เมื่อเทคโนโลยีถูกพัฒนาตามยุคสมัยมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งอำนวยความสะดวกสบายของพวกเราล้วนเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยเข้ามาช่วยงานเราเล็กๆ น้อยๆ ตอนนี้เทคโนโลยีเดินหน้ามาถึงวันที่มันมีมันสมองในตัว สามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานออกมาจากชุดข้อมูลที่เราป้อนเข้าไป
ส่งผลให้การค้นหา ‘ความจริง’ ของเราถูกขยายขอบเขตไปไกลเกินกว่าจะกำหนดได้ เรื่องที่ไม่เคยรู้ก็ได้รู้ เรื่องที่น่ารู้น่าสนใจก็ประดากันเข้ามาเป็นประตูสู่โลกใบใหม่ที่มีหลากร้อยพันมิติให้เลือกค้นหาหรือใช้ประโยชน์
จากยุคปัญญาคนมาถึงยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นเครื่องมือแห่งยุคสมัยหรืออาจเรียกว่าเป็นคู่หูใหม่ที่หลากหลายวงการต่างนำไปใช้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ออกมาให้ได้เห็นกันทุกวัน
เช่นเดียวกับนิทรรศการภาพถ่ายครั้งแรกในไทยของ ‘ตรัส-นภัสรพี อภัยวงศ์’ ผู้นำ AI มาร่วมด้วยช่วย Generate ผลงานภาพชุด Resonances of the Concealed ของเขา เพื่อบันทึกช่วงเวลาหนึ่งเอาไว้
และวันนี้ภาพของเขาก็กำลังแขวนอยู่บนผนังสีนวลตาชั้นสองของแกลเลอรีสุดสงบ รอให้ทุกคนแวะเวียนมาชมที่ ‘Kathmandu Photo Gallery’ (คัดมันดูโฟโต้แกลเลอรี) ในซอยสีลม 20 ตรงข้ามวัดแขก
Pale_Flare ระดับแสงที่ตรงกับความรู้สึก
ตรัสเริ่มต้นเล่าว่า จากช่วงน้ำท่วมในปี 54 ระหว่างย้ายออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว ความเปื่อยๆ เบื่อๆ ก็เข้าครอบงำ พอดีกันกับที่น้องของเขาได้หิ้วหนังสือสอนถ่ายภาพเบื้องต้นและกล้อง Canon 7D เข้ามาให้ทำความรู้จัก การเรียนรู้ครั้งใหม่ของตรัสจึงเกิดขึ้น
“ช่วงแรกๆ ก็ถ่ายรูปไปเรื่อย ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร พอถ่ายรูปไปสักพักก็มีข้อสังเกตที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองชอบถ่ายรูปคน แต่ไม่ค่อยชอบถ่ายรูปคนแบบเห็นหน้า และอีกอย่างที่รู้ตัวคือ การถ่ายภาพแนวอีเวนต์หรืองานรับปริญญาไม่ใช่ทาง เพราะส่วนตัวไม่ได้มีความสนใจการถ่ายภาพเพื่อคนอื่น เพื่อบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือเก็บบันทึกเป็นความทรงจำ”
ตรัสเล่าต่อว่า การใช้กล้องทุกวันทำให้เขาได้ศึกษาค้นคว้าไปเรื่อยๆ จับกล้องดิจิทัลบ้าง กล้องฟิล์มบ้าง สลับกันไปตามแต่จะพกพาได้ถนัด และสิ่งที่เขาให้ความสำคัญที่สุดไม่ใช่เรื่องเทคนิคหรืออุปกรณ์ แต่คือผลลัพธ์สุดท้ายของภาพ เพราะเชื่อว่าถ้ามันเป็นภาพที่ดี ทรงพลัง มันจะถ่ายด้วยกล้องอะไร จะคมชัดแค่ไหนก็ได้
