มีเรื่องตลกเล่าให้ฟังตั้งแต่เช้าวันหยุด เมื่อแม่แซวเราหลังออกจากห้องน้ำทันทีว่าวันนี้ร้องเพลงเสียงดังเชียว อารมณ์ดีมาจากไหน ! ก็จะไม่ให้รู้สึกดีได้อย่างไร ในเมื่อน้ำที่ใช้ในการล้างมือ อาบน้ำ หรือซักผ้า สามารถนำไปพักแล้วเก็บมารดน้ำต้นไม้ ล้างรถ ล้างสุขภัณฑ์ โดยไม่ต้องเปลืองน้ำใหม่ ปลอดภัยกับท่อระบายน้ำในเมือง แถมส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติอีกด้วย
เปิดคอนเสิร์ตในบ้านให้สบายใจและชวนเปิดฝาผลิตภัณฑ์แนวคิดดีจาก ‘Organics Buddy’ ธุรกิจรักษ์โลกและรักคน ของ 2 เพื่อนซี้ เค-ชโยธร ทรงธีระปัญญา และ ตั้ม-ธนทัต สุกาญจนพงษ์ ที่ตั้งใจให้คนไทยเข้าถึงสินค้าออร์แกนิกในราคาเอื้อมถึงผ่าน 2 แบรนด์ภายใต้ธุรกิจอย่าง Common Ground ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมจรดปลายเท้าที่นำขวดพลาสติกทิ้งแล้วมารีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์ และ Soganics ผลิตภัณฑ์ดูแลบ้านที่เปลี่ยนน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า หรือน้ำยาถูพื้นที่เป็นมิตรต่อเด็ก สัตว์เลี้ยง และเครื่องใช้ ให้มีบรรจุภัณฑ์เป็นเฟอร์นิเจอร์สุดมินิมอล
คนแพ้ง่ายไม่พ่ายเรื่องรักษ์โลก
“คนในทีมเราคนหนึ่งชอบดำน้ำมาก พอไปบ่อยๆ เลยรู้ว่าสภาพปะการังและความใสของน้ำทะเลเปลี่ยนไปทุกครั้ง จากดีเป็นร้าย จากร้ายเป็นร้ายกว่า ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เห็นว่าสิ่งแวดล้อมแย่ลงต่อหน้า จึงอยากสร้างสิ่งเล็กๆ ที่ช่วยโลกได้”
‘เค’ ขยับแว่นสายตาและพับชายแขนเชิ้ตขาวของเขาแล้วบอกเราถึงปัญหาแหล่งน้ำที่ทีมงาน Organics Buddy เจอ ก่อนที่ ‘ตั้ม’ เพื่อนสนิทร่วมอุดมการณ์ของเคจะประสมโรงเสริมว่ากว่าจะสร้าง 2 แบรนด์ภายใต้ธุรกิจนี้ขึ้นมาได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่การสอบถามปัญหาของผู้บริโภคและคอยเป็นหูเป็นตา ช่วยกันตระหนักถึงผลเสียต่อธรรมชาติให้เกิดน้อยที่สุด
ก่อนเคและตั้ม 2 หนุ่มที่สนิทกันมาตั้งแต่มัธยมฯ จะมองเห็นภาพใหญ่ในการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม Organics Buddy เริ่มต้นจากปัญหาใกล้ตัวของทั้งคู่ที่เป็นคนผิวแพ้ง่าย ใช้อะไรก็เกิดผื่นแดง ครั้งหนึ่งตั้มเคยไปพบหมอผิวหนังเพราะแพ้สารตกค้างบนเสื้อผ้า หมอจึงแนะนำให้ตั้มใช้น้ำยาซักผ้าที่อ่อนโยนและมีส่วนผสมจากธรรมชาติ ทว่าแบรนด์ออร์แกนิกหลายๆ แบรนด์ที่มีขายในไทยกลับมีราคาสูง ไม่เอื้อต่อการซื้อใช้ในระยะยาว ทั้งคู่เลยพูดเล่นๆ กันว่า “แล้วทำไมไม่ทำใช้เองเลยล่ะ”
