10 นาทีก่อนเปิดเครื่องบันทึกเสียง อแมนด้า-ชาลิสา ออบดัม ผู้ครองตำแหน่งนางงามเวที Miss Universe Thailand ปี 2020 วางแก้วกาแฟราคา 25 บาทของเธอลงบนโต๊ะ พร้อมบอกว่านี่คือสิ่งที่กินแทบทุกเช้าให้ตาตื่น สักพักสาวภูเก็ตลูกครึ่งไทย-แคนาดาวัย 27 ก็เริ่มจัดระเบียบผมของเธอหลังนั่งวินมอเตอร์ไซค์มาสถานที่นัดหมาย อีกทั้งยังพูดปนขำกับฉันว่า ตั้งใจแต่งหน้ามาเป็นพิเศษเพื่อวันนี้! ก่อนเม้ากันถึงสารคดี 3 เรื่องใน Netflix ที่เธออยากแนะนำให้ดู ได้แก่ Crime Scene: The Vanishing at the Cecil Hotel, Evil Genius และ I Am A Killer ซึ่งล้วนเป็นสารคดีแนวสืบสวนที่ชวนสำรวจพฤติกรรมตัวละครว่าใครโกหก ใครร้าย ใครเห็นอกเห็นใจ ทำไมตัวละครถึงทำแบบนั้น มีปมอะไรอยู่เบื้องหลังจิตใจกันแน่
“สารคดีทำมาจากเรื่องจริง และชี้ให้เห็นว่าคนน่ากลัวกว่าผีซะอีก” ฉันพยักหน้าตามคำพูดเล่นๆ แต่จริงจังของอแมนด้า
บางคนร้องขอความช่วยเหลือ แต่ไม่มีใครฟัง บางคนฟังหูซ้ายทะลุหูขวา แล้วย้อนกลับมาพูดเรื่องตัวเอง หรือบางคนฟังปัญหาแล้วตอบกลับมาว่า “คนอื่นเขาเจอเรื่องแย่กว่าเธออีก” นี่แหละความน่ากลัวของมนุษย์ที่อแมนด้าเข้าใจมันดีในวัย 19 ตอนเป็นโรคคลั่งผอม (Eating Disorder) ประเภท Bulimia Nervosa หรืออาการล้วงคอให้อาเจียนเพราะรู้สึกผิดต่อการกินอาหารจนมือไม้สั่นตลอดเวลา และอยู่ในจุดที่พูดดังแค่ไหน คนไม่ฟังก็คือไม่ฟัง
วันนี้อแมนด้าไม่ได้สวมมงกุฎหรือสวมหัวโขนเป็นทูตองค์กรใดมาคุยกับฉัน แต่เธออยากใช้ Privilege (สิทธิพิเศษ) ของนางสาวอแมนด้า ช่วยคนที่กำลังเผชิญปัญหาภายในจิตใจแต่ไม่มีใครรับฟังผ่าน ‘Have You Listened’ แคมเปญรณรงค์ให้คนหันมาตั้งใจรับฟังกันโดยไม่ตัดสิน และอยู่ข้างๆ คนที่กำลังจิตใจอ่อนแอให้รู้ว่ามีเพื่อนคนนี้รอฟังอยู่
01 สาวภูเก็ต aka เด็กเกาะ
ถ้าโมอาน่าจากแอนิเมชันค่ายดิสนีย์ โมอาน่า ผจญภัยตำนานหมู่เกาะทะเลใต้ เติบโตมากับสายลม เสียงคลื่น และท้องทะเล บนเกาะโมทูนุย ‘อแมนด้า’ คงเป็นหญิงสาวที่มีจิตวิญญาณรักมหาสมุทรไม่ต่างจากโมอาน่า เพราะเธอเกิดที่ ‘ภูเก็ต’ จังหวัดซึ่งแวดล้อมไปด้วยผืนน้ำแสนสวยและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ แถมเธอยังเรียกตัวเองว่า ‘เด็กเกาะ’
“คุณแม่เป็นคนไทย คุณพ่อเป็นคนแคนาดาที่ย้ายมาอยู่ภูเก็ตก่อนเจอแม่นานมากๆ ด้าจึงกลายเป็นสาวภูเก็ตที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มองทางไหนก็เต็มไปด้วยธรรมชาติ ทุกสุดสัปดาห์จะต้องนัดเพื่อนไปทะเลตามเกาะต่างๆ เพื่อไปปิกนิก ปูเสื่อ แบกกระติกน้ำไปนั่งกินน้ำอัดลม ตากแดด รับลม มันสบายมาก ตอนนั้นมีความสุขมากที่สุด ไม่ต้องเครียดกับอะไร เครียดสุดคือใส่บิกินีตัวไหนดี (หัวเราะ)”