“เราไม่ได้ทำสิ่งที่ไม่เหมือนคนอื่นเพียงเพื่อให้ต่างจากคนอื่น เช่น การเอารูปที่ถ่ายด้วยกล้องฟิล์มมาแต่งสีต่อ การถ่ายรูปโดยใช้จอหลังของกล้องแทนการมองผ่าน Viewfinder ฯลฯ แต่เราทำในสิ่งที่มันตอบโจทย์กับวิธีการถ่ายของตัวเราเอง ถ้าต้องทำแบบที่คนอื่นทำเราก็ไม่ได้มีปัญหา ถ้าสิ่งที่ทำมันมีเหตุผลรองรับ เราก็จะทำมัน” เขาเล่าสิ่งที่คิด
จากน้ำท่วมวันนั้นผ่านมาถึงสิบปีที่ตรัสได้เรียนรู้ ถ่ายรูป สร้างผลงาน และมีโปรเจกต์ที่รวบรวมภาพถ่ายระหว่างรายทางของช่วงชีวิตที่ผ่านมาให้ชมผ่านเว็บไซต์และอินสตาแกรม ‘Pale_Flare’ ซึ่งเป็นชื่อที่มาจากความนุ่มนวลของระดับแสงที่ตรงกับความรู้สึกของตรัส
ในโลกของ Pale_Flare ประกอบไปด้วยภาพถ่ายหลายจำนวน ต่างประเภท ต่างเรื่องราว หลากอารมณ์ความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายที่มาจากคำถามเกี่ยวกับความฝัน ไดอารีภาพถ่ายที่นำประโยคในห้วงคำนึงมาประกอบ ภาพที่ถ่ายจากสมาร์ตโฟน และภาพถ่ายที่ใช้ AI มาเป็นเครื่องมือในการสร้างผลงาน ส่งต่อให้ภาพชุด asphyxia ถูกมองเห็นและไปจัดแสดงที่ประเทศรัสเซีย ซึ่งเร็วๆ นี้ตรัสก็กำลังเตรียมผลงานอีกหนึ่งชุดไปจัดแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น
‘ปัญญาประดิษฐ์’ เพื่อนใหม่ที่เข้ามาทำลายข้อจำกัดของการทำงานภาพถ่าย
“ปกติเราเป็นคนพกกล้องตลอดเวลา เรียกว่าถ่ายรูปเป็นกิจวัตร” ตรัสบอกเล่าถึงภาพในวันเก่าของเขา และเสริมว่าช่วงที่กล้องของเขาพังเป็นช่วงที่เครื่องมือชื่อ Midjourney กำลังเป็นที่นิยมและถูกพูดถึง เขาจึงวางกล้องชำรุดตัวนั้นไว้ และกระโดดเข้าสู่โลกของปัญญาประดิษฐ์ นำการถ่ายภาพที่ชอบไปทดลองกับเครื่องมือใหม่ๆ ที่คนทั่วโลกต่างกำลังศึกษาทำความรู้จักฟังก์ชันต่างๆ ให้มากขึ้น
เมื่อเราถามว่าทำความรู้จักเครื่องมือนี้ยังไง ตรัสก็ตอบทันที “ขั้นแรกอ่านคู่มือที่มี อีกส่วนคือทดลองผิดถูกด้วยตัวเอง หลักการทำงานของ Midjourney คือ ถ้าเราอยากได้อะไรก็พิมพ์ไป ถ้ามันไม่ได้ก็ลองคิดวิธีอื่นและลองดูใหม่ พูดแล้วเหมือนขวานผ่าซาก แต่มันไม่ได้มีกฎตายตัวว่าทำแบบนี้แล้วจะต้องเป็นแบบนั้น
“ช่วงแรกที่เราเจเนอเรตออกมาไม่ใช่แค่รูปถ่าย มีรูปวาด รูปการ์ตูน รูปปั้น ฯลฯ มันทำให้เราเห็นว่าเครื่องมือนี้ทำอะไรได้เยอะมาก เลยตามไปเข้ากลุ่มดูอินสตาแกรมของคนอื่นที่เขาทำรูปจาก AI เราเห็นว่าที่คนอื่นทำเป็นแค่เสี้ยวเล็กๆ ที่ทำได้ แล้วสิ่งที่เราทำก็เป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ที่มันสามารถทำได้ เพราะเราผ่านการทดลองทำมาหลายแบบหลายสไตล์”