ประโยคที่พูดเล่นๆ กลายเป็นเรื่องไม่เล่น เมื่อตั้มตัดสินใจไปเรียนปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่ประเทศออสเตรเลีย แล้วพบว่าสินค้าออร์แกนิกที่นั่นเติบโตในวงกว้าง มีตัวเลือกให้หยิบจับมากมาย ราคาไม่แพง ที่สำคัญคุณภาพสินค้าและโปรดักต์ภายนอกดึงดูดใจให้อยากใช้ไปนานๆ จนตั้มตอบตัวเองได้เลยว่า ‘ของดีๆ ไม่จำเป็นต้องแพงเสมอ’
ตั้มต่อสายตรงไปยังเคและถกเถียงกันว่าผลิตภัณฑ์ที่ไทยยังไม่ค่อยมีแบรนด์ไหนตอบโจทย์ ทั้งเรื่องคุณสมบัติที่ช่วยชะล้างคราบสกปรกไปพร้อมๆ กับราคาสบายกระเป๋าที่เหมาะกับการซื้ออย่างสม่ำเสมอ แค่นั้นยังไม่พอ เพราะการที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในออสเตรเลีย ทำให้เขาเห็นความสำคัญต่อการใช้ระบบน้ำหมุนเวียนในบ้าน หรือ Greywater system ที่สามารถนำน้ำที่ใช้ในครัวเรือนมาพักเก็บไว้รดน้ำต้นไม้ต่อได้ เพราะไม่มีการปนเปื้อนจากสารเคมี (ก็ผลิตภัณฑ์บ้านเขาแสนจะออร์แกนิกนี่หน่า) ตั้มและเคจึงเล็งเห็นแนวคิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่อยากเอามาปรับใช้กับปัญหาแหล่งน้ำในไทยทั้งน้ำเสียในคลองและระบบนิเวศทางทะเล ที่สำคัญไม่ลืมสรรพคุณที่ห่วงใยผู้ใช้ได้อย่างยั่งยืนด้วยการส่งแบบสอบถามไปถึงผู้บริโภคทั่วทิศทั้งคนใกล้ตัวและคนไกลตัวว่า อะไรบ้างที่ผู้บริโภคต้องการจากผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายและผลิตภัณฑ์ดูแลบ้าน 1 ขวด และเอาความเห็นตรงนั้นมาพัฒนาให้ตรงใจผู้บริโภคที่สุด !
Common Ground ดูแลคนตอนใช้ ดูแลธรรมชาติตอนทิ้ง
28 วัน คือระยะเวลาที่ส่วนผสมในบรรจุภัณฑ์เจลล้างมือ เจลอาบน้ำ โลชัน แชมพู หรือครีมนวดผม ของ Common Ground สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติผ่านแสงแดดและการทำงานของจุลินทรีย์
100 % คือการนำขวดน้ำพลาสติกรีไซเคิลจากโรงงานขยะมาทำความสะอาดด้วยหลักเกณฑ์ที่ได้มาตรฐาน บดละเอียด และผลิตเป็นเรซิ่นเพื่อชุบชีวิตขวดพลาสติกให้เป็นบรรจุภัณฑ์
และ 120-260 บาท คือราคาของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่เคและตั้มอยากให้ทุกคนเข้าถึงสินค้าจากธรรมชาติโดยไม่เหนือหนักกว่าแรง
