“เรามีความสุขเป็นพิเศษ คงเป็นเพราะวันนี้คือวันสุดท้ายของการมีชีวิตอยู่”
“เราคงไม่ได้ตื่นขึ้นมาเห็นพระอาทิตย์ในวันพรุ่งนี้อีกต่อไปแล้ว”
“สำหรับเราความตายไม่ใช่ความเจ็บปวดที่สุด แต่คือการมีชีวิตอยู่ต่างหาก”
ถ้อยคำที่แฝงไปด้วยความเจ็บปวดจากคนแปลกหน้าบนโลกอินเทอร์เน็ต เป็นสัญญาณเตือนภัย เพื่อบอกว่าเบื้องลึกจิตใจของ ‘เขา’ ต้องการความช่วยเหลือมากกว่าสิ่งอื่นใด จำนวนโพสต์บนหน้าไทม์ไลน์โซเชียลมีเดียของเขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามเข็มนาฬิกาที่กำลังเดินไปข้างหน้า
หนึ่งโพสต์
“เราควรช่วยเหลือเขาไหม”
สองโพสต์
“หรือเราต้องเคารพการตัดสินใจของเขา”
สามโพสต์
“ถ้าช่วยต้องทำยังไง”
หนึ่งชีวิตที่ไม่เคยรู้จักกัน แต่ความเป็นความตายของเขากลับปรากฏขึ้นตรงหน้า ส่งผลให้เกิดความลังเลไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไร เพราะคอมเมนต์บางส่วนอวยพรให้เขาไป แต่บางส่วนพยายามดึงให้เขากลับมา แล้วเราต้องทำอย่างไร ถ้าหากเจอ ‘คำเตือนแห่งความตาย’ โลดแล่นบนอินเทอร์เน็ต ฉันจึงชวน ‘ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี’ อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมพูดคุยถึงวิธีการรับมือในประเด็นนี้
ซ่อนเหตุผลบางอย่างในทุกการโพสต์
คุณคิดอะไรอยู่
: เบื่อว่ะ วันนี้ไม่มีความสุขเลย
คุณคิดอะไรอยู่
: ผิดหวังกับคะแนนสอบอีกแล้ว อยากหายตัวไปเลย
คุณคิดอะไรอยู่
: ชีวิตนี้ไม่เหลืออะไรแล้ว เราไม่อยู่เป็นภาระใครแล้วนะ
คิดจะโพสต์ก็โพสต์ไม่ใช่เรื่องสิ้นคิด เพราะหลายคนเลือกระบายความอัดอั้นตันใจ ลงกล่องข้อความบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ความเศร้า ความผิดหวัง ความเหนื่อย ความท้อแท้ หรือบังเอิญเจอเรื่องตลก ทุกข้อความที่พิมพ์ ย่อมมีสาเหตุที่ทำให้เขาอยากโพสต์ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นสะท้อนตัวตน ตั้งแต่อารมณ์ ความรู้สึก ความนึกคิด ไปจนถึงประสบการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนั้นได้
“เราไม่จำเป็นต้องแยกว่าข้อความนั้นเป็นการแสดงเจตจำนงการลาจาก หรือการแสดงความสุขออกมา เพราะมันล้วนแต่เกิดจากสาเหตุเดียวกัน คือบอกความเป็นตัวเราให้สังคมได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงบวก หรือเชิงลบ ผมมองว่าหน้าที่ของการโพสต์คือบอกให้คนอื่นรู้ว่าตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้นกับฉัน เพื่อให้เราฟังเสียงข้างในใจของเขาว่าต้องการอะไร”
เสียงเพรียกจากตัวอักษร บางครั้งเข้าใจว่าคนโพสต์แค่อยากระบายความในใจ หรือไม่ก็คงโพสต์ให้ดูเวอร์วัง แต่ไม่ได้ทำจริงหรอก ซึ่งถ้ามองอย่างลึกซึ้งบางข้อความอาจอยู่ใน ‘กลุ่มสุ่มเสี่ยงฆ่าตัวตาย’ โดย ดร.สมบุญ บอกฉันว่า ไม่เพียงนักจิตวิทยาเท่านั้นที่รับรู้ได้ แต่คนทั่วไปที่พบเห็นโพสต์ก็สามารถใช้ ‘Suicide Risk Assessments’ เพื่อประเมินความเสี่ยงเจ้าของโพสต์ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ
- ระดับที่ 1 มีความเสี่ยงน้อย = ใช้วิธีการสื่อสารด้วยการบ่น จนทำให้เราไม่อาจทันสังเกต หรือมองข้ามไป เพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ซึ่งกลุ่มนี้เป็นระดับที่พบเห็นได้ทั่วไป โดยสื่อสารให้รับรู้ว่ากำลังเหนื่อย หรือไม่มีความสุข
- ระดับที่ 2 มีความเสี่ยงปานกลาง = ใช้วิธีการสื่อสารด้วยการเปรยความทุกข์ใจ และมีแนวโน้มว่าอยากจบชีวิตตัวเอง แต่ยังไม่มีแบบแผนแน่ชัดว่าลงมือวันไหน เมื่อไหร่ ด้วยวิธีการอะไร
- ระดับที่ 3 มีความเสี่ยงสูง = ใช้วิธีการสื่อสารคล้ายกับระดับที่ 2 พรั่งพรูความทุกข์ อยากจบชีวิต แต่มีแบบแผนแน่ชัด ซึ่งส่วนมากเราจะประเมินได้ทันที หากเป็นเพื่อนสนิท มากไปถึงมีข้อมูลของเขาสักระยะว่ากำลังเผชิญปัญหาหนัก หรือมีความเป็นไปได้สูงว่าเกิดภาวะซึมเศร้า
เคารพการตัดสินใจอาจไม่ใช่คำตอบ
“อดทนใช้ชีวิตมาได้นานขนาดนี้ คุณเก่งมากแล้ว”
“ขอให้คุณไปสู่ภพภูมิที่ดี และมีความสุขอย่างที่ต้องการ”
“เชื่อว่าคุณตัดสินใจมาอย่างดีแล้ว คุณกล้าหาญมาก”
หนึ่งคนกำลังฆ่าตัวตายผ่านตัวอักษรบนอินเทอร์เน็ตไม่กี่ตัว กลับมีบางคนเอ่ยคำยินดีและเคารพการตัดสินใจของเขาอย่างสุดขั้วหัวใจ หารู้ไม่ว่า มันคือการกระทำที่ผิด ผิด ผิด! เพราะเบื้องลึกจิตใจของคนคนหนึ่งที่อยากโบกมือลาจากโลกนี้ ต้องมี ‘ปัจจัยเสี่ยง’ อะไรบางอย่างที่ทำให้เขาคิดเช่นนั้น เช่น ทนทุกข์กับเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ไหว ซึ่งถ้าหากความทุกข์ลดลง เขาอาจล้มเลิกความคิดจากโลกนี้ไป เพราะแม้แต่การการุณยฆาตยังต้องมีนักจิตวิทยาเข้ามาประเมินสภาพจิตใจว่าการตัดสินใจของเขาไม่ได้เกิดจาก ‘อารมณ์’
“นักจิตวิทยาแทบไม่เชื่อว่าการตัดสินใจฆ่าตัวตายของคนไม่ได้ใช้อารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง จากประสบการณ์ที่ผมได้รับฟังและพูดคุยมา ส่วนใหญ่ที่เขาฆ่าตัวตายแล้วไม่ประสบความสำเร็จต่างพูดว่าโมเมนต์ฆ่าตัวตายไม่ใช่เกิดจากการไตร่ตรองในภาวะสภาพจิตปกติ
“กระแสสังคมที่บอกว่าเราต้องเคารพการตัดสินใจของเขา แต่มันต้องเคารพเขาบนการตัดสินใจที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ถูกต้อง ไม่ใช่เขาตัดสินใจแบบนี้แล้ว ก็ขอให้เขาไปสู่ภพภูมิที่ดี ผมมองว่ามันไม่ควรอย่างยิ่ง สังคมต้องปลูกฝังใหม่ เพราะถ้าเกิดการตัดสินใจของใครสักคนอยู่บนพื้นฐานของโรคซึมเศร้า ยังไงมันก็ไม่ถูกต้อง เพราะนั่นไม่ใช่ตัวเขา”
ดร.สมบุญเสริมว่า ระดับจิตใจของคนที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายสูง แสดงว่าจิตใจของคนนั้นไม่ได้อยู่กับเนื้อกับตัว ดังนั้น ถ้อยคำอะไรก็ตามที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการตำหนิ ดุด่าถึงการกระทำ หรือการพิมพ์ข้อความสนับสนุน ยิ่งส่งผลเสีย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรทำในกรณีที่พบเจอการโพสต์ฆ่าตัวตาย คือควรเข้าไปช่วยเหลือตามระดับความเสี่ยงดังนี้
- ระดับที่ 1 = รับรู้ความทุกข์ใจ ด้วยการถามไถ่ว่าเป็นอะไร เกิดอะไรขึ้น อยากเล่าอะไรให้ฟังหรือเปล่า เพื่อให้รู้ว่าถ้าเขาอยากติดต่อใครสักคน เราพร้อมพูดคุยเสมอ
