ด็อกมี (แสดงโดย พัคมินยอง) จากซีรีส์ Her Private Life เบื้องหน้าเป็นภัณฑารักษ์ แต่เบื้องหลังเป็นติ่งเกาหลีที่ปิดบังความลับไม่ให้เจ้านายและเพื่อนร่วมงานรู้ เพราะกลัวโดนไล่ออกและถูกนินทา อนึ่งเธอแคร์สายตาเจ้านายและคนในสังคม
ซอดัลมี (แสดงโดย ซูจี) จากซีรีส์ Start-Up โกหกพี่สาวและแม่แท้ๆ ที่ทิ้งเธอไปตั้งแต่เด็กว่ามีแฟนหล่อ รวย เป็นเจ้าของธุรกิจ และการงานมั่นคง ทว่าความจริงเป็นเพียงเรื่องแต่ง เพราะอยากให้ครอบครัวมองว่าเธอโชคดี อนึ่งเธอแคร์สายตาครอบครัว
อิมจูกยอง (แสดงโดย มุนกายอง) จากซีรีส์ True Beauty ทิ้งระยะห่างกับแฟน เพราะไปรู้ว่าเพื่อนสนิทของเธอแอบชอบแฟนตัวเอง แต่สาวเจ้าไม่รู้จะทำอย่างไร จึงเก็บมาหน้านิ่วคิ้วขมวดเครียดคนเดียวที่บ้าน พลางให้แฟนสงสัยอีกว่าเธองอนอะไรกันแน่ อนึ่งเธอแคร์สายตาเพื่อนจน ‘เกินนนนนน’ ไป และลืมแคร์ความรู้สึกตัวเอง
3 ซีรีส์เกาหลีข้างต้นเป็นซีรีส์ที่สนุก ลุ้น ฟิน ได้ด้วยพล็อต นักแสดง และซาวนด์ประกอบ แต่ระหว่างทางกว่าจะถึงจุดไคลแมกซ์ หลายครั้งก็ต้องทุบหมอนตอนดูอยู่หลายครั้งเพราะคาแรกเตอร์นางเอ๊กนางเอกที่ ‘แคร์ทุกคนบนโลก’ แต่ ‘ไม่แคร์ตัวเอง’ ถูกใส่พานมาประเคนให้คนดูเอาใจช่วยและเผลอพูดใส่จออยู่เนืองๆ ว่า “ทำไมแคร์ทุกคนขนาดนี้” “ไม่แคร์บ้างก็ได้” “สู้เขาสิ อย่าไปยอม!”
ถึงจะหงุดหงิดบ้างตอนดู แต่ในฐานะที่บางครั้งก็มีหลุดแคร์คนอื่นมากเกินไปอยู่หลายครั้ง จึงสงสัยว่าแท้จริงแล้วสภาวะแคร์ทุกคนบนโลกจนตัวเองเก็บมาปวดหัวเองนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และการแคร์ให้มีคุณภาพเป็นแบบไหนกัน งานนี้ พญ.เอฬิณา คำออน หรือ หมอฟรอยด์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ประจำโรงพยาบาลแพร่ มีคำตอบ
01 แคร์ ‘ทุกคน’ บนโลก หรือแคร์ ‘คนส่วนใหญ่’ ที่เจอ
ถ้าเกิดประโยค “แคร์ทุกคนบนโลก” ไม่มีจริง แล้วที่คนพูดกันบ่อยว่าแคร์ทุกคนบนโลกนั้น หมายความว่าอย่างไร
“คำว่า ‘ทุกคน’ อาจหมายถึงคนส่วนใหญ่ที่พบเจอ บังเอิญคนส่วนใหญ่เหล่านั้นดันมีลักษณะนิสัยที่คล้ายๆ กัน และมีความคิดเหมือนกัน จนทำให้เรามองภาพใหญ่ว่าแทบทุกคนในชีวิตเป็นแบบนั้น แบบนี้ ซึ่งถ้าเราเคยมีประสบการณ์ว่าทำแบบนั้นแล้วจะถูกเกลียด ทำแบบนี้แล้วจะไม่ถูกยอมรับ ไม่ทำตามเพื่อนจะโดนแบน หรือแสดงความคิดเห็นจะกลายเป็นเด็กก้าวร้าวจนคนรอบข้างไม่ชอบ เหล่านั้นจะปลูกฝังให้เราต้องแคร์เพราะกลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย”
