ปฏิเสธไม่ลงว่า ‘กางเกงยีนส์’ กลายเป็นสินค้าแฟชั่นตัวโปรดของใครหลายๆ คน เพราะแมตช์กับชุดได้หลายลุค ตั้งแต่แคชชวล สมาร์ต หรือกึ่งทางการก็ดูดีได้ หรือจะหยิบมาใส่ตลอดปีก็ไม่มีตกเทรนด์ จึงไม่แปลกที่เป็นของชิ้นสำคัญที่ต้องมีติดตู้เสื้อผ้า สมกับคำร่ำลือที่ใครต่างยกให้ว่า ‘Jeans Never Die’ แต่น่าเสียดายที่ยีนส์เป็นสินค้าแฟชั่นที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
เพราะวงจรชีวิตของยีนส์หนึ่งตัว ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการซักต้องใช้น้ำมากถึง 10,000 – 20,000 ลิตร โดยปริมาณน้ำมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ถูกใช้ไปกับขั้นตอนการปลูกฝ้าย อีกทั้งยีนส์ยังใช้สารเคมีมากกว่า 8,000 ชนิดในกระบวนการทอ ฟอก ย้อม แถมยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 1.2 พันล้านตันต่อปีเลยทีเดียว
พอฟังแบบนั้น คุณผู้อ่านอย่าเพิ่งกดหน้าต่างเว็บไซต์ทิ้ง เพราะทุกวันนี้เรามีสารพัดแบรนด์แฟชั่นออกมาพัฒนาโปรดักต์ของตัวเองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด หนึ่งในนั้นก็คือ MUD Jeans แบรนด์ยีนส์สัญชาติดัตช์ที่สร้างมิติใหม่ของวงการผลิตเดนิม ด้วยการรีไซเคิลยีนส์เก่าผสมกับฝ้ายออร์แกนิกคุณภาพสูง และสร้างโมเดลธุรกิจให้คน ‘เช่ายีนส์’ เพื่อหยุดวงจร Fast Fashion และใช้ทรัพยากรที่มีให้คุ้มค่าที่สุด
คิดเผื่อคนรุ่นต่อไป
ความต้องการของ Fast Fashion เพิ่มขึ้นทุกปี แต่วัสดุที่ใช้ในการผลิตเสื้อผ้าถูกนำไปรีไซเคิลไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ทั่วโลกมีปริมาณเสื้อผ้าเหลือทิ้งปีละ 150,000 ล้านชิ้นเลยทีเดียว แถมมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีใครลงมือทำอะไรสักอย่าง
ด้วยแพสชันที่ต้องการให้คนรุ่นต่อไปเอ็นจอยกับโลกใบนี้ได้แบบไม่ต้องกังวลเรื่องขยะของ Bert van Son ทำให้เขาก่อตั้งแบรนด์ MUD Jeans ขึ้นมา ก่อนหน้านั้นเขาคลุกคลีอยู่ในวงการอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ประเทศจีนเป็นระยะเวลา 30 ปี และได้เห็นถึงผลกระทบของแฟชั่นต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ที่แย่ และค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมของแรงงานผู้ผลิต เขาจึงกลับมาตกผลึกว่าจะทำอย่างไรให้ปัญหาของอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นหมดไป
การปรากฏตัวของ MUD Jeans ในปี 2013 พลิกโฉมอุตสาหกรรมแฟชั่นไปโดยสิ้นเชิง เพราะไม่มีแบรนด์ไหนลุกขึ้นมาทำ ‘ยีนส์’ ด้วยโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนมาก่อน โดย Bert van Son อยากให้แบรนด์ยีนส์ของเขาช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับคนยังสวมใส่ยีนส์ตัวโปรดได้เหมือนเดิม
คนและสิ่งแวดล้อมคือหัวใจสำคัญ
