‘ซิกแนล’ คลาสเย็บผ้าไร้แพตเทิร์นกับ - Urban Creature

พี่ซิกแนล หรือ สมพร อินทร์ประยงค์ ดีไซเนอร์รุ่นเก๋าที่มีผลงาน Folk Art โลดแล่นอยู่บนเวทีระดับโลกมากว่า 14 ปี ผลงานทุกชิ้นของเธอล้วนมีเสน่ห์เสียจนอดคิดไม่ได้ว่าเสื้อผ้าของเธอแต่ละผืนนั้นมีชีวิต ตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเย็บผ้าจนถึงวันนี้ เธอมีความสุขทุกครั้งที่ได้ปักเข็มลงไปบนผ้าผืนต่างๆ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวในชีวิตและการมองโลกของเธอบนผืนผ้า ร้อยเรียงออกมาจนเป็นลวดลายแห่งความสุข


เพียงแต่เธอไม่ได้มีความสุขแค่คนเดียว ยังคงส่งมอบความสุข ความรู้ และเสียงหัวเราะให้ผู้อื่น ผ่านการเปิดคลาสเรียนเย็บผ้าไร้แพตเทิร์นข้างทาง เสมือนห้องทดลองให้เหล่าคนที่ลุ่มหลงในงานผ้าได้มาทำความรู้จักแลกเปลี่ยนความรู้อย่างสร้างสรรค์ในร้านที่มีชื่อว่า ‘แนลแอนทีค’

ชีวิตวัยเด็กแก่นเซี้ยว สู่ดีไซเนอร์รุ่นเก๋าที่ชื่อว่า ‘ซิกแนล’


“พี่โตมากับการวิ่งเล่น ตัดต้นข้าวมาทำปี่เป่า เราทำของเล่นเองตั้งแต่เด็ก เพราะว่าไม่มีของเล่น ต้องคิดเองทำเอง เวลาอยากได้อะไรเราก็ทำเพราะว่าไม่มีเงิน ”


ย้อนกลับไปวัยเด็ก ความซุกซนของพี่แนลเรียกได้ว่าเต็มสิบ จนถูกจับขังในกล่องลังอยู่เป็นประจำ เธอเติบโตในอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นช่วงสงครามเวียดนามยุคที่มีทหารอเมริกันเข้ามาพักอาศัยจำนวนมาก เธอจำได้ว่าในจังหวัดมีจำนวนคนไทยกับฝรั่งพอกัน ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดการแลกเปลี่ยนและผสมผสานวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ทั้งภาษา สกุลเงิน นิตยสาร หรือแม้กระทั่งการแต่งตัว


ยังเป็นช่วงที่คนรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เริ่มเข้ามาทำงานในแคมป์ทหาร ทำให้พี่แนลในวัยประถมฯ ได้เห็นคนที่มีความสามารถด้านการวาดรูปและการสื่อสารภาษาอังกฤษ จนเกิดความชื่นชมและกลายเป็นความฝันว่า สักวันหนึ่งต้องเก่งให้ได้เหมือนพวกพี่ๆ เขา และแม้ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรให้เป็นคนเก่ง แต่เธอรู้เพียงว่า ถ้าทำอะไรได้เองมันคงน่าภูมิใจไม่น้อย จึงขวนขวายตั้งใจเรียนมาตั้งแต่เล็ก

 
โตมาในสังคมผสมผสานเลยถูกมองว่าแตกต่าง

พอเข้าสู่ชั้นมัธยมศึกษา พี่แนลย้ายมาเรียนที่จังหวัดสิงห์บุรี ในเวลานั้นเธอกลายเป็นคนที่แตกต่างจากคนอื่นในสังคม ทั้งเรื่องความคิดและการแต่งตัว เธอเป็นผู้หญิงเพียงไม่กี่คนที่เลือกใส่กางเกง ในขณะที่ผู้คนในพื้นที่มองว่าผู้หญิงไม่ควรนุ่งกางเกง เพราะไม่สุภาพ เป็นเรื่องก๋ากั่นและดัดจริต