หมอฟรอยด์ตั้งข้อสังเกตว่ามนุษย์เราจะไม่แคร์คนที่ไม่มีผลต่อชีวิตโดยตรง เช่น ถ้าพบคนมองเราผ่านๆ บนรถไฟฟ้า น้อยมากที่จะรู้สึกคิดแทนเขาว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ กลับกันถ้าเขาเริ่มวิจารณ์การแต่งตัวเราออกเสียงโดยตรง เราจะเริ่มหันมองตัวเองแล้วว่าวันนั้นเราแต่งตัวไม่ดีหรือเปล่า ความมั่นใจของเราจะถูกลดทอนลงเรื่อยๆ ยิ่งถ้าเป็นเสื้อผ้าลักษณะเดิมที่มักโดนทัก ยิ่งมีโอกาสที่ทำให้การออกจากบ้านครั้งหน้าจะสวมเสื้อผ้าชิ้นนั้นน้อยลง เพราะ ‘กลัวไม่ถูกยอมรับในสังคม’
ธงในใจของคนที่แคร์คนอื่นจนลืมแคร์ตัวเอง หมอฟรอยด์คิดว่ามาจาก ‘ความต้องการบางอย่างต่อคนเหล่านั้น’ เช่น การแคร์เพื่อน ทำตามเพื่อนทุกครั้ง เพื่อนบอกให้ทำอะไรก็ไม่กล้าปฏิเสธ เพราะมีความต้องการอยู่ในกลุ่มเพื่อน กลัวเพื่อนไม่คบ ซึ่งการกลัวเพื่อนไม่คบคือการกลัวว่าตัวเองจะไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม จึงยอมทุกอย่างเพื่อหวังจะได้ความรักจากเพื่อนคนนั้นๆ และกลัวเสียเขาไป รวมไปถึงการที่ลูกยอมเรียนในสิ่งที่พ่อแม่อยากให้เรียน บางคนก็อาจได้รับการปลูกฝังมาว่านี่คือสิ่งที่ทำให้พ่อแม่รักมากขึ้น และพวกเขาจะภูมิใจที่มีเราเป็นลูก
02 กฎในชีวิตที่สร้างขึ้นไม่รู้ตัว
ทุกคนจะมีกฎในชีวิตโดยไม่รู้ตัว หมอฟรอยด์อธิบายว่า มักเกิดจากการถูกหล่อหลอมมาตั้งเด็กจนโตทั้งจากครอบครัว โรงเรียน เพื่อน และค่านิยมในสังคม ทำให้เชื่อแบบนั้นมาโดยตลอด แม้จะไม่ใช่ความเชื่อที่ถูกต้องก็ตาม หลายคนทำตามคนอื่นเพื่อความสบายใจของตัวเอง (แม้ทำไปแล้วอาจจะไม่สบายใจมากกว่าเดิม) เพราะเรียนรู้มาว่าทำแบบนี้แล้วปลอดภัย ไม่โดนตำหนิ ได้รับการยอมรับแน่ๆ และถ้าไม่ทำจะขัดต่อ ‘กฎ’ ที่เคยเรียนรู้มา
การแคร์ทุกสิ่งอย่างรอบตัวเกี่ยวข้องกับอาการ Cognitive Distortion หรือรูปแบบความคิดที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ซึ่งอาจเกิดจากประสบการณ์ก่อนหน้าที่ทำแล้วคนรอบข้างตอบสนองไม่ดี จึงเลี่ยงที่จะทำสิ่งเดิมๆ เพราะคิดไปก่อนว่าจะได้รับผลตอบรับแย่ๆ กลับมาอีก จนนำไปสู่ความคิดด้านลบ มองโลกแย่ไปทั้งหมด และตีตนไปก่อนไข้
“บางคนมี Self Psychology ที่ประกอบด้วยอาการตีความไปเองก่อน มีอารมณ์ร่วมกับคนอื่นได้ง่าย และมักหลีกเลี่ยงการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง และ Self-esteem หรือการเคารพตัวเองน้อย มองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง จึงอยากได้รับการยอมรับจากคนอื่นผ่านคำชมหรือการกระทำ เพื่อยืนยันว่าตัวเรามีคุณค่า ทั้งที่จริงๆ ทุกคนก็มีคุณค่าอยู่แล้ว แค่เรามองข้ามไป”
