‘Mars Science City’ เมืองดาวอังคารจำลองในนครดูไบ - Urban Creature

มนุษย์โลกยังคงออกสำรวจจักรวาลที่กว้างใหญ่ และมองหาความเป็นไปได้ในการตั้งถิ่นฐานใหม่นอกโลก นับตั้งแต่สำรวจดาวอังคารเป็นครั้งแรกเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว พวกเราก็ได้เห็นการสำรวจอีกหลายต่อหลายครั้ง ในการจะพิสูจน์ว่าดาวอังคารมีลักษณะคล้ายโลก และมีความหวังว่ามันจะเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ได้สักวัน

หากใครเคยดูภาพยนตร์ไซไฟเรื่อง ‘The Martian’ เกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดของนักบินอวกาศที่ต้องติดค้างอยู่บนดาวอังคารเพียงลำพัง คงจะจินตนาการถึงชีวิตบนนั้นว่าจะเป็นอย่างไร ล่าสุดในปี 2020 แนวคิดเหล่านี้ก็ดูจะส่อแววเป็นจริงมากขึ้นทุกที

หาก ‘ดูไบ’ ดินแดนที่มีแต่ทะเลทราย สามารถกลายเป็นมหานครที่เต็มไปด้วยตึกสูงเสียดฟ้า ความคิดที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประกาศความมุ่งมั่นเมื่อปี 2017 ว่าจะตั้งรกรากบนดาวอังคารให้ได้ภายใน 100 ปี คงไม่ไกลเกินเอื้อม

‘Mars Science City’ ครอบคลุมพื้นที่ทะเลทราย 176,000 ตารางเมตร หรือใหญ่กว่าสนามฟุตบอล 30 เท่า และต้องใช้งบประมาณกว่า 135 ล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นศูนย์อวกาศ ‘Mohammed Bin Rashid Space Centre (MBRSC) ของดูไบ สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนดาวอังคารเป็นอาณานิคม

โดยสตูดิโอสถาปนิกชั้นนำ Bjarke Ingels Group (BIG) ได้รับโจทย์ให้ออกแบบต้นแบบเมืองที่เหมาะแก่การใช้ชีวิตบนดาวอังคารอย่างยั่งยืน และปรับให้เข้ากับการใช้ชีวิตในทะเลทรายนอกดูไบ ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่อยู่อาศัยบนดาวอังคาร

สภาพแวดล้อมของดาวอังคาร

การออกแบบที่อยู่อาศัยบนดาวอังคาร ย่อมมีความท้าทายกว่าโปรเจกต์ไหนๆ บนโลก เพราะต้องออกแบบให้สามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการอยู่อาศัย ซึ่งดาวอังคารมีชั้นบรรยากาศที่เบาบางมาก และไม่มีสนามแม่เหล็ก

ดังนั้นมันจึงป้องกันรังสีที่เป็นอันตรายได้น้อย อีกทั้งอุณหภูมิบนดาวอังคารก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรค เพราะมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ -63 องศาเซลเซียส และเนื่องจากชั้นบรรยากาศที่เบาบาง จึงมีความกดอากาศน้อย ทำให้ของเหลวระเหยกลายเป็นแก๊สอย่างรวดเร็ว

‘Biodome’ โลกใหม่บนดาวแดง

ด้วยอุณหภูมิที่เย็นยะเยือกและความกดอากาศอันน้อยนิด สถาปนิกจึงออกแบบ ‘Biodome’ ที่สามารถรักษาอุณหภูมิให้เหมาะสมและควบคุมความกดอากาศให้คงที่ แต่ละโดมจะถูกคลุมด้วยโพลีเอทิลีนแบบใส ชั้นบรรยากาศที่บางเบาจะช่วยรักษาอุณหภูมิภายในโดมไว้ได้เนื่องจากมีการถ่ายเทความร้อนต่ำ ส่วนออกซิเจนจะผลิตขึ้นจากการนำไฟฟ้าไปใช้กับน้ำแข็งใต้ดิน

เมืองแห่งนี้จะได้รับพลังงานและความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเมื่อจำนวนประชากรบนดาวอังคารขยายตัวขึ้น ไบโอโดมก็สามารถเชื่อมกันเป็นกลุ่มโดยจะมีรูปร่างเหมือนวงแหวน

ตัวอาคารภายใต้โดมลึกลงไปใต้ดินประมาณ 7 เมตร เพื่อป้องกันอันตรายจากรังสีและอุกกาบาต จะถูกสร้างขึ้นด้วย 3D printing โดยใช้ดินบนดาวอังคาร

ดีไซน์สุดล้ำมีอควาเรียมให้ปลาแหวกว่าย สามารถเป็นชั้นป้องกันรังสี และเป็นช่องให้แสงส่องลงมาถึงชั้นล่างได้ ซึ่งการออกแบบบนดาวอังคารนั้นไม่ต้องยึดหลักฟิสิกส์บนโลก เพราะดาวอังคารมีแรงดึงดูดประมาณ 1 ใน 3 ของแรงดึงดูดบนโลกเท่านั้น

ความหวังใหม่ของดูไบ

‘Mars Science City’ เมืองดาวอังคารต้นแบบที่จะถูกสร้างขึ้นในทะเลทรายนอกดูไบกำลังอยู่ในช่วงวางคอนเซปต์ โดยนอกจากจะเป็นห้องปฏิบัติการวิจัย ยังเป็นศูนย์การวิจัยเกี่ยวกับการก่อสร้างโดยใช้หุ่นยนต์ การวิจัยเกี่ยวกับน้ำ อาหาร และพลังงาน รวมถึงเป็นศูนย์การเรียนรู้ ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ อัฒจันทร์ และพื้นที่ co-working space

แม้จะยังไม่มีระยะเวลาที่แน่นอนว่าจะเริ่มสร้างหรือเปิดตัวเมื่อไหร่ แต่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียด ในการพัฒนางบประมาณและขนาดของพื้นที่ก่อสร้าง

‘Mars Science City’ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการอวกาศที่ดำเนินการโดย ‘Mohammed Bin Rashid Space Centre (MBRSC) เมื่อปีที่แล้ว MBRSC ได้ส่งนักบินอวกาศชาวอาหรับคนแรกสู่อวกาศ และล่าสุดในปีนี้ กำลังจะส่งยานสำรวจไปยังดาวอังคาร โดยจะเดินทางไปถึงในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.