- เพจเด็กพิการเรียนไหนดี คือ เพจแนะแนวการศึกษาสำหรับเด็กพิการ ที่ออกแบบห้องเรียนให้เด็กพิการและไม่พิการเรียนร่วมกันได้อย่างเกื้อหนุน อีกทั้งยังไม่ลืมพาเด็กพิการไปฝึกงานและส่งพวกเขาเข้าทำงานในอาชีพต่างๆ อย่างสุดกำลัง
- กฎหมายที่ใช้คุ้มครองเด็กพิการในเรื่องการศึกษาและคุณภาพชีวิตมีอยู่หลากข้อ แล้วในความเป็นจริง เด็กพิการได้รับการคุ้มครองจริงไหม ?
- ชวนฟังเสียงเด็กพิการในระบบแรงงาน ว่ามีปัญหาไหนบ้างที่ทุกฝ่ายต้องเร่งผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมได้จริง
กล่องดินสอสมัยเรียนของแต่ละคนมีอะไรอยู่ข้างในกันบ้าง ?
สำหรับฉันถ้าตอบตรงคำถามคงมีปากกา ดินสอ ยางลบ ลิควิด แต่หากตอบเชิงอุปมา ภายในกล่องคงพกเรื่องราวความตั้งใจและประสบการณ์ระหว่างเรียน สอบเข้ามหาวิทยาลัย เรียนจบ ไปจนถึงประกอบอาชีพในวัยทำงาน
ทว่าเด็กบางคนยังไม่เข้าถึงการมีกล่องดินสอคู่ใจหรือได้ร่ำเรียน ทำงาน เหมือนเด็กคนอื่นทั้งที่เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานตามกฎหมายไทย น้อยคนนักจะยื่นมือมาแนะแนวการศึกษาให้พวกเขา และแน่นอนฉันกำลังพูดถึง ‘เด็กพิการ’
“บริษัทกล่องดินสออยากเป็น Professor X ผู้ก่อตั้ง X-Men ที่อยากให้มนุษย์ที่มีจุดเด่นเป็นความพิการ อยู่ร่วมกับมนุษย์ที่ไม่พิการได้อย่างดี เราจึงผลักดันให้เกิดห้องเรียนที่ทั้งเด็กพิการและไม่พิการเรียนด้วยกันได้”
นี่คือความตั้งใจของ ‘กล่องดินสอ’ บริษัทที่ผลักดันให้ผู้พิการมีชีวิตที่ดีขึ้นและพยายามให้ ‘เพจเด็กพิการเรียนไหนดี’ ภายใต้บริษัทเป็นเพจแนะแนวการศึกษาสำหรับเด็กพิการ กระจายข้อมูลดีๆ ช่วยค้นหาตัวตนให้เด็กรู้ว่าอยากเรียนคณะหรือทำอาชีพอะไร พร้อมสอนทักษะวิชาการและทักษะชีวิต เพื่อส่งเด็กพิการให้เข้ามหาวิทยาลัย ฝึกงาน และมีงานทำให้ได้มากที่สุด
01 ฝันที่ไม่กล้าฝันของเด็กพิการ
ขณะก้าวเท้าเดินขึ้นไปคุยกับ พี่ต่อ-ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งบริษัทกล่องดินสอแห่งนี้บนชั้น 2 ของบริษัทถึงอุดมการณ์ของเพจเด็กพิการเรียนไหนดี ฉันมองขวาไปทางที่นั่งพนักงานแล้วพบว่ามีพนักงานผู้พิการ 2 คน คนหนึ่งนั่งวีลแชร์ อีกคนเส้นประสาทขาดทำให้พูดไม่ชัดและแขนขาอ่อนแรง กำลังทำงานร่วมกับพนักงานไม่พิการในออฟฟิศอย่างปกติ ตอนนั้นฉันพึมพำในใจยิ้มๆ ทันทีว่า “มาถูกออฟฟิศแล้วแหละ”
“ออฟฟิศเราทำงานด้านคนพิการและเราก็จ้างงานคนพิการด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีคนพิการที่เข้าไม่ถึงการศึกษาและขาดโอกาสจากบริษัทอื่นๆ ในการทำงาน” พี่ต่อบอกฉันพร้อมพูดถึงปัญหาดังกล่าวว่าเขาเคยลงไปพูดคุยกับน้องๆ คนพิการระดับมัธยมปลาย ว่าจบไปอยากทำงานอะไร คำตอบที่ได้จากปากเด็กๆ มีเพียงหมอนวด คนขายลอตเตอรี่ หรือพนักงานคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็น 3 อาชีพหลักของคนพิการที่เราเห็นกันตามปกติในสังคม แล้วเด็กพิการที่อยากทำอาชีพอื่นล่ะ ?
