ผ่านมา 100 ปีพอดีหลังจากเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ครั้งสุดท้ายของประเทศฝรั่งเศสในปี 1924 กลับมาคราวนี้ 2024 ประเทศฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส รับไม้ต่อจากโตเกียวในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนและพาราลิมปิกอีกครั้งในรอบศตวรรษ
มหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ได้มีการนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นฝรั่งเศสผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งโลโก้ มาสคอต โปสเตอร์ และชุดกีฬา โดยมุ่งเน้นเรื่องของเสรีภาพและการเปิดรับความหลากหลายที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักกีฬาจากทั่วโลก
มากไปกว่านั้น การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับนักกีฬามากกว่า 14,500 คนและนักท่องเที่ยวหลายล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก ทำให้ปารีสต้องขยับตัวเปลี่ยนแปลง หนึ่งในนั้นคือการสร้างอาคารใหม่หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น บวกกับต้องสอดคล้องกับความยั่งยืน และเปลี่ยนกรุงปารีสให้กลายเป็นเมืองสีเขียวสำหรับทุกคน
คอลัมน์ Report เดือนนี้อยากพาไปดูว่า การรับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ จะทำให้เมืองชั้นนำของโลกทั้งในด้านศิลปะและแฟชั่นอย่างปารีสที่เคยเป็นเมืองที่วุ่นวายและสกปรก พิสูจน์ถึงศักยภาพความพร้อมของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน แล้วเมืองน้ำหอมจะใช้โอกาสนี้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงเมืองไปอย่างไรบ้าง
พัฒนาเมืองเพื่อรองรับมหกรรมกีฬาระดับโลก
การเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ของฝรั่งเศสในครั้งนี้ เมืองปารีสจำเป็นต้องเตรียมตัวมากมายทั้งด้านสถานที่และผู้คน จึงมีการวางแผนพัฒนาเมืองโดยเน้นการใช้สถานที่ที่มีอยู่แล้วหรือไม่ก็สร้างขึ้นชั่วคราว เพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดการปล่อยคาร์บอนสู่ธรรมชาติ
กรุงปารีสเริ่มปรับภูมิทัศน์เมืองโดยคำนึงถึงนวัตกรรม พื้นที่สีเขียว และความยั่งยืน เริ่มจากการปรับโครงสร้างเมืองทั้งหอไอเฟลและสถานที่สำคัญทั้งหมดให้ถูกล้อมรอบด้วยสวน ซึ่งจะกลายเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ติดอันดับโลก พร้อมปรับเส้นทางภายในเมืองให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการเดิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้คนเข้าถึงการแข่งขันได้ง่ายขึ้น และยังทำกิจกรรมต่างๆ ในสถานที่สำคัญอันเก่าแก่ เพื่อทำให้พื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นที่นิยมมากขึ้น
หลักการสำคัญของโปรเจกต์นี้คือ การลากเส้นเชื่อมต่อพื้นที่สำคัญๆ โดยมีหอไอเฟลและแลนด์มาร์กรอบๆ ได้แก่ ปลาส ดู ทรอกาเดโร (Place du Trocadéro), ปาแล เดอ ชาโย (Palais de Chaillot), ปง ดี เยนา (Pont d’Iéna), ช็อง เดอ มาร์ส (Champ de Mars) และอิกอล มิลิแตร์ (École Militaire) รวมเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ รวมถึงเส้นทางการเดินเชื่อมต่อจนถึงกลางเมืองของปารีสให้กลายเป็นผืนเดียวกัน ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดล้วนเป็นพื้นที่ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ปี 2024
