ถ้าค้นเรื่องสืบรากไปในพื้นที่บางกอกที่ตั้งของเมืองหลวงในปัจจุบัน จะพบว่าก่อร่างมาจากการผสมปนเปของกลุ่มคนหลากเชื้อชาติหลายศาสนาที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยในหลายช่วงเวลา ตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นศูนย์กลางการปกครองเสียด้วยซ้ำ เห็นได้จากหลักฐานมากมายทั้งอาคารสถาปัตยกรรมต่างๆ อาหารการกินนานาชาติ หรือเชื้อสายบรรพบุรุษของหลายๆ คน ที่เชื่อแน่ว่าจริงๆ แล้ว ต้นตอแทบไม่มีอะไรเป็นไทยแท้
‘สามเสน’ เป็นอีกย่านหนึ่งที่เราอยากชวนมาสำรวจด้วยกัน เพราะถ้ามองผิวเผินแล้วอาจเห็นเป็นเพียงย่านที่เต็มไปด้วยส่วนราชการ ชุมชนเมือง และโรงเรียนชื่อดัง แต่ความจริงแล้วที่นี่เป็นอีกชุมชนริมแม่น้ำของกรุงเทพฯ ซึ่งรุ่มรวยไปด้วยประวัติศาสตร์และภาพความหลากหลายของกลุ่มคนที่อพยพมาจากภายนอกหลายช่วงเวลา ทั้งบ้านเขมร บ้านญวน แถมมีโบสถ์คริสต์เก่าที่ตั้งอยู่เคียงกันถึง 2 หลัง แวดล้อมด้วยชุมชนชาวคริสต์ขนาดใหญ่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานและอัตลักษณ์น่าสนใจ
ที่มาของชื่อบ้านนามเมืองตรงนี้มีการกล่าวถึงอยู่ในนิราศพระบาทของสุนทรภู่ ที่บอกเล่าว่าสามเสนนี้เพี้ยนมาจากคำว่าสามแสน ตามตำนานที่เล่าขานมาแต่อดีต ถึงเหตุการณ์ที่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ลอยน้ำมา จนต้องใช้กำลังคนถึงสามแสนคนมาช่วยกันฉุดชักลากขึ้นฝั่ง จนกลายเป็นชื่อย่านสามแสนและเพี้ยนมาเป็นสามเสนในปัจจุบัน อาจจริงหรือไม่จริงก็ได้ เพราะข้อสรุปในเรื่องคำว่า ‘สามเสน’ นี้ยังไม่เป็นอันยุติ
มาถึงย่านสามเสนทั้งที เราขอเริ่มรูตนี้ที่วัดสำคัญประจำย่านอย่างวัดราชาธิวาสวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่ ‘ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ’ หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เคยจำพรรษาอยู่ในขณะที่ทรงผนวช และก่อนหน้าพระองค์ ก็เคยมีพระมหากษัตริย์อีกพระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่เคยจำพรรษาที่วัดแห่งนี้เช่นกัน
ปัจจุบันวัดที่เป็นเสมือนจุดกำเนิดของธรรมยุติกนิกาย ก็ยังคงความเป็นพื้นที่วัดอรัญวาสี (อรัญวาสี แปลว่าป่า) ที่มีความสงบผ่านบรรยากาศครึ้มด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ดูแล้วคล้ายวัดป่าตามต่างจังหวัดไม่น้อย
เมื่อสืบประวัติลึกลงไป จะพบว่าจริงๆ แล้ว วัดแห่งนี้ไม่ได้เพิ่งเฟื่องฟูในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ก่อนหน้านี้ วัดราชาธิวาสฯ เคยมีชื่อว่าวัดสมอราย ซึ่งมีหลักฐานว่าอายุเก่าถึงสมัยอยุธยา และตั้งอยู่ตรงตำแหน่งเหนือเมืองบางกอกขึ้นมาไม่ไกล เรียกได้ว่าเป็นชานเมืองบางกอก ที่เป็นเมืองท่าสำคัญในช่วงนั้น