“เด็กพิการบางคนไม่รู้ว่าตัวเองจะเรียนสูงไปทำไม เพราะจบไปก็ต้องไปขายหวยหรือเป็นหมอนวด แต่ถ้าสังคมผลักดันให้ผู้พิการทำอาชีพอื่นๆ มากขึ้น สถาบันการศึกษามีครูที่อยากสอนเด็กพิการเพิ่มขึ้น และมีสวัสดิการพร้อม เด็กๆ จะกล้าฝัน”
สิ่งที่ทำให้ชีวิตเด็กพิการเปลี่ยนไปในทางที่ดี พี่ต่อบอกว่าควรเริ่มจากการศึกษา เพราะเป็นสิ่งที่จะปูทางให้เด็กพิการได้มีสิทธิ์ในการเรียนและต่อยอดไปประกอบอาชีพได้ แต่เพราะความไม่พร้อมของโรงเรียน มหาวิทยาลัย และการขาดแคลนครูผู้สอน ทำให้ไม่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิต เช่น บางมหาวิทยาลัยเด็กพิการตาบอดสอบเข้าคณะวิศวกรรมฯ ได้ แต่เข้าไปไม่ถูกรับรอง ไม่มีหน่วยงานดูแลโดยเฉพาะ ต้องดิ้นรนเอง โดยมีศิษย์เก่ามาช่วยอ่านตัวอักษรเป็นหนังสือเสียง ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยควรจะมีเทคโนโลยีมารองรับเองด้วยซ้ำ อยู่ที่ว่าจะทำไหม
* Fact นี้เกิดขึ้นหรือยัง ? | พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 ระบุว่า การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิ และโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีร่างกายพิการ ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิ และได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ และมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
02 มหา’ลัย และ รร.ไม่อำนวยความสะดวกวิทยา
“เราเคยไปคุยกับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เขาบอกเราว่าสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในมหาวิทยาลัยเขาดีมาก แต่เราดันเหลือบไปเห็นเด็กพิการปั่นวีลแชร์ขึ้นทางลาดไม่ได้ เพราะทางลาดลงและลาดขึ้นชันมาก แสดงว่ายังจัดการเรื่องนี้ไม่ 100%”
พี่ต่อบอกฉันว่าในระดับมัธยมฯ ส่วนใหญ่จะเปิดให้คนพิการเรียนร่วมกับคนไม่พิการ เพราะอยากให้เด็กๆ เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมจริงๆ ซึ่งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยควรมีครูผู้สอนที่มีความชำนาญด้านคนพิการเป็นพิเศษ แต่ในความเป็นจริงจำนวนครูพิเศษกลับไม่พอกับรายวิชาที่หลากหลาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กพิการต้องเอาการบ้านมาให้อาสาสมัครที่เป็นเด็กไม่พิการช่วยทำ เพราะเด็กตาบอดที่ได้ชีทเหมือนกับเด็กไม่พิการ พวกเขาจะทำได้อย่างไรถ้าไม่มีอักษรเบรลล์ในโรงเรียน ?
