หากเปรียบข้าวสารเป็น ‘คน’ คุณจะให้เขาเป็นคนแบบไหน…
“รักสนุก ใจกว้าง หน้าตาดี หรือมีคารมเป็นต่อ” ต่อให้คุณจะเคยมาข้าวสาร หรือไม่เคยมาเลยก็ตาม เราเชื่อว่าภาพจำของย่านแห่งความสนุกนี้ จะคงเด่นชัดอยู่ในใจของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นย่านผับบาร์ที่ใครก็เข้าถึงได้ ย่านนานาชาติที่เหมือนหลุดเข้าไปในโลกอีกใบ ย่านแห่งเทศกาลสงกรานต์ที่เราต้องแวะไปจอยทุกปี หรือแม้แต่ร้านเหล้าร้านโปรดอย่างบริคบาร์ที่วัยรุ่นแห่กันมาแทบทุกคืน
ความสนุกสุดเหวี่ยงของข้าวสารถูกเบรคด้วยการล็อกดาวน์ปิดประเทศ ร้านรวงต่างๆ ต้องปิดชั่วคราว บางรายก็สู้ต่อไม่ไหวถึงขึ้นขอโบกมือลา ฝรั่งมังค่าจากที่เคยเดินไหล่แทบชนกัน ก็ดูบางตาลงอย่างเห็นได้ชัด
วันดีคืนดีเราเห็นโปรเจกต์หนึ่งผ่านฟีดในเฟซบุ๊ก นั่นคืองาน ‘Khao San Hide and Seek: เข้าซอย ข้าวสาร’ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของทีมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเครือข่ายในชุมชน เพื่อปลุกย่านข้าวสารให้กลับมามีชีวิตเหมือนที่ผ่านมา เราจึงใช้โอกาสนี้แวะเวียนมาเยี่ยมข้าวสารอีกครั้งหลังจากที่ไม่ได้กลับมานานร่วมปี และหวังเล็กๆ ว่า “บรรยากาศแห่งความเหงาในครั้งนี้ จะทำให้เราได้รู้จักข้าวสารมากขึ้น”
เมื่อถนนเข้ามาแทนที่แม่น้ำลำคลอง วิถีชีวิตของคนไทยก็ต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เราต้องเปิดรับคัลเจอร์ตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาอยู่เสมอ ถนนข้าวสารก็เกิดขึ้นจากการตัดถนนเมื่อปี พ.ศ. 2435 ในสมัยรัชกาลที่ 6 และเหตุที่ต้องตั้งชื่อว่า ‘ข้าวสาร’ ก็มาจากการที่เคยเป็นแหล่งขายข้าวสารที่ใหญ่ที่สุดของเขตพระนครนั่นเอง
จุดเปลี่ยนแปลงของข้าวสารที่ทำให้ต่างชาติหลั่งไหลเข้ามา คือยุคที่มี ‘เกสต์เฮาส์’ เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2515 ซึ่งแรกเริ่มจะเป็นการแบ่งที่พักให้กับทัวร์นักเรียนต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวเมืองไทย หลังจากนั้นโรงแรม ร้านอาหาร และผับบาร์ ก็ผุดขึ้นมาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้นักท่องเที่ยวที่อยากมาเยือนเมืองไทย อย่างน้อยก็ต้องแวะมาข้าวสารดูสักครั้ง
เราเป็นคนหนึ่งที่แวะมาข้าวสารไม่บ่อยนัก แต่ทุกครั้งที่มาก็เป็นอันรู้กันว่าต้องมี ‘การดื่ม’ เกิดขึ้น แม้วันนี้คนจะดูบางตา ผับบาร์ต่างๆ ก็เพิ่งทยอยเปิดเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ความครึกครื้นของข้าวสารเลยอาจจะยังไม่หวือหวาเท่าช่วงก่อนโควิด
ทว่าไฮไลท์ของงาน Khao San Hide and Seek อย่าง Lighting Installation ก็ตอกย้ำว่า ‘ข้าวสารคือย่านของนักปาร์ตี้ที่แท้จริง’ กี่แก้วกี่ขวดที่ยกซดไป เราแทบไม่เคยนับเลยว่าเราปล่อยตัวปล่อยใจไปหนักหน่วงแค่ไหน ผลงานนี้เลยทำให้เราแฟลชแบ็คกลับไปคืนนั้น คืนที่เราแฮงก์ไม่เป็นท่า (ส่ายหัวเบาๆ)