“แต่เดิมชุมชนตรงนี้เป็นชาวส่วย ชาวกูย ที่เป็นคนเลี้ยงช้างของพระนารายณ์ ซึ่งก็จะเข้ากันดีกับชื่อวัดสมอราย วัดสมอแครง”
‘พี่ตั้ว-ปติสร เพ็ญสุต’ นักประวัติศาสตร์ศิลปะและชาวบ้านเขมรแต่กำเนิด เล่าย้อนและตั้งข้อสังเกตถึงย่านนี้ในอดีต โดยสันนิษฐานว่าเคยเป็นทุ่งเลี้ยงช้างขนาดใหญ่ในสมัยอยุธยา และเรียกขานกันว่า ‘ทุ่งสามเสน’
จวบจนวันนี้ ทุ่งกว้างได้แปรสภาพกลายเป็นชุมชนเมือง มีส่วนราชการต่างๆ และสถานศึกษาตั้งอยู่กันอย่างแน่นขนัด เป็นผลมาจากการพัฒนาเมืองในช่วงรัชกาลที่ 5 ที่มีการตัดถนนสามเสนผ่านด้านหลังวัดราชาธิวาสวิหาร เชื่อมต่อระหว่างเขตเมืองเก่าในเกาะรัตนโกสินทร์กับเขตดุสิตที่เป็นโซนใหม่ในสมัยนั้น
“คิดว่าสมัยพระนารายณ์เป็นยุคที่บางกอกสำคัญขึ้นมา และนี่เป็นปลายแดนของเมืองบางกอก ที่อยู่ตรงป้อมวิไชยประสิทธิ์ แต่พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ที่มีคนอยู่ ก็มีชุมชนอุปถัมภ์วัด แล้ววัดคริสต์ก็มาแทรกอยู่ตรงนี้” พี่ตั้วให้ข้อมูลระหว่างนำเราเดินลัดเลาะทางเดินริมแม่น้ำของวัดราชาธิวาสวิหาร ข้ามคลองเล็กๆ ที่เรียกกันง่ายๆ ตามชื่อวัดว่า ‘คลองวัดราชาฯ’ เพื่อเข้าสู่บ้านเขมร
ก่อนจะเดินต่อเข้าไปด้านใน เจ้าถิ่นพาเรามาหยุดอยู่ที่หน้าเรือนไม้หลังงาม ที่สร้างในช่วงรัชกาลที่ 7 เคียงข้างกับเรือนไม้หลังเล็กๆ ที่มีอายุเก่ากว่าถึงสมัยรัชกาลที่ 4
“ที่นี่เป็นบ้านเกิด บัตรประชาชนยังอยู่ที่นี่ ล้างบาปก็ที่นี่ พี่เองก็มีเชื้อโปรตุเกส” ทายาทพระยาวิเศษสงครามฯ จางวางทหารแม่นปืนใหญ่ บอกกับเราตรงบริเวณหน้าบ้านที่เขาอาศัยมาแต่เด็ก ซึ่งปัจจุบันปิดไว้และไม่มีผู้อาศัย เนื่องจากครอบครัวของพี่ตั้วเองก็ย้ายออกไปอยู่ย่านอื่นมาเป็นสิบปีแล้ว
ส่วนที่มาของชื่อบ้านเขมร เริ่มต้นจากกลุ่มคนที่ตั้งรกรากตรงแถบนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวโปรตุเกสที่อพยพมาจากเขมรในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยมีการจัดสรรพื้นที่ให้อยู่รวมกลุ่มกันในบริเวณชุมชนชาวคริสต์เดิมที่อยู่มาก่อน
เมื่อเวลาผ่านไป ย่านนี้ก็ค่อยๆ พัฒนาเป็นหมู่บ้านของกลุ่มชนชั้นสูงของสยามที่นับถือศาสนาคริสต์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทหารแม่นปืนโปรตุเกส ที่มีบทบาทรับราชการในราชสำนักช่วงต้นกรุง ก่อนจะหมดความสำคัญลงเมื่อร้อยปีมานี้ เพราะการฝึกแบบใหม่ที่เริ่มเข้ามาในสยาม
ถ้าเดินเข้ามาในชุมชนบ้านเขมร จะสังเกตเห็นบ้านเก่าอีกหลายหลังที่ตั้งอยู่คู่กับบ้านเขมรมาอย่างยาวนาน แสดงให้เห็นถึงฐานะของผู้อยู่อาศัยที่นี่ ส่วนมากมีดีกรีเป็นขุนนางสำคัญๆ แทบทั้งนั้น
