Nha-mas-tay India : นมัสเต! จ่ะนายจ๋า - Urban Creature

เดินทอดน่องท่องอินเดียพร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมที่แทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน หลายคนคงคุ้นเคยกันดีกับแหล่งค้าผ้าชื่อดัง “ย่านพาหุรัด” ที่เมื่อก้าวเดินเข้ามาในย่านนี้จะได้เห็นสิ่งหนึ่งที่นับว่าเป็นเอกลักษณ์ของ “Little India” เลยก็คือ บรรยาการของผู้คนที่เปลี่ยนไป ร้านขายของแปลกตาเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในประเทศอินเดียเลยทีเดียว

| Indian Journey : ลัดเลาะเมืองกรุง ก้าวเข้าสู่ดินแดนลิตเติ้ลอินเดีย

ย่าน “Little India” ใครจะเชื่อว่าแฝงตัวอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลในกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นย่านการค้าเก่าแก่ของเมืองไทยแห่งหนึ่งเลย โดยเราจะสัมผัสได้ถึงมนต์เสน่ห์ของวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน ซึ่งหลอมรวมเป็นความผูกพันของกลุ่มคนจากวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อในแบบฉบับอินเดียเอาไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของย่านนี้คือ สีสันจัดจ้านของผืนผ้า ผสมผสานกลิ่นหอมจากกำยาน และควันธูปซึ่งถือเป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมตามความเชื่ออย่างหนึ่งของชาวอินเดีย

หากย้อนเวลากลับไปในอดีตที่มาที่ไปของย่านนี้เริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัยกรมเทพนารีรัตน์ พระราชธิดาที่สิ้นพระชนม์ในขณะที่มีพระชันษาเพียง 10 พรรษา โดยจัดสร้างเป็นถนนเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระราชธิดา และพระราชทานนามถนนสายนี้ว่า “ถนนพาหุรัด” ซึ่งถนนสายสำคัญนี้เชื่อมโยงเข้ากับถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนคร กลายเป็นย่านการค้าขายนับตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบันรวมแล้วก็เป็นเวลาเกือบร้อยปี

| Colourful Culture : สะบัดสาหรีค้าขายผ้า

ประเทศไทยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากประเทศอินเดียมาไม่น้อยทั้งทางตรง และทางอ้อมจนผสมกลมกลืนไปกับวิถีชีวิต โดยที่คนไทยอาจคาดไม่ถึง หลายคนอาจคุ้นเคยกับการขายสินค้าของชาวอินเดียที่อพยพเข้ามาสังเกตได้จากสินค้าตามร้านต่างๆ ซึ่งนำเข้ามาเป็นส่วนใหญ่มีทั้งส่าหรี ผ้านานาชนิด ธูปหอม เครื่องเทศ เทวรูปองค์เทพต่างๆ ไปจนถึงเพลง และภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาหารอินเดียดั้งเดิมที่ปรุงรสโดยชาวอินเดียแท้ๆ หรือจะเป็นถั่วหลากหลายชนิดรวมไปถึงของหวานอย่างโรตีสตรีทฟู้ดสุดฮิตที่อยู่คู่กับเมืองไทยมาอย่างยาวนาน

ซึ่งหลายคนอาจมีคำถามว่าทำไมต้องขายถั่ว เพราะชาวอินเดียผูกพันกับถั่วมากซึ่งภายในประเทศสามารถปลูกถั่วได้ดี และหลากหลายสายพันธุ์ โดยชาวอินเดียส่วนใหญ่เลือกทานอาหารมังสวิรัติ และนิยมประกอบอาหารจากถั่ว ผู้ขายส่วนใหญ่จะเป็นชาวอินเดียตอนใต้ที่อพยพมาจาก “รัฐทมิฬนาฑู” เมื่อมาอยู่เมืองไทยจึงนำถั่วมาขายด้วย ซึ่งในสมัยก่อนมีถั่วหลากชนิดมากกว่าสมัยนี้นอกเหนือจากถั่วปากอ้า ถั่วเหลือง ถั่วดิน ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีแล้วยังมีถั่วบาเยียที่มีลักษณะเป็นถั่วบดแล้วนำมาทอดเป็นก้อนๆ ซึ่งปัจจุบันหาทานได้ยากแล้ว

ส่วนที่ขายโรตีมักได้แก่ชาวปากีสถานที่มาอยู่เมืองไทยส่วนใหญ่จะมีญาติมาอยู่ก่อนแล้ว และขายโรตีมาก่อนเขาก็จะนิยมมาขายโรตีสืบต่อกันมาโดยเรียกพวกเขาว่า “แขกฮินดู” หากเป็นกลุ่มที่มีอาชีพขายผ้าส่วนใหญ่จะเป็น “แขกซิกข์” โดยเริ่มตั้งแต่เดินเร่ขายไปตามบ้านเรือนต่างๆ จนปักหลักตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่แถวบ้านหม้อ พาหุรัด ฝั่งพระนคร ก่อนกระจายไปอยู่ย่านสี่แยก บ้านแขก วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ซึ่งกิจการขายผ้าก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ มีการสั่งผ้าจากต่างประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกา และอินเดียเข้ามาจำหน่าย โดยผ้าที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่เป็นพวกผ้าชีฟอง และผ้าลูกไม้ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากการนำมาประยุกต์เป็นเครื่องแต่งกายในหลากหลายรูปแบบตามที่เห็นในปัจจุบัน

| Mixture Of Believes : ส่วนผสมของความเชื่อที่แตกต่าง

เดิมทีย่าน “Little India” เป็นที่อยู่อาศัยของชาวญวนที่เข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี หลังจากที่มีการตัดถนนพาหุรัดขึ้นแล้วชาวอินเดียที่เคยอาศัยอยู่บริเวณบ้านหม้อก็เริ่มอพยพเข้ามาทำการค้าขาย และตั้งรกรากอยู่ในบริเวณนี้นานๆ เข้าก็กลายเป็นชุมชนของชาวอินเดียไปโดยปริยาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เดินทางมาจากแคว้นปัญจาบที่นับถือศาสนาซิกข์เป็นหลัก และแบ่งเป็นศาสนาพราหมณ์-ฮินดูบ้างเล็กน้อย

