สำรวจคลองลาดพร้าว ส่องโมเดลพัฒนาชุมชนแออัด - Urban Creature

ในอดีต “คลอง” เป็นดั่งสายเลือดของคนกรุงเทพฯ เป็นสายน้ำแห่งวิถีชีวิต วัฒนธรรม และเชื่อมโยงผู้คนไปมาหาสู่ แต่หลายสิบปีที่ผ่านมา การเข้ามาของความเจริญ ทำให้คนหันไปพัฒนาถนนหนทาง คลองถูกลดบทบาทกลายเป็นหลังบ้านของใครๆ เป็นที่ระบายน้ำเสีย สิ่งปฏิกูลจากทุกแห่งในเมืองไหลมารวมกัน ผู้คนรุกล้ำพื้นที่ริมคลองจนเกิดชุมชนแออัด เมืองใหญ่แข่งกันศิวิไลซ์มุ่งแต่จะก้าวไปข้างหน้า ขณะที่ปัญหาเหล่านี้ถูกผลักถอยหลังลงคลอง

เราเดินทางมาถึงวัดลาดพร้าว เพื่อมาล่องเรือสำรวจ “คลองลาดพร้าว” คลองกลางเมืองที่มีความยาวกว่า 24  กิโลเมตร ครอบคลุม 50 ชุมชน มีบ้านเรือนกว่า 7,000 หลัง ซึ่งประสบปัญหาชุมชนแออัดตามการเติบโตของเมืองใหญ่ อีกทั้งยังมีขยะลอยเต็มคลองและน้ำเน่าเสีย

ผู้ที่จะอาสาพาเราทัวร์คลองในวันนี้คือ “ผศ.ดร.มณฑล จันทร์แจ่มใส” อาจารย์สาขาสถาปัตยกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และ “พี่จำรัส กลิ่นอุบล” ประธานชุมชนลาดพร้าว 45 ที่จะมาชี้ให้เห็นถึงปัญหาและทางออก ไม่เพียงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนริมคลอง แต่เพื่อทุกคนในเมืองจะหันมาใส่ใจและฟื้นฟูคลองให้กลับมามีชีวิตเหมือนในอดีต

มองปัญหา “ชุมชนแออัด” อย่างเข้าใจ

ล่องเรือได้ไม่นานฝนก็เริ่มโปรยปราย เราสังเกตว่าริมคลองบางช่วงมีบ้านที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จดูเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่บางช่วงที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะเห็นบ้านไม้ทรุดโทรมรุกล้ำเข้ามาในคลอง มีคนเฒ่าคนแก่อยู่อาศัย และใช้ชีวิตในสภาพที่หากมองจากมุมคนนอก คงพอรับรู้ว่าเข้าถึงสาธารณูปโภคต่างๆ ได้ยากลำบาก

ถ้าพูดถึงชุมชนแออัด เรามักจะนึกถึงปัญหาสะสมที่ยากจะแก้ หากมองย้อนถึงต้นตอก็พบว่า เกิดจากการบุกรุกพื้นที่คลองเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยเนื่องจากการเติบโตของเมือง เมื่อคนเข้ามาจับจองมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกวางแผนมาก่อนจึงเกิดปัญหาชุมชนแออัดขึ้น ชาวบ้านบางคนไม่มีศักยภาพ ไม่มีความรู้ ชีวิตเขาต้องดิ้นรนทำมาหากิน และด้วยความจำเป็นในด้านที่อยู่อาศัยจึงต้องมีความเป็นอยู่แบบนี้

“ห้องเรียนชุมชน” ลงพื้นที่เรียนรู้จากปัญหาจริง

อาจารย์มณฑลเป็นหัวเรือใหญ่ของ “โครงการบูรณาการพัฒนาท้องถิ่น ชุมชนริมคลองลาดพร้าว” ที่อาจารย์ลุยเองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ถึงวันนี้ก็ร่วม 10 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นที่ก้าวเข้ามาทำงานกับชุมชน เริ่มจากการพานักศึกษามาสำรวจพื้นที่ให้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ จัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน

หลายปีที่ผ่านมา กว่า 12 ชุมชนในโครงการ มีรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยจากแนวคิดของนักศึกษา ร่วมกับทีมปฏิบัติการพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และทีมอาจารย์จากสาขาสถาปัตยกรรม โดยออกแบบที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และเสนอแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงที่ขาดสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เตียงผู้ป่วย ทางลาด ห้องน้ำที่ไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ไปจนถึงพื้นที่ส่วนกลางสำหรับออกกำลังกาย