นอกจากบ้านของพระยาวิเศษสงครามฯ ที่เราได้แวะไปดูแล้ว ยังมีบ้านของพระยาสมุทรศักดารักษ์ อดีตทูตกรุงโรมในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกันด้วย
เดินตามเจ้าถิ่นต่อเข้าไปตามทางวกวนในชุมชน ก็พบกับหนึ่งในจุดหมายที่เราตั้งใจมาในวันนี้ คือโบสถ์วัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้า หรือเรียกกันประสาชาวบ้านแถบนี้ว่า ‘วัดเขมร’ ตั้งตระหง่านเป็นศูนย์กลางของชุมชนบ้านเขมร
ถึงแม้วัดนี้จะมีความสำคัญไม่น้อย แต่ประวัติของวัดแห่งนี้กลับมีน้อยมาก เท่าที่พบเอกสารคือเป็นเพียงรายนามเจ้าอาวาสที่มาดูแลเป็นเจ้าวัดอยู่ที่นี่ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งในระยะนั้นมีการอนุญาตให้บาทหลวงในคริสต์ศาสนา เดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาได้ในดินแดนสยาม โดยเริ่มต้นจากการสร้างเป็นโบสถ์ไม้แบบง่ายๆ เพื่อเผยแผ่ศาสนาให้ชุมชนชาวกูยดั้งเดิม
“พระนารายณ์ให้บาทหลวงสามคน คือ หลุยส์ ลาโน, ฟร็องซัว ปาลูว์ และ ปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต มาตั้งวัดตรงนี้ แล้วเขาก็แถมชุมชนมาให้ แต่ไม่ใช่ชุมชนโปรตุเกสเก่าเหมือนที่อยุธยา ผมคิดว่าคงไม่มีชุมชนฝรั่งใหญ่ขนาดนั้น เป็นแค่ชุมชนที่มีบาทหลวงชาวฝรั่งเศสปกครองคนพื้นเมือง” พี่ตั้วเผยถึงประวัติแรกเริ่มของวัดคอนเซ็ปชัญ ในสมัยอยุธยา
โบสถ์ของวัดคอนเซ็ปชัญหลังปัจจุบันสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2379 ถือเป็นโบสถ์คริสต์เก่าสมัยรัชกาลที่ 3 เพียงไม่กี่หลังในไทยที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเป็นเจ้าอาวาสในช่วงนั้น เป็นผู้ดำริให้สร้างขึ้น
ขณะที่เดินสำรวจรอบๆ โบสถ์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะก็ชี้ชวนให้เราเห็นถึงรูปแบบของอาคารที่สร้างตามแบบศิลปะแบบบาโรก ซึ่งมักทำหน้าต่างอยู่สูงเลยหัว เพื่อไม่ให้รบกวนพิธีกรรมด้านใน ส่วนแปลนของอาคารเป็นทรงสี่เหลี่ยมยาวปลายมน มีห้องสำหรับเตรียมพิธีที่ด้านหลัง ถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะสมัยนั้น ขณะเดียวกัน ก็แอบมีกลิ่นอายศิลปะจีนปะปนอยู่บ้าง จากรูปมังกรปูนปั้นที่ด้านหลังโบสถ์ เป็นกิมมิกที่ช่างผสมผสานไว้อย่างน่ารัก ที่สำคัญ หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าโบสถ์หลังนี้มีร่องรอยของการสร้างต่อเพิ่มเติมในสมัยถัดมาอีกหลายต่อหลายครั้ง