นั่นคือ Culture shock ครั้งแรกในชีวิตเด็กคนหนึ่ง เพราะคนตาคลีในช่วงนั้นรับเอาวัฒนธรรมการแต่งตัวมาจากฝรั่งในพื้นที่ ที่เอาเสื้อผ้ามาบริจาคให้ชาวบ้านเป็นประจำ การแต่งตัวตามแบบฉบับตะวันตกในอำเภอตาคลีจึงเป็นเรื่องปกติสามัญที่คนทั้งเมืองยอมรับ การย้ายมาอยู่สิงห์บุรีใหม่ๆ จึงเป็นเหมือนการอยู่ถูกที่ แต่ผิดเวลา เพราะสังคมที่สิงห์บุรียังไม่ยอมรับการแต่งตัวแบบฉบับตะวันตก

เย็บเสื้อผ้าใส่เองตั้งแต่ ม.1

ช่วงเรียนชั้นมัธยมฯ ที่สิงห์บุรี คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของพี่แนล เนื่องจากโรงเรียนบังคับให้แต่งชุดกีฬาในชั่วโมงพละ ด้วยความที่ไม่มีเงิน เธอจึงต้องหยิบยืมเพื่อนใส่อยู่บ่อยครั้ง พอนานเข้า เลยคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหา นั่นคือการตัดเย็บชุดกีฬาเองทั้งๆ ที่ไม่เคยเรียนเย็บผ้ามาก่อน จนกลายเป็นเหตุการณ์ประทับใจถึงทุกวันนี้


เธอยืมชุดกีฬาของเพื่อนมาเป็นแบบในการตัดเย็บ สองมือวางทาบมันลงไปบนผ้าโทเรและตัดเย็บด้วยสไตล์ของเธอ จนออกมาเป็นเสื้อกีฬาในฉบับของเด็กวัย 13 ปีที่ชื่อว่า ‘ซิกแนล’ ถึงแม้ว่าแบบและสีที่ใช้จะคล้ายกัน แต่วิธีการเย็บกลับไม่เหมือนเสื้อของคนอื่นเลย รูปทรงและปกคอช่างแตกต่างจากต้นฉบับลิบลับ


หลงรักเสื้อกีฬาตัวนั้นที่ทุกคนหัวเราะเยาะ

หลังจากใส่มาโรงเรียนวันแรก ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคุณครูเองก็ต่างจับจ้องมาที่เด็กคนนี้ พร้อมกับหัวเราะในความแปลกประหลาดของเสื้อที่ไม่เหมือนคนอื่น แต่ในความไม่สมบูรณ์แบบของมันกลับทำให้เธอรู้สึกดีใจและภูมิใจในตัวเอง เพราะมันช่วยสร้างความโดดเด่นให้ทุกคนหันกลับมามอง และชุดกีฬาที่ประหลาดกว่าใครก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอหลงรักการตัดเย็บเสื้อผ้า จนกลายเป็นงานที่เธอรักจนถึงทุกวันนี้

ตกหลุมรักอีกครั้งกับเสน่ห์ของผ้าพื้นถิ่น

เส้นทางศิลปินของพี่แนลค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามวัย หลังจบมัธยมต้นและเรียนต่อสายอาชีพ บ้านของเธอทำอาชีพชาวสวนที่ต้องส่งมะม่วงไปขายที่คลองเตย ทุกครั้งที่ไปถึงคลองเตยเธอจะพบกับเศษผ้าจำนวนมากที่โรงงานทิ้งไว้ แต่เธอกลับเห็นคุณค่าของมัน นำเอาเหล่าเศษผ้ามาเย็บเป็นกระเป๋าและชุดในแบบที่ไม่เหมือนใคร


อีกจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในการก้าวเข้าสู่วงการ Folk Art อย่างจริงจังคือเมื่อเธอก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย พี่แนลขอร่วมทำงานกับศูนย์ศิลปะเชียงใหม่ผ่านรุ่นพี่ที่รู้จักกัน ทำให้พี่แนลได้วาดรูป เล่านิทาน พร้อมกับแสดงหุ่นกระบอกเชิดมือ ซึ่งเป็นการเปิดโลกให้เธอได้ท่องไปในหมู่บ้านต่างๆ เพื่อจัดแสดงการเล่านิทาน ได้เย็บซ่อมตุ๊กตาที่ชื่นชอบในวัยเด็ก และได้พบผ้าพื้นบ้านมากมายของแต่ละท้องที่ทั้งเหนือและอีสาน