การปรับภูมิทัศน์เชื่อมต่อหอไอเฟลเข้ากับพื้นที่กลางเมือง ทำให้การเดินทัวร์ในปารีสกลายเป็นไฮไลต์ของโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นทิศทางใหม่ของเมืองเดินได้ตามเทรนด์การพัฒนาที่ไม่ให้ความสำคัญกับรถยนต์อีกต่อไป
อีกหนึ่งสิ่งที่จะลืมไปไม่ได้เลยคือแม่น้ำแซนที่ไหลพาดผ่านกรุงปารีส เพราะทางเมืองต้องการปรับปรุงคุณภาพน้ำสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 และพิธีเปิดที่จัดขึ้นในแม่น้ำแซนเช่นเดียวกัน โดยเป้าหมายคือ แม่น้ำทั้งสายต้องสะอาดเพียงพอที่จะว่ายน้ำในการแข่งขันว่ายน้ำและไตรกีฬาในแหล่งน้ำเปิด ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ก็ว่าได้
ที่เป็นแบบนั้นเพราะการว่ายน้ำในแม่น้ำแซนถูกห้ามมาตลอดช่วงศตวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากน้ำมีระดับมลพิษที่เป็นอันตราย แต่การดำเนินการทำความสะอาดครั้งใหญ่นี้ ทำให้เราได้เห็นการจัดการน้ำและจัดตั้งสถานีกรองน้ำ เพื่อทดสอบแบคทีเรียในน้ำ และดักจับขยะที่จะถูกพัดลงแม่น้ำในกรณีที่ฝนตก ด้วยความหวังที่จะปรับปรุงแม่น้ำสายนี้ให้ทันเวลาการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024
สร้างหมู่บ้านนักกีฬาเพื่อพัฒนาย่านอย่างยั่งยืน
‘แซน แซงต์ เดอนีส์’ (Seine Saint Denis) ถือเป็นหนึ่งในย่านที่ยากจนที่สุดของฝรั่งเศส แต่ในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิกเกมส์ พาราลิมปิก และศูนย์กีฬาทางน้ำ โดยมีการพัฒนาพื้นที่ชุมชนใหม่และสร้างสนามกีฬา ที่จะกลายเป็นสาธารณูปโภคของคนในย่านต่อไป
หมู่บ้านนักกีฬาในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่ตั้งอยู่บริเวณริมน้ำ จะเป็นที่อยู่ของนักกีฬากว่า 14,500 คน ซึ่งตัวหมู่บ้านนี้ได้รับการออกแบบโดย ดอมีนิก เพอร์โร (Dominique Perrault) สถาปนิกและนักออกแบบผังเมือง ซึ่งจะเน้นไปที่ความยั่งยืนและการผสมผสานระหว่างความเป็นชุมชนและพื้นที่เมืองเข้าด้วยกัน
ยังไม่หมดเท่านั้น สิ่งปลูกสร้างที่ออกแบบใหม่ในงานนี้ล้วนแล้วแต่สร้างจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สถาปัตยกรรมก็เน้นการเปิดโล่งเพื่อรับแสง ลมธรรมชาติ และความเย็นจากการเชื่อมต่อกับพื้นที่ริมแม่น้ำ และยังมีพื้นที่สีเขียวสำหรับนักกีฬาหรือประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน รวมไปถึงการขนส่งเดินทางภายในหมู่บ้านด้วยพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาด
อีกทั้งเมืองปารีสเองยังคำนึงถึงประโยชน์ของหมู่บ้านนักกีฬาหลังเสร็จสิ้นงานโอลิมปิกเกมส์ เพราะในอดีตมีหมู่บ้านนักกีฬาหลายแห่งที่สร้างขึ้นมาแล้วปล่อยทิ้งร้างหลังใช้งานเสร็จ แต่โปรเจกต์หมู่บ้านนักกีฬาของปารีสในครั้งนี้จะเป็นการสร้างโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ที่ออกแบบโดย ฌ็อง นูแวล (Jean Nouvel) สถาปนิกรางวัลพริตซ์เกอร์ ซึ่งเปรียบเป็นโนเบลสาขาสถาปัตยกรรม
หัวใจของการออกแบบนั้นจะเป็นการสร้าง ‘ย่าน’ แนวตั้งขึ้น เป็นเหมือนอาคารย่านใหม่ที่ภายในมีพื้นที่สาธารณะ ย่านการค้า พื้นที่สำหรับสำนักงานและธุรกิจขนาดเล็กของคนรุ่นใหม่ และพื้นที่สำหรับสถาบันการศึกษา ซึ่งทางเมืองปารีสได้เห็นถึงช่องทางในการใช้โอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้เป็นโอกาสในการพัฒนาย่านแซน แซงต์ เดอนีส์ไปในตัวด้วย
พิธีเปิดการแข่งขันที่หยิบเอาเอกลักษณ์ของเมืองมาใช้ประโยชน์
เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนกับการเปิดงานนอกสนามกีฬา โดยทาง ‘กรุงปารีส’ เจ้าภาพการจัดโอลิมปิก 2024 มีนโยบายจัดการแข่งขันกีฬาบางประเภทนอกสนามกีฬา และจะมีการจัดการแข่งขันรอบเมือง เช่นเดียวกับพิธีเปิดงานที่เล่นใหญ่ล่องขบวนเรือพาเหรด 160 ลำ เพื่อต้อนรับนักกีฬากว่า 14,500 คน ตามแนวเส้นทางของ ‘แม่น้ำแซน’ ใจกลางกรุงปารีส ด้วยระยะทางรวมกว่า 6 กิโลเมตร ก่อนจะไปรวมตัวกันในสวนสาธารณะ ‘ทรอกาเดโร’ (Trocadéro) เพื่อจุดไฟกระถางคบเพลิงในการเปิดพิธี
ทางฝรั่งเศสเตรียมพื้นที่สองฝั่งเลียบแม่น้ำแซน ทั้งติดตั้งจอแสดงภาพขนาดใหญ่จำนวน 18 จอ และเครื่องขยายเสียงตลอดเส้นทาง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมาชมพิธีเปิดกว่า 300,000 คน โดยในจำนวนนี้มี 222,000 ที่นั่งที่เข้าชมได้ฟรี ประกอบด้วยชาวปารีสที่ผ่านการคัดเลือก ตัวแทนจากสมาคมกีฬาท้องถิ่น และแขกที่ได้รับเชิญจากสปอนเซอร์และฝ่ายจัดการแข่งขันเท่านั้น โดยทั้งหมดต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบประวัติและได้รับ QR Code เป็นรายบุคคล เพื่อรักษาความปลอดภัย
ส่วนที่นั่งอีกประมาณ 100,000 ที่ จะเป็นพื้นที่ที่มีการเก็บค่าบริการเพื่อให้นักท่องเที่ยวชมพิธีเปิดได้ใกล้มากขึ้น ยกตัวอย่างบริเวณท่าเรือตั้งแต่สะพาน ‘เอาสเทอร์ลิตซ์’ (Austerlitz) ไปจนถึงสะพาน ‘เลนา’ (Léna) ทั้งนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ออกคำสั่งปิดสนามบินและน่านฟ้าภายในรัศมี 150 กิโลเมตรรอบกรุงปารีสนาน 3 ชั่วโมงครึ่ง ในช่วงก่อนและหลังพิธีเปิดอีกด้วย
สัญลักษณ์ของการแข่งขันที่สื่อถึงความเป็นฝรั่งเศส
งานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ในปีที่ผ่านๆ มา บรรดาเจ้าภาพมักใช้สัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อแสดงออกถึงอัตลักษณ์เมืองหรือประเทศของตัวเอง เช่นเดียวกันกับปารีสเจ้าภาพโอลิมปิกในปีนี้ พวกเขานำสิ่งที่สะท้อนถึงส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์อันยาวนานมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการแข่งขัน นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการใช้สัญลักษณ์เดียวกันทั้งการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ซึ่งประกอบด้วยโลโก้ มาสคอต และโปสเตอร์
สัญลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ในโลโก้มี 3 สิ่ง ประกอบด้วย ‘เหรียญทอง’ สัญลักษณ์ความสำเร็จของฮีโร่แห่งการแข่งขันทั้งนักกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ด้วยความเป็นเลิศและการพัฒนาทักษะที่ดีของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าทุกคนมีโอกาสที่จะชนะ และเหรียญรางวัลนั้นมีไว้เพื่อให้รางวัลแก่ทุกคนที่มีความทุ่มเทและพยายาม
‘เปลวไฟ’ (The Flame) สัญลักษณ์ของพลังงานและความทรงพลัง ที่ขับเคลื่อนโอลิมปิกและพาราลิมปิก อีกทั้งยังช่วยปลุกความกล้าและสร้างแนวทางใหม่ในการจัดการแข่งขัน เพื่อก้าวไปสู่ความท้าทายที่นำทุกคนมารวมกันแบบไร้พรมแดนผ่านการแข่งขันกีฬา
ใบหน้าของ ‘มารีอานน์’ (Marianne) สัญลักษณ์ของพลังงาน ตัวตน และจิตวิญญาณอันกล้าหาญของความคิดสร้างสรรค์ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับโอลิมปิกเกมส์ในครั้งนี้ อีกทั้งมารีอานน์ยังเป็นตัวแทนเสรีภาพของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาในจัดการแข่งขันกีฬาเพื่อประชาชน ด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประชาชน
เสริมทัพด้วยเหล่า ‘ฟรีจิส’ (Phryges) เจ้ามาสคอตสุดน่ารักในมหกรรมโอลิมปิกและพาราลิมปิกครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากปกติแล้วเจ้าภาพในประเทศต่างๆ มักนำสัตว์ประจำชาติมาเป็นมาสคอตเพื่อสื่อถึงประเทศของตน แต่ฟรีจิสนั้นได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจาก ‘หมวกฟรียอง’ (Phrygian Cap) หรือ ‘หมวกแห่งสันติภาพ’ ของฝรั่งเศส
หมวกนี้ปรากฏที่มาตั้งแต่สมัยโรมัน โดยเหล่าทาสจะสวมใส่ในตอนที่พวกเขาเป็นอิสระจากการเป็นทาส ทำให้หมวกฟรียองกลายเป็นสัญลักษณ์อยู่คู่กับการปฏิวัติของฝรั่งเศสมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีการบันทึกว่าแรงงานได้สวมใส่หมวกฟรียองในการสร้างสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ของปารีสอย่างมหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีสและหอไอเฟลอีกด้วย ดังนั้นมาสคอตฟรีจิสจึงเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงที่เชื่อมโยงกับการแข่งขันกีฬา เพราะกีฬาสามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิต สุขภาพ ความสัมพันธ์ และสิ่งแวดล้อม
การออกแบบที่เปิดกว้างเพื่อความหลากหลาย
ส่วนโปสเตอร์ประจำงานโอลิมปิก 2024 ออกแบบมาจากจินตนาการของ ‘Ugo Gattoni’ นักออกแบบชาวฝรั่งเศส ที่ผสมผสานระหว่างสนามกีฬาสู่เมือง สื่อสารถึงความเปิดกว้างของงานโอลิมปิกและพาราลิมปิกในปีนี้ ดั่งแนวคิดของการแข่งขันที่ว่า ‘เกมอันเปิดกว้าง’ (Games Wide Open)
ภายในโปสเตอร์มีรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของฝรั่งเศส เช่น หอไอเฟล ประตูชัยฝรั่งเศส และแม่น้ำแซน ในพิธีเปิดการแข่งขันรวมถึงสนามกีฬาต่างๆ ภาพของผู้คนที่ออกมาเล่นกีฬาในเมือง สอดคล้องกับการนำกีฬาออกสู่เมืองสำหรับการแข่งขันในสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น หอไอเฟลและสวนในพระราชวังแวร์ซาย เพื่อแสดงออกให้เห็นถึงการเปิดรับความหลากหลายและการมีส่วนร่วมระหว่างผู้คนกับสถานที่
อีกทั้งเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องแฟชั่นอย่างปารีส เมื่อต้องเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก พวกเขาก็ได้แบรนด์ชั้นนำ ‘เลอ ค็อก สปอร์ทิฟ’ (Le Coq Sportif) มาออกแบบชุดให้นักกีฬาสวมใส่ ซึ่งเป็นการออกแบบโดย ‘สเตฟาน แอชพูล’ (Stéphane Ashpool) นักออกแบบชื่อดังชาวปารีเซียง ในดีไซน์ที่มีความสดใหม่ สวมใส่แล้วดูเปล่งประกาย เรียบหรู เท่ และเปิดกว้างสำหรับทุกเพศทุกวัย ด้วยการไล่เฉดสีขาว แดง และน้ำเงิน สะท้อนความเป็นฝรั่งเศสอย่างสง่างาม
การได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกอาจเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงของเมืองหนึ่งเมือง ที่อาจจะได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดด้วยเม็ดเงินมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามา หรือหากไม่ประสบความสำเร็จ ทุกอย่างไม่เป็นไปตามเป้า โอลิมปิกเกมส์ครั้งนั้นจะกลายเป็นการผลาญเงินมหาศาลโดยที่ไม่ได้อะไรกลับมาเลยก็ได้ ซ้ำร้ายอาจก่อหนี้มหาศาลเหมือนหลายประเทศในอดีต
เรามารอดูกันว่าโอลิมปิกเกมส์ 2024 ณ กรุงปารีส จะยังคงเสน่ห์แห่งเมืองน้ำหอม และจะประสบความสำเร็จในการเป็นภาพจำมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิกเกมส์ได้หรือไม่
Sources :
Paris 2024 | bitly.ws/3ghYa
StadiumTH | bitly.ws/3gi4c
Thai PBS | bit.ly/4a6yJnu
The Guardian | bitly.ws/3gi4Q
The MATTER | bitly.ws/3gi4s
THE STANDARD | bitly.ws/3gi6E