ตรงสเปกแต่ไม่รัก เพราะความคุ้นเคยวัยเด็กส่งผล - Urban Creature

ความคาดหวังในความรักเริ่มตั้งแต่การตั้งสเปกให้คนในอุดมคติ และใฝ่ฝันว่าคนสุดท้ายในชีวิตอยากลงเอยกับคนที่ตรงสเปก แต่อนิจจา…ไม่ใช่ทุกคนที่จะสมหวังกับคนในฝัน ซึ่งหนึ่งเหตุผลที่เป็นแบบนั้น ‘ซิกมันด์ ฟรอยด์’ (Sigmund Freud) นักจิตวิทยาผู้เป็นเจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์กล่าวไว้ว่า 

“ที่ไม่รักคนในสเปก เพราะความคุ้นเคยสมัยยังเป็นเด็กมีอิทธิพลต่อการเลือกคู่ชีวิต”

การคาดหวังในความรักแสนเพอร์เฟกต์มีจุดเริ่มจาก ‘ลัทธิโรแมนติก’ (Romanticism) ซึ่งเกิดขึ้นในยุโรปตะวันตก ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษ 18 ที่มนุษย์หันมาใส่ใจเรื่องความคิด อารมณ์ และความรู้สึกภายในบึ้งลึกของจิตใจ 

โดยพบเห็นได้มากในงานศิลปะและบทกวี ก่อนจะเผยแพร่ความคิดนี้ไปทั่วโลกที่เปลี่ยนความคิดของคนนับล้าน เกี่ยวกับธรรมชาติ ความเป็นเด็ก เซ็กซ์ การเงิน การทำงาน และแน่นอนว่าหนึ่งจุดสำคัญคือ ‘ความรัก’

โดยลัทธิโรแมนติกสอนเหล่ามนุษย์ว่า ทุกความสัมพันธ์จะมีรูปแบบตายตัวอยู่ เพื่อให้เราทำตามสิ่งที่ใครก็ไม่รู้ได้กำหนดไว้ เช่น การได้ใช้ชีวิตคู่กับคนในฝัน การแต่งงาน การมีลูกเพื่อสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ไปจนถึงการมองว่าความรักเป็นเรื่องเดียวกันกับ ‘เซ็กซ์’ จนกลายเป็นแบบแผนของการคิดจะรักใครสักคนในโลกใบกลมๆ ที่บางทีก็บิดเบี้ยว แน่นอนว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่วาดฝันห้วงรักที่โอบล้อมไว้ด้วยความโรแมนติกชื่นมื่น ถือคติรักเดียวใจเดียว จนกลายเป็นนักคลั่งรัก

เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน มีคนจำนวนหนึ่งไม่ได้บูชาลัทธิโรแมนติกอีกต่อไป การตั้งคำถามกับการครองชีวิตคู่เริ่มมีมากขึ้น บ้างเลือกเดินตามสัญชาตญาณมากกว่าการทำตามขนบ นั่นจึงเป็นอีกเหตุผลที่หลายคนเลือกครองรักกับคนที่ไม่ตรงสเปกตามที่เคยตั้งใจและฝันใฝ่ไว้ ซึ่งหนึ่งทฤษฎีที่มักถูกหยิบยกมาอธิบายเหตุผลโต้แย้งในรักสุดโรแมนติกคือ ‘ทฤษฎีจิตวิเคราะห์’ (Psychoanalysis) ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิทยาชาวออสเตรียที่พยายามเข้าถึงพฤติกรรมของมนุษย์

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์กล่าวไว้ว่า มนุษย์เราแบ่งจิตออกเป็น 3 ระดับ 

1. จิตสำนึก (Conscious) – ส่วนที่ใช้รับรู้ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมต่างๆ 

2. จิตกึ่งสำนึก (Subconscious) – รองศาสตราจารย์กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ จากภาควิชาการแนะแนวและจิตวิทยาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กล่าวว่า ภาวะจิตใจนี้คือส่วนของจิตใจที่ไม่ได้แสดงออกผ่านพฤติกรรมในขณะนั้น แต่เป็นส่วนที่รู้ตัว สามารถดึงออกมาใช้ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ 

3. จิตไร้สำนึก (Unconscious) คือภาวะจิตที่ไม่อยู่ในภาวะที่รู้ตัว ระลึกถึงไม่ได้ หากแต่ฝังลึกอยู่ภายในจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอิทธิพล จูงใจพฤติกรรม และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนเรามากที่สุด

นอกจากนี้ฟรอยด์ยังบอกว่า โครงสร้างของบุคลิกภาพ (Structure of Personality) ประกอบด้วย

1.อิด (Id) – ต้นกำเนิดของบุคลิกภาพ และเป็นส่วนที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด
2.อีโก้ (Ego) – บุคลิกภาพที่แสดงออกมาเพื่อให้เหมาะสมกับความเป็นจริง และตามที่สังคมตีกรอบ
3.ซูเปอร์อีโก้ (Superego) – เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมจรรยา บรรทัดฐานของสังคม ค่านิยม และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่เกิดจากการเลี้ยงดูโดยครอบครัว และการอบรมเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก

เมื่อวิเคราะห์ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ ตามหลักภาวะจิตไร้สำนึกซึ่งเป็นสิ่งที่ฝังอยู่เบื้องลึกของจิตใจ แล้วส่งผลมายังการดำเนินชีวิต กอปรกับโครงสร้างบุคลิกภาพแบบซูเปอร์อีโก้ ที่เกิดจากการเลี้ยงดูโดยครอบครัว ทำให้บางความสัมพันธ์เราคาดหวังคนรักผ่านความคุ้นเคยต่างๆ ในวัยเด็ก บางทีเลยไม่รักคนที่ตรงสเปก หรือบางครั้งคนนั้นทำดีกับเราแทบตาย แต่ใจก็บอกว่า ‘ไม่’ อย่างไม่กลับคำ เพราะถึงแม้ว่าคนนั้นจะเป็นพระเอกหรือนางเอกในอุดมคติที่เราเคยตั้งสเปกไว้จนสูงลิบ แต่เรากลับตกหลุมรักคนที่ดูแลเราในแบบที่เราคุ้นเคยในวัยเด็กเสียมากกว่า และเมื่อได้รับการปฏิบัติผิดไปจากสิ่งที่เคยรับ มันเลยรู้สึกผิดแปลก

การหยิบยกทฤษฎีนี้มาเล่าสู่กันฟัง ไม่ได้หมายความว่าเราจะเหมารวมทุกความสัมพันธ์ที่พังนั้น เกิดจากการเลี้ยงดู หรือความคุ้นชินในวัยเด็ก เพราะแต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่มีเหตุผลที่ถ้าว่ากันตามตรงก็แอบซับซ้อนในห้วงความรักที่ต่างกันออกไป


Sources :

http://www.bbc.co.uk/history/historic_figures/freud_sigmund.shtml
http://nukjit.blogspot.com/2015/12/blog-post_82.html
https://youtu.be/OiRWBI0JTYQ

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.