นี่คือสิ่งที่เราอยากพรีเซนต์ให้ทุกคนได้อ่านเป็นอย่างแรกๆ เพราะเคและตั้มเป็นผู้ผลิตเจ้าแรกในไทยที่ใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิลมาดีไซน์ให้สวยตามแบบฉบับสายมินิมอลด้วยสีเขียวโทนธรรมชาติ มองแล้วสดชื่นเมื่อเปียกน้ำ และตกแต่งฉลากโดยรอบด้วยฟอนต์และคู่สีที่น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ ที่ทำให้เราไม่แปลกใจเลยว่า ‘เค’ คนออกแบบจะเป็นสถาปนิกมาก่อน ภายนอกดีอย่างเดียวไม่พอ แต่ภายในก็ดีไม่แพ้กันเพราะส่วนผสมหลักของทุกผลิตภัณฑ์เป็น Plant-based เน้นพืชคุณภาพจากออสเตรเลีย โดยมีน้ำมันอโวคาโดที่มีวิตามิน B และ วิตามิน E เป็นตัวชูโรงปกป้องบำรุงผิวและเส้นผมจากมลภาวะระหว่างวัน
เคและตั้มเล่าว่าพวกเขาเริ่มจากคติ ‘อยากรู้ก็ต้องถาม’ ที่ใช้ในการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ ด้วยการสร้างแบบสอบถามขึ้นมาให้คนรอบข้างตอบและช่วยส่งต่อให้คนที่อยากแนะนำไปเรื่อยๆ ว่าส่วนใหญ่ผู้บริโภคเจอปัญหาอะไรบ้างเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายและมีพฤติกรรมการใช้อย่างไร จนได้ข้อสรุปว่าชาวแพ้ง่ายทั้งหลายมักเผชิญอาการผื่นขึ้นในสบู่อาบน้ำ คันหนังศีรษะหรือแสบมากเมื่อใช้แชมพู หรือการล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ ก็ทำให้มือแห้งแตกเป็นขุย โดยหลายๆ คนมักตัดสินใจซื้อโปรดักต์ 1 ขวดจากรูป (โปรดักต์ที่ดึงดูด) ลักษณ์ (มีฟองแล้วอุ่นใจ รู้สึกว่าสะอาด) กลิ่น (หอมอ่อนๆ ก็ยังดี) และราคาเป็นมิตรก็สำคัญไม่แพ้ข้ออื่น จึงเป็นโจทย์ที่เคและตั้มต้องบาลานซ์ความออร์แกนิกให้เข้ากับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ และทดลองสูตรในแล็บส่วนตัวที่ออสเตรเลีย ก่อนส่งกลับไทยมาให้ผู้บริโภครอบข้างลองใช้
“ตอนรีเสิร์ชสูตรเจลล้างมือ เราไปดูว่าปกติคนส่วนใหญ่ใช้เวลาล้างมือนานเท่าไหร่ มีฟองในอ่างเยอะไหม ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มีฟองเต็มอ่างกันทั้งนั้น ทำให้เปลืองน้ำเวลาราดกลบฟอง ฉะนั้นเจลล้างมือของพวกเราจึงสามารถล้างได้ทั้งวันโดยที่มือยังนุ่ม ฟองในน้ำน้อย และช่วยประหยัดค่าน้ำให้ลูกค้าไปได้อีกแรง