ลวดลายบนผืนผ้าท้องถิ่นสร้างความประทับใจให้กับพี่แนลจนตกหลุมรัก และมองว่างานเหล่านี้ช่างมีเสน่ห์เหลือเกิน แตกต่างจากเสื้อผ้าตามโรงงานที่มีแพตเทิร์นเหมือนๆ กัน ไปไหนก็จะเจอชุดที่หน้าตาเหมือนกันไปเสียหมด เธอจึงเริ่มหันมาสนใจเสื้อผ้าและเครื่องประดับพื้นถิ่น และหยิบสิ่งของเหล่านั้นมาปะติดปะต่อ สร้างเป็นงานของเธอเองในที่สุด

แนวๆ ตามแบบฉบับซิกแนล

พี่แนลเล่าให้ฟังว่า งานของเธอไม่ได้สวยแบบคนอื่น แต่สวยตามลำพัง ประโยคดังกล่าวทำให้เราสนใจในการนิยามความหมายของคำว่าสวยของเธอไม่น้อย เลยเอ่ยถามออกไป

“สวยอย่างเรา ทุกคนมีความหมายของคำว่าสวยเป็นของตัวเอง เวลาที่เรามั่นใจจากการสวมใส่อะไร มันจะทำให้เราสวยขึ้น อย่างพี่มั่นใจว่าแต่งตัวแบบนี้แล้วมันเท่มากเลย ไปไหนก็ได้ นั่นแหละคือความหมายของคำว่าสวยอย่างลำพัง”

1 ตัว 2 ฟังก์ชัน

ในระหว่างบทสนทนาที่ลื่นไหล พี่แนลหยิบผลงานการเย็บของเธอขึ้นมาหนึ่งตัว พร้อมกับสวมใส่ให้เราดูว่า งานชิ้นนี้สามารถใส่ได้หลากหลายรูปแบบ เริ่มจากการเป็นเสื้อ จะกลับหน้า กลับหลัง หรือจะพลิกด้านในออกมาก็ใส่เป็นเสื้อได้เหมือนกันหมด 


จากนั้นถอดเสื้อตัวเดียวกันออก และสวมใส่มันให้กลายเป็นกางเกงได้อย่างน่าตกใจ ทำให้เราเห็นว่า เสื้อหนึ่งตัวสามารถเป็นอะไรได้มากกว่าที่คิด เราจึงไม่สามารถเรียกผ้าผืนนี้ว่าเสื้อหรือกางเกงอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเมื่อมันสามารถเป็นได้ทั้งสองอย่างในคราวเดียวกัน และนี่ก็เป็นหนึ่งในเทคนิคที่ผู้คนชื่นชอบในผลงานของเธอที่มักมีลูกเล่นซ่อนอยู่เสมอ

คลาสเรียนเย็บผ้าข้างทางที่เกิดมาจากความบังเอิญ

จุดเริ่มต้นของคลาสเรียนเย็บผ้าข้างทางเกิดจากน้องผู้ชายก้ามปูระเบิดหูคนหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกค้าเดินเข้ามาบอกเธอว่า

“พี่ช่วยสอนผมเย็บผ้าได้ไหม ผมจะเย็บเสื้อให้แม่ใส่”


คำพูดนั้นทำให้เธอประทับใจ เพราะสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของลูกศิษย์คนแรก เลยยอมสอนให้ แต่มีข้อแม้ในการเสียค่าเล่าเรียน 500 บาท เพราะเธอมองว่าการที่คุณเสียเงินแล้วคุณจะจำมันได้อย่างแม่นยำขึ้น เมื่อลูกศิษย์คนแรกตัดเย็บเสร็จ ฝีเข็มบนเสื้อตัวนั้นมีเสน่ห์มาก จนทำให้เธอเรียนรู้ว่า ไม่ควรตัดสินใครจากภายนอกว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้ เพราะเพียงแค่เอาใจมาทำงาน งานก็จะสมบูรณ์แบบในตัวมันเองและมีเสน่ห์แน่นอน และทุกคนไม่จำเป็นต้องเย็บผ้าเป็น เพราะการเย็บไม่เป็นคือหนึ่งในรูปแบบที่เต็มไปด้วยเสน่ห์เฉพาะตัวซึ่งช่างมืออาชีพทำไม่ได้


จากลูกศิษย์กลายเป็นครูคนใหม่ที่ทำให้เธอได้เรียนรู้อีกครั้ง ผ่านเทคนิคการเย็บลวดลายที่แตกต่างของแต่ละคน หลังจากนั้นเธอก็เปิดรับลูกศิษย์เรื่อยมา แต่เน้นย้ำว่า ต้องเป็นคนที่เธอมองเห็นถึงความตั้งใจในตัวของแต่ละคน

