เพราะหลงเสน่ห์ของความเป็นต่างจังหวัดของชุมชนควรค่าม้า จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความใจดี นิสัยที่ชอบแบ่งปัน หรือการที่ทุกบ้านสามารถเดินไปมาหาสู่กันได้ตลอดเวลา ความเรียบง่ายเหล่านี้ทำให้ ‘Cas’ กราฟฟิตี้อาร์ทติสต์ผู้ไม่เปิดเผยตัวตน ตัดสินใจย้ายจากกรุงเทพฯ มาลงหลักปักฐานในชุมชนเล็กๆ แห่งนี้
‘ชุมชนควรค่าม้า’ จากชุมชนที่เคยถูกมองข้ามจากนักท่องเที่ยว มาวันนี้แทบทุกบ้านเรือนในชุมชนกลับมีสีสันที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้แวะเวียนเข้ามาดูงานกราฟฟิตี้สวยๆ ทั้งจากศิลปินมือสมัครเล่นอย่างเด็กๆ ในชุมชน ไปจนถึงผลงานจากกราฟฟิตี้จากอาร์ทติสต์ชื่อดัง ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อวดลวดลายอยู่ตามประตู ฝาผนัง หรือแม้กระทั่งรั้วบ้านของคนในชุมชน
| จุดเริ่มต้นของการออกเดินทาง
“สวัสดีครับผม Cas นี่คือฉายาในวงการศิลปะ”
ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน Cas ได้มีโอกาสเข้าไปทำโปรเจกต์ศิลปะโปรเจกต์หนึ่งกับชุมชนควรค่าม้า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกิจกรรมที่เชิญชวนให้ชาวเชียงใหม่มาร่วมกันทำความสะอาดและปรับภูมิทัศน์ภายในชุมชน กิจกรรมครั้งนั้นแม้จะอยู่ไม่กี่วัน แต่มันคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้กลับมาอยู่และใช้ชีวิตในชุมชนควรค่าม้าอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันก็เป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว
“ตอนนั้นผมวาดรูปอยู่ในชุมชนประมาณ 2 – 3 วัน ก็เริ่มมีคุณป้าเดินมาบอกว่า…ถ้าหิวก็ไปสั่งข้าวที่ร้านกินเลยนะ ป้าจ่ายตังค์ให้เอง หรือบางครั้งก็เอาน้ำเอาขนมมาให้ทาน ซึ่งความห่วงใยเหล่านี้มันทำให้ผมรู้สึกดีมาก พอวันหนึ่งเมื่อตัดสินใจหาสถานที่ทำสตูดิโอแกลเลอรี่ ที่นี่จึงเป็นคำตอบ”
“ตอนแรกบ้านมันไม่ใช่แบบที่เห็น สภาพบ้านคือพังหมดเลยแม้แต่ต้นไม้ก็ไม่มี แต่เพราะได้มีโอกาสพูดคุยกับครูเอื้องเจ้าของบ้าน คุยกันถูกคอเพราะมีความชอบที่คล้ายๆ กัน เหมือนรู้จักกันมานาน ไปๆ มาๆ ครูเลยชวนเรามาอยู่ที่นี่มาทำงานศิลปะด้วยกัน เราเลยตกลง”
| ใช้ศิลปะยึดโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชน
‘Addict Art Studio’ ซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กๆ ของชุมชนควรค่าม้า บริเวณหลังวัดควรค่าม้าแถวประตูช้างเผือก ในอดีตถูกเรียกว่าเป็นคูเมืองชั้นในฝั่งเหนือ เป็นพื้นที่ของชนชั้นขุนนางอาศัยอยู่ โดยมีประตูช้างเผือกเป็นประตูเอกของเมือง ซึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กษัตริย์จะเสด็จเข้าเมืองผ่านประตูนี้ ทำให้ชุมชนฝั่งนี้ไม่มีการสร้างวัดวาอารามหรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเหมือนกับทางฝั่งใต้
“พวกศิลปวัฒนธรรมส่วนใหญ่จะอยู่เมืองเก่าฝั่งทางใต้ ทำให้ฝั่งนั้นเวลาจัดงาน เขามีอะไรให้เล่น สามารถดึงประวัติศาสตร์ออกมาเล่าได้ แต่ฝั่งทางเหนืออย่างชุมชนควรค่าม้าและชุมชนรอบๆ เราไม่มี พอรู้ผมเลยลองปรึกษากับคนในชุมชนว่า ทำไมเราไม่สร้างประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเราเอง เป็นวัฒนธรรมที่เกิดจากยุคเราแล้วให้มันสืบต่อไปให้ลูกหลายของเราในอนาคต”
“ในชีวิตนี้ สิ่งที่ผมเชื่อมากที่สุดก็คือศิลปะ”
Cas เริ่มต้นตั้งเป้าหมายที่อยากให้ศิลปะสามารถยึดโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเข้าด้วยกัน รักษาความน่ารัก ความมีน้ำใจ กลิ่นอายชนบทให้คงอยู่นานที่สุด เขาเชื่อว่าศิลปะมันมีพลังที่สามารถขับเคลื่อนสังคม ไม่ว่าจะการศึกษา เศรษฐกิจ หรือการท่องเที่ยวก็ตาม
“ทุกวันเสาร์ถ้าผมว่าง ผมก็จะเปิดสอนศิลปะให้กับเด็กๆ ในชุมชน พยายามสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้เขาได้แสดงฝีมือ ซึ่งคนในชุมชนก็น่ารัก ทุกบ้านยอมสละรั้วสละกำแพงให้เราวาดรูป หรือให้เด็กๆ ได้ประลองฝีมือ”