มาพูดถึงความพิเศษของยีนส์จาก MUD Jeans กันดีกว่า ประการแรกเลยคือการผลิตกางเกงยีนส์จากผ้าเดนิมรีไซเคิลประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ นำมาผสมกับฝ้ายออร์แกนิกคุณภาพสูงอีก 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งฝ้ายออร์แกนิกที่นำมาใช้ผ่านการรับรองจาก Global Organic Textile Standard (GOTS) หรือฉลากสำหรับวัสดุสิ่งทออินทรีย์ เป็นหนึ่งในมาตรฐานชั้นนำของโลกที่มีเกณฑ์การประเมินครอบคลุมตั้งแต่การเพาะปลูก กระบวนการผลิต โรงงานที่ผลิต การติดป้าย การส่งออก เพื่อรับรองว่าไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าแมลง ไปจนถึงการตรวจดูความเป็นอยู่ของแรงงานในอุตสาหกรรมว่า ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมและมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี
MUD Jeans ระบุลงบนเว็บไซต์ว่าพวกเขาใช้ฝ้ายออร์แกนิกจากเมืองอิซเมียร์ ประเทศตุรกี ส่วนยีนส์รีไซเคิลได้รับความช่วยเหลือจากโรงงานแห่งหนึ่งในเมืองอาลีคานเต้ ประเทศสเปน ผู้บุกเบิกการผลิตวัสดุที่ยั่งยืนผ่านการอัปไซเคิลตั้งแต่ปี 1947 โดยนำยีนส์เก่าของ MUD Jeans ไปตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และรีไซเคิลให้เส้นใยของฝ้ายสั้นลง ก่อนไปผสมกับฝ้ายออร์แกนิกแล้วนำเส้นใยมาปั่นเป็นด้ายใหม่
กระบวนการรีไซเคิลเส้นด้ายของโรงงานแห่งนี้ ได้รับคะแนนความยั่งยืนสูง เพราะปลอดสารอันตรายตามข้อกำหนดของ Zero Discharge of Hazardous Chemicals (ZDHC) อีกทั้งยังช่วยประหยัดน้ำได้มากกว่า 4 หมื่นล้านลิตร ลดมลพิษได้ 2.9 ล้านกิโลกรัม และประหยัดพลังงานได้ 142 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ทำให้เราอุ่นใจได้ว่ากางเกงจาก MUD Jeans ดีกับสิ่งแวดล้อมแน่นอน
รวมถึงกระบวนการทอผ้าและย้อมสิ่งทอที่ใช้วิธีการที่ยั่งยืนแบบ 360 องศา จาก Tejidos Royo โรงงานชั้นนำด้านอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 1903 พวกเขาไม่ใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิต เพราะใช้เทคนิค Dry Indigo คือการย้อมสีลงบนเส้นด้ายด้วยโฟม ซึ่งลดการใช้น้ำได้มากถึง 99 เปอร์เซ็นต์ และใช้พลังงานในการย้อมเพียง 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเมื่อเทียบกับการย้อมสีแบบดั้งเดิม โดย Dry Indigo ได้เครื่องหมาย Cradle to Cradle (C2C) เพื่อรับรองผลิตภัณฑ์ว่าปลอดภัยและยั่งยืน ซึ่งหลังจากย้อมยีนส์แล้วจะเข้าสู่ระบบ Reverse Osmosis เพื่อบำบัดน้ำเสียให้สะอาดถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม
ถัดมาเป็นขั้นตอนของการตัด เย็บ ซัก และติดฉลากสินค้าที่ Yousstex International ตั้งอยู่เมืองตูซ่า ประเทศตูนิเซีย เป็นโรงงานขนาดเล็กที่มีพนักงาน 550 คน ซึ่งพนักงานมีสิทธิ์ลาพักร้อนได้ 3 สัปดาห์ และมีรถรับส่งจากบ้าน-โรงงานฟรี อีกทั้งขั้นตอนการติดป้ายปะเก็นของ MUD Jeans ไม่ใช้ป้ายหนัง แต่ใช้วิธีการสกรีนลงบนกางเกงยีนส์แทน เพื่อให้ง่ายต่อการนำกลับมาใช้ใหม่
สำหรับการจัดส่ง MUD Jeans จับมือร่วมกับบริษัท e-fillment ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซโลจิสติกส์ที่ใช้หุ่นยนต์เป็นมดงานสำคัญ ซึ่งใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นแบตเตอรี่ ทำให้รันการขนส่งได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องใช้แรงงานคนหามรุ่งหามค่ำ อีกทั้ง MUD Jeans เป็นแบรนด์ที่ออกแบบกางเกงยีนส์ให้คลาสสิกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะการออกสินค้าตามฤดูกาลแฟชั่นเท่ากับการผลิตสินค้าแฟชั่นที่ฟุ่มเฟือย พวกเขาจึงอยากให้กางเกงยีนส์หนึ่งตัวใส่ได้นานที่สุดโดยไม่ตกเทรนด์ ซึ่งอาจมีเพิ่มสีหรือสไตล์อื่นๆ บางครั้งคราวเท่านั้น
บริการเช่ายีนส์รายเดือน
ความโก้เก๋ของแบรนด์ MUD Jeans อีกหนึ่งอย่าง คือการเปิดบริการ ‘Lease a Jeans’ หรือที่เรียกว่าระบบเช่ากางเกงยีนส์ ในราคา €9.95 ต่อเดือน (ประมาณ 380 บาท) ซึ่งเป็นราคาที่รวมบริการซ่อมฟรี โดยหลังจากลูกค้าเช่าครบ 1 ปี ทางแบรนด์จะมีทางเลือกให้ลูกค้า 3 ทาง คือ 1. เปลี่ยนเป็นตัวใหม่และเช่าต่อ 2. เป็นเจ้าของกางเกงยีนส์ตัวนั้นฟรี 3. คืนกางเกงยีนส์ให้แบรนด์ไปรีไซเคิล พร้อมรับ Gift Voucher สำหรับซื้อตัวใหม่
แน่นอนว่าโมเดลการเช่ายืมเสื้อผ้า ไม่ใช่เรื่องคุ้นเคยของใครหลายคน แต่ Bert van Son เชื่อมั่นว่าโมเดลธุรกิจนี้เป็นเป้าหมายของเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็นไปได้ว่าในโลกแฟชั่นไม่จำเป็นต้องทิ้งเสื้อผ้าเก่าให้กลายเป็นขยะเสมอไป หากคุณรู้สึกเบื่อกางเกงยีนส์ตัวเดิมก็แค่เอามาคืน แล้วยืมกางเกงยีนส์ตัวใหม่ แถมไม่ต้องพะวงว่าจะทิ้งยีนส์ไม่ใช้แล้วที่ไหนดี ซึ่งนอกจาก Lease a Jeans จะช่วยจัดการปัญหาขยะแฟชั่นแล้ว ยังเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของ (ชั่วคราว) ในราคาย่อมเยาอีกด้วย
You must have MUD Jeans.
แม้แนวคิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนจะเป็นเรื่องใหม่ในช่วง 8 ปีก่อน ที่ผู้คนยังไม่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากนักเมื่อเทียบกับปัจจุบัน แต่ MUD Jeans พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันเวิร์ก! เพราะแบรนด์ประสบผลสำเร็จในการขายด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และลูกค้าจำนวนมากต่างนิยมชมชอบโดยเฉพาะทวีปยุโรปมีทั้งหมด 222 สาขา ถัดมาเป็นทวีปอเมริกาเหนือ 3 สาขา และทวีปเอเชีย 2 สาขาตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเราสามารถสั่งซื้อผ่านออนไลน์ได้ เพราะเขาจัดส่งฟรีทั่วโลก นอกจากนี้ MUD Jeans ยังเป็นโมเดลธุรกิจที่สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนได้จริง และเป็นตำราธุรกิจเจ๋งๆ ให้กับสตาร์ทอัปใหม่ๆ อีกด้วย
สิ่งหนึ่งที่ Bert van Son ได้ฝากเอาไว้ในหลายๆ บทสัมภาษณ์ และทำให้เรารู้ซึ้งถึงวิธีคิดของเขาว่า MUD Jeans ไม่ใช่แบรนด์แฟชั่นที่ผลิตสินค้าเพื่อความสวยความงาม แต่มองให้ลึกถึง ‘การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า’ และ ‘การช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม’ ก่อนที่จะไม่เหลือให้คนรุ่นต่อๆ ไป
“ทรัพยากรในโลกของเรามีจำกัด ดังนั้นเราต้องฉลาดใช้อย่างคุ้มค่า ซึ่งระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนคือทางออก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงสร้างยีนส์ตัวใหม่จากยีนส์ตัวเก่า เพราะเราต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการลดใช้ทรัพยากร”
Sources :
Ellen Macarthur Foundation
Gather & See
MUD Jeans
The Fashion Law