อแมนด้าเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนสตรีภูเก็ต และต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนนานาชาติบริติช ภูเก็ต เสี้ยวความคิดในการเป็นนางงามของเธอเป็นศูนย์ แม้จะดูการประกวดตามทีวีบ้าง แต่การใช้ชีวิตโลดโผน ชอบกระโดดลงทะเล และไม่รักสวยรักงาม ทำให้การเป็นนางงามสำหรับเธอช่างไกลตัวหลายพันไมล์
“สิ่งที่ด้าสนใจตอนเรียนที่ภูเก็ตคือวิชาจิตวิทยา ด้วยความที่หลักสูตรภาคอังกฤษ เขาให้เลือกเรียนเป็นสายวิชา หนึ่งในนั้นเราเลือกจิตวิทยา เพราะรู้สึกว่ามันมีอะไรที่ซับซ้อนเกี่ยวกับสมองและความนึกคิดของมนุษย์ พอเรียนไปเรื่อยๆ เราได้เห็นกลุ่มตัวอย่าง งานวิจัยต่างๆ ยิ่งรู้สึกชอบ มันเป็นอะไรที่ท้าทายดี เหมือนเราได้สกิล Perceiver Effects หรือการมองเห็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ว่าเขาเป็นคนแบบไหน ซึ่งมันน่าสนใจมาก”
ขณะที่อแมนด้ากำลังเรียนสิ่งที่เธอคิดว่าท้าทาย อยู่ดีๆ แมวมองที่เดินมามองเธอใกล้ๆ ก็หยิบยื่นความท้าทายใหม่ให้ในวัย 16 “ลองเป็นนางแบบดูไหม” แน่นอนว่าเธอเปิดรับโอกาสใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการเรียน จึงรับงานนางแบบเฉพาะถ่ายที่ภูเก็ตเท่านั้น เพราะยังสนุกกับการเรียนอยู่
02 อแมนด้าที่เปลี่ยนไปในแคนาดา
ความท้าทายเก่ายังไม่คลาย ความท้าทายใหม่ก็เข้ามา เมื่อเรียนจบมัธยมฯ พ่อกับแม่มีทางเลือกให้เธอคือเรียนต่อที่ไทยหรือไปเรียนมหาวิทยาลัยที่แคนาดาบ้านเกิดพ่อ
“เราอยู่ไทยมาสิบแปดปี รู้จักครอบครัวฝั่งแม่ มีเพื่อนเป็นคนไทยมากมาย ซึมซับวัฒนธรรมต่างๆ ของไทยมาก็มาก แต่เราแทบไม่รู้จักครอบครัวฝั่งพ่อเลย ด้าเลยรู้สึกอยากไป Explore ดูว่าที่นั่นมันเป็นอย่างไร และถือเป็นการ Reconnect กับทุกคนในครอบครัว จึงตัดสินใจไป”
มหาวิทยาลัยโทรอนโตคือหมุดหมายที่อแมนด้าเลือก ปีแรกที่เข้าไป ทางมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาได้เรียนวิชา 101 ของทุกแขนง เธอเลือกเรียนจิตวิทยาแบบที่ชอบ แต่ก็ได้เรียนเศรษฐศาสตร์กับธุรกิจด้วยเช่นกัน เรียนไปเรื่อยๆ จนค้นพบเสน่ห์ของตัวเลขที่ตอบได้แค่คำตอบเดียว ซึ่งกระตุ้นต่อมท้าทายยามคิดหาคำตอบและตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อต้องแก้โจทย์ที่ยากเอาการ สุดท้ายเธอเปลี่ยนเส้นทางจากจิตวิทยา เป็นด้านการจัดการและบริหารธุรกิจแทน