การลองผิดลองถูกทำให้ตรัสรู้ว่าเครื่องมือนี้ไม่ใช่ว่าจะทำทุกอย่างได้ดั่งใจไปเสียทั้งหมด เพราะยังมีคำต้องห้ามใช้อยู่อีกไม่น้อย เช่น เลือด ที่อาจนำไปสู่เรื่องความรุนแรง วิธีแก้ก็อาจเลี่ยงไปใช้คำอื่นอย่างน้ำสีแดงแทน ซึ่งข้อจำกัดของ Midjourney จะเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีที่มีการอัปเดต
นอกจากนี้ ตรัสยังเล่าสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจให้ฟังคือ ภาพบางภาพที่ AI ช่วยสร้างขึ้นมานั้น พอเวลาผ่านไปมันอาจไม่สามารถสร้างภาพเหล่านั้นได้เหมือนเดิม “มีช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกว่าโปรแกรมตอบโจทย์เรามากๆ คือทำรูปออกมาตรงตามสิ่งที่เราอยากได้ เขียนหรือพิมพ์อะไรไปก็ออกมาใช่หมดเลย แต่พอมาวันหนึ่งโปรแกรมก็เปลี่ยนไป รู้สึกเสียดายเหมือนกันที่ตอนนั้นเราน่าจะทำให้มันมากกว่านี้”
ด้วยความที่สนใจศิลปะและการใช้โปรแกรมมาเป็นทุนเดิมตั้งแต่วัยเรียนจนถึงวัยทำงาน ตรัสเล่าถึงวิธีการสร้างสรรค์ภาพถ่ายให้ฟังว่า เวลาถ่ายภาพด้วยกล้อง ก่อนถ่ายจะใช้วิธีสเก็ตภาพไอเดียเพื่อวางแผน เอามุมไหน แบบจะโพสท่ายังไง จากนั้นจึงออกไปถ่าย พอมาเป็นการใช้ AI ก็จะมีไอเดียก่อนเช่นกัน แต่จะไม่ได้ร่างภาพเช่นเดิม
ที่เป็นแบบนั้นเพราะ AI ไม่สามารถคุมได้เป๊ะๆ ตามภาพที่ร่างไว้ ซึ่งนี่ถือเป็นข้อเสีย แต่ขณะเดียวกันเขาก็บอกเล่าข้อดีของโปรแกรมว่า ถ้าในกรณีที่จะถ่ายคน 20 คน การใช้ AI จะช่วยให้เราไม่ต้องไปหาดีลคนหรือตามหาโลเคชัน เครื่องมือนี้นอกจากจะช่วยร่นเวลาแล้ว ยังทำให้จินตนาการต่างๆ เกิดเป็นความจริงได้
“คอนเทนต์จาก AI มีหลายสไตล์ เช่น รูปเอเลี่ยน รูปล้อเลียนดารา หรือภาพคาแรกเตอร์แฟนตาซี แต่ส่วนใหญ่มันจะดูคล้ายกันไปหมด ทั้งๆ ที่มันมีรูปแบบอื่นๆ ที่ทำได้ เราไม่เข้าใจว่าทำไมคนอื่นไม่ทำภาพอย่างอื่นกัน จนเรามาคิดทบทวนดูแล้วก็พบว่า ที่ผลงานของเรามีสไตล์ไม่เหมือนคนอื่นเพราะเราเอาตัวเองเป็นหลัก ให้เราพอใจ มีเกณฑ์ของตัวเอง ไม่ใช่การต้องทำภาพเหมือนคนอื่นๆ เพราะเรามีเป้าหมายและจุดยืนของตัวเองที่ชัดเจน ไม่ใช่การทำภาพเหมือนคนอื่นๆ เพื่อให้เป็นที่สนใจหรือต้องกลายเป็นไวรัล
“แม้จะถ่ายรูปมาเยอะ แต่รูปที่บอกว่าเป็นตัวเรามันไม่ใช่ทุกรูปที่เราถ่าย AI ก็เหมือนกัน ต่อให้เราทำภาพมาเยอะแค่ไหนก็ไม่ได้รู้สึกว่าทุกรูปจะเป็นตัวเรา บางรูปต่อให้สวย ดี แต่มันไม่ใช่เราก็ไม่ใช่