“โครงการรัฐ” ต้องพึ่งกระบวนการมีส่วนร่วม

หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2554 รัฐบาลมองเห็นว่า ชุมชนแออัดที่รุกล้ำคลองลาดพร้าวซึ่งเป็นทางระบายน้ำหลัก สร้างสิ่งก่อสร้างลงมากีดขวางทางน้ำเป็นจำนวนหลายหลัง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ จึงมีนโยบายสร้างเขื่อนคอนกรีตตลอดแนวคลองลาดพร้าว แต่การจะไล่รื้อคนออกโดยไม่มีการเยียวยาคงไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะการย้ายไปอยู่ที่อื่นเท่ากับต้องตั้งต้นชีวิตใหม่ ดังนั้นแนวคิดที่ประนีประนอมที่สุดในการแก้ปัญหาชุมชนแออัด คือการให้เขามีสิทธิได้อยู่ที่เดิม

โดยโครงการบ้านมั่นคงของรัฐมีเงินชดเชยให้ชาวบ้านเดือนละ 3,000 บาทในระหว่างการก่อสร้างที่อยู่ใหม่ ส่วนงบประมาณในการสร้างบ้านใหม่นั้น ชาวบ้านรวมกลุ่มกันตั้งสหกรณ์หรือกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อเช่าที่ดินรัฐในราคาถูกโดยมีสัญญาช่วงแรก 30 ปี และร่วมมือร่วมใจกันสร้างบ้านขึ้นมาซึ่งชาวบ้านมีส่วนรับผิดชอบผ่อนชำระด้วยตัวเอง

การผลักดันให้คนเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น สำหรับคนหาเช้ากินค่ำแล้วถือเป็นเรื่องยาก เพราะต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าโครงการนี้ไม่ใช่แค่การไล่รื้อเท่านั้น แต่คือการสร้างความมั่นคงและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพวกเขา จึงต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจ ซึ่งหัวใจสำคัญในการพัฒนาคลองคือกระบวนการมีส่วนร่วม เพราะบ้านหลังใหม่ริมคลองเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกคน

“การใช้ประโยชน์จากคลอง” มองโอกาสสร้างรายได้

การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ควรจบแค่การพัฒนาที่อยู่อาศัย แต่ต้องคิดต่อว่าชาวบ้านจำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพได้ เพราะการย้ายที่อยู่อาศัยใหม่เรียกว่าเป็นหนี้ก้อนใหญ่ ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้นถ้าเราเปิดพื้นที่คลองเป็นสาธารณะ คนภายนอกสามารถเข้าถึงคลองได้ พัฒนาเส้นทางคมนาคมทางเลือก และการท่องเที่ยวในชุมชน ชาวบ้านก็จะมีโอกาสในการสร้างอาชีพใหม่ๆ

พี่จำรัสเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดเรือโดยสารคลองลาดพร้าว โดยมีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียหนัก พี่จำรัสจึงอยากปลุกจิตสำนึกให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษาคลอง เกิดเป็นโครงการท่องเที่ยววิถีชุมชน แต่พอมีโครงการรัฐจะทำเขื่อน พี่จำรัสเลยหันมาผลักดันเรื่องการเดินเรือโดยสาร

คลองลาดพร้าวมีศักยภาพเป็นเส้นทางคมนาคมทางเลือก เชื่อมต่อจุดตัดระหว่างคลอง ถนน และรถไฟฟ้า รองรับระบบขนส่งสาธารณะ “ล้อ-เรือ-ราง” พี่จำรัสมีความตั้งใจว่า คลองลาดพร้าวจะสามารถให้บริการเรือโดยสารผ่านแอปพลิเคชันได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาเดินทางจาก 25 นาที เหลือเพียง 5 นาทีเท่านั้น

คลองมีเสน่ห์ในตัวเอง สมัยก่อนที่เรายังไม่มีถนน บ้าน วัด โรงเรียน ก็ตั้งอยู่ริมคลอง มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับน้ำ สะท้อนได้จากวัฒนธรรมหลายอย่าง พี่จำรัสพยายามดึงเอาอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนขึ้นมา และจัดกิจกรรมในชุมชนโดยใช้เรือเป็นหลัก เช่น การแห่เรือเข้าพรรษาที่จัดมา 3-4 ปีแล้ว คลองยังสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยที่ชุมชนไม่ต้องออกไปหางานทำที่อื่น อย่างการล่องเรือเที่ยววัด ซึ่งคลองลาดพร้าวก็มีวัดมากมายเรียงรายอยู่ริมฝั่งคลอง เช่น วัดลาดพร้าว, วัดใหม่เสนานิคม, วัดพระราม 9, วัดบางบัว นอกจากนี้ คลองยังเป็นพื้นที่เปิดของเมืองให้เราสัมผัสธรรมชาติ ระหว่างที่เรานั่งเรือก็ได้เห็นต้นไม้ใหญ่ริมคลองที่ยังหลงเหลืออยู่หลายจุดอีกด้วย