ไม่เพียงแต่หมุดหมายการเรียนที่เปลี่ยน แต่การใช้ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน จากอาหารไทยเป็นอาหารฝรั่งที่เน้นแป้งเป็นวัตถุดิบหลัก หรืออาหารแนวฟาสต์ฟู้ด ผนวกกับการเรียนหนัก อ่านหนังสือจนดึก ทำให้เธอ Enjoy Eating มากกว่าปกติ (กินอาหารตอนดึกๆ อร่อยจะตาย)
ช่วงพักร้อน 2 อาทิตย์ อแมนด้าบินกลับไทยพร้อมน้ำหนักที่ขึ้นมา 20 กิโลกรัม เธอเจอคำทักทายสุดเบสิกของป้าข้างบ้าน “ตกลงไปเรียนหรือไปกินกันแน่ ทำไมอ้วนขนาดนี้” และมีอีกหลายคนที่ทยอยถามเธอราวกับว่า โรคอ้วนคือเรื่องผิดปกติ เธอเริ่มสงสัยว่านี่เขาไม่รู้จริงๆ เหรอว่ามันกระทบจิตใจคนอื่น และสุดท้ายจบลงด้วยการมองอาหารเป็นศัตรู
“ประโยคไม่ปกติที่คนพูดคิดว่าปกติมันทำให้ด้ารู้สึกจุก ยิ่งตอนนั้นน้องชายที่เป็นโรคอ้วน เขาหันมาพูดกับเราว่า ‘Amanda, It’s okay. Don’t worry about it. ไม่ต้องไปฟังเขาหรอก’ เรามองน้องชายทันทีแล้วคิดว่า นี่เป็นคำพูดที่น้องต้องโดนมาตลอดชีวิตเลยเหรอ โลกนี้มันอยู่ยากจัง”
Culture Shock ของอแมนด้าในแคนาดาจึงไม่ได้มีแค่เรื่องอากาศติดลบ 30 องศาฯ แต่เป็นความงุนงงว่าคนที่นี่ให้เกียรติกันจังเลยนะ ไม่เคยมีใครทักกันว่าอ้วนไปไหมหรือผอมไปเปล่า เหมือนที่คนไทยทำ
03 เวทีต่อสู้กับโรคคลั่งผอม
หลังหมดซัมเมอร์อแมนด้าที่สดใสเริ่มเปลี่ยนไป จากที่ชอบแก้โจทย์ท้าทายในชีวิตอยู่แล้ว ยิ่งตั้งโจทย์ในชีวิตให้ยากขึ้นไปอีกคือ ‘ต้องผอม แล้วห้ามกลับไปอ้วนอีก’
เด็กสาววัย 19 โหมออกกำลังกายอย่างหนักทุกวัน หลายครั้งที่เธอมองร่างกายของตัวเองแล้วเบนหน้าหนี เป้าหมายคือต้องผอมและกลับมาใส่กางเกงตัวเก่าให้ได้ ความผิดปกติที่เกิดกับอแมนด้าไม่ใช่น้ำหนักที่ลดฮวบ แต่จากวิชาจิตวิทยาที่สอนให้รู้จักโรคแทบทุกชนิด ทำให้รู้ว่าลึกๆ แล้วเป็นโรคคลั่งผอม (Eating Disorder)
อาการที่ชี้ชัด คือความทรมานที่ต้องต่อสู้กับความคิดตัวเอง เธอบอกฉันว่า ถ้าเคยดูการ์ตูนบางเรื่องที่มีนางฟ้ากับปีศาจอยู่สองฝั่งในหัวมนุษย์ ด้านหนึ่งกำลังชี้ให้รักตัวเอง แต่อีกด้านคอยบอกให้ทำผิด เธอเป็นแบบนั้น แถมด้านปีศาจดันชนะ
“นางฟ้าในหัวบอกเราว่า กินอาหารสิ จะทำให้แกมีแรงใช้ชีวิตอยู่ต่อได้นะ แต่ปีศาจกลับบอกเราว่า ห้ามนะ อาหารคือศัตรู มันคือแคลอรีที่มาพร้อมน้ำหนัก แกจะกลับไปโดน Body Shaming อีก ทำให้ทุกครั้งที่มีอาหารอยู่ตรงหน้า ด้ารู้ตัวว่าโคตรหิว แต่ไม่สามารถกินได้จริงๆ