- ระดับที่ 2 = สื่อสารแบบตัวต่อตัวว่าเรารับรู้ความทุกข์ใจที่เกิด ขอคุยด้วยได้หรือเปล่า เพื่อรับฟังและให้เขาระบายความอัดอั้นต่างๆ ออกมา และหลังจากพูดคุยเสร็จต้องพาไปพูดคุยกับนักจิตวิทยา เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาโพสต์ฆ่าตัวตายอีก
- ระดับที่ 3 = สื่อสารและปฏิบัติคล้ายกับระดับที่ 2 ขณะเดียวกันให้ติดต่อใครสักคนที่ประชิดตัวคนโพสต์ได้ เช่น คนใกล้ชิด ครอบครัว ในกรณีที่เห็นผ่านโซเชียลให้ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทน
นอกเหนือจากการช่วยเหลือเจ้าของโพสต์ ในฐานะคนเล่นอินเทอร์เน็ต ข้อความอยากฆ่าตัวตายย่อมส่งผลให้เกิดความกังวล และความกลัวว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นจะรู้สึกผิดไหม หากวันหนึ่งตื่นเช้าขึ้นมาแล้วพบว่าคนที่โพสต์ข้อความไม่อยู่แล้ว
ดร.สมบุญอธิบายว่า ผู้เล่นอินเทอร์เน็ตที่เป็นคนเห็นโพสต์ต้องรู้จักบทบาทของตัวเองว่าเป็นเพียง Gate-keeper หรือผู้เฝ้ามองสำหรับให้การช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่ว่าจะเข้าไปพูดคุย หรือแจ้งคนใกล้ชิด เพราะสุดท้ายกลุ่มเสี่ยงระดับ 2 และ 3 ต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ (Health Professional) โดยตรง เพื่อบำบัดไม่ให้เกิดการโพสต์ข้อความเหล่านี้ซ้ำ
ไม่ควรมีข้อความไหนถูกเพิกเฉย!
ความบอบช้ำจากเจ้าของโพสต์อาจเพิ่มขึ้นทวีคูณ ส่งผลให้จำนวนข้อความบนโลกออนไลน์นั้นเพิ่มขึ้น จึงมีหลายครั้งที่ถูกมองว่าปัญหาที่เขากำลังเผชิญเป็นเรื่อง ‘หลอกลวง’ โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า “โพสต์เรียกร้องความสนใจหรือเปล่า” เป็นประโยคคลิเช่ที่โผล่ขึ้นใต้คอมเมนต์อยู่บ่อยครั้ง ด้วยจิตวิญญาณแห่งการวิเคราะห์ และแยกแยะว่ากลัวโดนต้มจนเปื่อย ซึ่งมันไม่ผิดเพราะคุณมีสิทธิ์ที่จะ ‘คิด’ แต่อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาเป็นอันดับแรก
“อย่าไปคิดว่ากลัวโดนแต่งเรื่องหลอก เพราะมันไม่ควรมีข้อความไหนถูกเพิกเฉย ถึงแม้ผลสุดท้ายมันคือข้อความที่กุขึ้น นั่นหมายความว่าเขาก็ต้องการความช่วยเหลือเหมือนกัน แต่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้ว เราทุกคนก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่อยากบอกให้ใครสักคนรับรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร”
บ่อยครั้งที่เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการโพสต์ฆ่าตัวตายถูกมองข้าม พวกเขาต้องตกอยู่กับ ‘การรับรู้’ ของสังคมว่าเคยทำอะไรมา แล้วเริ่มถูกแปะป้ายความผิดจนกลายเป็นตราบาปในใจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความทุกข์เพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นในฐานะเพื่อนมนุษย์ อย่าปล่อยให้พวกเขาต้องรู้สึกว่า
‘ถ้าวันนั้นฆ่าตัวตายสำเร็จ ทุกคนอาจจะรักเขา
แต่เพราะวันนี้ไม่สำเร็จ ทุกคนเลยหาว่าพวกเขาทำ
เพื่อเรียกร้องความสนใจ’