การเดินทางของ ‘Window Magazine’ - Urban Creature


เราว่าการอ่านหนังสือคือการพักผ่อนอย่างหนึ่งที่ช่วยฮีลจิตใจได้เป็นอย่างดี ความสุขของการสัมผัสหนังสือ การดมกลิ่นของกระดาษ มันยากที่จะบรรยายออกมาเป็นคำพูดใดๆ ครั้งนี้เราเลยถือโอกาสไปทำความรู้จักกับ Window Magazine นิตยสารที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้คนผ่าน ‘บ้าน’ สถานที่เซฟโซนที่น้อยคนนักจะยอมเปิดใจให้ใครเข้านอกออกใน ซึ่งมาพร้อมบทสนทนาอันแสนผ่อนคลาย แม้หลายคนอาจเคยรู้จัก Window Magazine กันมาบ้างกับเล่มแรกที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว แต่นับจากนี้ หน้าต่างบานนี้จะถูกเปิดออกอีกครั้ง 


ท่ามกลางบรรยากาศยามเย็น พระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า เราเดินทางมาถึง Window Gallery and Café ก้าวแรกที่เข้าไปถึง ‘พี่เอ็กซ์-กึกก้อง ถิรธํารงเกียรติ’ พูดคุยทักทายอย่างเป็นกันเอง พร้อมเสิร์ฟเมนูเด็ดอย่าง ‘โกโก้เย็น’ ที่เล่นเอาประทับใจมาจนถึงตอนนี้ และรับรองว่าต้องกลับไปซ้ำให้ได้ หลังจากนั้นไม่นาน ‘พี่มิ่ง-วสุธรา นาราคาม’ ก็ตามเข้ามาทักทาย เสริมทัพด้วย ‘พี่ย้วย-นภษร ศรีวิลาศ’ ผู้รับบทเป็นบรรณาธิการของ Window Magazine Issue 02 และเมื่อทุกคนพร้อมแล้วบทสนทนาก็เริ่มต้นขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว

| Window Magazine หน้าต่างที่สะท้อนเรื่องราวของชีวิต


พี่เอ็กซ์ : ตัวพี่เริ่มต้นจากการชอบถ่ายภาพมากเลยยกให้ภาพถ่ายแต่ละภาพเป็นตัวแทนของหน้าต่าง ซึ่งพี่รู้สึกว่าในแต่ละภาพที่ถ่ายมันมีความเป็นธรรมชาติ มันมีเสน่ห์ที่ทำให้คนมีความรู้สึกร่วมไปกับมัน เลยเอาคอนเซปต์นี้มาใช้กับการถ่ายภาพ เพราะภาพหนึ่งภาพมันไม่ได้เกิดมาเพื่ออยู่ในกรอบ แต่มันอาจจะพาเรานึกถึงเรื่องราวในอดีต ความสุข ความทุกข์ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นได้เหมือนกัน ซึ่งพี่เองก็เอาแนวคิดเหล่านี้มาใช้ในการทำหนังสือด้วย สำหรับพี่ หน้าต่างของเราที่ใครต่อใครเข้ามาเปิดดู แต่ละคนก็มองไม่เหมือนกันหรอก บางคนคิดเรื่องความสวยงาม บางคนคิดเรื่องแสง บางคนเห็นสิ่งของที่อยู่ในภาพ พี่ชอบความรู้สึกนี้ ที่เราเป็นตัวแทนของหน้าต่างที่ทุกคนสามารถรู้สึกในแบบของตัวเองได้ 