“โบสถ์สมัย ร.3 จบแค่ตรงนี้” พี่ตั้วชี้ให้ดูบริเวณประตูทางเข้าอาคาร ที่ทำเป็นประตูใหญ่ 3 บานเรียงต่อกัน ด้านบนทำเป็นช่องกระจกสี “ส่วนมุขโถงด้านหน้ามาสร้างสมัย ร.5 เนื่องจากแต่ก่อนมีหอระฆังแล้วพังทลายไป เพราะคนไทยไม่ชำนาญทำหอ เปลืองอิฐ ใช้หอไม้ก็เลยพัง ร.5 เลยให้โยอาคิม กรัสซี (สถาปนิกชาวตะวันตกที่เข้ามารับราชการในสยาม สมัยรัชกาลที่ 5) มาทำ ก็จะเห็นว่าทำไมตรงนี้มีกระจกสี ทั้งๆ ที่แดดไม่ได้ส่อง นี่คือร่องรอยของอาคารแต่แรก
“กระจกสีก็เป็นของใหม่ แต่ด้านในจะมีกระจกสีที่เป็นสมัย ร.3 จริงๆ อยู่สามถึงสี่บาน น่าจะเก่าที่สุดในไทยที่ยังเหลืออยู่” เรามองตามเข้าไปตรงแท่นบูชาด้านในที่ทำกระจกสีเป็นภาพนักบุญองค์ต่างๆ รายล้อมประติมากรรมพระแม่มารีองค์สำคัญที่ชาวเขมรได้อัญเชิญมา
ในวันที่ไปเยือนบ้านเขมร บังเอิญว่ามีพิธีศพที่โบสถ์วัดคอนเซ็ปชัญ เราจึงได้เห็นการทำพิธีแบบคริสต์ศาสนิกชนที่คนต่างศาสนาอย่างเราไม่คุ้นเคย รวมทั้งได้เห็นด้านในของโบสถ์ซึ่งประดิษฐานแม่พระ ที่ปกติแล้วช่วงนี้จะเปิดเฉพาะเวลาทำศาสนพิธีเท่านั้น
เมื่อพูดถึงแม่พระประจำโบสถ์หลังนี้ เท่าที่ได้ลองหาข้อมูลมาคร่าวๆ เราสะดุดตากับคำว่า ‘แม่พระขนมจีน’ จึงสอบถามกับพี่ตั้วว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
“แม่พระขนมจีนอยู่ข้างใน จะมีพิธีประจำปีที่สืบมาจากโปรตุเกส เรียกว่าแม่พระไถ่ทาส มีมาแต่ยุคครูเสด คือรบกับมุสลิมแล้วโดนจับไปเป็นเชลย คนคริสต์ก็ไปภาวนากับแม่พระว่าให้เชลยกลับบ้านได้ปกติ ทีนี้ก็กลายเป็นธรรมเนียมขอบคุณแม่พระ แต่พอเป็นเมืองไทย เลยเลี้ยงขนมจีน” อธิบายอย่างรวบรัดคือเป็นประเพณีจากตะวันตกที่จับเอามาปรับให้เข้ากับบริบทแบบไทยๆ นั่นเอง
ระหว่างนั้นสุสานด้านหลังของโบสถ์เปิดพอดี พี่ตั้วเลยชักชวนเราไปเดินแกะรอยประวัติศาสตร์ผ่านหลุมศพต่างๆ ด้านใน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหลักฐานความเก่าแก่ของชุมชนนี้
“บางหลุมศพนี่เห็นได้ชัดเลยนะว่าสร้างและฝังในสมัยรัชกาลที่ 2 คนในหลุมน่าจะเกิดในสมัยพระเจ้าอยู่บรมโกศบ้าง แต่ต้องถามต่อว่าตอนนั้นเขาอยู่ที่ไหน เขาเข้ามาตายที่นี่หรือเปล่า”
ที่น่าสนใจคือป้ายชื่อหน้าหลุมศพของผู้วายชนม์หลายคนที่สลักเป็นตัวอักษรละติน แต่สะกดเป็นภาษาไทย คล้ายกับภาษาคาราโอเกะ ถือเป็นไอเดียการผสมผสานของบรรพชนบ้านเขมรที่แปลกตาดีไม่น้อย
พ้นเขตบ้านเขมรเข้าสู่เขตของชุมชนบ้านญวน อีกหนึ่งหมู่บ้านของกลุ่มคนพลัดถิ่น ที่ถูกกวาดต้อนจากเวียดนามลงมาอยู่ในแผ่นดินสยาม ช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งชาวญวนคาทอลิกผู้มาทีหลังได้รับการจัดพื้นที่อยู่อาศัยสำหรับหมู่ชาวคริสต์ ในบริเวณตอนเหนือของบ้านเขมร ขณะที่ชาวญวนที่นับถือศาสนาพุทธไปอยู่แถบวัดญวนที่ย่านนางเลิ้ง