เช่นเดียวกับคนหนูหนวกที่มีอุปสรรคด้านภาษา ต้องใช้ล่ามเพื่อสื่อสารภาษามือ เพราะหลังจากที่พี่ต่อทำงานด้านนี้มา และสื่อสารกับคนหูหนวกมาหลายราย คนหูหนวกจะมีไวยากรณ์และการเรียงรูปประโยคที่เอากรรมขึ้นก่อนโดยเฉพาะที่ไม่เหมือนคนไม่พิการ เช่น คนไม่พิการพูดว่า “ฉันกินข้าว” คนหูหนวกจะเข้าใจหากพูดว่า “ข้าวฉันกิน” หรือ คนไม่พิการพูดว่า “หิวน้ำไหม” คนหูหนวกจะเข้าใจหากพูดว่า “น้ำหิวไหม” ดังนั้นการมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านผู้พิการโดยเฉพาะจึงสำคัญ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนพิการขาดโอกาสในการศึกษาไปโดยปริยาย
* Fact กับความย้อนแย้ง | พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 60 ระบุว่าให้รัฐจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้กับการศึกษาในฐานะที่มีความสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการเป็นพิเศษ
ขัดแย้งกับงานศึกษาเรื่อง สถานการณ์ ปัจจัยส่วนบุคคลและครัวเรือนที่มีความสัมพันธ์ กับความพิการของเด็ก ที่เผยแพร่ในวารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 13 พบว่าเด็กพิการแรกเกิดถึง 14 ปี 93,129 คน ไม่ได้รับการศึกษา และหากเรียนในระบบการศึกษาทั้งรัฐและเอกชนก็ไม่สามารถดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 10.5 และ 15.6 ตามลำดับ และ/หรือไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ได้โดยตนเอง ร้อยละ 37.9 และ 78.9 ตามลำดับ
03 ออกแบบห้องเรียนให้เท่าเทียมสไตล์ ‘เด็กพิการเรียนไหนดี’
งานที่เพจเด็กพิการเรียนไหนดีทำคือการสร้างเพจให้เป็นคอมมูนิตี้หลักสำหรับเด็กพิการที่อยากเรียนมหาวิทยาลัย และรับบทเป็น Information Center คอยหาข้อมูลว่ามีคณะในมหาวิทยาลัยไหนบ้างที่เปิดรับคนพิการ ทั้งรอบสอบตรง TCAS หรือรอบโควต้าสัมภาษณ์ ทั้งยังคอยจัด Life Talk เชิญรุ่นพี่คนพิการที่เรียนจบแล้วมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าหากเข้าไปเรียนแล้วจะต้องเรียนอย่างไร ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง
ที่สำคัญเพจเด็กพิการเรียนไหนดีกำลังผลักดันให้เกิดการออกแบบห้องเรียนที่คนพิการและไม่พิการอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมโดยไม่แยกใครออกไป นำไปสู่การเทรนด์เวิร์กช็อปวิชาต่างๆ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่รวบรวมอาสาสมัครเข้ามาเรียนร่วมกับคนพิการจำนวน 10 วัน เพื่อนำผลสัมฤทธิ์ตรงนี้ไปเป็นโมเดลให้มหาวิทยาลัยเห็นว่าการที่คนพิการกับคนไม่พิการเรียนในคลาสเดียวกันสามารถเป็นไปได้จริง และพี่ต่อก็ได้เน้นย้ำกับฉันว่า…