ถ้าอ่อนแอเขาจะไม่รักเรา
ถ้าอ่อนแอแล้วจะไม่เป็นที่ยอมรับ
ถ้าอ่อนแอจะเป็นคนไม่ดี เพราะพ่อแม่สอนมา เราอ่อนแอไม่ได้
คนอ่อนแอแบบเรา ถ้าชอบเต้นก็อย่าเต้นเลย เพราะเพื่อนเคย “อี๋” เรามาแล้ว
ความรู้สึกเหล่านี้แทรกซึมลงในใจจนกลายเป็นเงื่อนไขในการดำรงชีวิตที่สร้างขึ้นมาเอง เพราะอ่อนแอ = ผิดไปหมดทุกอย่าง เราจึงไม่กล้าอ่อนแอ ทั้งที่ความจริงอ่อนแอบ้างก็ไม่เห็นเป็นอะไร
คนที่มีกฎในชีวิตที่ไม่ยืดหยุ่นจะปฏิเสธคนอื่นไม่เป็น เพราะคิดว่าปฏิเสธปุ๊บ นิสัยไม่ดีปั๊บ ส่วนคนที่มีกฎในชีวิตที่ยืดหยุ่นส่วนมากมักมี Supportive System หรือคนที่คอยอยู่ด้านหลังเรา อาจจะเป็นพ่อแม่ หรือคนที่ไว้ใจคอยช่วยเป็นกำลังใจอยู่บ่อยๆ ทำให้กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ มากขึ้น และพ่วงมาด้วยทักษะการแก้ปัญหาและการปลอบประโลมตัวเอง ถ้าวันไหนแคร์คนอื่นมากเกินจนไม่สบายใจ จะแยกแยะได้ว่าตอนนี้มากไปแล้ว และจัดการอารมณ์ได้ไวกว่า
ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่า หากไม่มีพ่อแม่หรือคนรอบข้างให้กำลังใจแล้วจะอยู่บนโลกนี้ไม่ได้นะ บางคนก็มีการแก้ปัญหาด้วยประสบการณ์ที่เผชิญบ่อยๆ ลองผิด ลองถูก จนรู้ว่าแบบไหนดีกับตัวเอง และสร้างทริกในการแคร์คนให้พอดีได้เหมือนกัน
03 พื้นอารมณ์ที่ติดตัวมากับการเลี้ยงดู
“คนแบบไหนที่มีแนวโน้มแคร์คนอื่นมากไป” ฉันถามหมอฟรอยด์
“คนที่มีพื้นอารมณ์กังวลง่าย” เธอว่า
พื้นอารมณ์ (Temperament) คือนิสัยซึ่งติดตัวมาตั้งแต่เด็กๆ คล้ายบุคลิกเฉพาะ บางคนสดใส ยิ้มแย้ม ขี้โมโห หรือขี้กังวล ซึ่งพื้นอารมณ์มักติดมาจากการเลี้ยงดูในครอบครัว
สำหรับปรากฏการณ์แคร์ทุกคนบนโลก หมอฟรอยด์บอกว่า มักพบในคนขี้กังวลง่าย กังวลว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับเรา วันนี้เราจะทำอะไรผิดไหม ทำอะไรให้เขาโกรธหรือเปล่า ความรู้สึกยุ่งเหยิงเหล่านี้จะเกิดง่ายกว่าคนที่มีพื้นอารมณ์แบบอื่น
“การเลี้ยงดูมีผลต่อพื้นอารมณ์มากที่สุด สมมติตอนเด็กๆ เราเป็นเด็กขี้กังวล ปรับตัวช้า แต่พ่อแม่เราใจเย็น คุมอารมณ์เก่ง ตอบสนองเรา ไม่ปล่อยให้เราร้องไห้คนเดียว ปลอบเราได้ตอนที่กังวล โตมาเราจะซึมซับเรื่องพวกนี้ และสามารถปลอบประโลมตัวเองได้ดีเมื่อไม่มีใคร