ว่าก็ว่าเถอะ ทุกครั้งที่มาตึก Buddy Lodge เราก็มุ่งตรงมายังบริคบาร์อย่างเดียว และไม่เคยรู้เลยว่า ในอดีตพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นที่ตั้งของ ‘สมาคมสหายสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง’ มาก่อน ซึ่งเป็นการสร้างเพื่อตอบแทนทหารอาสาที่ไปรบในฝรั่งเศส โดยป้ายของสมาคมฯ ถูกถอดออกมาจากอาคารหลังเก่าเพื่อนำมาเก็บรักษาไว้
อย่างที่รู้กันว่าก่อนจะมีถนนข้าวสาร บนระยะทางราว 400 เมตร พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นทางสัญจรทางน้ำมาก่อน ผลงาน Lighting จุดที่เราพบต่อมาในตรอกถนนคนเดิน ได้จำลองบรรยากาศคุ้งน้ำเจ้าพระยา ที่ฉาบด้วยเสียงดนตรีและแสงสีน่าค้นหา ทำให้เราจินตนาการถึงการเปลี่ยนผ่านของข้าวสารที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ลองนึกเล่นๆ ว่า ถ้าเมื่อก่อนเขาพายเรือมาซื้อข้าวสารแถวนี้ แล้วมีเสียงดนตรีจากผับดังขึ้นมา มันจะครึกครื้นแค่ไหนกันเชียว
ในตรอกเล็กๆ ตรอกเดิม ซึ่งเดิมเนืองแน่นไปด้วยร้านรวงและเหล่าพ่อค้าแม่ค้า ตอนนี้กลายเป็นความว่างเปล่า เหลือเพียงห้องแถวโล่งๆ ไม่มีชีวิต ไม่มีผู้คน แสงที่สาดเข้าไปในห้องสี่เหลี่ยมเปลือยเปล่า ก็ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า “ความเงียบสงัดมันทำให้เรารู้สึกหม่นหมองและเปล่าเปลี่ยวแค่ไหน” ซึ่งก็หวังว่าสักวัน เราคงได้เห็นความมีชีวิตชีวาของข้าวสารกลับมาอีกครั้ง
ในซอยเล็กๆ ข้างร้าน Lucky Beer แสงนีออนดึงดูดชวนให้เราเดินเข้าไปใกล้ๆ ตรงจุดนี้เหมือนเป็นโลกอีกใบที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความครึกครื้น ผนังตึกที่เต็มไปด้วยรอยขีดเขียน มีภาพถ่ายของผู้คนหลากหลายอาชีพในย่านข้าวสารติดอยู่ พร้อมประโยคที่ถ่ายทอดความในใจในช่วงล็อกดาวน์
“มาเป็นแม่บ้านอยู่ สน.ชนะสงคราม เกิน 30 ปีแล้ว พอเกษียณผู้ใหญ่เขาก็ใจดีต่ออายุให้ พอเลิกงานเราก็มาขายน้ำตรงนี้เมื่อก่อนคนเยอะนะ ขายได้วันละสามสี่พันบาท แต่ช่วงนี้ก็เงียบหมดเลย ทั้งต่างชาติทั้งไทยหายหมด” เสียงจากป้านา ผู้ขายน้ำบริเวณ สน.ชนะสงคราม
ชีวิตในข้าวสารนั้นโคตรจะวาไรตี้ นอกจากนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนกันมาไม่ซ้ำหน้า และพนักงานคนดีคนเดิมที่คอยเรียกแขกให้เข้าร้าน อีกหนึ่งบทบาทที่เติมเต็มย่านนี้ให้มีชีวิต ก็คือคนเดินขายของกระจุกกระจิกตามถนนอย่าง ‘ลูกไฟบิน’ ที่ดีดแล้วมันจะลอยขึ้นฟ้าดูน่าตื่นตาตื่นใจ
และเมื่อความเหงามาเยือนข้าวสาร ทำให้เราคิดถึง ‘ลมหายใจหนึ่งของย่าน’ คือเหล่าคุณลุงคุณป้าที่เดินขายของตามถนนหนทาง ซึ่งในวันที่เราไม่รู้ว่าพวกเขาไปขายที่ไหน ทำอะไร หรือเอาตัวรอดยังไงในสถานการณ์อันเงียบงัน ดวงไฟจากผลงานนี้ก็ทำให้เราได้นึกถึง และไม่ลืมว่าข้าวสารก็มีสิ่งของและผู้คนที่บางครั้งเราอาจจะหลงลืมไป
เม็ดเหงื่อกระเซ็น แรงหมัดสอดทิ่มตรงเบ้าตา และกระโดดปักศอกกลางศีรษะ คือภาพวันวานที่เคยเกิดขึ้นบนถนนข้าวสาร เราเดินตามแสงไฟมาที่ตึกบายน ลึกสุดของตึกคือผลงานที่ตอกย้ำว่าข้าวสารนั้นเป็นย่านที่ต่างชาติมีบทบาทอย่างแท้จริง ถึงขนาดเคยมีสนามมวยเล็กๆ ที่มีชาวต่างชาติเป็นครูสอนมวยไทยอยู่ด้วย