“การสร้างความเข้าใจให้สังคมมากที่สุด คือการให้คนไม่พิการมองคนพิการเป็นเพื่อนคนหนึ่ง พอคุณมีเพื่อนเป็นคนพิการ ปัญหาต่างๆ ที่คุณรู้สึกว่าไกลตัวจะใกล้คุณมากขึ้น
“เวลาคิดถึงคนพิการอย่าแยกเขาออกไป ว่าเนี่ยเฉพาะคนพิการอย่างเดียวนะ ห้องนี้เฉพาะคนพิการเท่านั้น มันไม่ใช่ เขาไม่อยากได้แบบนั้น เขาอยากเป็นส่วนหนึ่งในสังคมเหมือนคนอื่นๆ”
“ตั้งใจให้ห้องเรียนที่ออกแบบเป็นแบบไหน ?” ฉันหันไปถามหญิงสาวที่นั่งข้างๆ พี่ต่อมาสักพัก เธอไม่รอช้าแนะนำตัวเองว่าชื่อ แอนนี่-ณัฐรดา กุณรยา เป็นผู้ประสานงานโครงการ
“การที่เราเอาอาสาสมัครเข้ามาเรียนด้วย เพราะอยากให้คนพิการที่ปกติอาจมีเพื่อนเป็นคนพิการด้วยกันมากกว่า ได้ลองละลายพฤติกรรมกับสังคมภายนอกที่มีคนไม่พิการรวมอยู่ด้วย เช่นเดียวกับคนไม่พิการที่ได้ปรับตัวเข้ากับคนพิการ ทั้งการสื่อสาร การทำความรู้จัก และมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อน” แอนนี่พูดยิ้มๆ
ภายในห้องเรียนแสนอบอุ่น เด็กๆ จะได้เวิร์กช็อปหลายวิชา ได้แก่ พอร์ตโฟลิโอ, เรซูเม่, เทคนิคการสัมภาษณ์, กราฟิกดีไซน์ และบัญชีเบื้องต้น แอนนี่กล่าวเสริมว่าวิชาพอร์ตโฟลิโอและเรซูเม่ในยุคนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะเด็กพิการที่เวลามหาวิทยาลัยจะตัดสินว่าจะให้โควต้าคนพิการอย่างไร มักแบ่งเป็นรอบสัมภาษณ์ ส่งพอร์ตโฟลิโอ และสอบตรง ซึ่งเด็กพิการที่สอบเข้ารอบพอร์ตโฟลิโอหรือรอบสัมภาษณ์จึงควรมีคนมาแนะแนวทางการทำเป็นพิเศษ ทางเพจจึงจัดสอนวิชานี้ขึ้นมาโดยแบ่งเป็น 2 คลาส คือคลาสคนหูหนวกและคลาสคนตาบอด เพราะต้องใช้สื่อและวิธีการเรียนรู้ต่างกัน
สำหรับคลาสคนหูหนวกจะเน้น visual เป็นสิ่งสำคัญ เช่น การสอนเรซูเม่ ในสไลด์ขึ้นจอจะแสดงภาพมากกว่าตัวหนังสือ และต้องมีล่ามในห้อง ที่มาจากสมาคมคนหูหนวก อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงเรื่องระดับแสงสว่างและสีของหน้าจอสไลด์ เพราะคนหูหนวกต้องใช้สายตาในการมองทุกอย่างทั้งสไลด์ คุณครู และล่าม จึงจำเป็นต้องใส่ใจเรื่องถนอมสายตา
ถัดมาวิชากราฟิกดีไซน์จะมีการสอนโปรแกรม Adobe Illustrator สำหรับคนหูหนวก โดยการใช้ภาษามือในการอธิบายโปรแกรมที่ใช้ สอนพวกเขาให้รู้จักเครื่องมือในโปรแกรม การจัดหน้าวางองค์ประกอบ และการออกแบบ เพื่อนำไปสู่การทำโปสเตอร์เป็นโปรเจกต์จบคู่กับเด็กไม่พิการในหัวข้อ ‘เวลาที่ชอบมากที่สุด’
ด้านคนตาบอด หากอธิบายเรื่องชุดที่ใส่ไปสัมภาษณ์งานต้องใช้การอธิบายเป็นคำพูดอย่างละเอียด เช่นเดียวกับเทคนิคการสัมภาษณ์ตอนสมัครงาน ทางเพจก็ไม่ลืมให้ความสำคัญ และยังมีการสอนวิชาบัญชีเบื้องต้น Financial Literacy ให้เด็กพิการอ่านใบเสร็จ เขียนใบเสร็จ และคิดเงินได้ และเร็วๆ นี้จะมีวิชา Online Content ให้รอติดตามกัน