“การพัฒนาเหล่านี้ไม่ได้คืนให้แค่คนในชุมชน แต่ยังคืนให้คนภายนอกได้เข้ามาสัมผัส มันเป็นผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่คนริมคลอง”

“แนวทางพัฒนาคลอง” เพื่อเมืองอย่างยั่งยืน

อาจารย์มณฑลเล่าเสริมว่า คลองสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายมิติ มิติแรกคือเป็นคมนาคมทางเลือก มิติที่สองคือการจัดการบริหารน้ำ มิติที่สามเป็นพื้นที่สาธารณะของเมือง ส่วนอีกมิติคือด้านศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดังนั้นการพัฒนาคลองจึงต้องทำให้ครบทุกด้าน สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม ภูมิวัฒนธรรม

ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และทุกภาคส่วนต้องทำงานสัมพันธ์กัน โดยการเปิดรับความคิดของผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งอาจเป็นโมเดลเมืองในฝัน แต่มันจะมีเสน่ห์ในตัวเอง ไม่ใช่เมืองที่รัฐก็ตัดสินใจว่าแบบนี้สวย น่าอยู่ หรือเมืองที่ผู้คนอยากจะอยู่ตามอำเภอใจ หากเรามีการเปิดเวทีนั่งคุยกัน ทางออกที่เกิดจากร่วมมือจะเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง

ไม่อยาก “กลับไปเป็นสภาพเดิม” ต้องวางแผนระยะยาว

ขณะที่เรือแล่นผ่านทางเดินเลียบคลองเก่าที่มีสภาพรกร้าง หรือมีสิ่งกีดขวางไม่สามารถใช้งานได้ ในมุมของคนที่เห็นปัญหามาตลอด พี่จำรัสเล่าให้ฟังในว่าเป็นโครงการของรัฐเมื่อปี พ.ศ. 2546 ที่ตั้งใจให้เป็นทางเท้าและทางจักรยาน แต่ไม่มีหน่วยงานเข้ามาดูแลปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรม และไม่ได้มีแผนจะปรับปรุงเนื่องจากเป็นโครงการต่อเนื่อง 

ทั้งที่จริงแล้วหากทำให้ดี คนในละแวกจะมีพื้นที่วิ่งออกกำลังกาย หรือปั่นจักรยาน อีกทั้งสามารถเป็นทางสัญจรเชื่อมต่อกับถนนด้านนอกหรือสร้างท่าเรือได้ พี่จำรัสจึงอยากให้ภาครัฐมาเห็น มาเอาปัญหาแล้วไปคิดต่อว่าจะทำอย่างไร และไม่อยากให้โครงการต่อๆ ไป เป็นแค่การเอางบมาวาง เมื่อทำเสร็จแล้วก็จบแค่นั้นอย่างที่เคยเป็นมา

การแก้ปัญหาข้อแรกเลยคือกฏหมายต้องชัดเจนและเข้มงวด ไม่ใช่ยอมหรือยืดหยุ่นไปหมด เท่าที่สังเกตเราจะเห็นบ้านบางหลังนำข้าวของมาวางระเกะระกะ หรือต่อเติมบ้านมากั้นทางเดินริมคลองซึ่งเป็นที่สาธารณะ รวมถึงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชุมชนที่รุกล้ำคลองแล้วไม่ยอมรื้อย้าย โครงการมีปัญหายืดเยื้อ ก็เพราะชาวบ้านมองว่ากฏหมายไทยมีช่องโหว่ ไม่มีใครทำอะไรหรือกว่าจะฟ้องร้องกันก็ชาวบ้านก็อยู่อาศัยต่อไปได้อีกหลายปี

เช่นเดียวกับโครงการบ้านมั่นคง ที่พี่จำรัสไม่อยากให้ทำเสร็จแล้ว สุดท้ายกลายเป็นภาระของชาวบ้าน เพราะหากในอนาคตชุมชนขาดรายได้ พี่จำรัสเชื่อว่าอีกไม่เกิน 5 ปี จากสลัมในคลองก็จะขึ้นไปเป็นสลัมบนบกเหมือนเดิม ดังนั้นในเมื่อรัฐมีความตั้งใจจะพัฒนาแล้ว ก็ควรวางแผนระยะยาว 10-20 ปีไปเลย

