ในยุคที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกัน ลำพังความร่วมมือจากประชาชนตัวเล็กๆ คงไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน องค์กร หรือแบรนด์ใหญ่ๆ จากทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่ง ‘อุตสาหกรรมความงาม’
สำหรับ ‘L’Oréal Group’ (ลอรีอัล กรุ๊ป) บริษัทเครื่องสำอางชั้นนำของโลกจากฝรั่งเศส ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ดังอย่าง L’Oréal Paris, Garnier, YSL Beauty, La Roche-Posay และแบรนด์อื่นๆ อีกมากมาย ก็มีจุดยืนเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้เริ่มต้นและปฏิบัติต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ
อีกทั้งยังมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเข้มข้นในการยกระดับการทำงานด้านความยั่งยืนและเอาใจใส่ สร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคมและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การทำงานต้นน้ำถึงปลายน้ำของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์
ลอรีอัล กรุ๊ปเชื่อว่า ‘ความงามคือพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนเรา พลังที่จะช่วยรักษาโลกของเราได้’ เพราะแม้จะไม่ได้ป่าวประกาศความเป็น Green หรือ Clean Beauty ผ่านตราสัญลักษณ์ใดๆ แต่ลอรีอัล กรุ๊ปก็ดำเนินนโยบายในการปรับแนวทางการบริหารจัดการ การผลิต ออกแบบสูตรและบรรจุภัณฑ์บนพื้นฐานของความยั่งยืนมาอย่างยาวนาน บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเคารพต่อ ‘ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก’ (Planetary Boundaries) หรือขีดจำกัดที่โลกสามารถรับไหวไว้อย่างชัดเจน
คอลัมน์ Sgreen ขอพาไปรู้จักดีเทลเบื้องหลังของลอรีอัล กรุ๊ปกันให้มากขึ้น ว่าบริษัทเครื่องสำอางมาตรฐานระดับโลกจากฝรั่งเศสที่มีอายุยาวนานถึง 114 ปี ให้ความสนใจต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนกันขนาดไหน ผ่านวิสัยทัศน์ ‘L’Oréal for the Future’ ที่จะนำพาแบรนด์มุ่งไปสู่ความยั่งยืนในแต่ละด้าน ตามเป้าที่ตั้งไว้ให้ได้ภายในปี 2030
ความงามที่ขับเคลื่อนโลกอย่างยั่งยืน
เพราะภาวะโลกร้อนที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้กลายมาเป็นภัยคุกคาม ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล ธารน้ำแข็งที่กำลังละลาย อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงและมีภาวะเป็นกรดมากขึ้น รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ลอรีอัล กรุ๊ปจึงประกาศพันธกิจด้านความยั่งยืนในชื่อ L’Oréal for the Future เพื่อมุ่งหน้าเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมความงามสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ตามที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2030 ต่อสู้กับความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญ โดยคำนึงถึงขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกเป็นที่ตั้ง หวังสร้าง ‘ความงามที่ขับเคลื่อนโลก’
L’Oréal for the Future มุ่งมั่นที่จะเร่งทำงานด้านความยั่งยืนและรวบรวมกิจกรรมต่างๆ เพื่อต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมเคารพความหลากหลายทางชีวภาพและประโยชน์ต่อสังคม โดยกำหนดเป้าหมายไว้ 3 ส่วนดังนี้
- ภายในปี 2025 โรงงานและศูนย์กระจายสินค้าของลอรีอัล กรุ๊ปทุกแห่งจะมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ด้วยการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้พลังงานทดแทน 100 เปอร์เซ็นต์
- ภายในปี 2030 พลาสติกที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ลอรีอัลทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ จะมาจากพลาสติกรีไซเคิลหรือแหล่งวัสดุชีวภาพ
- ภายในปี 2030 ผลิตภัณฑ์ของลอรีอัลจะต้องเป็นสูตรที่มีส่วนผสมจากแหล่งชีวภาพ ที่ได้มาจากแหล่งแร่ธาตุที่มีทรัพยากรมากหรือจากกระบวนการหมุนเวียนมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์
กรีนตั้งแต่ต้นน้ำ ที่กระบวนการผลิต
เป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ที่ลอรีอัล กรุ๊ปดำเนินการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางอุตสาหกรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ตั้งแต่การพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารให้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนที่สามารถผลิตได้เองโดยไม่ใช้การชดเชยคาร์บอน เช่น ชีวมวล การผลิตก๊าซชีวภาพ การใช้แผงโซลาร์เซลล์ และเครื่องมืออื่นๆ ในพื้นที่โรงงานของแต่ละประเทศที่ดำเนินการ จนทำให้ปี 2017 ลอรีอัลติดเป็นหนึ่งในหนึ่งร้อยบริษัทแรกที่กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกด้วย ‘Science-Based Targets’ ได้สำเร็จ
การทำงานทั้งหมดนี้เป็นไปโดยมีการกำหนดตัวเลขเป้าหมายสำหรับทุกกิจกรรมอย่างครอบคลุมทุกส่วน ไม่ใช่เฉพาะส่วนการผลิตและกระจายสินค้า แต่รวมไปถึงกระบวนการจัดหาวัตถุดิบและผลกระทบทางอ้อมจากการใช้ผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ของลอรีอัล กรุ๊ปโดยผู้บริโภค เพื่อให้เป็นไปตามหัวใจหลักของการสร้างความยั่งยืนในส่วนการผลิต ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงงาน การรีไซเคิลน้ำและใช้ระบบหมุนเวียน
ทำให้ตั้งแต่ปี 2005 ทางลอรีอัล กรุ๊ปลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงงานและศูนย์กระจายสินค้าได้ถึง 91 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่มีปริมาณการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นถึง 45 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ปลายปี 2022 ที่ผ่านมานี้ ลอรีอัล กรุ๊ป สามารถปรับให้ไซต์งานต่างๆ มีความเป็นกลางทางคาร์บอนได้แล้วถึง 110 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโรงงาน 22 แห่ง
นอกจากนี้ ในส่วนของการรีไซเคิลน้ำและใช้ระบบหมุนเวียนในโรงงาน ลอรีอัล กรุ๊ปก็มีความพยายามในหลากหลายรูปแบบที่จะใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ลดการใช้งานให้เหลือแค่เท่าที่จำเป็น ซึ่งในปัจจุบันมีโรงงานจำนวน 5 แห่งที่เป็น ‘โรงงานระบบน้ำแบบหมุนเวียน’ กล่าวคือ น้ำทั้งหมดที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมจะถูกนำมาบำบัด รีไซเคิล และวนกลับมาใช้ใหม่
เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้รักษ์โลกกว่าเดิม
แต่แค่การปรับเปลี่ยนที่โรงงานต้นทางคงไม่พอ เพราะส่วนหนึ่งของบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่ขัดขวางการก้าวไปตามพันธกิจ L’Oréal for the Future ตามที่แบรนด์ตั้งใจไว้เพื่อวัดผลและลดผลกระทบที่เกิดจากผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
ลอรีอัลได้สร้างเครื่องมือ ‘Sustainable Product Optimization Tool (SPOT)’ สำหรับจำลองการออกแบบผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม มองหาส่วนที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไข และติดตามความคืบหน้า โดยเฉพาะด้านคาร์บอนฟุตพรินต์จากสูตรผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์
ลอรีอัลเริ่มออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2007 ทำให้ฟุตพรินต์ทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ลดน้อยลง และด้วยโครงการ L’Oréal for the Future ที่เน้นย้ำการทำงานด้านนี้สำหรับผลิตภัณฑ์ทั่วโลก ทางแบรนด์ได้วางกรอบเป้าหมายการลดความหนาแน่นของบรรจุภัณฑ์ในหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการปรับบรรจุภัณฑ์ให้มีน้ำหนักเบาขึ้น สามารถรีฟิลได้ หรือการใช้วัสดุจากการรีไซเคิลและนำไปรีไซเคิลต่อได้
จากความมุ่งมั่นตั้งใจนี้ ทำให้ลอรีอัล กรุ๊ป สามารถคิดค้นและปรับปรุงให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ถึง 97 เปอร์เซ็นต์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยที่ 99.9 เปอร์เซ็นต์ของกระดาษสำหรับกล่องบรรจุผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองว่ามาจากป่าไม้ที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน และพลาสติกบรรจุภัณฑ์ PET มาจากการรีไซเคิลถึง 78 เปอร์เซ็นต์ในปี 2022 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ก็เพื่อการก้าวไปสู่เป้าหมายที่จะเปลี่ยนให้บรรจุภัณฑ์ทุกชนิดให้มาจากวัสดุรีไซเคิล สามารถรีไซเคิล ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ในปี 2030
แก่นแท้ที่สูตรและส่วนผสม
เมื่อโรงงานและบรรจุภัณฑ์มีความยั่งยืนแล้ว ส่วนที่กระทบต่อผู้บริโภคโดยตรงอย่าง ‘สูตรและส่วนผสม’ ก็ต้องมีการสร้างความมั่นใจด้านความยั่งยืนด้วยเช่นเดียวกัน และต้องไม่ลดทอนคุณภาพหรือคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมลง
ด้วยเหตุนี้ ลอรีอัลจึงนำ ‘Green Science’ สาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ที่เริ่มตั้งแต่การเพาะปลูกและเทคโนโลยีชีวภาพ ไปจนถึง ‘Green Chemistry’ ศาสตร์แห่งการสร้างสรรค์สูตรผ่านการลอกเลียนแบบธรรมชาติ (Biomimicry) มาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการมอบผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งไม่เพียงแต่มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้นและใช้สารเคมีน้อยลงเท่านั้น แต่ยังปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงยิ่งกว่าเดิม
จากการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมมาปรับใช้ ทำให้ปี 2021 ในบรรดาวัตถุดิบที่ลอรีอัลอ้างอิงใหม่นั้น มีจำนวน 63 เปอร์เซ็นต์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งครอบคลุมวัตถุดิบราวๆ 1,717 อย่างของพืชพรรณเกือบ 313 ชนิดจากกว่า 100 ประเทศ อีกทั้งยังมีส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติในสูตรของลอรีอัล กรุ๊ป สูงถึง 94 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ามาจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืนและไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า
ท้ายที่สุดนี้ ทางลอรีอัลตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2030 จะดันเพดานไปแตะ 100 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ เพื่อจำกัดผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่อาศัยทางธรรมชาติ และตอกย้ำวิสัยทัศน์ L’Oréal for the Future สู่สายตาผู้บริโภคยิ่งขึ้นไป และเพื่อคงไว้ซึ่งการรักษาระดับ ‘AAA’ ในการจัดอันดับทั้งสามด้านของ CDP ได้แก่ การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และการอนุรักษ์ป่าไม้ ที่ได้รับการการันตีอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 7 ปีต่อไป
ทั้งหมดก็เพื่อทำให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจคุณภาพของสินค้า และให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมั่นใจได้ว่า การใช้ผลิตภัณฑ์จากลอรีอัล กรุ๊ป ไม่ว่าจะแบรนด์ใดก็ตาม ล้วนเป็นวิธีการที่ได้ทั้งดูแลตัวเรา สิ่งแวดล้อม และโลกใบนี้ไปพร้อมๆ กัน