“พอออกแบบห้องเรียนออกมาเป็นชุดความรู้ เราก็จะกระจายไปยังอุดมศึกษาต่างๆ เพราะลำพังตัวบริษัทเราไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีหรือกราฟิก แต่เราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคนพิการ ดังนั้นเราจึงต้องทำงานกับองค์กรที่เขาเก่ง ให้เขารู้ว่าหากจะรับเด็กพิการ เขาควรเตรียมตัวอย่างไร เด็กพิการควรนั่งตรงไหนของห้อง ล่ามต้องมีมากแค่ไหน ซึ่งก็จะเพิ่มโอกาสที่เขาจะเปิดใจมากขึ้น” พี่ต่ออธิบายอย่างตั้งใจ
04 เด็กพิการฝึกงานไหนดี
การฝึกงานก็เหมือนการทดลองงาน หาตัวตนว่าจริงๆ แล้วงานนั้นๆ ที่ชอบมันเหมาะกับตัวเองเหมือนที่คิดไว้หรือเปล่า เช่นเดียวกับเด็กพิการที่ก็อยากมีประสบการณ์ตรงนี้เหมือนเด็กไม่พิการเช่นกัน แต่หลายบริษัทยังมองไม่เห็นศักยภาพของคนพิการ ดังนั้นพี่ต่อจึงสร้าง ‘โครงการเด็กพิการฝึกงาน’ ขึ้นมา เพื่อช่วยให้เด็กพิการได้ฝึกงานมากขึ้น
“ตอนนี้บริษัทมากมายจะคิดไม่ออกว่าจะจ้างคนพิการมาทำอะไรนอกจากเป็นฝ่ายธุรการ แต่ถ้าหากดูว่าแต่ละตำแหน่งในบริษัทต้องการอะไร แล้วถ้าคนพิการเขาทำได้ มันก็คือทำได้ ไม่เกี่ยวกับความพิการเลย”
วิธีที่พี่ต่อและทีมงานทำคือการเข้าไปคุยกับบริษัทต่างๆ ว่าจริงๆ แล้วตำแหน่งที่แต่ละบริษัทต้องการ ตำแหน่งใดบ้างที่คนพิการสามารถทำได้ ซึ่งหากคนพิการทำเป้าหมายของงานนั้นๆ ได้สำเร็จ ก็ไม่เห็นจะมีปัญหาถ้ารับคนพิการเข้าทำงาน โดยพี่ต่อยื่นข้อเสนอให้แต่ละบริษัทลองรับคนพิการฝึกงานดูก่อน 7 วัน 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ไม่มีสัญญาผูกมัดแต่ขอให้เปิดใจก่อนว่าการมีคนพิการในออฟฟิศมันยากไหม แล้วคนพิการมีศักยภาพจริงหรือเปล่า ซึ่งถ้าบริษัทโอเคพี่ต่อก็จะประสานงานต่อเรื่องจ้างงานประจำ
เอเจนซี่โฆษณาอย่าง ‘ชูใจ กะ กัลยาณมิตร’ คือหนึ่งในบริษัทที่พี่ต่อพาเด็กพิการตาบอดไปฝึกงานเป็นครีเอทีฟ ซึ่งเป็นการฝึกงานที่จริงจัง ได้ฝึกความคิดสร้างสรรค์เหมือนเด็กทั่วไป มีการบ้านทุกวันให้ แต่ต่างออกไปตรงที่เด็กฝึกงานไม่พิการจะมีวิดีโอกลับบ้านไปดู ส่วนน้องที่พิการจะขอวิดีโอที่ฟังแล้วเข้าใจโดยไม่ต้องดู ซึ่งน้องก็ทำงานได้เหมือนกับทุกคน หรือ ‘ThisAble.me’ เพจสื่อสารประเด็นคนพิการ พี่ต่อก็พาเด็กพิการไปฝึกงานเป็นบรรณาธิการ ได้ฝึกสกิลการคิด การเขียนคอนเทนต์ลงเพจ เป็นต้น
“หัวใจหลักของเด็กพิการคือเขาต้องการเป็นเด็กคนหนึ่งที่ไม่ถูกแบ่งออกไป ถ้าเขาทำงานไม่ดี เราสามารถดุและเตือนเขาเหมือนน้องคนอื่นๆ ได้”
