’ จึงเป็นขนส่งสาธารณะใหม่ที่ตอบโจทย์ ณ ขณะนั้น โดยเริ่มจากติดป้ายวันเกิดหลังรถตุ๊กตุ๊กตั้งแต่วันที่ 1 – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยออกเงินส่วนตัวกันเองและช่วยกันทำทุกขั้นตอน ตั้งแต่เลือกรูป จ้างออกแบบป้าย หรือบางป้ายก็ออกแบบกันเอง และจ้างคนขับรถตุ๊กตุ๊ก 26 คัน ซึ่งมีราคาเทียบเท่าค่าเช่า 1 ป้ายในรถไฟฟ้า แต่รอบนี้ผลประโยชน์ได้ตกสู่คนขับรถตุ๊กตุ๊กที่มีรายได้ดีขึ้นจากโปรเจกต์ดังกล่าว

หลังจากเปลี่ยนการติดป้ายวันเกิดในรถไฟฟ้ามาแล่นบนถนนหลังรถตุ๊กตุ๊กจนกระแสตอบรับดีใช่ย่อย แต่ป้ายดันโดนขโมยไปซึ่งๆ หน้า ทางกลุ่มแฟนคลับจึงนัดพี่ตุ๊กตุ๊กเพื่อนำป้ายใหม่ไปติดแทน ทว่าคุณลุงคนขายลูกชิ้นรถเข็นละแวกนั้น ถามคชาและเพื่อนๆ ว่า “ไม่ติดรถลุงบ้างเหรอ” ความอยากในการติดป้ายหน้ารถเข็นของคชาจึงพุ่งขึ้นเต็มร้อย ไม่กี่วันถัดมาคนสัญจรแถวสถานีรถไฟฟ้าราชดำริก็เห็นรูปวี บีทีเอสหน้ารถเข็นของลุงๆ ป้าๆ 4 คัน ที่ได้มาจากการรับบริจาคเงินภายในกลุ่มอาร์มี่

ส่วนวิธีการเลือกรูปขึ้นป้าย คชาอธิบายให้ฉันฟังว่า ไม่มีหลักการอะไรซับซ้อน แค่เลือกรูปหล่อๆ น่ารักๆ และต้องเป็นรูปที่เผยแพร่สาธารณะจาก Big Hit Entertainment ต้นสังกัดของวงเท่านั้น ห้ามเป็นรูปที่ผิดลิขสิทธิ์อื่นๆ ส่วนการออกแบบต้องบรีฟอารมณ์ภาพให้คนออกแบบก่อนทุกครั้ง เช่น อยากให้ดูหล่อแบบไหน หล่อแบบดึงดูดสะกดตาก็แบบหนึ่ง หล่อน่ารักจนต้องยิ้มตามก็แบบหนึ่ง ซึ่งแต่ละภาพจะสร้างประสบการณ์ให้ผู้พบเห็นได้คนละแบบ

ในมุมของคชา ป้ายโฆษณายุคปัจจุบันนับเป็นสีสันให้ชีวิตคนเมือง บางป้ายไอเดียการออกแบบดึงดูดชวนมอง ยิ่งทุกวันนี้ผู้คนอยู่บนท้องถนนมากกว่าอยู่บ้าน จึงไม่แปลกที่จำนวนผู้พบเห็นต่อวันจะมีจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นผลดีต่อเจ้าของผลงาน และทำให้คนเห็นความสำคัญของงานออกแบบมากขึ้นอีก แต่มันจะดีขึ้นไปอีกถ้าป้ายเหล่านั้นได้สร้างประโยชน์หรือช่วยเหลือคนที่ยากลำบากในสังคม ซึ่งการติดป้ายโฆษณาหน้ารถเข็นของพ่อค้า-แม่ค้า คชาบอกว่า ทำให้มีคนเห็นป้ายโฆษณาวันเกิดศิลปินมากขึ้นจากแต่ก่อน เพราะครอบคลุมทั้งคนเดินเท้า คนนั่งรถเมล์ คนใช้รถยนต์ ไม่ผูกขาดจำกัดกลุ่มเหมือนตอนที่ติดในสถานีรถไฟฟ้า แถมครั้งนี้ยังช่วยเรียกความสนใจให้ผู้คนเดินเข้าไปถ่ายรูปและอุดหนุนพ่อค้า-แม่ค้ารถเข็นมากขึ้นเช่นกัน

“กว่าคนขายลูกชิ้นจะขายหมดแต่ละวัน ถือเป็นเรื่องท้าทายมากในช่วงโควิดแบบนี้ ลุงๆ ป้าๆ บอกเราว่าลูกค้าเขาหาย ลูกค้าน้อยลง ทำให้รายได้ลดลงตามไปด้วย แม้พวกเราจะไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงนโยบายเยียวยาคนตัวเล็กๆ สิ่งที่เราทำได้จึงเป็นเพียงการยื่นมือเข้าไปช่วยให้เขาขายดีขึ้น” คชากล่าว


03 Life Goes On – เชื่อมวันนี้และพรุ่งนี้เข้าด้วยกัน

โปรเจกต์ดีๆ ในการช่วยเหลือสังคมครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของ Thai A.R.M.Y หรือ กลุ่มอาร์มี่ชาวไทย ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้ทำกิจกรรมบริจาคเลือด บริจาคเงินตามองค์กรการกุศลมากมาย ช่วยเหลือบ้านเด็กกำพร้าและเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จนมาถึงโปรเจกต์ป้ายวันเกิดที่ช่วยเหล่าคนค้าขายบนท้องถนนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตโรคระบาดแบบนี้

“เราดีใจที่หลายๆ แฟนด้อมทักมาขอข้อมูล ขอคำแนะนำในการทำโปรเจกต์ เพราะเราคิดว่าจะดีกว่าเยอะค่ะ ถ้าทุกคนช่วยๆ กันทำให้คนตัวเล็กๆ ได้ลืมตาอ้าปาก หลายมือย่อมดีกว่ามือเดียวอยู่แล้ว”

นอกจากนี้ ในฐานะติ่งเกาหลีที่คลุกคลีอยู่กับข่าวของประเทศเกาหลีตลอดมา คชาบอกฉันว่า วิธีการจัดการในประเทศเกาหลีใต้ในสถานการณ์โควิดมีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าประเทศไทยมาก ซึ่งคชาอยากเห็นการจัดการแบบนี้ในประเทศที่ตัวเองยืนอยู่บ้าง เช่น การเปิดให้ประชาชนคนไทยตรวจโควิดฟรี

BTS (방탄소년단) ‘Life Goes On’ Official MV (https://bit.ly/2XjktDV) เป็นลิงก์เพลงใหม่จากวงบีทีเอสที่คชาส่งมาให้ฉันฟัง พร้อมบอกว่า ฟังแล้วอาจเป็นกำลังใจในการเขียนบทความนี้ได้

Like an echo in the forest – เหมือนเสียงสะท้อนที่ดังก้องในผืนป่า
하루가 돌아오겠지 (ฮารูกา โทราโอเกดจี) – วันเวลาจะย้อนกลับมาดังเดิม

“ขอให้ทุกคนผ่านสถานการณ์อันยากลำบากนี้ไปได้นะคะ” – อั้ม (ผู้เขียน)

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.