พี่ย้วย : เรากำลังจะบอกว่า ธรรมชาติของคนเขาจะเป็นตัวเองที่สุดตอนอยู่ที่บ้าน ไม่ว่าข้างนอกเขาจะสวมหมวกใบไหนก็ตาม พอกลับมาบ้านเขาก็เป็นตัวเองในแบบนั้นแหละ แล้วทั้ง 16 คนที่อยู่ใน Window Magazine Issue 02 ก็เป็นแบบนั้นจริงๆ

| ความท้าทายของการทำหนังสือในยุคเปลี่ยนผ่านของสื่อสิ่งพิมพ์


พี่เอ็กซ์ : จริงๆ เราไม่ได้คิดไปไกลเลยนะ เราเริ่มเพราะเราชอบมากกว่า ไม่ได้คิดเรื่องว่าจะขายได้มากน้อยแค่ไหน พอทุกอย่างมันหมุนมาอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมเราก็เลยไม่ได้คิดเยอะ แต่ก็คิดเผื่อไว้แล้วแหละว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นมันจะเป็นไปในทางไหนได้บ้าง อาจจะขายไม่ได้เยอะนะ แล้วถ้าสิ่งเหล่านั้นมันเกิดขึ้นรับได้ไหม ถ้ารับได้ก็ทำเลย


พี่ย้วย : จริงๆ ตอนที่พี่เอ็กซ์เขาชวนมาทำ Window Magazine เราก็กังวลแทนแหละ เพราะเราอยู่ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์มาก่อน เรารู้ว่าถ้าจะทำหนังสือสักเล่มมันต้องประกอบไปด้วยโฆษณา เวลา หรืออะไรต่างๆ มากมาย ซึ่งถ้าคิดถึงพวกนี้เยอะๆ หนังสือเล่มนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นแน่ แต่พี่ๆ เขาก็บอกกับเราว่า เฮ้ย ไม่ลองทำก่อน อย่างที่บอกแหละ ทุกอย่างมันอยู่ในช่วงขาลง แต่ทำไมยังทำ ถ้าเราอยากเห็นมันเกิดขึ้นก็คงต้องเป็นเราที่ทำหรือเปล่า เพราะว่าถ้าเป็นคนที่อยู่ในวงการจริงๆ ไม่มีใครลงทุนกับสิ่งนี้อยู่แล้ว เหมือนทั้งคนอ่าน คนทำ ทุกอย่างมันเริ่มอิ่มตัวกันหมดในยุคนี้


แต่มันน่าเซอร์ไพรส์อยู่อย่างหนึ่ง ในวันที่มันสำเร็จออกมาแล้วคนทั้งวงการกลับตื่นเต้นและพากันพูดถึงว่าใครทำ ใครวะ ไม่รู้จัก (หัวเราะ) มันเลยเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์สำหรับเรามากๆ เพราะถ้าวันนั้นฟังเสียงคนอื่นเล่มแรกก็คงไม่มีทางเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้ Window Magazine มันเกิดขึ้นได้ มันไม่ได้ใช้แค่เงินแน่นอน ใช้คน ใช้ความเชื่อมั่น ใช้พลังเยอะมาก

หนังสือเล่มนี้มันมีแค่เงินก็ทำไม่ได้ ถ้าเขาสองคนอยากทำแล้วใช้เงินบริหาร มันไม่มีทางเกิดหรอก มันคือการลงมือทำมากกว่า


พี่เอ็กซ์ : พี่ทำเองในหลายๆ อย่างนะ เช่น สัมภาษณ์เอง จากไม่เคยสัมภาษณ์ ภาพประกอบในเล่มพี่กับพี่มิ่งก็ถ่ายกันเอง อาร์ตเวิร์กก็ทำเองทั้งหมด ตรงนี้มันก็เลยทำให้หนังสือเล่มนี้มันเกิดขึ้นง่ายหน่อย พี่มองว่าธรรมดาแหละที่คนจะกลัวอนาคต เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่รู้ ซึ่งตัวพี่เองก็ไม่รู้หรอก (หัวเราะ) แต่แค่พยายามคิดให้รอบคอบตั้งแต่แรกไปจนถึงจุดสุดท้ายให้มันดีที่สุดมากกว่า