“เขาเป็นครูเราอีกทีหนึ่ง เหตุการณ์เป็นครู ธรรมชาติเป็นครู”

บทเรียนจากคลาสเย็บผ้าข้างทาง

คลาสเรียนเย็บผ้าของพี่แนลไม่ได้สอนการเย็บผ้าแบบที่เราคุ้นเคยกัน เพราะการเรียนการสอนของพี่แนลไม่มีกรอบตายตัว ไม่มีสิ่งถูกผิด แต่พี่แนลสอนวิธีคิดในการมองโลก การมองผลงานของตัวเองให้กับเหล่านักเรียนที่หลงใหลในตัวผ้าเหมือนเธอ วิธีคิดที่เธอสอดแทรกลงไปในงานของทุกคนคือ

“อย่าปล่อยให้ความอยากเป็นเพียงแค่ความคิด และโปรดจงเริ่มลงมือทำ”

ไม่จำเป็นต้องทำให้เสร็จสมบูรณ์แบบก็ได้ แต่มันจะเสร็จสมบูรณ์ในตัวของมันเองในทุกวัน สมมติว่าจะเย็บชุดใส่ลายเสื้อสักตัว แต่วันนี้ปักลายนั้นไม่เสร็จ มันก็เกิดเป็นลายใหม่ในตัวของมันเองแล้ว ขอแค่เพียงให้คุณเริ่มทำ และสิ่งสำคัญคือขอให้ทุกคนเชื่อมั่นในตัวเองว่าทำได้ ทำแบบที่เราเป็น เราไม่ได้เป็นใคร เพราะเราไม่ได้ทำงานเพื่อไปประกวด เพื่อขาย แต่เราทำงานให้ตัวเอง มันจึงสมบูรณ์แบบและงามตามแบบฉบับของตัวมันเอง

คลาสเรียนเย็บผ้าไร้แพตเทิร์น แต่ไม่ไร้สไตล์

ในทุกคลาสของการสอน พี่แนลจะมีกรอบง่ายๆ ให้ทุกคนทำตามได้ เช่น สอนการทำคอเสื้อ ในแบบฉบับพี่แนล ที่ไม่ว่าคุณจะมีขนาดร่างกายแบบไหนก็สวมใส่ได้สบาย สอนการปะติดปะต่อผ้าให้กลายเป็นเสื้อหนึ่งตัว แต่เธอจะไม่สอนการสร้างลวดลายบนตัวงานของแต่ละคน เพราะเธออยากให้ลูกศิษย์แต่ละคนสร้างงานให้ออกมาเป็นงานในแบบฉบับของตัวเอง จนเป็นที่มาของคำว่า ‘คลาสเรียนเย็บผ้าไร้แพตเทิร์น’ เทคนิคการสอนจึงเป็นการเน้นการดึงตัวเองออกมาสู่งาน สอนการมองสิ่งของรอบตัวและเพิ่มมูลค่าทั้งทางเศรษฐกิจและทางจิตใจให้กับวัสดุต่างๆ รอบตัวได้

สบู่ ชาม กรรไกรตัดเล็บ ก็นำมาตัดเสื้อได้

พี่แนลบอกเราว่าไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์อะไรมากมาย สิ่งรอบตัวก็สามารถเปลี่ยนเป็นเครื่องมือในการทำงานทั้งหมด ไม่ต้องมีวงเวียนในการตัดเสื้อก็สามารถหยิบจับเอาถ้วยชามมาใช้แทน ไม่มีกรรไกรตัดเสื้อก็นำกรรไกรแบบไหนก็ได้ที่ตัดผ้าขาด กรรไกรตัดเล็บนำมาใช้ตัดด้าย ดินสอไม่มีก็สามารถนำสบู่หรือเทียนมาใช้โดยที่ไม่ต้องซื้อหา คลาสเรียนของเธอจึงเป็นคลาสเรียนที่ไม่ว่าฐานะอะไรก็สามารถเรียนได้

จากแม่ค้าขายของเก่าสู่เวที International Folk Art Market ตลอดระยะเวลา 14 ปี

ฝีเข็มของพี่แนลได้มอบความสุขจากตัวเองแก่ผู้ที่ได้สวมใส่และผู้พบเห็นผ้าของเธอมานาน จนมีลูกค้าประจำที่ได้ชุดของเธอหมุนเวียนอยู่ตลอดหลายปี มีอยู่วันหนึ่งลูกค้าประจำได้ชักชวนไปจัดแสดงผลงานในงานจัดแสดงสินค้าที่ชื่อว่า ‘International Folk Art Market ที่รัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นงานจัดแสดงผลงาน Folk Art มาตั้งแต่ปี 2004 ทีแรกเธอไม่มั่นใจในงานของตัวเอง เพราะคิดว่างานของเธอแปลกประหลาด ไม่เหมือนใคร จะมีคนมาสนใจไหม แต่ลูกค้าประจำก็บอกกับเธอว่า ขายได้แน่นอน !