“หรือ ‘สบู่อาบน้ำ’ ที่หลายคนใช้กันแล้วผิวแห้ง เราก็ตัดปัญหาไม่ใส่ ‘สบู่’ ลงไปเลย ซึ่งหลายคนไม่รู้ว่าที่เรียกกันว่าสบู่ (Soap) มันคือสารเคมีชนิดหนึ่งที่มีความเป็นกรดด่างหรือค่าเบสสูง ซึ่งไม่ได้เหมาะกับทุกคน เราเลยใช้คำว่า ‘เจลอาบน้ำ’ หรือ ‘เจลล้างมือ’ แทนเพราะเราไม่ได้ใส่สารเคมีตรงนั้นลงไป และปรับสูตรให้มีค่า pH อยู่ในระดับ 5.5 เช่นเดียวกับ ‘Acid Mantle’ หรือ เกราะป้องกันตามธรรมชาติของผิวคน ซึ่งช่วยรักษาความอ่อนนุ่มได้ดี
“แม้กระทั่งแชมพูสระผมทั่วไปที่ผู้บริโภครู้สึกดีเพราะมันลื่น แต่ตัวที่ทำให้ลื่นมันคือซิลิโคนที่ไปอุดรูขุมขนบนหนังศีรษะ ทำให้ระยะยาวเส้นผมไม่ได้รับความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ พวกเราเลยไม่ได้ใส่ซิลิโคน ซึ่งอาจจะไม่ชินตอนสระ แต่พอเป่าแห้งจะพบว่าผมนุ่มลื่นจากการเพิ่มน้ำมันอโวคาโดเข้าไปทดแทน ซึ่งบอกเลยว่าส่วนผสมจากธรรมชาติก็เก่งไม่แพ้สารเคมีเลยนะ”
เคและตั้มอธิบายให้เราฟังต่ออีกว่า แม้ผลิตภัณฑ์ Common Ground จะมีส่วนผสมหลักมาจากพืช ไม่ใส่สี ไม่มีพาราเบน ไม่มีซิลิโคน ไม่มีสบู่ ไม่มีสารกันเสีย และอีกแทบทุกสารที่ไม่เป็นมิตรกับคน แต่ก็ยังเข้าใจผู้บริโภคที่ยังตัดขาดจากฟองและกลิ่นไม่ได้ จึงยังคงใส่สารลดแรงตึงผิวที่ทำให้เกิดฟอง และใส่น้ำหอมเปอร์เซ็นต์ต่ำในเกณฑ์ที่ปลอดภัยจากแล็บออสเตรเลีย ซึ่งได้รับ Leaping Bunny Certified องค์กรที่รับรองว่าผลิตภัณฑ์ไม่มีการทดลองกับสัตว์และวัตถุดิบที่ใช้ เป็นมิตรต่อคนและสัตว์อีกด้วย หรือหากยังกังวลใจเรื่องน้ำหอมอยู่ ทั้งคู่ก็สร้างอีกตัวเลือกอย่าง ‘Baby Body Wash’ เจลอาบน้ำปราศจากน้ำหอมสูตรอ่อนโยน (มาก) ให้เลือก ที่แม้จะอาบน้ำจนกระเด็นเข้าตาสักกี่ครั้งก็ไม่มีแสบแน่นอน
ไม่เพียงแต่การปรับสูตรให้ถูกใจผู้บริโภคอย่างเดียว แต่ยังถูกใจธรรมชาติได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะ 100 % ของน้ำทั้งหมดที่ใช้จากผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นของ Common Ground หากเข้าระบบบำบัดน้ำเสียจะกลายเป็นน้ำทิ้งที่มีคุณภาพ ไร้กลิ่นเหม็น พร้อมปล่อยสู่เเหล่งน้ำได้อย่างปลอดภัย เเละยังสามารถนำน้ำไปรดต้นไม้หรือล้างรถได้ เพราะส่วนผสมทั้งหมดของผลิตภัณฑ์นั้นไร้สารเคมีอันตรายตามแบบฉบับของ Greywater system นั่นเอง
Soganics เฟอร์นิเจอร์ดูแลบ้านที่แม้แต่สัตว์เลี้ยงก็ไม่แพ้