“หนักข้อขึ้นจนเราไม่ยอมไปกินข้าวกับรูมเมตหรือเพื่อนๆ เลย เพราะถ้าไปเท่ากับว่าต้องกินข้าว เราใช้ชีวิตด้วยการล้วงคอให้อ้วกทุกครั้งเมื่อจำเป็นต้องกินจริงๆ ซึ่งเป็นอาการของโรคคลั่งผอมประเภท Bulimia Nervosa จนครั้งหนึ่งเพื่อนมาเห็นตอนเราอ้วกในห้องน้ำ จึงรวมกลุ่มมานั่งล้อมวงถามเราว่าต้องการความช่วยเหลือไหม อยากช่วย เป็นอะไรพูดได้เสมอนะ ซึ่งเราไม่เคยเจอแบบนี้ที่ไทยเลย คนที่ไทยมีแต่เห็นว่าเป็นเรื่องสนุกๆ และยังบอกอีกว่าอยากเป็นแบบเราจะได้ผอมบ้าง”
เรียกสติเลยไหม
อแมนด้าตอบฉันว่าไม่ ตอนนั้นเธอไม่รับความช่วยเหลือจากใคร แถมโกรธที่ทำให้ความตั้งใจไขว้เขว เสียงปีศาจในหัวบอกเธอเสมอว่า ไม่ได้เป็นเยอะขนาดนั้นซะหน่อย ถ้าหายขาดจะกลับไปอ้วน สวนทางกับน้ำหนักที่เหลือเพียง 46 กิโลกรัม ขณะที่สูง 170 เซนติเมตร หยิบจับอะไรมือก็ชา เท้าก็ชา เหมือนพาตัวเองไปที่ไหนก็หนาวตลอดเวลา เธอทรมาน เธอร้องไห้ เธอเหนื่อย
ปิดเทอมใหญ่หัวใจของอแมนด้าเต็มไปด้วยความว้าวุ่น ป้าข้างบ้านเลิกเหยียดรูปร่างแล้ว แต่เธอกลับไม่มีความสุข และร้องไห้ทุกวัน จนพ่อชวนไปตรวจร่างกาย คุณหมอบอกเธอว่าผอมเกินมาตรฐานและแนะให้เธอกลับมากินอาหารอีกครั้ง ซึ่งกำลังใจที่จะผ่านจุดนี้ไปมีส่วนสำคัญมาก ทว่าเธอกลับไม่ได้รับ
“ตอนที่เรารู้ตัวว่าไม่ไหวแล้ว เราขอความช่วยเหลือจากคนไทยรอบๆ ตัว นอกจากเขาจะไม่ฟังเราแล้วว่าเราเปลี่ยนไปอย่างไร เขายังบอกว่าหิวก็กินสิ ไม่เห็นยาก ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเรื่องนี้มันยิ่งยาก
“โชคดีที่คุณพ่อคอยให้กำลังใจเราตลอดเวลา และเรามีโอกาสนัดเจอกลุ่มเพื่อนสนิทที่ชอบไปนั่งริมทะเลกันบ่อยๆ เพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนานยังเป็นคนเดิมเสมอ ทุกคนพยายาม Cheer Up เราไปเรื่อยๆ แม้จะเป็นคนไม่กี่คน แต่เรารู้สึกว่าคุณภาพมาก”
อาการป่วยไม่ได้หายได้ปุบปับภายในวันสองวัน เธอใช้เวลาหลายเดือนค่อยๆ เปลี่ยนตัวเอง เริ่มจากปรับความคิดจากไม่อยากหายเป็นอยากหาย คอยปลอบประโลมตัวเองทุกช้อนที่ตักอาหารเข้าปากว่า กินได้นะ กลืนได้ ไม่เป็นอะไรเลย พอกลืนลงคอไปแล้วจนอยากล้วงคอ เธอต้องนั่งหลังตรงจนตัวแข็งทื่อ และต่อสู้กับความคิดอีกรอบว่า ไม่เป็นอะไรนะ ไม่ต้องเดินไปล้วงคอ มันโอเค
สุดท้ายเธอก็ผ่านไปได้ และกลับมาเป็นสาวใต้คนเดิมที่หลงใหลเครื่องแกงปักษ์ใต้และมีแกงส้มชะอมกุ้ง เป็นเมนูเยียวยาใจ กินทีไรอารมณ์ดีทุกครั้ง แม้ปัจจุบันอาการกลัวอ้วนของเธอจะยังไม่หายขาดร้อยเปอร์เซ็นต์ บางครั้งตัวร้ายในหัวยังโผล่มาเล่นการแสดงอยู่บ้าง แต่สติก็พาเธอให้ผ่านความคิดร้ายๆ ไปได้
04 ‘Have You Listened’ ฟังด้วยหัวใจ