“เราคิดว่า AI เป็นเหมือนเทคโนโลยีที่ทุกคนใช้ร่วมกัน มันจึงผลิตงานออกมาในแบบที่คนส่วนใหญ่ต้องการ แต่ถ้าสิ่งที่เราอยากได้มันไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่เขามองหา มันก็อาจจะทำได้ยากขึ้น ซึ่งแต่ละเครื่องมือก็มีความยากง่ายแตกต่างกันไป เทคโนโลยีถูกนำมาใช้ทำสิ่งต่างๆ ให้ง่ายขึ้นอยู่แล้ว เราหลีกเลี่ยงมันไม่ได้ อย่างเมื่อก่อนเราต้องเอาเวลาวาดรูปไปผสมสี พอมีเครื่องมือเข้ามาช่วยก็เอาเวลามาคิดคอนเซปต์หรือส่วนอื่นๆ ของงานให้ดีขึ้นแทน”
ความคิดหลังภาพในนิทรรศการภาพถ่ายที่สร้างจาก ‘มนุษย์’ และ ‘AI’
‘พลุแห่งการเฉลิมฉลองของยุคปัญญาประดิษฐ์ถูกจุดขึ้น มันสว่างวาบจนเห็นได้ชัดแม้ตอนกลางวัน หรือมืดค่ำ ตามติดด้วยเสียงกัมปนาทกึกก้อง จนต้องเอามือปิดหูด้วยความหวาดกลัว แต่ไม่ใช่สำหรับหลายๆ คนที่ยืนจ้องดูความงดงามของพลุเหล่านั้นด้วยอาการตะลึงงัน และหลงใหล แสงสว่างที่ฉายไปสู่เส้นทางที่ไม่สิ้นสุดของความคิดสร้างสรรค์ แต่หากเส้นทางเหล่านั้นจะเป็นภาพ ‘จริง’ หรือ ‘ลวง’ ยังมีอะไรหลบซ่อนอยู่อีกหรือไม่
ภาพของผู้คนที่กำลังยืนบนหลังคาบ้านดูราวกับถูกมนตร์สะกดให้รอคอยอะไรบางอย่างจุติลงมาจากท้องฟ้า จะเป็นเหล่าปัญญาประดิษฐ์ มนุษย์ต่างดาว หรือพระเจ้าองค์ใหม่ สิ่งล้ำสมัยที่ ‘พวกเขา’ นำลงมาด้วยกำลังจะพาพวกเราไปสู่ความวิวัฒน์แบบก้าวกระโดด หรือไปพบกับความวิบัติของความเป็นมนุษย์กันแน่
คัดมันดูแกลเลอรีขอเสนอ ผลงานภาพถ่ายที่ถูกสร้างโดยการป้อนข้อมูลตัวอักษรเข้าไปสู่ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ให้ผลิตภาพถ่ายออกมา ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าน่าทึ่ง และน่าตั้งคำถามในเวลาเดียวกันว่า มันจะเข้ามามีบทบาทเหนือการถ่ายภาพแบบเดิมได้หรือไม่ หรือจริงๆ แล้วมันอาจเรียกว่า ‘ภาพถ่าย’ ได้หรือเปล่า…’
ข้อความข้างต้นคือข้อมูลบางส่วนจาก Resonances of the Concealed นิทรรศการ ภาพถ่ายเดี่ยวครั้งแรกในเมืองไทยของตรัส ที่ชวนให้เราสงสัยเกี่ยวกับการใช้ AI มาสร้างผลงานอยู่ไม่น้อย
Resonances of the Concealed เป็นชุดผลงานที่สร้างขึ้นโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพจากจินตนาการและจิตวิญญาณของตัวศิลปิน ตัวภาพมีที่มาและแรงบันดาลใจมาจากเรื่องต่างๆ ตั้งแต่สิ่งเล็กน้อยรอบๆ ตัวที่ดูไม่ได้มีความสลักสำคัญ เหตุการณ์ต่างๆ ที่ตัวศิลปินพบเจอ ไปจนถึงประเด็นปัญหาในสังคม นำเสนอในลักษณะที่เปิดกว้างให้ผู้ที่รับชมได้ตีความด้วยตัวเองผ่านมุมมองและประสบการณ์ของตัวเองได้อย่างอิสระ ไม่ถูกผูกมัดและจำกัดโดยประเด็นหรือหัวข้อที่ศิลปินกำหนดเอาไว้