* Fact ชวนขบคิด | กฎหมายการจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 33 กล่าวว่าหากสถานประกอบการใดมีพนักงานถึง 100 คน ต้องจ้างงานคนพิการ 1 คน และหากไม่จ้าง ตามมาตรา 34 ระบุว่าต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 109,500 บาท ต่อปี แต่ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ เดือนมีนาคม 2563 พบว่า สถานประกอบการ 14,894 แห่งทั่วประเทศต้องจ้างคนพิการ 85,602 คน ทว่าจ้างจริงเพียง 23,726 คน เท่านั้น
** Fact ดีๆ ชวนนำเสนอ | ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วน้องๆ เด็กพิการหรือผู้ปกครองคนไหนสนใจอยากพาน้องๆ มาฝึกงานที่บริษัทกล่องดินสอ สามารถติดต่อทางเพจเฟซบุ๊ก Klongdinsor – กล่องดินสอ ได้เลย ! หรือหากมีบริษัทไหนอยากเปิดโอกาสให้น้องๆ ฝึกงานหรือจ้างงานก็ติดต่อมาทางเพจได้เลยเช่นกัน 🙂
05 ฟังเสียงพนักงานพิการอย่างตั้งใจ
โค้งสุดท้ายหลังจากที่ทุกคนได้ใช้เวลาอ่านบทความนี้มาสักพัก ฉันขอเล่าอีกนิดเพราะสิ่งที่คุยกับ ผึ้ง-มนิษา พานิชวัฒนะ พนักงานบัญชีประจำบริษัทกล่องดินสอ วัย 24 ปี ที่พิการเพราะเส้นประสาทขาดทำให้พูดไม่ชัดและแขนขาอ่อนแรง น่าสนใจจนอยากให้เธอได้ส่งเสียงของตัวเองผ่านบทความนี้
“ตอนมัธยมฯ หนูโดนบูลลี่ สังคมในโรงเรียนมองว่าเราแปลก โดนทำท่าล้อเลียน แกล้งทำเป็นขากระเผลกๆ ส่วนการเรียนพอครูเห็นว่าเป็นเด็กพิการก็ละเลย ปล่อยๆ ข้ามไป เราไม่เข้าใจตรงไหนเขาก็ไม่สนใจ
“พอเริ่มทำงาน หนูมองเห็นการออกแบบโครงสร้างประเทศไทยที่ไม่เอื้อให้คนพิการไปทำงาน ถ้าเดินออกไปตรงรถไฟฟ้าจะเห็นได้ว่าวีลแชร์ขึ้นฟุตพาทไม่ได้ คนไม่พิการยังสะดุด บางออฟฟิศไม่มีลิฟต์ พื้นที่แคบ โต๊ะติดกัน ทำให้วีลแชร์ไม่สามารถหมุนเข้าได้ ถ้าจะให้คนพิการมีงานทำจริงๆ ต้องเปิดใจเรื่องสถานที่ก่อนเลย
“ที่สำคัญอาชีพยังไม่เข้าถึงคนพิการอย่างครอบคลุม เพื่อนหนูเก่งกราฟิกมากแต่ตกงานเพราะคนในองค์กรไม่มีใครพูดภาษามือได้ หรือตัวหนูเองที่ชอบภาษาจีน เรียนมอปลายภาษาจีนมา เขียนได้ทุกอย่าง แต่เราพูดไม่ชัด ก็เรียนเอกจีนในมหาวิทยาลัยไม่ได้ ซึ่งก็เหมือนบังคับให้หนูล้มเลิกความฝันของหนูทิ้ง”
อืม น่าคิด ในเมื่อฉัน คุณ และมนุษย์ทุกคนบนโลกต่างเกิดมามีคุณค่าเท่าเทียม แล้วทำไมการให้ค่าความเป็นมนุษย์ด้วยสิทธิมนุษยชนที่พึงได้ตามกฎหมายสำหรับผู้พิการกลับยังไม่เท่าเทียมเสียที สงสัยกันบ้างไหม ?
Sources:
กฎหมายคนพิการ | https://bit.ly/37duqsH, https://bit.ly/3k7FoUn
งานวิจัยคนพิการ | https://bit.ly/2SVYAsm
ตัวเลขการจ้างงานคนพิการ | https://bit.ly/3j4lTLh