พี่ย้วย : แล้วอีกอย่างที่เราไม่ได้กำหนดว่ามันเป็น Magazine แบบจริงจัง เพราะมันจะมีเรื่องของเวลามากำหนดว่ามันเป็นรายอะไร เดือนหรือ 2 เดือน ซึ่งการที่เราเลือกทำ 6 เดือน และเลือกคุยในเรื่องที่อ่านเมื่อไหร่ก็ได้ ทำให้ช่วงชีวิตของหนังสือมันกว้าง เผื่อว่าวันนี้คนอาจยังไม่รู้จัก Window Magazine แต่ในอนาคตคนอาจจะรู้จักก็ได้ เราคิดว่ามันก็ยังคงขายได้เรื่อยๆ แหละ


พี่เอ็กซ์ : นี่แหละคือสิ่งที่พี่คิดว่ามันไร้กาลเวลา Window Magazine เหมือนงานศิลปะอยู่เหมือนกันนะ มันไม่มีวันหมดอายุ แม้ว่าผ่านไปสัก 2 – 3 ปี เรื่องราวเหล่านี้เราก็ยังกลับมาเปิดอ่านได้อยู่


หลังจากพูดคุยกับพี่ๆ ไปสักพัก เราก็สัมผัสได้เลยว่ากว่าหน้าต่างบานนี้ที่ชื่อว่า Window Magazine จะถูกเปิดออกมาต้องใช้พลังงานสูงมาก ทำให้เรารู้สึกว่าการตัดสินใจทำสิ่งเหล่านี้มันท้าทายมากกับทุกๆ คน เลยแอบอยากรู้ว่าถ้าในมุมของ พี่ย้วย-นภษร ที่คุ้นเคยกับวงการสื่อสิ่งพิมพ์จะเป็นอย่างไร

| ก้าวใหม่ที่ช่วยเติมเต็ม Window Magazine


พี่ย้วย : มันเป็นจังหวะมากกว่า เราเองก็ชอบหนังสือ แล้วออกจากงานประจำพอดี พอพี่เอ็กซ์กับพี่มิ่งมาชวนให้ไปช่วยปิดเล่มหน่อย เราก็โอเคเลย คือทุกอย่างที่ทำด้วยกันกับพี่ๆ มันเป็นความสนุก สิ่งที่เราคิดมันมีคนทำด้วย จริงๆ ไอเดียเปิดร้านพูดกันเล่นๆ นะ แต่พอวันนี้มันเกิดขึ้นจริง แค่เราคิดว่าจะทำยังไงให้หนังสือไปเจอคนได้ เรามีพื้นที่ เรามีหนังสือแล้ว ทำร้านหนังสือกันไหม แล้วพี่ทั้งสองคนเขาก็เห็นด้วยตาเป็นประกายเลย แบบเอาด้วย ทำเลย เราว่ามันเป็นความรู้สึกที่ดีเพราะทีมเราเอาด้วย ยิ่งทำด้วยกันมันก็ยิ่งสนุกขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเราก็เปลี่ยนร้านเป็นน้องนอนในห้องลองเสื้อแล้วนะ (ยิ้ม)


พี่เอ็กซ์ : เหมือนเราทำงานด้วยกันแล้วมันทำได้ดี เคมีตรงกัน ชอบอะไรคล้ายๆ กัน เลยทำงานด้วยกันได้ อย่างสิ่งที่ย้วยพูดมาเป็นสิ่งที่พี่ชอบ แล้วเราก็ได้ทำในแบบที่ยังเป็นตัวเราอยู่ด้วย มันก็เลยลงตัว ซึ่งพี่กับพี่มิ่งก็ทำงานประจำกันด้วย ตอนแรกก็พยายามทำกันเองแหละ แล้วก็ปิดเล่มไม่ได้สักที งานยุ่งมาก ก็เลยลองคุยกับพี่มิ่งว่าหาคนมาช่วยดีกว่า เลยได้ย้วยมา ช่วงเวลาที่เราเคยวางกันไว้ว่าคงห่างจากเล่มแรกประมาณ 6 เดือน แต่สำหรับเล่ม 2 นี่ช้าไปประมาณ 9 – 10 เดือนได้ เพราะมันมีช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด 19 ด้วย เลยทำให้ต้องพักไป