เมื่อชุมชนรวมตัวกันจนมีขนาดใหญ่ จึงเริ่มสร้างโบสถ์ขึ้นมาใช้ประกอบศาสนกิจในหมู่คนญวนด้วยกันเอง ชื่อว่าวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ หรือเรียกง่ายๆ ว่าวัดญวน ในช่วงแรกสร้าง สังฆราชปัลเลอกัวซ์ก็รับหน้าที่ดูแลวัดแห่งนี้ด้วย
“ถ้าโบสถ์วัดคอนเซ็ปชัญไม่มีหอระฆังก็จะหน้าตาแบบนี้ เป็นบาโรกแบบบ้านๆ” เราเห็นด้วยกับพี่ตั้ว ขณะชมความงามของโบสถ์วัดญวน ที่รูปร่างหน้าตาแทบจะคล้ายกับวัดของชุมชนเพื่อนบ้านเหมือนเป็นฝาแฝด ผิดก็แต่วัดญวนมีขนาดใหญ่กว่าอย่างเห็นได้ชัด
เราได้รู้มาว่าเอกลักษณ์หนึ่งของวัดแห่งนี้ที่มีไม่เหมือนใคร แต่กำลังจะเลือนหายไปคือการทำพิธีด้วยภาษาญวน
“เมื่อก่อนมีมิสซาภาษาญวนด้วย ตั้งแต่สมัยเด็กๆ เลย พิธีศพก็ยังทำแบบญวนอยู่ คนแก่มากๆ ที่ยังฟังเข้าใจอยู่ เขาก็ใช้วิธีการเปิดเทป” น่าเสียดายว่าวันนี้วัดญวนปิดประตูเงียบเชียบ ทำให้เราอดได้เข้าไปชมความงดงามของศาสนสถานด้านใน
อีกหนึ่งความโดดเด่นของย่านสามเสนที่หลายคนเห็นกัน คือเต็มไปด้วยสถานศึกษา นอกจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิตและมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาที่อยู่ไม่ไกลกันแล้ว ก็มีโรงเรียนชื่อดังอีกหลายแห่งตั้งอยู่ชนิดกำแพงติดกัน ทั้งโรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ และโรงเรียนโยนออฟอาร์ค
แต่เมื่อได้ลงมาเดินย่านนี้จริงๆ กลับพบว่ายังมีโรงเรียนเล็กๆ ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมตั้งอยู่ทั่วชุมชน ซึ่งพี่ตั้วเผยว่านับรวมกันได้กว่า 13 แห่ง
“ชุมชนคาทอลิกตรงนี้โตขึ้นมาจากโรงเรียน มีโบสถ์สองหลัง มีสถานศึกษาอยู่รอบ และยังมีโรงเรียนอนุบาลเล็กๆ อยู่ข้างนอก เป็นโรงเรียนคริสต์หมดเลย แต่ก็ปิดไปเยอะแล้ว”
อย่างโรงเรียนคอนเซ็ปชัญที่ตั้งอยู่คู่กับโบสถ์วัดเขมร แต่เดิมพี่ตั้วเล่าว่ามีนักเรียนเยอะ แต่วันนี้อาคารเรียนกลายเป็นตึกร้างและรอวันที่จะนำอาคารไปทำประโยชน์ในทางอื่น เนื่องจากปัจจัยถนนหนทางในชุมชนที่ไม่ค่อยสะดวก ที่จอดรถมีน้อย และคนเก่าคนแก่ในชุมชนที่ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น
เวลาคิดถึงโซนที่เป็นภาพจำของความหลากหลายทางความเชื่อ หลายคนอาจนึกถึงย่านกุฎีจีนที่มีทั้งโบสถ์คริสต์ มัสยิด ศาลเจ้าจีน และวัดพุทธ แต่การได้มาลงพื้นที่ย่านสามเสน บ้านเขมร และบ้านญวนในวันนี้ ช่วยให้เราได้สัมผัสถึงความหลากหลายของกรุงเทพฯ ในอีกรูปแบบหนึ่ง ถือเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนต่างเชื้อชาติ ที่ผูกรัดมัดเกลียวกันด้วยคริสต์ศาสนา จนกลายเป็นชุมชนคาทอลิกริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังอยู่ร่วมกับชุมชนชาวไทยพุทธได้อย่างกลมกลืน