นอกเหนือจาก Common Ground ที่สามารถนำน้ำหลังใช้ไปใช้ต่อได้สบาย Soganics ผลิตภัณฑ์ดูแลบ้านของเคและตั้มก็เช่นกัน ที่แม้จะผ่านการซักผ้า ถูบ้าน หรือล้างจานมา น้ำเหล่านั้นเมื่อไหลลงท่อก็ยังปลอดภัยกับท่อระบายน้ำ ทั้งยังสามารถนำไปรดน้ำต้นไม้ ล้างรถ หรือล้างสุขภัณฑ์ซ้ำได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะส่วนผสมหลักของ Soganics สกัดมาจากข้าวโพด มันสำปะหลัง น้ำมันจากลูกปาล์ม น้ำมันมะพร้าว และให้กลิ่นยูคาลิปตัสอ่อนๆ ผ่อนคลาย
“ด้วยความที่เราปรับสูตรการผลิตกันที่ออสเตรเลียเป็นหลัก สภาพอากาศและสภาพน้ำที่นั่นแตกต่างจากที่ไทยแน่นอน เราเลยบินมาเอาน้ำที่ไทยไปทดสอบที่นั่นเลย เพราะหากจะให้ผลิตภัณฑ์มี performance ที่ดี น้ำก็เป็นส่วนสำคัญ”
ตั้มบอกเราถึงการทุ่มเทที่อยากให้คนไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับประเทศไทยมากที่สุด ก่อนเขาจะยื่นผลิตภัณฑ์ Soganics บางส่วนที่ประกอบด้วยน้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูบ้าน สเปรย์ทำความสะอาดครัว และสเปรย์อเนกประสงค์ให้เราดู แวบแรกเรามองว่ามันจับถนัดมือจังเลย และแวบที่ 2 มองไปมองมา ขวดทั้งหมดนี้ยังดึงดูดใจพอที่จะเป็นเฟอร์นิเจอร์ไว้ตั้งโชว์ในบ้านได้
“หลายคนเวลาเพื่อนบ้านมาเยี่ยม จะชอบซ่อนผลิตภัณฑ์ดูแลบ้านต่างๆ ไม่ให้คนเห็น เพราะสีมันสดและจี๊ดจ๊าด ดีไซน์ก็ไม่เข้ากับบ้าน เราเลยเอาปัญหานั้นมาดีไซน์ให้ทุกผลิตภัณฑ์ของ Soganics ทุกคนกล้าที่จะโชว์มันให้เหมือนของแต่งบ้านชิ้นหนึ่ง”
เคเล่าให้ฟังว่าการออกแบบบรรจุภัณฑ์นั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนอยากซื้อ จึงออกแบบขวดที่เป็นโมลเฉพาะของแบรนด์ที่ไม่ซ้ำใครและเว้าเข้ากับมือให้จับได้ง่าย เช่น น้ำยาล้างจานที่เราคุ้นเคยกับขวดทรงสูง มน และหนา เคก็สร้างให้บางแทน เพราะคอนโดและบ้านสมัยใหม่ ซิงค์ล้างจานจะมีพื้นที่น้อย เขาจึงใช้ความรู้ที่เรียนสถาปัตย์มาออกแบบให้เข้ากับการใช้งานมากที่สุด ส่วนรูปประกอบบนฉลากก็ดีไซน์ให้เป็นรูปโครงสร้างบ้านที่แตกต่างไปตามประเภทผลิตภัณฑ์ ขวดน้ำยาล้างจานดีไซน์ให้เป็นแปลนห้องครัว น้ำยาถูพื้นเป็นรูปคล้ายแปลนห้องนั่งเล่น หรือน้ำยาซักผ้าก็ออกแบบให้เป็นห้องซักล้างสมมติขึ้นมา แอบกระซิบว่าแม้แต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์เขาก็ยังส่งไปถามทั้งคนทั่วไป ผู้คร่ำหวอดในสายดีไซน์ และแม่บ้าน ว่าแบบไหนโดนใจที่สุดเหมือนกันนะ !