งานในครั้งนั้นเธอเตรียมสินค้าไปจัดแสดงกว่า 8 กระเป๋าเดินทาง มีผู้ให้ความสนใจอย่างล้นหลาม และเธอขายหมดทุกชิ้นในเวลาไม่นาน จากเอกลักษณ์บนตัวผ้า จากฝีเข็มที่เต็มไปด้วยเรื่องราว ทำให้ผลงานของพี่แนลโลดแล่นอยู่ในวงการมาเป็นเวลากว่าสิบปี


หากนำชื่อ สมพร อินทร์ประยงค์ ไปเสิร์ชในหน้าอินเทอร์เน็ต อาจจะพบข้อมูลไม่มากนัก แต่หากคุณเสิร์ชชื่อว่า Somporn Intraprayong คุณจะพบบทความมากมายจากต่างประเทศ และรูปผลงานของเธอเต็มไปหมด และนั่นเป็นเครื่องยืนยันให้เราเห็นว่าผลงานของเธอเก๋าไม่น้อยในเวทีระดับโลก


นอกจากบทบาทการสร้างงาน Folk Art แล้ว พี่แนลยังมีบทบาทในการสร้างอาชีพให้กับชาวนาในชุมชนตาคลี ผ่านการเชิญชวนให้คุณป้าแถวบ้านมานั่งปักผ้าร่วมกัน


ซึ่งทุกคนจะรู้สึกภูมิใจมากๆ กับสิ่งที่ลงมือทำ เพราะทุกครั้งที่เธอขายงาน เธอจะมีประวัติและรูปถ่ายคนทำ พร้อมเล่าเรื่องของผู้สร้างงานให้กับเจ้าของใหม่ฟังเสมอ ไม่เพียงเท่านั้นยังถ่ายรูปผู้ซื้อกลับไปให้เจ้าของงานได้ดู ถึงแม้ว่าป้าที่เย็บผ้าผืนนี้จะไม่เคยไปอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือญี่ปุ่นก็ตาม แต่เสื้อผ้าของป้าที่ตาคลี สามารถโลดแล่นอยู่บนเวที Folk Art ระดับโลกผ่านฝีเข็มที่ปักลงไปบนผ้า ทำให้ผู้คนเห็นถึงความสร้างสรรค์และชีวิตของงานฝีมือคนไทยได้อย่างน่าชื่นชม

ฝีเข็มแห่งชีวิตที่ร้อยเรียงกันจนกลายเป็นความสุข

“ทุกอย่างที่ผ่านมาในชีวิตมันกลายเป็นบทเรียน เราไม่ได้เก่งเอง แต่มีสิ่งรอบตัวเป็นห้องเรียนและเป็นครูคอยสอนเราให้ใช้ชีวิต “


เรื่องราวในชีวิตของพี่แนลถูกถ่ายทอดลงบนฝีเข็มทุกกระเบียดนิ้ว ผ่านผ้าย้อมสีครามจากธรรมชาติ กลายเป็นผลงานที่โดดเด่น มีเสน่ห์ชวนมอง และทุกครั้งที่เธอพูดเรื่องงานเธอจะมีรอยยิ้มปนเสียงหัวเราะบนใบหน้าอยู่เสมอ ในตลอดการพูดคุยกับพี่แนลทำให้เรายิ่งเห็นถึงเสน่ห์ของคนที่มีความรักในการทำงาน จนตัวเราเองอยากกลับไปค้นผ้าไหมของแม่ที่แอบอยู่ในตู้เสื้อผ้าที่บ้าน พร้อมกับหาเศษผ้าเพื่อเตรียมตัวไปบอกพี่แนลว่า

“ช่วยสอนผมเย็บผ้าหน่อยได้ไหมครับ ผมอยากเย็บเสื้อที่มีเรื่องราวของผมใส่เองบ้าง”

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.