ถ้าถ่ายภาพจากอวกาศลงมาที่โลก สิ่งที่เราเห็นจะไม่ใช่ภาพของดาวเคราะห์สีเขียวตัดกับสีน้ำเงินที่มีชื่อว่าโลก แต่คือภาพขยะอวกาศที่เกิดจากดาวเทียมหมดอายุการใช้งาน
เพราะจากการสำรวจในปี 2021 พบว่า มีขยะอวกาศที่ขนาดใหญ่กว่า 10 เซนติเมตรมากกว่า 30,000 ชิ้น และมีชิ้นส่วนขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตรอยู่มากถึง 128 ล้านชิ้นที่ลอยอยู่ในวงโคจรของโลก ทำให้ปัจจุบันธุรกิจอวกาศเริ่มพัฒนาอุปกรณ์ในการกำจัดขยะอวกาศ รวมไปถึงมองหาวัสดุใหม่ๆ ที่จะทำให้การส่งดาวเทียมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
‘LignoSat’ คือดาวเทียมไม้ดวงแรกของโลกที่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรที่ระดับความสูงเหนือพื้นโลกประมาณ 400 กิโลเมตร (250 ไมล์) เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา จากการร่วมมือพัฒนาของมหาวิทยาลัยเกียวโตและบริษัท Sumitomo Forestry
ดาวเทียมดวงเล็กนี้มีขนาดความยาว 10 เซนติเมตรในแต่ละด้าน และมีน้ำหนักเพียง 900 กรัม สร้างขึ้นจากไม้ฮิโนกิ (Hinoki) เป็นไม้สนไซเปรสสายพันธุ์ญี่ปุ่น ที่ถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์หายากที่เหล่าจักรพรรดิหรือโชกุนมักนำมาใช้สร้างปราสาท พระราชวัง วัด ศาลเจ้า หรือทำฝักดาบ โดยหลังทำการทดลอง 10 เดือนบนสถานีอวกาศนานาชาติ พบว่าฮิโนกิเป็นไม้ที่มีความเหมาะสมที่สุด
นอกจากนี้ ไม้แต่ละด้านของ LignoSat ยังประกอบเข้าด้วยกันโดยใช้เทคนิคหัตถกรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น ที่จะไม่มีการใช้สกรูหรือกาวในการประกอบ เพื่อช่วยลดการใช้โลหะหรือวัสดุที่อาจเป็นพิษจากการเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ
โดยการปล่อย LignoSat ขึ้นสู่วงโคจรในครั้งนี้คือการทดลองว่า ภายในเวลา 6 เดือนที่อยู่ในวงโคจร ตัวดาวเทียมที่มีส่วนประกอบเป็นไม้จะทนต่อสภาพแวดล้อมที่รุนแรงและอุณหภูมิที่จะผันผวนตั้งแต่ -100 ถึง 100 องศาเซลเซียสทุกๆ 45 นาที ในขณะโคจรจากความมืดไปยังแสงสว่างในอวกาศได้ดีแค่ไหน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกียวโตผู้พัฒนาเทคโนโลยีนี้มีความหวังว่า หากการทดลองนี้สำเร็จไปได้ด้วยดี เป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจมีการใช้ไม้ทดแทนการใช้โลหะบางชนิด เพื่อช่วยลดมลพิษและขยะในอวกาศ
Sources :
BBC | t.ly/dZUpa, t.ly/PDsNI
CNN | t.ly/ZXFFM
Reuters | t.ly/OI2mn
The Guardian | t.ly/3GTxT
Yanko Design | t.ly/HG42G