เคยหรือเปล่าจากที่ไม่หิว แต่พอได้ “กลิ่น” หอมๆ ของอาหารกลับน้ำลายไหลหรือท้องร้องจ๊อกๆ
ในทางวิทยาศาสตร์ “กลิ่น” คืออนุภาคทางเคมีที่กระจายตัวอยู่ในอากาศสามารถรับรู้ได้ด้วย “จมูก” โดยบริเวณเยื่อบุภายในโพรงจมูกจะมีเส้นประสาทที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยข่าวกรองคอยดักจับโมเลกุลกลิ่นที่วิ่งเข้ามาภายในรูจมูก ก่อนจะถ่ายโอนผ่านป่องรับกลิ่นไปยังผู้บัญชาการอย่างสมองให้แปลข้อมูลของกลิ่นว่าหอมหรือเหม็น
เช่น ถ้าแปลออกมาว่าอาหารมีกลิ่นเหม็นก็จะทำให้มีอาการอยากอาเจียน หรือในทางตรงกันข้ามถ้ามีกลิ่นหอม มันจะเข้าไปกระตุ้นระบบการย่อยอาหารทำให้เราน้ำลายไหลหรือท้องร้องขึ้นมา และหากหิวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็จะยิ่งรู้สึกว่าอาหารมีความอร่อยมากกว่าปกติ เพราะประสาทสัมผัสเปิดรับทั้งรสและกลิ่นพร้อมกัน
จากการไขปริศนาเรื่อง “การดม” ของ 2 นักวิจัยจากสหรัฐอเมริกา พบว่า มนุษย์เราสามารถรับและจำกลิ่นได้มากกว่า 10,000 กลิ่น เพราะในร่างกายมีเซลล์รับกลิ่นมากมาย โดยยีนละตัวจะทำปฏิกิริยาต่อโมเลกุลกลิ่นโดยเฉพาะ
ถ้าวันหนึ่งสูญการรับรู้กลิ่นล่ะ ? ในทางการแพทย์บอกว่า ถ้าอยู่ในขั้นรุนแรงอาจส่งผลต่อความอยากอาหาร จนนำไปสู่การเกิดภาวะทุพโภชนาการในที่สุด ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อไม่ได้กลิ่นยังทำให้ขาดการรับรู้ถึงอันตรายต่าง ๆ เช่น กลิ่นแก๊สรั่ว กลิ่นไฟไหม้ด้วย
การได้กลิ่นถือเป็นประสาทสัมผัสพิเศษอย่างหนึ่งมนุษย์ แม้ไม่มีรูปแต่สามารถบ่งบอกตัวตนของคนหรือสิ่งนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
และตลอดเดือนธันวาคมนี้ Urban Creature จะพาทุกคนไปหาคำตอบของคำว่า “กลิ่น” ตั้งแต่ ประวัติศาสตร์ วัตถุดิบ วิธีการ ไปจนถึงความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมว่าเป็นอย่างไร