ชื่อ Resonances of the Concealed มาจากความรู้สึกของตัวศิลปินที่รู้สึกว่าภาพที่สร้างขึ้นจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ สามารถเปิดเผยโลกภายในความคิดและความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ของตัวผู้ใช้งานได้อย่างน่าประหลาดใจ เปรียบเสมือนเสียงสะท้อนมาจากส่วนที่ถูกปิดบังเอาไว้ในจิตใจ
ตัวนิทรรศการมีความมุ่งหมายที่จะผลักดันขอบเขตของการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายโดยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสร้างภาพ ตั้งคำถามต่อความสำคัญของกล้องถ่ายรูปและการถ่ายภาพแบบดั้งเดิมในยุคที่ความหมายของรูปถ่ายกลายเป็นเรื่องที่มีความกำกวมและหาเส้นแบ่งที่ชัดเจนได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ
ศิลปินหวังว่าผลงานชุดนี้จะช่วยริเริ่มบทสนทนาที่มีความหมายจากผู้รับชมเกี่ยวกับการตีความตัวภาพ ไปจนถึงธรรมชาติของศิลปะภาพถ่ายที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
หลังจากที่เราได้ชมผลงานของตรัส และเห็นว่าผลงานชุดภาพของเขานั้นมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน ทั้งภาพของผู้คน สถานที่ที่แม้รู้ว่าไม่มีอยู่จริง แต่ก็สร้างความคุ้นเคยทางความรู้สึกได้อย่างน่าประหลาด นอกเหนือจากนั้น ภาพชุดนี้ยังนำเสนอมุมมองและมีประเด็นที่ชวนให้สัมผัสความคลุมเครือ หม่นเศร้า นำไปสู่การเกิดคำถามต่อเรื่องราวมากมายที่สะท้อนให้ผู้ชมได้นึกคิดแตกต่างกันออกไป
บรรทัดต่อไปนี้คือบทสนทนาจากศิลปินเจ้าของนิทรรศการครั้งนี้ที่มีต่อ AI
ทำไมถึงเรียกนิทรรศการนี้ว่า ‘นิทรรศการภาพถ่าย’
ถ้าถามว่ารูปถ่ายคืออะไร มองเผินๆ ก็อาจจะตอบได้ไม่ยากว่าคือภาพที่เกิดจากแสงที่หักเหผ่านเลนส์กล้อง แต่หากมองให้ลึกลงไปก็จะพบว่าภาพถ่ายบางชนิดก็ไม่ได้ใช้เลนส์ในการถ่าย เช่น กล้องรูเข็ม (Pinhole Camera) หรือบางชนิดก็ไม่ได้ใช้กล้อง (Cameraless) เช่น ไซยาโนไทป์ เป็นต้น
