ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 20 ไอน์สไตน์ป่าวประกาศก้องบอกโลกให้รู้ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เพราะความรู้มีข้อจำกัด แต่จินตนาการเป็นสิ่งที่หมุนโลก วลียอดฮิตนี้ทำให้คนทั้งโลกเห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องไกลตัว และเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ตนจะคิด
จนกลายเป็นความสงสัยว่าตกลงแล้วความคิดสร้างสรรค์มีหน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่ ด้วยความฉงนสงสัยเราจึงอยากพาทุกคนไปหาคำตอบในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และคงไม่มีหน่วยงานไหนมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ไปมากกว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) องค์กรที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสังคม และใช้ในการขับเคลื่อนประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม
ความคิดสร้างสรรค์ในแบบฉบับของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA
คำถามกำปั้นทุบดินที่เราถามกับ คุณธีรีสา มัทวพันธุ์ หรือรองจ๋า รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) คือ เราทุกคนต่างได้ยินมาบ่อยมากเกี่ยวกับคำว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’ จริง ๆ แล้วคำนี้มันคืออะไรกันแน่
“ความคิดสร้างสรรค์เป็นศัพท์เชิงนามธรรม ไม่ใช่สิ่งที่จับต้องได้ เป็นเรื่องของไอเดีย ความคิด แต่มีบทบาทอย่างมากในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสังคม องค์กร ส่วนตัว หรือในระดับประเทศ เพราะความคิดสร้างสรรค์โดยหลักการมันคือการคิดซึ่งนำมาสู่สิ่งใหม่ ๆ โดยสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้ ล้วนสัมพันธ์ในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กอย่างชีวิตส่วนตัวเราก็ต้องการสิ่งใหม่ ๆ เช่น อาหาร การท่องเที่ยว การทำงาน เราก็ต้องการความคิดสร้างสรรค์ ไม่งั้นทุกอย่างมันก็จะหยุดอยู่กับที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนา หรือขยับให้เห็นความสำคัญมากขึ้นระดับสังคมและประเทศ เราต่างต้องการความคิดสร้างสรรค์เพื่อมาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน”
แล้วตกลงจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์มันทำหน้าที่อะไรในสังคม
“จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์มันทำหน้าที่ต่อสู้กับความคิดเก่า ๆ ปัญหาเก่า ๆ ต่อสู้กับสิ่งที่มันเป็นเหมือนเดิมในสังคม ในทุกวันนี้เราต้องการความคิดสร้างสรรค์ หรือจินตนาการใหม่เพื่อที่จะไปทลายปัญหาเก่า ๆ บางประการ
“ถ้าคุณยังคิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิมมันก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาเดิมได้ เราก็จะไม่มีทางเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต และเราไม่มีทางเห็น ยานอวกาศ รถยนต์ เครื่องบิน หรือแม้กระทั่งตู้เย็น หากคนในสังคมขาดความคิดสร้างสรรค์ เพราะทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากจินตนาการเล็ก ๆ แต่กลับนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่”
เราได้เห็นแง่มุมที่แตกต่างของความคิดสร้างสรรค์กับสิ่งที่ใกล้ตัวมากขึ้น แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมคำว่านวัตกรรมมักมาคู่กับคำว่าความคิดสร้างสรรค์ คำทั้งสองคำนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร
“นวัตกรรมคือสิ่งใหม่ การที่จะเกิดสิ่งใหม่ได้มันต้องผ่านกระบวนความคิดสร้างสรรค์หรือจินตนาการ ผนวกเข้ากับการใช้องค์ความรู้บางอย่างมาประกอบกัน สร้างเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดมูลค่าขึ้นมา เพราะฉะนั้นการเกิดนวัตกรรมมันจึงมีคำว่า Creativity และคำว่า New ส่งผลไปที่คำว่า Value ซึ่งคำว่า Value อาจจะไม่จำเป็นต้องมีคุณค่าในเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว อาจจะสังคม สิ่งแวดล้อม ชุมชน มันเกิดขึ้นได้หลายแบบ
“ดังนั้นความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างนวัตกรรม เราจึงต้องสร้างให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เพราะมันเป็นเหมือนองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่จะนำไปสู่การเกิดนวัตกรรม”
NIA พื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่บ่มเพาะจินตนาการ