“ขณะเดียวกันถ้าเราขี้กังวล แล้วเจอพ่อแม่ที่เป็นคนกังวลง่าย กระสับกระส่ายตลอดเวลา คอยควบคุมชีวิตเราอยู่ตลอด ทำอะไรก็คอยตำหนิ ห้าม ว่า ชอบจับผิด เราจะกลายเป็นคนไม่กล้าทำอะไรเลย เมื่อโตขึ้นเราจะไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าปฏิเสธใคร ระแวง กังวล แคร์ทุกอย่าง บางอย่างเขาอาจจะไม่ได้คิดอะไร แต่เราคิดไปก่อนแล้ว เพราะเราเรียนรู้ลักษณะเหล่านี้มาจากพ่อแม่
“สิ่งแวดล้อมของเด็กส่วนใหญ่คือครอบครัว พ่อแม่จึงมีผลเยอะ แต่พอโตขึ้น สิ่งแวดล้อมอย่างคนรอบข้าง ค่านิยม ก็จะเข้ามามีผลมากขึ้น ถ้าเราไปอยู่กับคนที่ขี้กังวลง่าย ก็อาจได้รับความกังวลจากคนอื่นมาด้วยก็เป็นได้”
แต่หมอฟรอยด์บอกว่าก็ไม่สามารถบอกว่าทุกเคสจะโตมาแคร์ทุกคนบนโลกเพราะการเลี้ยงดูของพ่อแม่เสมอไป บางคนเกิดมาด้วยพื้นอารมณ์กังวล แต่โตมาแล้วได้อยู่ในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยคนจริงใจ ก็มีโอกาสจะแยกแยะระดับความแคร์ที่ไม่ทำร้ายตัวเองได้
04 แคร์ทุกคนมีแต่ทำให้เจ็บ
ผลเสียจากการเก็บสารพัดดีเทล คำพูด และการกระทำ ของคนอื่นมา ‘แคร์’ ถูกแบ่งออกเป็นผลเสียระยะสั้น และระยะยาว
ระยะสั้น – การแบกรับอารมณ์ความรู้สึกไว้บนบ่า จะทำให้เราเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังได้ เช่น ถ้าอยากเป็นนักร้อง แต่คนอื่นบอกว่าเป็นนักร้องเป็นเรื่องที่ผิด เราก็จะไปไม่ถึงฝัน เพราะกลัวโดนด่า การที่เราไม่อยากตัดสินใจแบบนั้นตั้งแต่แรก ทำให้เราต้องมาแบกรับความเสี่ยงจากผลการกระทำของเรา โอกาสที่น่าจะได้ กลับไม่ได้ และไม่รู้จะมาอีกเมื่อไหร่
ทว่า…คนที่เคยว่าเรา เขาไม่ได้มาแบกรับความรู้สึกแย่ตรงนั้นด้วยเลย
สิ่งที่จะตามมาอีก คือการที่ทำให้เราเป็นคนเครียดง่าย กังวล ไม่กล้าตัดสินใจหรือเสนอความคิด เพราะกลัวใครจะมาตัดสิน มองเราไม่ดี และสูญเสียตัวตนของตัวเอง แทบไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง และกลายเป็นคนไม่มั่นใจอะไรเลย
ระยะยาว – เมื่อเราสูญเสียตัวตนของเราไปนานๆ หมอฟรอยด์บอกว่ามีโอกาสที่จะทำให้เป็นโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลต่างๆ ไปจนถึงเกิดอาการใจสั่น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมองที่มีบทบาทควบคุมความรู้สึกอย่างโดพามีน ซีโรโทนิน และเอนดอร์ฟิน
“คนที่ไม่ได้รัก ไม่หวังดี ต้องการประโยชน์จากเรา เราไม่ควรแคร์เลย เพราะเขาไม่มีผลต่อการดำรงชีวิต การแคร์ที่ดีคือ ต้องไม่ส่งผลเสียต่อจิตใจหรือร่างกายของเรา ไม่กระทบต่อชีวิตประจำวัน หรือทำให้การเข้าสังคมของเราบกพร่อง”