| เทศกาล กิ๋นหอม ต๋อมม่วน อาร์ทเฟส
เมื่อตกผนึกความคิดจากทุกคน ไม่ว่าจะคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่ Cas จึงเรียกพวกพ้องน้องพี่จากทั่วสารทิศเข้ามาร่วมกันจัดงานเทศกาล ‘กิ๋นหอม ต๋อมม่วน อาร์ทเฟส’ ขึ้น โดยล่าสุดจัดไปเมื่อวันที่ 7 – 8 ธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งได้รับความสนใจทั้งจากคนในชุมชนเอง คนภายนอก ไปจนถึงนักท่องเที่ยวหลายเชื้อชาติ
‘กิ๋นหอม ต๋อมม่วน’ เป็นภาษาคำเมืองนะเจ้า ที่หมายถึงมีความสุขกับทุกจังหวะของชีวิต งานนี้จึงเป็นทั้งเทศกาลที่ผสมผสานระหว่างศิลปะกับจังหวะดนตรีเข้าด้วยกัน ภายในงานเราจะได้เห็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนชุมชนควรค่าม้า ผ่านอาหารเหนือคาวหวาน การประกวดเครื่องแต่งกาย ตลาดชุมชน การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองต่างๆ รวมถึงโปรแกรมทางศิลปะเยอะแยะมากมาย เช่น Light Painting, Video Mapping, Street Art และเวิร์กชอปต่างๆ
“การจัดงานสิ่งสำคัญ คือเราพยายามให้ชุมชนเป็นสารตั้งต้น ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม สามารถออกความคิดเห็น แชร์ไอเดียต่างๆ ได้ ว่าเขาต้องการอะไร อยากได้อะไร อยากทำแบบไหน เราไม่อยากให้ทุกคนรู้สึกว่าเราเอาอะไรมายัดเยียดให้เขาก็ไม่รู้”
| พลังของศิลปะที่สามารถเปลี่ยนแปลงชุมชน
Cas บอกกับเราว่าการเปลี่ยนแปลงเห็นผลชัดสุด คือเศรษฐกิจภายในชุมชนดีขึ้น การจัดเทศกาลมันทำให้ชุมชนมีเงินหมุนเวียน ผู้คนในชุมชนมีรายได้จากการขายอาหารหรือของที่ระลึก ควบคู่ไปกับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่แน่นแฟ้นขึ้น เพราะพื้นที่ตรงนี้เขามีความหลากหลายชาติพันธุ์ แต่เมื่อเชื่อมให้ทุกคนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ต่อไปนี้ก็ไม่มีคนไทใหญ่ ไม่มีคนพม่า ไม่มีคนไทยมีแต่คนของชุมชนควรค่าม้า
“ผมพยายามให้เขารู้สึกว่าทุกคนเป็นคนเหมือนกัน ทุกคนเป็นสิ่งเดียวกันมันไม่ได้ถูกแยกออกจากกันด้วยเชื้อชาติหรือว่าอะไร”
| สร้างวัฒนธรรมควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
Cas ไม่ใช่เป็นแค่กราฟฟิตี้อาร์ทติสต์เท่านั้น แต่เขายังทำงานในด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับ ‘คุณภราดล พรอำนวย’ หรือ ‘พี่ปอ North Gate’ ผู้ชายที่มีความเชื่อในการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมที่หลายคนรู้จักกันดี อีกคนที่อยู่เบื้องหลังเทศกาลกิ๋นหอม ต๋อมม่วน ดังนั้นเราจึงเห็นว่างานนี้เป็นงานที่พยายามรณรงค์เรื่องการงดใช้ถุงพลาสติก ควบคู่ไปกับเรื่องธรรมชาติและภาระโลกร้อน เช่น ภาชนะในงานจะใช้เป็นใบตองพับ หรือสร้างขยะให้น้อยที่สุด
“เราปรึกษากับหัวหน้าชุมชนและคนในชุมชน ว่าเราอยากให้ทุกคนเก็บขยะไว้ในบ้านตัวเอง เมื่อถึงเวลาค่อยให้ประชาชนนำขยะออกมาทิ้งที่รถขยะเหมือนกับไต้หวัน เพราะไม่งั้นทุกบ้านก็จะเอาขยะออกมาวางเกลื่อนเต็มถนนไปหมด ทำให้ดูไม่เป็นระเบียบและไม่น่าเดิน”
| ศิลปะไม่ใช่แค่หนึ่งวัน แต่มันจะคงอยู่ตลอดไป
“คนมักถามผมเสมอว่าทำแบบนี้มันจะเกิดความยั่งยืนยังไง ผมก็ตอบไปว่าความยั่งยืนคือคนในชุมชนมีแรงบันดาลใจ มีสิ่งที่คิดและอยากต่อยอด อยากออกมาทำสิ่งใหม่ๆ ในทุกๆ วัน ซึ่งถ้าทุกคนรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ ยังไงมันก็ยั่งยืน”
หลังจากโควิดหาย หากมีโอกาสได้ไปเที่ยวเชียงใหม่ เราก็อยากชวนทุกคนหาวันว่างไปเดินเล่น ถ่ายรูป ชมงานกราฟฟิตี้สวยๆ หรือแวะพูดคุยกับคุณลุงคุณป้าในชุมชน เพราะเราลองแล้วพบว่าเป็นการเที่ยวที่ให้ความรู้สึกดีต่อใจไปอีกแบบเหมือนกัน
และใครที่สนใจอยากไปเที่ยวงานเทศกาล ‘กิ๋นหอม ต๋อมม่วน อาร์ทเฟส’ ปีนี้สามารถติดตามข่าวสารได้ที่เพจ Addict Art Studio และหวังว่าพวกเราจะได้พบกันเร็วๆ นี้