การจะหาเกณฑ์ในการนิยามการเป็นภาพถ่ายทำได้ค่อนข้างยาก และมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดตามกาลเวลา ซึ่งการไปหาเส้นแบ่งที่ชัดเจนอาจจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เทคโนโลยีต่างๆ มีความก้าวหน้าและถูกใช้งานผสมผสานกันในแบบที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแบ่งแยกชนิดของเครื่องมือที่ใช้มากนัก และความคลุมเครือนี้สุดท้ายอาจจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลที่จะขีดเส้นว่านิยามของสิ่งนั้นๆ ครอบคลุมถึงแค่ตรงไหน ซึ่งการมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันอาจจะทำให้เราเห็นอะไรได้กว้างขึ้นรวมไปถึงมุมมองแบบใหม่ๆ
แล้วคุณมีมุมมองการนำ AI มาสร้างผลงานทำเงินยังไงบ้าง
มองว่ามันเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่จะช่วยให้กลุ่มศิลปินมีเครื่องมือใหม่ หรือช่องทางมากขึ้น จะใช้ไม่ใช้ไม่เป็นไร ให้ศิลปินเลือกเอง เพราะส่วนตัวคิดว่าศิลปะมันเป็นการ Express อะไรสักอย่างที่มนุษย์ต้องการแสดงออก ก็น่าจะส่งผลดี แต่ในฝั่งพาณิชย์ที่มีเรื่องกฎหมายและยังไม่มีความแน่ชัดก็อาจน่ากลัว เพราะมันง่าย รวดเร็ว ถูก อาจมีปัญหากระทบในภายหลัง
ในวงการงานสร้างสรรค์ มีหลายคนที่รณรงค์ไม่ให้ศิลปินใช้ AI สร้างงาน โดยส่วนตัวแล้วคุณกังวลหรือมีข้อคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร
ส่วนตัวมองว่าขั้นแรกทุกคนควรจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องถึงหลักการทำงานแบบคร่าวๆ ของ AI ก่อนว่าในการเจเนอเรตภาพ AI ไม่ได้มีรูปเก็บเอาไว้ แล้วก็ไปหยิบๆ รูปของคนนั้นคนนี้มาแปะๆ เหมือนการทำคอลลาจ แต่เหมือนกับเราสอนให้มันเรียนรู้สิ่งที่ป้อนข้อมูลเข้าไปมากกว่า สิ่งที่ AI เก็บคือคอนเซปต์ของสิ่งสิ่งนั้น เช่น เราให้มันดูรูปหมาจำนวนมาก มันก็จะมีคอนเซปต์ที่มันคิดว่าหมาต้องหน้าตายังไง คล้ายกับเวลาที่มนุษย์วาดรูปขึ้นมาจากองค์ความรู้ที่เคยเรียนมา ซึ่งยิ่งเห็นมามากและวาดบ่อยๆ ก็จะยิ่งทำได้ดี แต่ AI จะได้เปรียบกว่าคนในเรื่องระยะเวลาในการเรียนรู้และฝึกฝนที่ทำได้เร็วกว่ามนุษย์มากๆ
ส่วนเรื่องที่ว่าสิ่งนี้มันถือเป็นการขโมยหรือไม่ ก็คงต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของแต่ละบุคคล เพราะอย่างที่บอกไปว่ามันไม่ได้หยิบงานคนมาใช้โดยตรง ซึ่งกระบวนการหยิบมาใช้ในการเรียนรู้ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ทำกันเป็นและเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในสังคม
สิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะทางด้านวิชาการหรือศิลปะที่เกิดขึ้น ก็มาจากการเรียนรู้และต่อยอดจากองค์ความรู้เดิมแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะในด้านศิลปะที่มีการหยิบยืมจากผลงานคนอื่นมากมายหลายระดับ ตั้งแต่เป็นแรงบันดาลใจ เป็น Reference ไปจนถึงเป็น Appropriation Art
ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ไม่เชิงเป็นปัญหาที่เกิดจาก AI โดยตรง เพียงแต่ AI เป็นตัวจุดประเด็นให้คนรับรู้และตระหนักมากขึ้น เพราะเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นและเป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้ว และคิดว่าก็คงมีอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะมี AI มาเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม
งั้นแบบนี้ ถ้ามี AI ใครๆ ก็ทำงานศิลปะได้หรือเปล่า
จริงๆ ส่วนตัวมองว่าไม่ต้องมี AI ใครๆ ก็ทำงานศิลปะได้ ส่วนเรื่องที่ว่าใช้ AI ใครๆ ก็ทำได้ ก็มีส่วนที่จริงและก็ไม่จริง เพราะ AI เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่ง ไม่ต่างจากกล้องถ่ายรูปที่ใครๆ ก็ใช้ได้ แต่การจะได้ผลงานที่ออกมาดีเป็นที่พอใจหรือมีความโดดเด่นแตกต่างจากคนอื่นล้วนต้องอาศัยการฝึกฝนและประสบการณ์ทั้งสิ้น
โลกของ AI มันกว้างมาก อย่างเราที่ทำภาพมาหลายแสนรูปแล้ว เอาแค่เฉพาะตัวที่เราใช้ ยังไม่รู้สึกว่ารู้จักมันทุกซอกทุกมุม รู้ทุกขีดจำกัดของมันเลย
ที่ผ่านมามีคำถาม ข้อสงสัย หรือคำปรามาสในการใช้ AI มาสร้างภาพบ้างมั้ย แล้วคุณตอบกลับหรือแสดงออกอย่างไร
กับงานที่ตัวเองทำยังไม่ค่อยมีเท่าไหร่ แต่ว่าที่เห็นบ่อยๆ เวลาที่มีคนโพสต์งานที่สร้างจาก AI ก็จะมีเสียงวิจารณ์ เช่น ภาพที่สร้างขึ้นโดย AI ไม่ใช่ศิลปะ อันนี้ AI เป็นคนทำ ไม่ใช่คนที่ใส่ Prompt หรือรูปจาก AI มันไม่มีชีวิตหรือจิตวิญญาณ
ซึ่งจริงๆ เราพร้อมที่จะรับฟังคำวิจารณ์ คุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันเสมอ แต่ว่าถ้าเป็นในโลกออนไลน์ นอกจากที่ตัวเองจะไม่ค่อยได้เล่นโซเชียลมีเดียแล้ว ก็ไม่เคยได้ไปตอบโต้อะไร เพราะเราไม่รู้ถึงเจตนาของคนที่มาคอมเมนต์ว่าเขาคิดแบบนั้นจริงๆ มั้ย พร้อมที่จะรับฟังแค่ไหนหรือแค่มาป่วน เขาพิมพ์มาประโยคเดียว ส่วนเราต้องตอบคำถามเป็นห้าหน้ากระดาษโดยที่ไม่รู้ว่าเขาจะมาอ่านหรือเปล่า เรารู้สึกว่ามันไม่คุ้มกับเวลาและแรงที่ต้องเสียไปตรงนั้น ซึ่งถ้าเป็นการคุยต่อหน้าจะโอเคกว่ามากและไม่มีปัญหาเลยแม้จะต้องคุยกันนานๆ ก็ตาม
ส่วนคำตอบของคำถามหรือคำปรามาสที่เห็นบ่อยๆ เช่น ภาพที่สร้างขึ้นโดย AI ไม่ใช่ศิลปะ ส่วนตัวมองว่าศิลปะคือสิ่งของหรือการกระทำที่เป็นการสื่อสาร แสดงออกของมนุษย์ ดังนั้นการที่คนใช้ภาพที่สร้างจาก AI เป็นสื่อในการแสดงออก ก็ย่อมเป็นศิลปะได้