ความคิดสร้างสรรค์อาจจะไม่เกิดหากขาดสิ่งที่เรียกว่า ‘พื้นที่สร้างสรรค์’ ในฐานะเป็นทั้งโอกาสและสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดจินตนาการแปลกใหม่ แต่คำจำกัดความของคำว่าพื้นที่นั่นไม่ได้หมายถึงพื้นที่ทางกายภาพที่เราจับต้องได้เพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงพื้นที่ทางจินตนาการด้วยเช่นกัน
“พื้นที่สร้างสรรค์คือ พื้นที่ที่จะมีแพลตฟอร์มหรือมีสถานที่ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ทำให้คนจินตนาการ หรือครีเอตสิ่งใหม่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ NIA ทำมาโดยตลอดผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำธุรกิจของ Startup การจัดสัมมนาในแต่ละอุตสาหกรรม โครงการ Empowering Tech Tourism กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการท่องเที่ยวยุคดิจิทัล โครงการ Space-F กับอุตสาหกรรมอาหาร โครงการสร้างองค์กรนวัตกรรม Innovative Organization Program กับสภาอุตสาหกรรม
“การทำหนังสือให้ความรู้เผยแพร่กับประชาชนและผู้สนใจ รวมถึงการประกวดรางวัลนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และนวัตกรรมสื่อ เหล่านี้คือการเปิดเวทีของการสร้างสรรค์ผลงานและจินตนาการเป็นต้น ที่กล่าวมาเป็นการผลักดันในเชิงพื้นที่กายภาพของ NIA แต่มากไปกว่านั้นมันยังมีส่วนของพื้นที่ในจินตนาการ ที่เราเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดและมุมมอง เรากระตุ้นให้เกิดการจินตนาการและต่อยอดจากการได้มาร่วมเวิร์กช็อป นอกจากนี้เรายังจัดประกวดแข่งขันวิดีโอขนาดสั้นในโครงการ NIA Creative Contest เพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นถึงบทบาทสำคัญของความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย
“เพราะฉะนั้นถามว่าทำไมต้องมีพื้นที่สร้างสรรค์ด้วย มันมีเพื่อที่จะได้เป็นแพลตฟอร์มให้คนรู้สึกว่าตรงนี้ปลอดภัย ตรงนี้ครีเอตได้ พื้นที่แห่งนี้มีสภาพแวดล้อมในการกระตุ้นให้ผู้คนเอาไอเดียมาโยนใส่กันได้ มาพูดคุยกันได้ เซนส์ของมันคือการเปิดพื้นที่ปลอดภัย เพราะว่าบริบทของการทำงานหรือสังคมมีพื้นที่หรือสภาพแวดล้อมหลายแบบ ถ้าเราต้องการให้มันมีส่วนที่สามารถครีเอตได้จริง ๆ เราก็เลยต้องพยายามหาพื้นที่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้”
เมื่อรู้ถึงภาพรวมของแนวคิดการเกิดพื้นที่สร้างสรรค์แล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือความคิดสร้างสรรค์ข้างต้นที่เป็นสิ่งนามธรรม สามารถส่งผลต่อพื้นที่ทางกายภาพและมีส่วนพัฒนาเมืองด้วยเช่นกัน และใครจะไปคิดว่าจาก Creative Space เล็ก ๆ มันสามารถต่อยอดเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็น Creative City ได้
“Space เป็นพื้นที่ซึ่งอาจจะเป็น Physical หรือเป็น Virtual ก็ได้ ส่วน City คือเมือง เมืองในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเมืองแบบจังหวัดก็ได้นะ เป็นชุมชน เป็นอำเภอ หรือแม้กระทั่งย่าน แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า Creative City คือเมืองที่เปิดกว้างให้กับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และดึงเอาจุดเด่นของเมืองต่าง ๆ ออกมาสร้างให้เด่นชัด ผ่านการนำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาเมืองนั้น ๆ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ หรือ Solution ที่แก้ปัญหาของเมือง จะเป็นในแง่ของวัฒนธรรมของท้องถิ่น เรื่องของภูมิศาสตร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ของสังคม”
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้นประเทศไทยเองก็มีย่านนวัตกรรม ที่เน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์เช่นกัน อาทิ ย่านคลองสาน ตลาดน้อย ย่านที่อุดมไปด้วย ศิลปะ วัฒนธรรม และการผสมผสานทางด้านความคิดของคนรุ่นใหม่เก่า พื้นที่ของทั้งสองย่านถูกพัฒนาโดยการหยิบเอานวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เข้าไปพัฒนา Community-Based Innovation ดึงเอาจุดเด่นออกมากลายเป็นจุดขายของย่าน กระตุ้นการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ และกระตุ้นให้คนในชุมชนได้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ท้องถิ่นได้อย่างลงตัว
หากขาดพื้นที่สร้างสรรค์ NIA คือคำตอบ
เมื่อเรารู้ถึงบทบาทความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือการที่ผู้คนขาดพื้นที่ในการแสดงออก ซึ่งปัญหาของการขาดพื้นที่สร้างสรรค์กลับส่งผลต่อการพัฒนาประเทศมากเกินกว่าเราจะจินตนาการได้
