Art Gallery เป็นสิ่งที่หลายคนอาจมองว่าเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยศิลปะชั้นสูง ที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจ ‘ MEGA Gallery ’ แกลเลอรี่น้องใหม่สัญชาติแคนาดา จึงร่วมมือกับกรมการขนส่งมวลชนแห่งกรุงปราก เพื่อสร้างปรากฏการณ์ยกเอาผลงานกราฟิตี้ ที่เรามักเห็นตามกำแพงริมถนน ( Street Art ) ให้เข้ามาอยู่ใน Art Gallery แนวใหม่ ที่จัดขึ้นพิเศษในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกลางกรุงปราก โดยมีคอนเซปต์เก๋ไก๋ในการเชื่อมโยง Street Art ให้เข้ากับการใช้ชีวิตประจำวัน ผ่านการสัญจรในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเมือง
“ เมื่อศิลปะ ได้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน ”
งานแสดงศิลปะนี้จัดขึ้นที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีชื่อว่า ‘ Karlovo Namest ‘ เป็นสถานีใหญ่ใจกลางเมือง ที่ผู้คนมักใช้สัญจรกันอย่างหนาแน่น เพื่อให้ทุกคนมองและสัมผัสได้ว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่าย และได้กลายเป็นสิ่งท่ีอยู่ในชีิวิตประจำวันของทุกคน เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หรือทำงานอะไร คุณก็สามารถเสพศิลป์ได้ง่ายๆ ระหว่างทางไปทำงาน หรือระหว่างเดินทางกลับบ้าน ผ่านกำแพงกระจกแนวยาวที่ถูกเติมเต็มด้วยงานศิลปะหลากหลายชิ้นได้ทุกวัน
ผลงานที่ ‘ MEGA Gallery ’ เลือกมานำเสนอในงานแสดงศิลปะครั้งแรกนี้คือ ผลงานคอลเลกชันที่มีชื่อว่า ‘ From Darkness to Light ’ จาก Matěj Olmer ศิลปินสตรีทอาร์ตสัญชาติเช็ก ผู้บุกเบิกกราฟิตี้แนว abstract ที่สร้างสรรค์ผลงานจากอารมณ์และความรู้สึกของตัวศิลปินเอง โดยไม่ผ่านการควบคุมจากสิ่งเร้ารอบด้าน ซึ่งเขามองว่าพื้นที่และคอนเซปต์ของงานแสดงศิลปะในครั้งนี้ เหมาะสมกับงานและตัวตนของเขามากๆ เพราะบรรยากาศของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีแสงสว่างรำไร ผสมผสานรอยเปื้อนพิลึกหลายรอยบนพื้นและกำแพงของสถานี แถมยังเป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถเชื่อมโยงกับผลงานกราฟิตี้ได้อย่างลงตัว
“ บรรยากาศภายในงานมีความเท่าเทียม และเปิดกว้าง ”
ในงานเปิดตัวนิทรรศการถูกออกแบบให้เป็นไปอย่างเรียบง่ายและเป็นกันเอง ไม่มีชุดราตรี ไม่มีความฟุ่มเฟือยหรูหรา และยังเปิดกว้างเชิญแขกทุกคนที่สนใจ เข้ามาร่วมงานอย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้ร่วมงานไม่ได้มีเพียงกลุ่มศิลปินเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน พนักงานออฟฟิศ รวมถึงผู้คนที่สัญจรและใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินอยู่ในเวลานั้น ก็สามารถเข้ามาร่วมงานเปิดตัวครั้งนี้ได้อย่างง่ายดาย ทำให้บรรยากาศภายในงานมีความเท่าเทียม และเปิดกว้างให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องศิลปะกันอย่างเสรี
การนำเสนอศิลปะในรูปแบบการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเข้าชมได้ฟรี โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งเช่นนี้ ทำให้ผู้คนที่สัญจรไปมา ต่างต้องหยุดเพื่อยืนชมผลงาน นอกจากนี้บางคนยังมีโอกาสได้เห็นตั้งแต่ช่วงที่ศิลปินเริ่มสร้างสรรค์งาน และกระบวนการติดตั้งในช่วงเวลาก่อนวันเปิดงาน เรียกว่าเป็นการส่งต่อประสบการณ์ใหม่สู่คนเมืองได้ในหลากหลายรูปแบบ จนกลายเป็นที่ฮือฮาและกระแสสังคมเชิงบวก โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ ที่เริ่มมีการแลกเปลี่ยนความเห็นในงานศิลปะกันมากขึ้น ซึ่งเป็นไอเดียที่ดีไม่น้อยที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสังคมอย่างสร้างสรรค์