พี่ย้วย : แต่ย้วยก็รู้สึกว่ามันเป็นเวลากำลังดีนะ เพราะในบทความทุกอันมันคราฟต์มากจนไม่สามารถกำหนดเวลาได้ แล้วอีกอย่างมันไม่ใช่งานประจำของทั้งทีมด้วย แต่นี่คือสิ่งที่อยากทำ อยากเห็นมันเกิดขึ้น เราอาจจะใช้เวลาค่อนข้างนานหน่อย ลงมือทำกันไปเรื่อยๆ และลงรายละเอียดในทุกกระบวนการ ผ่านทั้งการคิด เขียน ปรับแก้ ทั้งรูปและเรื่องอยู่ประมาณหนึ่งเลย อยากให้ออกมาดีที่สุด เพราะว่าเรากำลังฉายภาพชีวิตของคนที่เราสัมภาษณ์ออกมา


พี่เอ็กซ์ : เออ แล้วมันเป็นหนังสืออิสระเนอะ ก็เลยอยากให้มันอิสระด้วย ถึงจะช้าหน่อยแต่ก็ไม่โดนใครเร่ง (ยิ้ม) แต่ถ้ามันยังคราฟต์ได้อีกก็เอาอีก


รอยยิ้มและเสียงหัวเราะเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เรารู้สึกถึงความอบอุ่นที่แผ่มาถึง พอได้รู้เบื้องหลังการทำ Window Magazine ที่เต็มไปด้วยความตั้งใจของพี่ทั้งสามคน ราคาของหนังสือที่หลายคนอาจจะคิดว่ามันก็แอบแรงอยู่เหมือนกัน เราก็ต้องขอบอกว่ามันคุ้มค่าจริงๆ 

| การเดินทางของแกลเลอรี นิตยสาร สู่ร้านหนังสือประจำวันเสาร์


พี่เอ็กซ์ : เปิดเมื่อไหร่เหรอ ถามว่าปิดเมื่อไหร่ดีกว่า (ยิ้ม) ถึงตอนนี้ 2 ปีกว่าแล้ว ก็โอเคนะ ที่นี่เป็นเหมือนสตูดิโอของเราด้วย สำหรับพี่กับพี่มิ่งมันก็เปลี่ยนชีวิตไปเยอะเหมือนกันนะ เริ่มแรกพี่ทำ Window Gallery and Café ก่อน แล้วก็ค่อยมาทำ Window Magazine ล่าสุดก็ตามมาด้วย Window Bookstore ความจริงไม่ได้คิดใหญ่เลย แค่คิดให้มันใกล้ตัวมากกว่า เลยเอาสิ่งที่อยากทำแล้วมันเป็นเรามาทำ


พี่ย้วย : แล้วมันกลายเป็นโอกาสเข้ามาหาพี่ๆ เขาเลย มันพิสูจน์ผ่านสิ่งที่ทำ เราคิดว่าการที่ทุกคนมารวมกันได้เพราะมีพื้นที่ให้เชื่อมต่อถึงกัน มันเป็นมิตรภาพอีกแบบหนึ่งเลย ยิ่งในยุคที่ร้านหนังสือน้อยลง หนังสือน้อยลง คนอ่านก็ยิ่งน้อยลงไปด้วย มันไม่เหมือนกับวงการหนังสือในต่างประเทศที่ยังไปได้ดีอยู่ เพราะมันยังมีร้านหนังสือ มีการแจกลายเซ็นทั้งที่ก็มีออนไลน์เหมือนกัน แต่การที่คนอ่านเขามาหานักเขียนมันคือการให้กำลังใจคนเขียนที่ดีเลยนะ เราเลยถือโอกาสทำให้ทุกๆ วันเสาร์ที่ Window Gallery and Café กลายเป็นแบบนั้นบ้าง