“ปัญหาของการขาดพื้นที่สร้างสรรค์คืออะไร คงต้องเริ่มจากสังคมก่อนแล้วกัน ในทุกที่ล้วนมีคนที่มีความคิดสร้างสรรค์อยู่ แต่ว่าพวกเขามักไม่มีพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็น ไม่มีที่ที่รู้สึกว่าปลอดภัยในการที่จะรังสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เขาไม่มีที่ที่จะแสดงออก มันก็เป็นการปิดกั้นโอกาสหรือปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ หรือไปถึงนวัตกรรมที่มันควรเกิดขึ้นได้
“NIA เห็นถึงความสำคัญของปัญหา จึงสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย สร้างให้เกิดแพลตฟอร์มหรือกลไกเพื่อเปิดโอกาสให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ จะโดยประชาชน โดยอะไรก็แล้วแต่ ให้คนเหล่านี้มีเวที มี Forum หรือมีจุดที่สามารถเอาไอเดียต่าง ๆ เข้ามาคิดแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นมันเลยสำคัญที่เราจะต้องเปิดพื้นที่แบบนี้ เพราะถ้าไม่เกิด มันก็เลยไม่เกิดการนำเอาไอเดีย หรือ Solution หรือนวัตกรรม ออกมา ไม่มีที่จะให้แสดงออก”
เพราะความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดขึ้นมาได้ภายในวันสองวัน สิ่งที่ NIA ทำมาโดยตลอด 12 ปี จึงเป็นการบ่มเพาะให้สังคม ให้ผู้คนเกิดความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการเปิดพื้นที่ ให้ประชาชนได้ออกมาแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น และหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จที่มีผู้คนสนใจอย่างล้นหลาม นั่นคือโครงการ NIA Creative Contest
โครงการ NIA Creative Contest เป็นการประกวดภาพยนตร์สั้น ที่ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากปีก่อน ๆ ด้วยจำนวนผู้สมัครกว่าหลายร้อยทีมทั่วประเทศ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยผลักดันให้ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการได้ศักยภาพในหลาย ๆ ด้าน
ที่สำคัญไปกว่านั้น คือระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมคุณจะได้ร่วมเวิร์กช็อป กับเหล่าผู้กำกับตัวท็อปของวงการไม่ว่าจะเป็น นนทรีย์ นิมิตรบุตร ผู้กำกับที่สร้างผลงานอมตะจากเรื่องนางนาก หรือ ชยนพ บุญประกอบ ผู้กำกับรุ่นใหม่ที่สร้างผลงานจากเรื่องซักซี้ด ห่วยขั้นเทพ และผู้กำกับระดับแถวหน้าของเมืองไทยอีกหลายคน ที่จะเข้ามาคอยให้คำแนะนำ ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างใกล้ชิด
โดยในปีนี้ NIA Creative Contest 2021 มาในหัวข้อ ‘Images of Future: Future of the Next Gen’ อยากเห็นประเทศไทยในทศวรรษที่ 2030 เป็นอย่างไร?
“NIA Creative Contest ถูกตั้งเป้ามาจากกรอบเป้าหมายในการสร้างภาพอนาคต เรามองว่าภาพอนาคตเป็นของคนรุ่นใหม่ เราอยากสร้างโปรแกรมที่ตอบโจทย์เขา คำถามหลักคือ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้ง และความคิดที่แตกต่างกันของคนรุ่นใหม่ เราเชื่อว่าพวกเขาต้องการพื้นที่ในการแสดงออก พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น เราเลยอยากรู้ว่าพวกเขาต้องการอะไรและอยากเห็นภาพอนาคตเป็นแบบไหน โดยถ้าคุณเปลี่ยนได้ คุณอยากได้อะไร สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดเพียงเพราะเราอยากได้มุมมองที่เกิดประโยชน์ เราจะได้มาช่วยกันพัฒนา ช่วยกันทำให้ภาพของประเทศไทยไปในทิศทางเดียวกันได้”
หากเราเข้าใจความหลากหลายในมิติของคำว่าความคิดสร้างสรรค์ เราจะเห็นถึงความใกล้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เราใช้ ตู้เย็น โทรศัพท์ โทรทัศน์ รถยนต์ สิ่งต่าง ๆ ล้วนเคยเป็นเพียงความคิดเพ้อเจ้อที่อุดมไปด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในยุคก่อน แล้วได้รับการต่อยอดจากความคิดสร้างสรรค์นั้น จนกลายเป็นสิ่งที่มองเห็นและใช้งานทั่วไปในยุคปัจจุบัน
การมีพื้นที่เปิดกว้างในการแสดงออกทางความคิด เหมือนที่ NIA คอยผลักดันอยู่เสมอ จึงเป็นเหมือนพื้นที่ที่ต่อยอดจินตนาการที่ทำให้ความฝันกลายเป็นความจริง และใครจะไปรู้ว่าสิ่งที่เราเคยคิดว่าเพ้อฝันอาจจะถูกเปลี่ยนเพื่อเข้ามาพัฒนาประเทศของเราให้เติบโตไปข้างหน้าได้ในอนาคต
เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ – 30 กรกฎาคม 2564
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติม FB Page : IFI – Innovation Foresight Institute
โทร. 09-4989-6698 (อาทิตยา)
อีเมล [email protected]