ขณะที่เราซื้อผลิตภัณฑ์สำหรับอุปโภคจำพวกสบู่ แชมพู หรือสกินแคร์ ในแต่ละครั้ง สิ่งหนึ่งที่เราได้รับมาพร้อมกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้คือ บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบกระดาษและพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้จำนวนมาก
จากปัญหานี้ ทำให้นักวิจัยและนักออกแบบผลิตภัณฑ์หลายคนเริ่มมองหาทางเลือกที่ยั่งยืนมากขึ้น รวมถึง ‘Alara Ertenü’ นักศึกษาชาวตุรกี มหา’ลัย Izmir University of Economics สาขาการออกแบบอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน
Ertenü พบว่าในบริเวณตะวันตกของประเทศตุรกีมีพืชเมืองหนาวที่บริโภคได้อย่างอาร์ติโชก (Artichoke) กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดถูกโยนทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ เธอจึงหยิบเอาอาร์ติโชกเหลือทิ้ง และฝักถั่ว (Peapod) มาเป็นส่วนผสมหลักของบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้สำหรับสบู่ก้อนในชื่อ ‘Packioli’
ในกระบวนการทำ Packioli จะนำส่วนใบและลำต้นของอาร์ติโชก รวมถึงฝักของถั่วไปทำให้แห้งในตู้เย็นที่อุณหภูมิติดลบ 70 องศาเซลเซียส ก่อนบดเป็นผงละเอียด ผสมกับน้ำ กลีเซอรีนจากพืช และกรดแอลจินิก (Alginic Acid) รวมถึงย้อมสีจากบีตรูตและขมิ้นจนกลายเป็นสีน้ำตาลทอง ก่อนเทลงในแม่พิมพ์ให้เซตตัวในอุณหภูมิห้อง
จากนั้นจึงนำสบู่หรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการบรรจุเข้าไป และใช้ความร้อนปิดผนึกขอบห่อ จนได้ออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์สีน้ำตาลทองที่เสร็จสมบูรณ์สำหรับใช้งานจริงในระยะเวลา 10 ถึง 15 วัน โดยมีคุณลักษณะทนต่อความชื้นและน้ำได้นานถึงหนึ่งสัปดาห์ ก่อนย่อยสลายไป โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อม
Packioli ถือเป็นบรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างการบริโภคพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงลดปริมาณขยะอาหารจากผลอาร์ติโชกและถั่วในท้องตลาดได้อีกด้วย