| ความหมายของหน้าต่างบานนี้ Window Magazine


พี่มิ่ง : สำหรับพี่เป็นอะไรที่ใหม่มาก ขอเรียกมันว่าการเดินทางแล้วกัน เพราะมันพาเราเข้าไปในโลกที่เราไม่คุ้นเคย จากที่พี่ทำงานออฟฟิศเป็นหลัก ชอบถ่ายรูปเป็นงานอดิเรก แต่วันหนึ่งเรามีโอกาสได้ทำอะไรแบบนี้ขึ้นมา สำหรับพี่มันเหมือนการเดินทางครั้งใหม่ที่ในทุกๆ ครั้งที่ถ่ายภาพ เหมือนพี่กำลังบันทึกการเดินทางของตัวเอง 


พี่ย้วย : มันคือโอกาสนะ ถ้าไม่ทำคราวนี้ก็ไม่รู้จะทำเมื่อไหร่แล้ว อย่างที่บอก สื่อสิ่งพิมพ์มันน้อยลงไปทุกที ทุกครั้งที่เห็นชื่อเราบนกระดาษเลยให้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่งเสมอ เราเคยทำออนไลน์มา 3 ปี เรามีคนอ่าน มีคนติดตามมากมาย แต่ความรู้สึกมันไม่มีทางเหมือนกันกับการที่ชื่ออยู่บนกระดาษ


พี่เอ็กซ์ : คือออนไลน์มันไปเร็วมากใช่ไหม


พี่ย้วย : ใช่ คือเราโตมากับกระดาษ ก็รู้สึกดีที่ได้จับมันและน้ำตามันจะปริ่มๆ ทุกครั้ง ซึ่งพอเราได้รับโอกาสเข้ามา เลยรู้สึกว่าต้องคว้าไว้ จริงๆ ออนไลน์มันง่ายกว่ามาก ใครอยากเป็นนักเขียนก็เขียนได้ อยากเล่าอะไรก็เล่าได้ แต่โอกาสที่จะได้เล่าบนกระดาษมันน้อย ถ้าเทียบการดูรูปแบบดิจิทัลกับการดูในหนังสือ ยังไงก็คนละความรู้สึกอยู่แล้ว มันมีความคราฟต์มากกว่า 


พี่เอ็กซ์ : สำหรับพี่มันไม่ได้อะไรยิ่งใหญ่เลยนะ มันคือความชอบแหละ เพราะว่าเราพยายามทำสิ่งนี้

เพราะเราชอบ เรารักที่จะทำ บางทีอาจต้องแลกมาด้วยเงื่อนไขบางอย่าง แต่พี่ว่ามันคุ้มค่านะ สิ่งที่สำคัญสำหรับพี่คือพยายามเป็นสิ่งที่เราเป็นให้ดีที่สุด แล้วผลงานจะทำหน้าที่ของมันเอง


ในที่สุด Window Magazine Issue 02 เล่มสมบูรณ์ก็อยู่ตรงหน้าเรา พี่ทั้งสามคนให้โอกาสเจอกับตัว (เกือบ) จริง และบอกกับเราว่า “นี่เป็นคนแรกที่ได้จับหนังสือเลย แต่รองจากพวกพี่นะ” บอกตรงๆ ว่าตื่นเต้นจนบอกไม่ถูกเลย จากบทสนทนาในวันนั้นจนถึงวันนี้ Window Magazine Issue 02 เสร็จสมบูรณ์แล้ว เตรียมพร้อมที่จะเป็นหน้าต่างบานใหม่รอให้ทุกคนเข้ามาค้นหา 



แอบกระซิบว่า Window Magazine Issue 02 เปิดให้สั่งซื้อล่วงหน้าแล้ววันนี้ถึงวันที่ 25 มกราคม (Pre-order จะได้รับโปสเตอร์ (จำนวนจำกัด) พร้อมจัดส่งฟรีภายในสัปดาห์ที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสั่งซื้อหนังสือได้ที่ : https://www.facebook.com/Windowmagazinethailand

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.