ชีวิตท้าทายตลอด 27 ปีของอแมนด้ามีล้มบ้าง ลุกบ้าง แต่ไม่ยอมแพ้กับขวากหนามมากมาย ส่วนหนึ่งเธอบอกว่าผ่านมาได้เพราะยังมีคนรับฟังอยู่บ้าง ไม่รับฟังบ้าง จนรู้สึกว่าการรับฟังเป็นอีกหนึ่งปัญหาของสังคมไทยที่เธออยากแก้ โดยเริ่มจากการพาตัวเองสู่เวทีนางงาม
“ตอนแรกด้าไม่อยากเป็นนางงามเลย แต่พอเราดูมิสยูนิเวิร์สในยุคหลังๆ เราพบว่าคนที่ได้ตำแหน่งเขามีมากกว่าความสวย เขาดูมีความเป็น Powerful Woman ที่ใช้ตำแหน่งของตัวเองช่วยให้คนได้ยินเสียงของเขาและช่วยให้ผู้คนพ้นจากปัญหาต่างๆ ได้ ประจวบเหมาะกับมีคนเคยบอกว่าลุคเราเป็นนางงามได้ เราก็เลยเอะใจว่า ได้จริงเหรอ (หัวเราะ) แถมชอบความท้าทายอยู่แล้ว เลยประกวดซะเลย
“ด้าตั้งใจตั้งแต่ต้นว่าถ้าได้ตำแหน่งจะรณรงค์เรื่องสุขภาพจิต เพราะในสังคมไทยเวลาพูดถึงสุขภาพจิต คนจะมองเห็นแค่โรคซึมเศร้า แต่แท้จริงแล้วมีโรคย่อยๆ อีกมากมาย เช่น โรคคลั่งผอมที่ด้าเป็น ซึ่งไม่มีพื้นที่สร้างความเข้าใจ ยิ่งทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดและไร้เสียงยิ่งขึ้น
“การเป็นนางงามมันมี Privilege ที่ทำให้คนฟังเรามากขึ้น จากตอนแรกเราพูดให้คนสิบคนฟัง อาจไม่มีใครฟังเลย แต่พอเป็นนางงามแล้ว อาจจะมีห้าคนที่ฟัง นั่นแปลว่าเสียงเราดังขึ้น จึงอยากใช้สิทธิพิเศษนี้สานต่อโครงการเกี่ยวกับการรับฟังซึ่งกันและกัน เพราะคนในครอบครัวเราก็เป็นโรคซึมเศร้า เลยรู้ดีว่าคนยังไม่เข้าใจผู้ป่วยทางจิตขนาดนั้น
“ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาไปปรึกษาเรื่องไม่สบายใจกับใคร บางคนยังบอกว่า เฮ้ย ไม่เป็นอะไรหรอก คิดมากทำไม มีคนแย่กว่าเธอตั้งเยอะ นี่คือการไม่รับฟังที่ทำให้คนกลัวการถูกปฏิเสธจนไม่กล้าพูดหรือปรึกษาใคร”
‘Have You Listened’ คือแคมเปญรณรงค์ให้คนหันมารับฟังกันแบบเห็นอกเห็นใจ เพราะหลายครั้งที่คุณพูดแต่เรื่องตัวเองจนลืมฟังเสียงคนรอบข้าง ซึ่งเกิดหลังจากเธอได้รับตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020
โจทย์ของอแมนด้าในการจัดทำแคมเปญคือ อยากให้คนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นหมอ รณรงค์เรื่องนี้ได้เหมือนกัน และอยากให้คนได้ยินชื่อ ‘ชาลิสา ออบดัม’ แล้วเห็นมากกว่าคำว่า ‘นางงาม’ แต่มองเห็นเธอเป็นตัวแทนคนธรรมดาที่สนับสนุนและขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพจิต
การบ้านวิชานี้ของเธอ คือการเตรียมความพร้อมสำหรับรับฟังผู้คนอย่างตั้งใจ และการรับมือกับสถานการณ์คับขันที่คนรอบตัวผู้ป่วยต้องเจอ อแมนด้าจึงเข้าไปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาโดยเฉพาะอย่าง Ooca แพลตฟอร์มที่รวบรวมทีมจิตแพทย์และนักจิตวิทยาสำหรับให้คำปรึกษา และสะมาริตันส์ สมาคมให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย อีกทั้งเธอยังตอบรับคำชวนเข้าร่วมเป็นหนึ่งในอาสาสมัครของมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งมีภารกิจช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะซึ่งมีปัญหาการเข้าถึงสวัสดิการและการรักษา
05 ด้าอยากพูด ด้าอยากฟัง
“วันที่ด้าเผชิญวิกฤต มันยังพอมีมุมที่ด้ารู้อยู่แล้วว่าตัวเองกำลังเผชิญอะไรอยู่ ด้วยองค์ความรู้ที่ได้เรียนมา แต่เด็กไทยกลับไม่ได้เรียนเรื่องจิตวิทยาเท่าไหร่ จะดีกว่าไหมถ้าตั้งแต่มอต้นหรือมอปลายเด็กๆ ได้เรียนเรื่องเหล่านี้ จนทำให้รู้ว่าอาการแบบนี้ ฉันกำลังเป็นอะไรอยู่ แล้วฉันจะรักษาอย่างไร และปลูกฝังให้เด็กๆ ไม่คิดว่าการพบจิตแพทย์เท่ากับการเป็นบ้า ทั้งๆ ที่มันคืออาการป่วยที่ใครก็เป็นได้ตามปกติ มันจะช่วยลดแผลเป็นในใจเด็กได้เยอะ”
นอกจากนี้ อแมนด้ายังมองเห็นช่องโหว่ของการศึกษาไทยอีกอย่างคือ หลักสูตรเกี่ยวกับการรับฟังคนอื่นในห้องเรียนยังไม่มี เธอจึงมุ่งสร้าง Good Listener Club คลับสำหรับคนที่ต้องการรับฟังอย่างเห็นอกเห็นใจกัน และเปิดเวทีแชร์ความคิดเห็นเกี่ยวกับการรับฟัง อีกทั้งยังมีแพลนทำหลักสูตรเกี่ยวกับการรับฟัง เพราะอยากให้เด็กๆ มีองค์ความรู้เรื่องนี้ เนื่องจากเธอมีโอกาสคุยกับเด็กที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยจนทราบว่าเด็กๆ อยากให้มีการสอนเกี่ยวกับการรับฟัง ซึ่งจะช่วยให้โรคซึมเศร้าในเด็กลดลง และโอกาสฆ่าตัวตายจะลดลงตามเช่นกัน
“Deep Listening เป็นการฟังที่ให้เขาพูด โดยที่คนฟังไม่ต้องไปชี้ว่าเธอทำแบบนั้น แบบนู้นสิ เพราะการหาทางออกที่เขาไม่ต้องการเป็นสิ่งที่จะทำให้เขาอึดอัดมากขึ้น ดังนั้น การฟังโดยไม่ตัดสินผู้พูดและถามไถ่เขา ให้เขาระบายออกมาอย่างเต็มที่ จึงเป็นการฟังที่ดีที่สุด ลองคิดดูว่าถ้าคนในสังคมได้เรียนเรื่องนี้ ทุกคนจะเอาไปใช้กับเพื่อน คนรอบตัว หรือแม้กระทั่งกับตัวเองได้อย่างดี”
อแมนด้า-ชาลิสา ออบดัม ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคติ ‘ทำทุกวันให้ดีที่สุด’ เธอบอกฉันว่า มันเรียบง่ายแต่ทรงพลัง เพราะการที่จะทำทุกวันให้ดีได้ ทุกคนต้องมั่นใจในตัวเองและไม่ลังเลที่จะช่วยเหลือใคร
อนึ่ง การทำดีที่สุดของอแมนด้าไม่ใช่แค่ตัวเธอเอง แต่เพื่อเพื่อนร่วมโลกของเธอด้วย
การฟังเสียงตัวเองไปพร้อมๆ กับเสียงกู่ร้องขอความช่วยเหลือของคนอื่น จึงเป็นสิ่งที่เธอจะทำมันไปตลอด แม้จะหมดวาระการเป็นนางงามในอนาคต