พอลัดเลาะออกจากตรอกขายผ้าก็จะสะดุดตากับยอดโดมสีเหลืองทองอร่ามตัดกับฟ้าสีครามเข้มของ “วัดซิกข์” (คุรุดวาราสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา) ศูนย์รวมศรัทธาของชาวซิกข์ที่หากไปในวันธรรมดาบรรยากาศอาจดูเงียบสงบ แต่หากไปตรงกับวันอาทิตย์ภายในวัดจะคึกคักด้วยผู้คนที่หลั่งไหลมาสวดมนต์กันตั้งแต่ช่วงเช้ายาวไปถึงช่วงบ่ายที่สำคัญถึงแม้เราจะนับถือศาสนาที่ต่างกันทางวัดก็ไม่ปิดกั้นกลับเปิดกว้างต้อนรับทุกคนที่สนใจเพียงแค่เข้ามาในวัดแล้วถอด รองเท้านำผ้ามาโพกคลุมศีรษะให้เรียบร้อยก็พร้อมที่จะขึ้นไปฟังบทสวดมนต์สำเนียงรื่นหูที่ชั้นบนได้แล้ว

รวมไปถึงพุทธศาสนาของประเทศไทยก็กลายเป็นมรดกล้ำค่าอีกเรื่องที่ได้รับมาจากประเทศอินเดียเต็มๆ โดยต้นกำเนิดของพุทธศาสนานั้นเกิดในสมัย “พระเจ้าอโศกมหาราช” กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในราชวงศ์โมริยะทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสูงสุดในประเทศอินเดีย และต่อมาได้ส่งทูตมาเผยแผ่ศาสนาในประเทศไทยจนกลายเป็นศาสนาประจำชาติเราจนทุกวันนี้

| Taste of India : ร่อนแป้งโรตีลิ้มรสความอร่อย สูดกลิ่นเครื่องเทศ

เมื่อพูดถึงเรื่องกลิ่นของเครื่องเทศแล้วต้องยกให้ชาวอินเดียเลย เพราะว่าอาหารอินเดียขนานแท้นั้นจะอุดมไปด้วยกลิ่น รสชาติ สีสัน ของเครื่องเทศอันร้อนแรง ที่เรียกว่าแต่ละจานนั้นล้วนเป็นแหล่งชุมนุมจอมยุทธ์แห่งเครื่องเทศมาประชัน รสชาติกันสุดฤทธิ์เลยทีเดียว และนอกจากกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้วยังทำหน้าที่ชูรสชาติอาหารทั้งยังช่วยเรียกน้ำย่อย และกระตุ้นการเจริญอาหารได้เป็นอย่างดี

ซึ่งภายในย่านนี้ยังมีร้านอาหารชื่อดังอย่าง “Royal Indian” เป็นร้านขายอาหารอินเดียที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยโดยมีการปรับสูตรให้ถูกปากคนไทยมากขึ้นถ้าได้ไปแล้วต้องลองสั่งสักครั้งคือเมนู “Papadum” เป็นแผ่นแป้งบางกรอบคล้ายแครกเกอร์ หรือขนมปังแผ่นชนิดหนึ่งที่เสิร์ฟเป็นเครื่องเคียงเพื่อเรียกน้ำย่อยก่อนทานอาหารมื้อหลัก หรือจะเป็น “Chicken Tikka Masala” แกงไก่รสเค็ม หอมเครื่องเทศ มีเนื้อไก่นุ่มๆ ชุ่มน้ำแกงรสชาติไม่เผ็ดมากทานคู่กับแผ่นแป้งจาปาตีก็อร่อยเข้ากัน

หรือถ้าอยากเปลี่ยนบรรยากาศไปลองเดินช้อปปิ้งก็มีห้างสไตล์อินเดียอย่าง “India Emporium” แหล่งรวมร้านรวงน่าช้อปที่สามารถเดินเลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้ได้แบบเพลินๆ มีตั้งแต่เสื้อผ้าสไตล์อินเดีย, เดรสปักลาย, ส่าหรีสีสด, เครื่องประดับนำเข้าจากอินเดีย, หรือเทวรูปทั้งจากอินเดีย เนปาล ทิเบต และแน่นอนว่าร้านขายผ้าก็มีในห้างนี้เช่นกัน เรียกว่าถ้าไม่อยากไปเดินเบียดเสียดเจออากาศร้อนข้างนอกก็ลองแวะมาหลบแดดตากแอร์เย็นฉ่ำช้อปกันยันค่ำได้เลย หากวันว่างๆ นี้ยังไม่มีแพลนไปไหนลองมาเดินลัดเลาะชมเมืองย่าน “Little India” ดูรับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.