บรรยากาศในข้าวสารอาจจะดูเป็นความทันสมัย เข้าถึงง่าย สนุก และจริงใจ ขณะเดียวกันก็มีความเก่าแก่และล้ำค่าด้วยอาคารบ้านเรือนริมสองข้างทาง ซึ่งปลูกสลับกับตึกยุคปัจจุบันจนแทบจะกลืนเป็นมวลเดียวกัน ด้วยความที่ข้าวสารอยู่ใกล้รั้วใกล้วัง ทำให้ย่านนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าขุนนางมาก่อน โดยสิ่งที่ตกทอดมาจนถึงเวลานี้คือ สถาปัตยกรรมตะวันตกที่ออกแบบโดยช่างชาวอิตาลี
อย่าง ‘บ้านทัดทรง’ ที่เด่นด้วยสีเหลืองอร่าม บวกกับหลังคาทรงจั่วและปั้นหยา ตอนนี้กลายเป็นร้านนั่งชิลชื่อว่า The HUB ซึ่งน้อยคนจะรู้ว่า แต่เดิมสถานที่แห่งนี้เคยเป็นบ้านพักของ นายพันตำรวจเอกพระยาทรงพลภาพ (เผื่อน พลธร) เจ้าเมืองสมุทรปราการ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดนั่นเอง
เมื่อความเงียบเหงาทำให้เราเห็นบางสิ่งบางอย่าง ใครจะไปคิดล่ะว่าย่านบันเทิงแบบนี้จะมีโรงเรียนประถมศึกษาซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่เพียง 200 ตารางวา ซึ่งนี่คือ ‘โรงเรียนพิมานวิทย์’ ที่มีอายุกว่า 100 ปีแล้ว โดยก่อตั้งขึ้นในยุค ร.6 ด้วยความตั้งใจของผู้อำนวยการที่อยากให้ชาวมุสลิมได้ใช้ภาษาไทยอย่างช่ำชอง
ปัจจุบันโรงเรียนพิมานวิทย์ มีนักเรียนจำนวนร้อยกว่าคน โดยแต่ละระดับชั้นจะมีเพียงห้องเรียนเดียว เวลาที่โรงเรียนมีกิจกรรมต่างๆ ก็จะได้รับการสนับสนุนจากผู้คนในย่านเป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นภาพที่เราไม่คิดว่าจะพบในย่านข้าวสารแห่งนี้
อีกหนึ่งธุรกิจที่ขับเคลื่อนข้าวสารให้มีชีวิตชีวาคือ ร้านตัดสูท 24 ชั่วโมง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าข้าวสารคือย่านที่ไม่เคยหลับใหล ขณะที่ความครื้นเครงกำลังบรรเลงไป สูทอีกหลายสิบตัวก็กำลังถูกบรรจงตัดจากช่างฝีมือคนเก่ง แม้วันนี้ร้านสูทอาจจะต้องขอพักใจชั่วคราว แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เห็นว่า “ข้าวสารไม่เคยได้พัก” และมักมีการจับจ่ายใช้สอยวนเวียนกันอยู่ในย่านนี้เสมอ
การเดินซอกแซกเข้าซอยข้าวสาร แล้วชมงาน Khao San Hide and Seek ไปพลางๆ มันทำให้บรรยากาศการมาเยือนข้าวสารของเราครั้งนี้แตกต่างไปจากครั้งก่อน โอเค! เราไม่ได้ชอบที่เห็นข้าวสารในบรรยากาศเงียบเหงาแบบนี้สักเท่าไหร่ แต่มันก็ทำให้เราสนิทกับข้าวสารมากขึ้น และได้รู้จักมันในมุมที่มากกว่าความครื้นเครง
ซึ่งผลงานแสงสี Lighting Installation เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานเท่านั้น อันที่จริงยังมีกิจกรรมอีกมากมายจากทีมศิลปากรและคนในชุมชน หากใครอยากมาสัมผัสข้าวสารในมุมที่ฉีกออกไป ก็ชวนเพื่อนมาเดิน ‘เข้าซอย ข้าวสาร’ ได้ระหว่างวันที่ 6 – 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 และสามารถติดตามข้อมูลได้ทางเพจ บางลำพู everyday