“คลองสะอาดปราศจากขยะ”หน้าบ้านที่ทุกคนต้องดูแล

อีกหนึ่งปัญหาที่เห็นได้ชัดคือขยะมูลฝอยที่ลอยกลาดเกลื่อนในคลอง พี่จำรัสแนะนำว่าการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือหน่วยงานไหน จะต้องลงมาให้เห็นปัญหาและยอมรับสภาพความเป็นจริง พี่จำรัสเห็นปัญหานี้มาเกือบ 20 ปี แต่ก่อนชาวบ้านริมคลองไม่มีน้ำประปาใช้ ก็ต้องใช้น้ำคลองมาแกว่งสารส้มให้ใส แต่เมื่อหน่วยงานภาครัฐวางระบบคลองให้เป็นที่ทิ้งน้ำเสีย ชาวบ้านใช้น้ำไม่ได้ก็ไม่คิดจะอนุรักษ์ 

การแก้ปัญหาคงไม่ใช่การมานั่งเถียงกันว่าใครผิด ทุกภาคส่วนควรต้องมานั่งคุยกันเพื่อหาทางออก ระหว่างนั้นเรือของเราสวนทางกับเรือของกองระบบคลอง สำนักการระบาย ซึ่งทำหน้าที่เก็บขยะในคลองเป็นประจำ แต่นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะต้นทางของน้ำเสียที่แท้จริง มาจากท่อที่มีการลักลอบเจาะเขื่อนเพื่อระบายน้ำทิ้ง รวมไปถึงคลองสายเล็กๆ ที่ผ่านหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ไหลมารวมกันโดยไม่ผ่านกระบวนการบำบัด

อาจารย์มณฑลแสดงความคิดเห็นว่า แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำเสียต้องแยกเป็นสองประเด็น อย่างแรกคือใครมีหน้าที่ต้องดูแลคลอง เพราะคลองเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ แต่คนยังเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ หลายปีที่ผ่านมาเราอาจโยนภาระให้รัฐมากเกินไป เราเข้าใจว่าจะทิ้งขยะอย่างไรก็ได้เพราะมีคนคอยเก็บ แต่เมืองที่ดีคือพลเมืองต้องมีบทบาทในการแสดงออก และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา เพราะการอยู่ร่วมกันต้องไม่เป็นภาระกับใคร แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อคือรัฐต้องเปิดโอกาสให้ชุมชน และสนับสนุนให้ชุมชนได้ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในการช่วยกันดูแลเมืองของเรา

หลายสิบปีที่ผ่านมา เราถมคลองเพื่อสร้างถนนและมองข้ามความสำคัญของคลองไป ปล่อยให้คลองมีบทบาทเป็นแค่ทางระบายน้ำและรองรับน้ำเสียของเมือง คลองจึงกลายเป็นหลังบ้านที่ใครๆ ทิ้งสิ่งปฏิกูล แต่ถ้าวันหนึ่ง เราสามารถสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชนสองฟากฝั่งให้สัมพันธ์กับคลอง เปิดโอกาสให้คนริมคลองเป็นเจ้าของร่วมกัน เปลี่ยนคลองหันกลับมาเป็นหน้าบ้าน ทุกคนก็จะช่วยกันดูแลและได้ใช้ประโยชน์จากการที่คลองใสสะอาด

ทำอย่างไรคลองจะกลับมามี “บทบาทสำคัญกับเมือง”

คลองเป็นจุดกำเนิดของศิลปวัฒนธรรม วิถีชุมชน และเมืองที่เติบโตไปตามภูมิสังคม ยุคหนึ่งเราอาจยินดีกับการก่อร่างสร้างเมือง มีทางด่วน มีเมืองที่ทันสมัย จนหลงลืมคุณค่าในสิ่งเก่าที่เรามี การจะพัฒนาคลองให้ยั่งยืน เราต้องเรียนรู้และเข้าใจ 

คำถามคือความรู้เรื่องคลองเคยมีอยู่ในบทเรียนหรือเปล่า ครูที่โรงเรียนเคยพาเด็กออกมาเดินริมคลองไหม หรือเคยเล่าให้เขาฟังไหมว่า ชีวิตสมัยปู่ย่าตายายมีความผูกพันหรือหากินกับคลองอย่างไร ถ้าเราเชื่อมโยงคลองให้เป็นเนื้อเดียวกับวิถีชีวิตของผู้คนในเมือง คลองจะไม่มีวันตายและจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่คู่กับเราไปนานๆ

“ในอนาคต คลองอาจเป็นดัชนีหนึ่งที่วัดความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในเมือง เมื่อก่อนเราเคยเป็นเมืองแห่งสายน้ำ มันอาจเป็นตัวชี้วัดก็ได้ว่า ถ้าคลองมันดี เมืองก็จะไปต่อได้”

Content Writer : Angkhana N.
Photographer : Nipon S.
Graphic Designer : Napattanun O.

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.