เรามักได้ยินคำพูดหนึ่งติดหูมาตลอดชีวิตว่า ‘คนพิการนั้นด้อยโอกาส’
โอกาสแรก – การทำงานที่ไม่มีใครเปิดใจ
โอกาสสอง – ความสามารถที่ไม่มีใครเห็น
โอกาสสาม – ชีวิตในสังคมที่ไม่มีใครช่วยเหลือ
หากมองให้ลึก คำว่า ‘ด้อยโอกาส’ เหล่านี้คือสิ่งที่สังคมภายนอกเป็นคนสร้าง ซึ่งพวกเขาไม่เคยได้รับโอกาสในการพิสูจน์หรือแสดงความสามารถของตนเองให้คนอื่นเห็น แต่ดันถูกประเมินคุณค่าเป็นที่เรียบร้อย เพียงความแตกต่างทางร่างกายที่ไม่สมบูรณ์เท่าใคร ในความเป็นจริง คนพิการเองก็คือคนคนหนึ่ง หากเราจะคบเป็นเพื่อนหรือเลือกใครสักคนเข้าทำงาน ก็ควรได้ลองเปิดโอกาสรู้จักกันเสียก่อน
เหมือนอย่างบริษัท ‘Vulcan Coalition’ สตาร์ทอัป AI ที่มีพนักงานเป็นคนพิการกว่า 200 คน ถ้าถามว่าพวกเขาจะไปช่วยทำงานในจุดไหน ต้องอธิบายก่อนว่า การที่ AI จะรอบรู้ทุกสิ่ง มันต้องได้รับการป้อนข้อมูลทั้งหมดก่อนใช้งานจริง เหมือนกับ ‘ทารก’ ต้องได้รับการสั่งสอนหรือมอบความรู้ต่างๆ เพื่อให้จดจำและเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เช่น การสอนอ่านหนังสือหรืออธิบายความรู้ต่างๆ ซึ่งเทคโนโลยีตัวนี้ก็ต้องการการเอาใจใส่ในแบบเดียวกัน โดยคนพิการเป็นคนจัดเตรียมข้อมูลการสอน ก่อนที่จะถ่ายทอดไปให้ AI เรากล้าพูดเลยว่า พนักงานของ Vulcan Coalition ไม่ได้ถูกเลือกเพราะความน่าสงสาร แต่เข้ามาด้วยความสามารถและความตั้งใจที่ไม่เป็นสองรองใคร
| ความสามารถที่ไม่ใช่ความน่าสงสาร
“เราไม่ได้จ้างคนพิการ
เพราะความน่าสงสาร
แต่เขาสามารถทำได้ดีกว่าคนอื่น”
คือคำพูดของ จูน-เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Vulcan Coalition เธอว่าคนพิการในสังคมมักถูกสร้างภาพจำในสื่อต่างๆ ว่าด้อยค่ากว่าคนอื่น แต่หากได้ทำความรู้จักกันสักนิด ก็จะรู้ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นอย่างที่คิด
“จุดเริ่มต้นที่ทำสิ่งนี้มาจากเพื่อนเราสมัยมหา’ลัยเป็นคนตาบอด เขาตั้งใจเรียนมาก เรียนเก่งกว่าเราอีก แค่การเรียนของเขามันลำบาก จริงๆ ตอนนั้นเขาควรจะจบได้แล้ว แต่ไม่มีใครช่วยอ่าน จูนเลยรู้สึกว่าถ้าเขาสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเอง มันอาจจะช่วยให้เขาเรียนจบพร้อมเพื่อนได้”
ตอนนั้นคุณจูนสร้างโปรเจกต์ Guidelight เว็บไซต์รวบรวมหนังสือเสียงและสื่อการสอนให้คนพิการ แต่ก็พบปัญหาว่ามันไม่ยั่งยืน เพราะมันไม่ทำให้คนเรียนจบเข้าสู่กระบวนการทำงานได้จริง จนกระทั่งได้มาเจอกับ รัน-นิรันดร์ ประวิทย์ธนา คนทำธุรกิจเกี่ยวกับ AI ที่เห็นช่องว่างและโอกาสในการเติมเต็มของเทคโนโลยีและทักษะของคนพิการจนเกิดเป็นสตาร์ทอัป ‘Vulcan Coalition’ ที่ตอบโจทย์ความต้องการทั้งฝั่งธุรกิจและคนพิการที่มีศักยภาพ
“จูนทำเรื่องคนพิการ พี่รันทำเรื่อง AI อุปสรรคคือขาดเเรงงานที่จะมาจัดเตรียมข้อมูลเพื่อพัฒนา AI ให้ฉลาด เพราะมันต้องการข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งตอนแรกทดลองกับน้องตาบอดในโครงการ Guidelight ประมาณ 30 คนเป็นระยะเวลาหกเดือน