หรือภาพที่ได้ AI เป็นคนทำ คนแค่นั่งพิมพ์ๆ ส่วนตัวมองว่างานศิลปะหลายแขนงในด้านภาพ ตัวศิลปินก็ไม่ได้วาดเองกับมือ ศิลปิน 3D ก็ไม่ได้ไปลงสีแสงเงาจริงๆ หรือช่างภาพก็กดชัตเตอร์ ไม่ได้ไปนั่งวาดรูปวิวที่ตัวเองถ่ายกับมือ แม้แต่นักวาด การใช้เครื่องมือเช่นเทสีก็แค่กดปุ่ม ไม่ได้ไประบายจริงๆ แต่คนก็ยังมองว่าภาพที่ออกมานั้นเป็นผลงานที่มาจากตัวศิลปิน ส่วนตัวมองว่าไม่ว่าจะกระทำสิ่งใดก็ตาม หากการกระทำนั้นส่งผลให้เกิดผลงานขึ้นมา ย่อมเป็นผลงานของผู้ที่ทำการกระทำนั้น รูปจาก AI มันไม่ได้มีลอยๆ อยู่ในอากาศ เพราะหากไม่มีคนพิมพ์ Prompt เข้าไปรูปนั้นมันก็ไม่เกิดขึ้นมา
หรือรูปจาก AI มันไม่มีชีวิตหรือจิตวิญญาณ ส่วนตัวคิดว่าจริงๆ แล้วในงานศิลปะทุกประเภทเต็มไปด้วยงานที่ดูไร้ชีวิตหรือจิตวิญญาณอยู่แล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น บางคนเพิ่งเริ่มต้นทำ บ้างก็ทำเล่นๆ หรือแม้แต่ทำเพื่อเน้นขายของให้ได้มากที่สุด ทุกวันนี้มีรูปวาดหรือรูปถ่ายจำนวนมากที่อาจไม่ได้มีความหมายอะไรถูกสร้างขึ้นจำนวนนับไม่ถ้วน เพียงแต่เราไม่ได้ไปใส่ใจกับมันด้วยความที่ทุกคนเคยชินกับสิ่งเหล่านี้ เวลาเห็นจึงเลื่อนผ่านไปโดยไม่ได้ใส่ใจอะไร
ส่วนตัวมองว่างานที่มันมีความพิเศษ มันก็ย่อมมีน้อยเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นงานประเภทใดก็ตาม
คุณคิดว่าในแง่กฎหมายของการใช้เทคโนโลยี AI มาสร้างงานควรเป็นยังไง
ส่วนตัวมองว่ากฎหมายควรสะท้อนกับความเห็นของคนในสังคม ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นยังไงก็สะท้อนไปแบบนั้น ต้องเกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน มันต้องคุยกันได้ว่า ไอ้สิ่งนี้มันควรถูกต่อไปมั้ย หรือควรจะเปลี่ยน และจะเปลี่ยนแบบไหนอย่างไร
คาดหวังสิ่งใดจากนิทรรศการครั้งนี้
ในส่วนของการรับชมภาพ เราหวังว่านอกจากจะได้รับความเพลิดเพลินไปกับความหมายของภาพที่เปิดกว้างในการตีความแล้ว ผู้ชมอาจจะได้เห็นมุมมองและความคิดของตัวเองในด้านที่ไม่ค่อยได้เห็น ได้เรียนรู้และรู้จักตัวเองมากขึ้นผ่านทางภาพชุดนี้
นอกจากนี้ยังหวังว่าจะเป็นตัวเริ่มจุดประกายบทสนทนาและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องต่างๆ ในเชิงแนวคิดหรือปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะและภาพถ่าย ซึ่งเป็นศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา