Little Loulou House ผ้าอนามัยซักได้ ที่ถกประเด็นสิ่งแวดล้อมและทวงสิทธิให้ผู้หญิง - Urban Creature

ถ้าตั้งกระทู้ลงเว็บบอร์ดพร้อมจั่วหัว ‘ผู้หญิงประสบปัญหาอะไรกับผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้ง’ แล้วมีคอมเมนต์ร่ายว่าคัน อับชื้น หลุดระหว่างวัน นั่นคือปัญหาที่กลายเป็นเรื่องปกติ ยังไม่นับเรื่องสิ่งแวดล้อมจากการฉีก ใช้ และทิ้ง ที่สร้างขยะให้กับโลกคนละ 240 ชิ้นต่อปี ซึ่งวัสดุที่ทำจากพลาสติกก็ใช้เวลาย่อยสลายนาน ปล่อยแก๊สเรือนกระจกคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ตัวการโลกร้อนออกมา 10,600 เท่าของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ 100 ปี อีกทั้งถ้าสนใจประเด็นเศรษฐกิจจะพบว่าผ้าอนามัยแพงขึ้นขณะที่เงินเดือนไม่ได้ขึ้นตาม โดยประมาณค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยตลอดชีวิตที่ผู้หญิงต้องแบกรับสูงถึง 40,000 บาท ทำให้ผู้หญิงบางพื้นที่ขาดแคลนผ้าอนามัย…เชื่อว่าต้องมีคนเห็นด้วยกับเราบ้างแหละ

จอย-วิริญา มานะอนันตกุล เจ้าของแบรนด์ผ้าอนามัยซักได้ Little Loulou House คือหนึ่งคนที่มองเห็นปัญหาทั้งหมด จึงลาออกจากบทบาทดีไซเนอร์เพราะทนเห็นขยะจำนวนมากรอบตัวที่เป็นสัญญาณของระบบทุนนิยมไม่ได้ มาทำผ้าอนามัยซักได้ที่ทุกกระบวนการผลิต ใช้ ทิ้ง ไม่สร้างขยะแม้แต่ชิ้นเดียว หมดห่วงเรื่องอาการแพ้ และช่วยประหยัดเงินถึง 5 ปี

ไทยแลนด์แดนใช้แล้วทิ้ง

ฉีกซอง ทิ้งซอง ฉีกแผ่นรองกาว ทิ้งแผ่นรองกาว ใช้ผ้าอนามัย ทิ้งผ้าอนามัย วนแบบนี้ 1 – 2 รอบ/วัน นี่ยังไม่รวมวันมามาก ที่ทำให้สาวๆ มีประจำเดือนต้องอยู่ในวัฏจักรใช้แล้วทิ้งอย่างเลี่ยงไม่ได้ (จริงหรือ?)

2 ปีก่อน ‘จอย’ เป็นหนึ่งตัวแม่แห่งวงการใช้แล้วทิ้ง ที่ทิ้งทุกวันตั้งแต่ถุงพลาสติกจากการจ่ายตลาด ขับรถไปซื้อทิชชูตั้งนาน สั่งน้ำมูกไม่ถึง 2 วินาที ก็โยนทิ้ง ฉีก ใช้ ทิ้งผ้าอนามัยเป็นว่าเล่นเพราะประจำเดือนมาไม่ทันตั้งตัว อีกทั้งงานสายแฟชั่นและกราฟิกดีไซเนอร์ที่เธอทำยังเพิ่มจำนวนกองขยะเป็นลูกภูเขา เธอกดดันกับสิ่งที่ทำและเกิดความคิดแวบหนึ่งว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างขยะ มลภาวะ ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง และกำลังทำให้ระบบทุนนิยมแข็งแกร่งขึ้นหรือเปล่า

แวบเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่เปลี่ยนพฤติกรรมของจอย ให้เป็นคนจริงจังเรื่องการแยกประเภทขยะ และนำบางส่วนไปต่อยอดเป็นปุ๋ย บอกลาแก้วและหลอดพลาสติกมาพึ่งพิงแบบใช้ซ้ำ และคิดวนในหัวว่าจะทำอะไรเพื่อช่วยโลกได้อีก

เข้าห้องน้ำ ฉีกซอง ทิ้งซอง ฉีกแผ่นรองกาว ทิ้งแผ่นรองกาว ใช้ผ้าอนามัย ทิ้งผ้าอนามัย…จอยพึมพำในหัวขณะนั่งอยู่ในห้องน้ำว่า “อ้าว นี่ไงที่ยังไม่ได้ทำ!” ปฏิบัติการสั่ง ‘ผ้าอนามัยซักได้’ จากทั่วสารทิศทั้งจากทวีปอเมริกา เอเชีย หรือในไทยมาลองใช้ก็เกิดขึ้น แต่กลับไม่เจอแบบที่ชอบ จึงกางดูเทคนิค และการเลือกใช้วัสดุของแต่ละแบรนด์ว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร แล้วปรับข้อเสียเปลี่ยนเป็นข้อดีให้ถูกจริตผู้ใช้ในไทยมากที่สุด จนสุดท้ายจอยลาออกจากงานไปลาคลอด Little Loulou House แบรนด์ผ้าอนามัยซักได้ของตัวเองออกมาเมื่อต้นปี 2563


สวัสดี เราชื่อลิตเติ้ลลูลู่

‘ปีนี้คนไทยต้องรู้จักผ้าอนามัยซักได้มากขึ้น’ คือเป้าหมายที่จอยตั้งใจให้เกิด เธอบอกว่าคนอาจจะยังไม่ใช้ก็ได้ แค่อยากแนะนำตัวให้รู้จักว่าผ้าอนามัยซักได้คือทางเลือกที่คุณสามารถช่วยร่างกายตัวเองจากอาการแพ้สารเคมีอันตรายในผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้ง (บางยี่ห้อ) และสามารถช่วยลดโลกร้อน ต้านมลภาวะทางขยะไปพร้อมๆ กันได้ ซึ่งน้องลิตเติ้ลลูลู่ (Little Loulou House) ก็เป็นอีก 1 แบรนด์ที่อยากแนะนำตัวให้พี่ๆ คนไทยรู้จักเหมือนกันนะ!

ก่อนจอยจะมาทำ Little Loulou House เธอหาข้อมูลว่าทำไมผู้หญิงไทยใส่ผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งแล้วคัน บวม และมีกลิ่นเลือดคาว จนพบข้อมูลจาก Women’s Voices for the Earth (WVE) องค์กรวิจัยสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์อุปโภคในสหรัฐอเมริกา ที่เฝ้าระวังไม่ให้สารเคมีเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายผู้หญิง ระบุว่าผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งมีสาร Styrene, Chloromethane, Acetone และ Chloroethane ที่สะสมแบคทีเรีย ก่อมะเร็ง และทำลายระบบสืบพันธุ์ องค์กรดังกล่าวจึงผลักดันให้แบรนด์ผ้าอนามัยแต่ละเจ้าประกาศว่าใช้อะไรบ้างในการผลิต เพื่อเป็นตัวเลือกให้ผู้หญิงตัดสินใจ

“จอยอยากให้แบรนด์ผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งในไทยออกมาชี้แจงว่าใส่อะไรไปบ้างในผลิตภัณฑ์ เพราะตอนนี้แม้แต่ข้างซองก็ไม่มีบอก ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วผู้หญิงทุกคนควรมีสิทธิ์พิจารณาว่าควรซื้อยี่ห้อไหน และมีผลอะไรบ้างกับร่างกาย”

“ผ้าอนามัยซักได้ของ Little Loulou House ต่างจากแบรนด์ผ้าอนามัยซักได้อื่นตรงไหนและปลอดภัยกับร่างกายผู้หญิงอย่างไร?” เราถามข้อสงสัย

ตลาดผ้าอนามัยซักได้ในไทยนิยมใช้ผ้าฝ้าย ผ้าสาลู และผ้าคอตตอน แต่จะแตกต่างกันตรงเทคนิคด้านใน จอยบอกว่าหลังจากที่เธอลองใช้ผ้าอนามัยซักได้มาหลายแบบ บางยี่ห้อนิยมทำแบบสอดไส้ 2 ชั้น ใช้ผ้ากันน้ำที่เป็นพลาสติก 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเธอไม่เถียงว่ามันกันน้ำได้จริง แต่เราจะใช้ผ้าอนามัยผ้าทำไมกัน ถ้าวัสดุมาจากพลาสติกที่เราหลีกเลี่ยงตอนแรก จริงไหมล่ะ? จอยจึงตั้งใจทำผ้าอนามัยซักได้ให้เป็นแบบเย็บต่อชิ้นเพื่อลดการใช้ทรัพยากร เลือกผ้าคอตตอน 100 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นมิตรต่อผิวทารก จึงมั่นใจได้ว่าน้องสาวของเราไม่ระคายเคืองเป็นแน่ แถมส่วนรองซับใช้ผ้าคอตตอนที่ผ่านการเคลือบนาโนและระบายอากาศได้ดี คืนอากาศหายใจให้กับน้องสาวอีกครั้ง


เป็นมิตรกับคนทุกไซซ์ เฉียบทุกกิจกรรม

30 เคส คือจำนวนคนที่จอยส่งผ้าอนามัยไปให้ใช้ฟรีๆ เพื่อทดลองว่าสิ่งที่เธอทำตอบโจทย์ผู้ใช้จริงไหม แน่นอนเธอเองก็ลองใช้กับตัวเองถึง 6 เดือนก่อนวางขาย และค่อยๆ ขยับแพตเทิร์นตรงที่ลูกค้ายังรู้สึกว่าหนาจนไม่สบาย หรือดีเทลเล็กๆ อย่างกระดุมที่ใช้อ้อมติดตรงเป้าก็ไม่ปล่อยผ่าน จอยบอกว่าเธอเป็นคนที่ออกกำลังกายหนัก เลยไม่ต้องการผ้าอนามัยที่หนา เพราะจะทำให้ส่วนตรงกลางย่นจนเลอะได้ แต่ก็ไม่ชอบบางจนเกินไปเพราะไม่รองรับประจำเดือนเท่าที่ควร เช่นเดียวกับลูกค้าพลัสไซซ์บางคนที่ประสบปัญหาขาเบียดจนทำให้อึดอัด ใส่แล้วเล็กไป หรือย่นระหว่างวัน ก็เป็นอุปสรรคที่เกิดกับผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้ง เมื่อตั้งใจอยากให้คนหันมาใช้ผ้าอนามัยซักได้ เธอจึงไม่ลืมให้ความสำคัญกับปัญหานี้ ตัดสินใจ เพิ่มบริการสุดคิวต์ ตัดผ้าอนามัยตามสรีระ ครบ จบ ทุกไซซ์

“เรารู้สึกว่าบางครั้งผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งหลงลืมสาวพลัสไซซ์ ทั้งๆ ที่จริงๆ สรีระคนเราไม่เหมือนกันสักคน กางเกงในทุกคนก็ไม่เหมือนกันด้วย เราเลยอยากช่วยสร้างแพตเทิร์นใหม่ที่เหมาะกับแต่ละคน”

จอยเสริมว่าวิธีออเดอร์ไซซ์พิเศษคือการขอขนาดตรงเป้าที่รู้สึกว่ากำลังดีกับลูกค้า หรือขนาดกางเกงในตัวเก่งและความยาวตรงกลางที่แต่ละคนใส่แล้วฟิน เดินเฉิดฉายอย่างสบายที่สุด ป.ล. คนที่ประจำเดือนมามากๆ ถ้าอยากมั่นใจมากขึ้น สามารถเพิ่มชั้นข้างในให้หนาเล็กน้อยได้เหมือนกันนะ

อ่านมาถึงตรงนี้ สงสัยอยู่ล่ะสิ ว่าใส่ Little Loulou House อย่างไรให้เหมาะที่สุด จอยไม่รอช้าคลายความสงสัย บอกเราว่าถ้าประจำเดือนมาปกติ ไม่เยอะมาก เอาอยู่แน่นอน เพราะเป็นผ้ากันน้ำ ระบายอากาศ ทำให้กลิ่นเลือดจากการใช้ผ้าอนามัยซักได้เป็นเพียงกลิ่นจางๆ คล้ายมีดบาด ไม่กลิ่นแรงแบบที่คุ้นเคย หรือบางคนหากมาเยอะมากจะสั่งแบบพิเศษให้หนาขึ้นนิดหนึ่งก็มั่นใจหายห่วง หรืออีกวิธีอาจค่อยๆ ลดการใช้ผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งทีละนิด ด้วยการใส่เฉพาะวันมามาก ส่วนวันมาน้อยก็หันมาลดขยะด้วยการใส่ผ้าอนามัยซักได้ ก็ไม่เสียหาย

ส่วนวิธีซักก็ไม่ยุ่งยาก แค่เอากะละมังใส่น้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิห้องให้เต็ม และเอาผ้าอนามัยซักได้แช่ไว้ 5 – 6 ชั่วโมง คราบเลือดจะหลุดออกมาจนน้ำเปลี่ยนสี และเอาสบู่ก้อนถูบริเวณคราบ และเอาน้ำส้มสายชูแบบเจือจางหรือน้ำยาฆ่าเชื้อใส่ในน้ำสุดท้าย แช่ไว้ 10 นาที เอาไปตาก เป็นอันเสร็จเรียบร้อย และทุกๆ 1 – 2 เดือน ควรเอาลงเครื่องซักผ้าเพื่อทำความสะอาดอีกรอบจะช่วยถนอมผ้าอนามัยซักได้มากขึ้น


ผ้าอนามัยซักได้ที่ไม่สร้างขยะสักชิ้น

ครั้งแรกที่เราได้ยินว่าผ้าอนามัยซักได้ของจอยสามารถประหยัดเงินในกระเป๋าได้ 5 ปี เราก็ตกใจแล้ว แต่พอจอยบอกว่าจริงๆ ถ้ารักษาดีๆ มันอยู่ได้ถึง 10 ปีเลยนะ ตาก็โตขึ้นมาทันที

“ลูกค้าส่งกลับมาซ่อมกับเราได้เลย” จอยบอกเราทันทีว่าผ้าอนามัยซักได้ของเธอ หากหมั่นทำความสะอาดทันทีทุกครั้งหลังใช้ ไม่ขยี้แรงเกินไป จะช่วยยืดอายุผ้าและตัวกันน้ำได้ไม่น้อย แต่หากลูกค้าบางคนทำผ้าท่อนบนขาดเป็นรู เริ่มใส่แล้วไม่กระชับ ทางแบรนด์ใจดีมีบริการส่งกลับมาซ่อมเพียง 45 บาท ใช้ต่อกันได้ยาวๆ ที่สำคัญถ้าผ้าอนามัยซักได้ของคุณย้วยเกินเยียวยา ไม่อยากส่งซ่อมอีกต่อไป ส่งกลับมาตามที่อยู่ของแบรนด์ จอยจะรับหน้าที่แยกชิ้นส่วนทั้งหมดออกมาเพื่อนำไปรีไซเคิลให้ถูกประเภท แบ่งเป็นกระดุมพลาสติกที่จะส่งไปให้โรงงานรีไซเคิลพลาสติก ผ้าคอตตอนก็ส่งไปโรงงานรีไซเคิลผ้า หรือผ้ากันน้ำที่ไม่มีที่ไหนรับรีไซเคิล จอยก็ไม่พลาดรวมใส่ลังส่งไปที่ N15 Technology หรือโรงงานที่นำขยะที่รีไซเคิลไม่ได้มาเผาเพื่อต่อยอดเป็นเชื้อเพลิง

ไม่ใช่แค่ลูกค้าที่สามารถช่วยโลกได้ แต่กระบวนการผลิตของ Little Loulou House ก็ใส่ใจตั้งแต่การตัดเย็บ ที่หากมีเศษผ้าเหลือจากการทำ ช่างตัดเย็บจะคอยเก็บใส่ถุงไว้ บ้างก็เอาไปยัดหมอน บ้างก็เอาไปขายให้โรงงานรีไซเคิลผ้า หรือหากไม่มีใครใช้ต่อแล้ว จอยก็ยังยืนยันจะส่งไปที่ N15 Technology เช่นเดิม นั่นหมายความว่า ‘ขยะจากกระบวนการผลิตจะไม่มีสักชิ้น’ ป.ล. ตอนจัดส่งให้ลูกค้าแพ็กเกจจิ้งยังเป็นพัสดุมือสองจากกระดาษ ซอง กล่อง ที่เคยสั่งของออนไลน์ทั้งของตัวเองและการรวบรวมจากคนใกล้ตัวด้วยนะ

สีสันของลิตเติ้ลลูลู่

แรงบันดาลใจในการตั้งชื่อแบรนด์มาจากชื่อเด็กผู้ชาย แบรนด์นี้ไม่จำกัดเพศ และผ้าอนามัยซักได้ของ Little Loulou House ไม่ได้ทำให้แค่ผู้หญิงใส่

ความเท่าเทียมในทุกมิติคือสิ่งที่จอยสนใจ เธอตั้งชื่อแบรนด์จากเด็กผู้ชายที่เป็นหลานของสามีเธอ ซึ่งทุกครั้งที่เจอเด็กคนนั้นจะส่งความสดใส ความจิตใจดี และใสซื่อเกินบรรยายกลับมา เธอจึงนำชื่อของเด็กคนนั้นมาดัดแปลงเป็น Little Loulou House เปรียบเสมือนการเลี้ยงเด็กในบ้านที่สอนให้เขาคิดถึงคนอื่น คิดถึงสังคม และคิดถึงสิ่งแวดล้อม จอยเสริมว่าเธอไม่ได้สร้างแบรนด์มาเพื่อขายผ้าอนามัยซักได้อย่างเดียว แต่ตอนนี้ยังทำทิชชูซักได้ ที่ทำจากผ้าคอตตอนไว้เช็ดปาก เช็ดหน้า หรือเช็ดคราบสกปรกได้หมด เพียงใช้แล้วม้วนแยกเก็บไว้ เอากลับมาซักที่บ้านรอบเดียว ก็สามารถลดการใช้แล้วทิ้งทิชชูภายใน 2 วินาทีเหมือนที่เธอเคยทำเมื่อ 2 ปีก่อนได้

ไม่เพียงเท่านั้นจอยยังเชื่ออย่างเต็มหัวใจว่าไม่ใช่ลูกค้าที่มีประจำเดือนทุกคนจะนิยามตัวเองว่าเป็นผู้หญิงทั้งหมด จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกเพศ และยืนหยัดในความชอบของตัวเอง เกิดคอลเลกชัน ‘Loulou Pride’ ผ้าอนามัยสีรุ้ง ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน ชอบผู้ชายหรือชอบผู้หญิง ก็สามารถใช้ผ้าอนามัยซักได้แบรนด์นี้ได้อย่างสบายใจ

การ (ไม่) เข้าถึงผ้าอนามัยในไทย

“มีผู้หญิงหลายคนไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัย เพราะอยู่ห่างไกลความเจริญและไม่มีรายได้มากพอจะซื้อผ้าอนามัยทุกเดือน”

Loulou Charity House คือโครงการช่วยเหลือผู้หญิงที่ไม่สามารถเข้าถึงสินค้าสุขอนามัยที่จอยกำลังดำเนินการให้สมบูรณ์ในเร็ววัน เธอเร่งเย็บผ้าตัวอย่าง เพื่อเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์กับโรงงานรีไซเคิล ร่วมมือทำโปรเจกต์นี้ ซึ่งมี 2 แผน คือ การบริจาคผ้าอนามัยซักได้ให้ผู้หญิงที่ขาดแคลน หรือเข้าไปสอนให้พวกเธอเย็บ จะได้เก็บไว้เย็บใช้เองได้ในอนาคต

“คนไทยชอบบริจาคของให้เด็กต่างจังหวัดหรือเด็กด้อยโอกาสเป็นผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้ง จอยรู้สึกว่ามันไม่ยั่งยืน อยู่กับเขาได้ไม่นาน ใช้แล้วก็ทิ้ง วันหนึ่งมันจะหมดไป ต้องบริจาคเรื่อยๆ จอยเลยมองว่าผ้าอนามัยซักได้เป็นตัวเลือกที่อยู่ได้นาน”

แต่น่าสลดยิ่งกว่าเมื่อผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิง ภาครัฐกลับยังไม่ได้มองส่วนนี้เป็นเรื่องจำเป็น ยังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่ประสบปัญหาขาดแคลนผ้าอนามัย อีกทั้งผ้าอนามัยในท้องตลาดก็ดูท่าจะมีราคาสูงสวนทางกับรายได้

“เพื่อนต่างชาติบอกเราเสมอว่ารัฐบาลประเทศเขาแจกผ้าอนามัยแบบสอดฟรี ยาคุมกำเนิดก็เช่นกัน เพราะที่นั่นมองเรื่องสาธารณสุขของผู้หญิงเป็นเรื่องสำคัญ

“หันมามองประเทศเรา แค่ผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งยังไม่มองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิงเลยด้วยซ้ำ แจกหน่อยก็ยังดี มันไม่ใช่เรื่องที่ผู้หญิงทุกคนต้องมาแบกค่าใช้จ่ายตรงนี้ ในขณะที่เงินเดือนก็ไม่สูง เศรษฐกิจก็ไม่ดี”


Sources :
https://bit.ly/3bMl87r 
https://bit.ly/3bNV7or

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.