“เราพบว่าเขาจัดเตรียมข้อมูลได้ดีกว่าคนไม่พิการเกือบสองเท่า เพราะฟังเสียงด้วยอัตราที่เร็วกว่าปกติ เราก็เลยมองว่ามันเป็นจุดแข็ง เราไม่ได้จ้างเขาเพราะเป็นคนพิการ แต่เขามีความสามารถทำได้ดีกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้น เราก็เลยทดลองให้กลุ่มอื่นอย่างผู้พิการทางการเคลื่อนไหวและผู้พิการทางการได้ยิน มาช่วยจัดเตรียมข้อมูลภาพ ทั้งหมดนี้มันก็เลยเป็นโปรเจกต์เริ่มต้นของ Vulcan Coalition”
| การทำงานที่สอน AI ให้ฉลาด
การทำงานของ Vulcan Coalition หากเปรียบเปรยให้เข้าใจง่ายเหมือนกับโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่มีคนพิการทำหน้าที่เป็นคนจัดเตรียมเนื้อหาการสอนให้คุณครู ซึ่งเป็นเดเวลอปเปอร์สอนให้นักเรียน AI ที่กำลังเรียนหนังสืออย่างตั้งใจจนครบหลักสูตรและออกไปใช้ประโยชน์ให้คนอื่นได้
การจัดเตรียมข้อมูลนี้เรียกว่า ‘Data Labeling’ หรือการจัดประเภทข้อมูลต่างๆ ให้เข้าใจง่าย อย่างข้อมูลรถยนต์มีหลากหลายรูปแบบ คนทำก็ต้องจัดหมวดหมู่รถต่างๆ เช่น รถบรรทุก รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ หรือรถตู้ เหล่านี้จะเป็นข้อมูลเพื่อพัฒนา AI Model ให้บริษัทพาร์ตเนอร์ใช้งานต่อไปได้
“ยกตัวอย่างบริษัทที่อยู่อาศัยต้องการทำบ้านอัจฉริยะที่สั่งการผ่านเสียงได้ทุกอย่าง เช่น อยากสั่งเปิด-ปิดไฟ น้ำ หรือปรับแอร์ได้ เสียงเหล่านี้มาจากคนพิการพูดทั้งหมด โดยเราจะมีโมเดล AI ให้คนพิการป้อนข้อมูลลงไป เช่น เขาต้องพูดคำว่า เปิดน้ำ เปิดไฟ หรือปิดแอร์ ซึ่งต้องพูดในระยะ 1 เมตรและ 5 เมตร รวมถึงเสียงต้องเบาดังประมาณไหน เจ้าข้อมูลเสียงนี้ก็จะไปสอน AI ให้ทำตามระบบเสียงนั้นเวลาลูกบ้านใช้งานจริง”
| การเอาใจใส่เพื่อใส่ใจคนทำงาน
ระหว่างบทสนทนาเราได้คุยกับหัวหน้าแต่ละทีม ซึ่งต่างเป็นคนพิการ จึงทำให้เข้าใจธรรมชาติของทุกคนและรู้วิธีแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด พวกเขาเล่าว่า เคล็ดลับการทำงานให้ทุกอย่างออกมาดี คือ ‘การทำความเข้าใจคนอื่น’ และ ‘การเอาใจเขามาใส่ใจเรา’
“การทำงานไม่ต่างจากคนทั่วไปเลย
แค่ต้องสร้างความเข้าใจของแต่ละคนให้ละเอียด”
“การทำงานเราต้องสื่อสารกับทุกคนตลอด การสอนพวกเขาก็ต้องดูความเหมาะสมของคนพิการ เพราะทุกคนต่างมีเรื่องกังวล เวลาต้องทำงานร่วมกันกับคนหมู่มากต้องให้ความสำคัญในทุกรายละเอียดมากกว่าเคย เช่นคนพิการทางสายตาต้องอธิบายให้ละเอียดและรอบคอบมากๆ หรือบางคนก็ต้องพิมพ์คุย โทรคุย หรือวิดีโอคอลสอนวิธีการทำงานให้เข้าใจตรงกัน อย่างการทำงานครั้งแรกที่ต้องประชุมกัน อาจจะมีกังวลบ้างหรือตื่นเต้นบ้าง แต่ทุกคนก็จะบอกว่า ไม่เป็นไร ช่วยๆ ดูกันไป ทุกคนให้กำลังใจซึ่งกัน ทำให้พวกเราได้เรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันได้ดี”
ถ้าถามว่าความประทับใจในการทำงานร่วมกันคืออะไร พวกเขาต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ความตั้งใจในการทำงานที่ทุ่มเทเกินร้อย “ทุกคนกระตือรือร้นในการทำงานมาก ไม่ขี้เกียจเลย คือทำตั้งแต่เช้า อย่างเวลานัดประชุมกัน หนึ่งร้อยคนไม่เคยเข้าสายเลย คือคนเต็มภายในห้านาที แล้วที่นี่หากทำงานครบตามเป้าหมายก็จะได้เหรียญเป็นรางวัล ซึ่งสามารถแลกสิ่งของต่างๆ ทุกคนก็จะตื่นเต้นกันมาก มีการแคปเหรียญมาอวดกันในกลุ่มว่าเราได้เหรียญเท่านี้แล้วนะ ทุกคนจะสนุกกันมาก