05 แคร์ตัวเองบ้างผองเพื่อน
อ่านมาถึงตรงนี้ ฉันไม่ลืมมอบของขวัญเป็นทริกดีๆ จากหมอฟรอยด์ในการหันมาแคร์ตัวเองมากขึ้นให้ผู้อ่านติดไม้ติดมือไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน (เพราะเป็นห่วงนะ)
1. ต้องคิดอยากปรับปรุงตัวเองและก้าวออกมาจากการแคร์ทุกคนบนโลกก่อน – ถ้ายังลังเลว่าจะแคร์คำพูดคนอื่นดีไหม มันคงยากที่จะเปลี่ยน
2. เรียก Self-esteem ด้วยการยอมรับข้อดีและข้อเสียของตัวเอง – คิดอยู่เสมอว่ามนุษย์ทุกคนไม่ได้ดีเลิศไปทุกเรื่อง แต่สิ่งที่ควรรู้คือเราดีส่วนไหน ไม่ดีส่วนไหน และใช้ชีวิตอย่างพอเหมาะ เช่น ไม่เก่งถ่ายภาพ ก็ยอมรับว่าเราไม่เก่ง แต่เราต้องคิดด้วยว่า ยังมีทักษะอื่นๆ ที่เราเก่ง เช่น วาดภาพ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เก่งเรื่องอื่นก็ไม่เห็นเป็นอะไร หรือ เราอาจจะยิ้มแล้วโลกสดใส นั่นคือข้อดี ที่ไม่ใช่ความสามารถพิเศษอะไร แต่ก็เป็นสิ่งดีๆ ที่ไม่ควรมองข้าม
3. มีสติรับรู้อารมณ์ของตัวเอง – หัดคุมความคิดของเราไม่ให้ฟุ้งซ่านจนเป็นนิสัย เมื่อรู้ตัวว่าตอนนี้เครียดจนปวดหัว ลองหาอะไรที่ทำแล้วสบายใจ ฝึกให้คิดเรื่องอื่นแทนเรื่องเดิมที่แคร์ เรื่องนี้อาจพูดง่ายแต่ทำยาก แถมตอนฟุ้งซ่านเราจะคิดแต่แง่ลบของตัวเอง หมอฟรอยด์จึงแนะให้ลองฝึกสติด้วยการหยิบกระดาษออกมาหรือพิมพ์ในโทรศัพท์ว่า ที่ผ่านมาเรามีข้อดีอะไรบ้าง เมื่อรู้สึกแย่จากคำพูดหรือความคาดหวังของคนอื่น ลองหยิบมันขึ้นมาอ่าน เราจะเจอเรื่องดีของเราซ่อนอยู่
4. มองโลกให้กว้างขึ้น – มองสิ่งที่เราเก็บมาแคร์ให้รอบด้านขึ้น เช่น มีคนทักว่าวันนี้ทำไมใส่รองเท้าสีนี้ จากที่เคยคิดว่ามันแย่มากเลยเหรอ ให้เปลี่ยนมาวิเคราะห์ดูว่าที่เขาทักมันมีเหตุผลอะไรได้บ้าง (ในกรณีที่เขาไม่ได้บอกเหตุผล) เช่น เขาไม่ชอบจริงๆ เขาถามเฉยๆ หรือเขาอาจจะชอบก็ได้แต่ไม่ชมตรงๆ
5. แลกเปลี่ยนความคิดกับคนอื่น – ถ้าสุดท้ายไม่รู้จะทำอย่างไร ลองปรึกษาคนที่ไว้ใจสักหนึ่งคนว่าเขามีวิธีแก้ไขปัญหาและการตัดสินใจต่อเรื่องนั้นๆ อย่างไร การหาโมเดลดีๆ ที่คิด วิเคราะห์ แยกแยะ เก่งๆ จะช่วยให้เป็นกำลังเสริมให้เราเดินต่อได้ดีมากขึ้น
คำพูดคนอื่นน่ะ สวยงามไม่เท่าตัวตนของเธอ
คำพูดคนอื่นน่ะ ต่อให้ไล่ตามและพยายามเป็นในสิ่งที่เขาบอก สักวันเธอจะหมดแรง
มองข้ามคำคน และหันมามองเห็นความพิเศษของตัวเอง
แคร์ตัวเองเยอะๆ
ไม่ต้องแคร์ทุกคนบนโลกหรอก เหนื่อยแย่ : )