“จากที่ให้ผู้บริโภคติ๊กแบบสอบถาม เราเลยรู้ว่าไม่ใช่แค่เราที่ล้างจานหรือซักผ้าจนมือลอก (หัวเราะ) แล้วก็ไม่ใช่เราที่พบว่าน้ำยาถูพื้นเหนียว กลิ่นฉุน บางคนก็มีผื่นแพ้ทั้งคนและสัตว์ และหวังอยากให้น้ำยาถูพื้นขวดเดียวสามารถถูพื้นได้ทุกชนิด เราจึงเอาความเห็นเหล่านั้นมาใส่ในแบรนด์ของเรา”
น้ำยาล้างจานของเคและตั้มเลยกลายเป็นน้ำยาที่อ่อนโยนต่อผิวเทียบเท่ากับการใช้เจลล้างมือ ด้วยสารสกัดจากว่านหางจระเข้ที่ช่วยปลอบประโลมผิวแต่ก็เก่งกาจพอจะขจัดคราบมัน หรือน้ำยาซักผ้าก็เป็นสูตรวีแกน 100 % ที่ซักแล้วไม่เหลือสารตกค้างที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ปัญหามือลอกไม่มากวนใจอีกเลย ปิดท้ายด้วยล้างน้ำยาถูพื้นของทั้งคู่ที่สามารถถูพื้นได้ทุกพื้นผิวไม่ว่าจะเป็น พื้นไม้ พื้นไม้สังเคราะห์ ปาร์เก้ หินอ่อน กระเบื้องหรือแกรนิต โดยไม่มีปัญหา
“เราอยากเปลี่ยนภาพจำว่าน้ำยาทำความสะอาดบ้านไม่ได้มีแต่สารเคมีแรงๆ จนต้องใส่ถุงมือ จึงเลือกทำผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน ส่งตัวอย่างไปให้คนที่เลี้ยงสัตว์ได้ลองใช้ถูพื้นดู ปรากฎว่าคนไม่ต้องใส่ถุงมือถูบ้าน สัตว์เลี้ยงก็วิ่งเล่นได้อย่างสบายใจ” ตั้มกล่าวเสริม
บัดดี้คู่สิ่งแวดล้อม
2 ปีเต็ม ที่เคและตั้มสร้าง Organics Buddy ขึ้นมา จากวันแรกที่เริ่มจากอาการแพ้ง่ายของทั้งคู่จนเดินทางมาถึงวันที่อยากดูแลสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ส่วนผสมข้างในยันบรรจุภัณฑ์ข้างนอก ปัจจุบัน Organics Buddy ใช้กระดาษลังรีไซเคิลในการแพ็กของส่งลูกค้าทุกชิ้น และยังมุ่งหน้าผลิตบรรจุภัณฑ์ของ Common Ground ด้วยขวดพลาสติกรีไซเคิล ที่แม้จะแพงกว่าขวดพลาสติกธรรมดา แต่ก็ไม่ได้เอาค่าใช้จ่ายตรงนั้นไปบวกเพิ่มกับราคาขาย และในภายภาคหน้าจะเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ Soganics ให้ทำจากขยะรีไซเคิลเช่นเดียวกับ Common Ground ที่สามารถเช็คจำนวนว่าเราช่วยกันรีไซเคิลขวดพลาสติกผ่านการซื้อสินค้าไปแล้วกี่ขวดบนเว็บไซต์ Organics Buddy (ตอนนี้ 646,300 ขวดแล้วนะ !) เพราะทั้งคู่มองว่าผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกยังเป็นสินค้าทางเลือกในไทย ไม่ใช่ทุกคนจะซื้อกันอย่างปกติเหมือนที่ออสเตรเลีย จึงตั้งใจอย่างยิ่งว่าการผลิตสินค้าออร์แกนิกในราคาที่เข้าถึงได้จะสามารถทำให้อนาคตของไทยเป็นประเทศที่ใช้สอยสินค้ารักษ์โลกเป็นปกติทุกครัวเรือน
“ที่ออสเตรเลีย ภาครัฐฯ ให้ความสำคัญกับเกษตรกร สินค้าออร์แกนิก และการบำบัดน้ำเสียมาก ทำให้การจะใช้สินค้าหรือมีวิถีแบบออร์แกนิกเป็นเรื่องปกติ แต่ที่ไทยยังขาดความตระหนักคิดในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ภาครัฐฯ ลงมือจัดการแค่บางเรื่องที่เป็นกระแสเท่านั้น
“พวกเราเชื่อในประโยคที่ว่าการกระทำของมนุษย์ส่งผลต่อธรรมชาติเสมอ จึงอยากชวนให้ทุกคนมองสิ่งแวดล้อมเป็นเหมือนคู่หูที่ช่วยดูแลกันและกันตลอดไป”