“การทำงานร่วมกันทำให้เราสนิทกัน เหมือนเป็นกลุ่มสังคมของพวกเราด้วยเหมือนกัน ถึงมันจะเป็นรูปแบบออนไลน์ก็จริง แต่เราก็คุยกันเป็นกิจวัตร ทักถามไถ่กันโดยตลอด เหมือนเราได้เพื่อนเพิ่มมากกว่าเคย”
สำหรับจูน ในมุมซีอีโอของบริษัท เธอเล่าให้ฟังว่ามีโมเมนต์ดีๆ มากมายหลังจากเจอกัน “หลายคนอาจจะบอกว่าคนพิการขี้เกียจ แต่สำหรับเราที่เจอมามันไม่จริงเลยนะ เขาตั้งใจกันมากๆ อย่างตอนจะแจกรหัสผ่านให้เข้าทำงานวันแรก มีเสียงไลน์เด้งขึ้นมาตั้งแต่หกโมงเช้า เพราะทุกคนเตรียมตัวมารอรับรหัสก่อนถึงเวลานัดเสียอีก หรือช่วงแรกที่แพลตฟอร์มออนไลน์ของบริษัทยังไม่เรียบร้อย คนใช้งานเยอะก็เลยมีปัญหาบ้าง ก็มีคนตื่นตีสามเพื่อไม่ให้เวลาทำงานตรงกับเพื่อน จะได้ใช้งานไม่ติดขัด รวมถึงการทำงานที่ขยันมากกว่าปกติสามสี่เท่า
“เราเคยโทรไปถามเขาว่าทำไมถึงทำเกินเวลาขนาดนี้ เขาพิมพ์บอกว่า ทำงานมีความสุขมาก เพราะรูปต่างๆ มาจากต่างประเทศ เวลาทำงานเลยเหมือนได้ไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ขอบคุณทีมงานทุกคนที่ให้โอกาสคนพิการ และให้ความรู้สึกว่าคนพิการก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีคุณค่าของความเป็นคนเท่าเทียมกัน”
เธอเสริมต่อว่า ที่นี่จะเรียกทุกคนว่า ‘Vulcan Hero’ เพราะรู้สึกว่าถ้าไม่มีทุกคน บริษัท Vulcan Coalition ก็ไม่สามารถพัฒนา AI ให้ฉลาด และอยากให้เขาภูมิใจในตัวเองด้วยความสามารถไม่ใช่เพราะความพิการ
“เราอยากให้เขาภูมิใจเลยว่าที่มาจุดนี้ได้เพราะความขยันและความพยายามของตัวเอง มันไม่ใช่เรื่องของความน่าสงสารเลย อย่างตอนแรกเราสอนวิธีทำงานผ่านโปรแกรมซูมและไลน์ ถ้าคนที่ไม่ตั้งใจก็จะท้อแท้ไปแล้ว
“อย่างคนพิการมืออ่อนแรงที่ทำงานได้ช้ากว่าคนอื่น แต่เขาตั้งใจมาก คอยสอบถามอยู่ตลอดว่าต้องทำอย่างไร ล่าสุดเขาทำงานได้มากที่สุดติดอันดับหนึ่งในสี่จากทั้งหมด เพราะฉะนั้น มันทำให้เราเห็นแล้วว่า การที่เราให้โอกาสเขา มันอาจจะกลายเป็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นก็ได้”
| ชวนเปิดใจก่อนจะตัดสินใจ
คนพิการมักถูกตัดสินว่าด้อยค่ากว่าคนอื่น ด้วยสื่อต่างๆ ที่หล่อหลอมเราทุกคนมาตลอดชีวิต รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้ปลูกฝังเรื่องความหลากหลายทางสังคมและการเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกัน แถมตัวจูนเองก็เป็นหนึ่งคนที่แต่ก่อนมีความกังวลในการเข้าหาเพื่อนคนพิการ เพราะไม่รู้จริงๆ ว่าต้องทำตัวอย่างไรถึงจะเหมาะสม
หากได้ลองทำความรู้จักแล้ว เธอกลับพบว่าสิ่งที่ได้ยินมาทั้งหมด มันไม่ใช่อย่างที่เห็น ซึ่งทุกคนเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงความคิดนี้ได้ด้วยตัวเอง เพียงแค่ ‘เปิดใจ’ และ ‘เรียนรู้’ เหมือนเพื่อนคนหนึ่งที่กว่าจะคบกัน ก็ต้องศึกษาและปรับตัวเข้าหากัน และคนที่เธออยากสื่อสารด้วยมากที่สุดคือ HR ในทุกบริษัท เกี่ยวกับการทำความเข้าใจต่อพิการว่า
“เรารู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญมาก เพราะมีอำนาจที่จะช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ เราอยากขอโอกาสให้ทุกคนเปิดใจ เพราะคนพิการหลายๆ คนมองว่า การทำงานคือโอกาสครั้งสำคัญของชีวิต เขาจึงทำงานอย่างเต็มที่”