เช็คลิสต์ ‘มาตรการเยียวยาแรงงาน ช่วงโควิด-19’ ใครได้สิทธิ์อะไรบ้าง ? - Urban Creature

เมื่อไวรัสโคโรนาเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลไทยต้องประกาศสั่งปิดหลายกิจการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้แต่ละธุรกิจต่างต้องหยุดชะงัก และมีรายได้ไม่คงที่ โดยตามรายงานการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2562 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าประเทศไทยมีผู้มีงานทำทั้งหมด 37.8 ล้านคน แบ่งออกเป็นแรงงานนอกระบบ 20.3 ล้านคน (คิดเป็น 54.5%) และแรงงานในระบบ 17.1 ล้านคน (คิดเป็น 45.7%)

โดยการสั่งปิดกิจการชั่วคราวมีผลกระทบต่อเหล่าผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และแรงงาน จนทำให้รัฐบาลไทยต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อเยียวยากลุ่มแรงงานออกมาในช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 วันแรงงานปีนี้ เราเลยชวนย้อนกลับมาเช็คลิสต์กันอีกครั้งว่า แรงงานกลุ่มไหนได้สิทธิ์ ‘มาตรการเยียวยาโควิด-19’ อะไรบ้าง ?
ซึ่งเราขอแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานต่างด้าว

| มาตรการเยียวยาสำหรับ ‘แรงงานในระบบ’

สำหรับใครที่เป็นแรงงานในระบบตามผู้ประกันตน มาตรา 33 และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะได้รับสิทธิเยียวยาดังต่อไปนี้

1. ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโควิด-19 จะได้รับการรักษาฟรี หรือถ้ามีการตรวจพบว่ามีอาการเข้าข่ายติดเชื้อ ซึ่งถ้าหากเราไม่สามารถรักษาโรงพยาบาลตามสิทธิประกันตน สามารถเข้ารักษาโรงพยาบาลใกล้ที่อยู่อาศัย หรือโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ในระบบประกันสังคมได้ โดยสามารถเบิกจ่ายฉุกเฉินได้ภายใน 72 ชั่วโมง

2. กรณีที่นายจ้างสั่งหยุดงาน เพราะเห็นว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นไวรัสโควิด-19 ลูกจ้างต้องกักตัว 14 วัน พร้อมได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 62% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 90 วัน

3. กรณีที่รัฐสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการชั่วคราว จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 62% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 90 วัน

4. กรณีลาออก จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 45% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน (จากเดิมร้อยละ 30)

5. กรณีเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 70% ของค่าจ้าง ในระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน ซึ่งบังคับใช้เป็นเวลา 2 ปี หลังจากครบกำหนดทางคณะกรรมการประกันสังคมจะพิจารณาอีกครั้ง

6. มาตรการลดอัตราเงินสมทบ พร้อมขยายกำหนดเวลายื่นแบบอัตราเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน สำหรับนายจ้างจะลดการจ่ายจาก 5% เป็น 4% ของค่าจ้างผู้ประกันตน ส่วนผู้ประกันตนลดการจ่ายจาก 5% เป็น 1% แทน ซึ่งใช้ระยะเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่เดือนมี.ค. – พ.ค. 63)

มีกำหนดขยายเวลาการส่งเงินสมทบดังนี้

  • ค่าจ้างเดือนมีนาคม 2563 นำส่งภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563
  • ค่าจ้างเดือนเมษายน 2563 นำส่งภายในวันที่ 17 สิงหาคม 2563
  • ค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2563 นำส่งภายในวันที่ 15 กันยายน 2563

7. มาตรการขยายระยะเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมวันที่ 31 มีนาคม 2563 เป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2563

| มาตรการเยียวยาสำหรับ ‘แรงงานนอกระบบ’

สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอิสระ ลูกจ้าง หรือแรงงาน ถ้าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทางรัฐมีมาตรการออกมาเยียวยา ดังต่อไปนี้

1. ได้รับเงินสนับสนุนคนละ 15,000 บาท แบ่งจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) โดยถ้าผู้จ่ายประกันสังคมมาตรา 33 จ่ายไม่ครบ 6 เดือน สามารถยื่นรับสิทธินี้ได้เช่นกัน

2. สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาทต่อราย โดยไม่ต้องมีหลักประกัน มีอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อเดือน

3. สินเชื่อพิเศษ 50,000 บาทต่อราย สำหรับผู้ประกอบการ ผู้มีอาชีพอิสระ และลูกจ้างที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีอัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ผ่อนชำระคืน 3 ปี โดยมีเงื่อนไขต้องอายุ 20 ปีขึ้นไป เคยมีรายได้ประจำแต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

4. สำนักงานธนานุเคราะห์รับจำนำดอกเบี้ยขั้นต่ำไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน

5. ขยายระยะเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมวันที่ 31 มีนาคม 2563 เป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2563

6. ลดอัตราเงินสมทบสำหรับผู้จ่ายประกันตนเอง และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จากเดิมเดือนละ 432 บาท เหลือ 86 บาท รวมถึงขยายเวลาการส่งเงินสมทบเหมือนกับนายจ้าง และผู้ประกันตน

7. จ้างบัณฑิตว่างงานเป็นผู้ประสานงานโครงการของกระทรวงแรงงานประจำพื้นที่ 841 อำเภอ โดยให้โควต้าอำเภอละ 2 คน รวมทั้งหมด 1,682 ตำแหน่ง

8. จัดตั้งศูนย์งาน Part-time เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และตอบสนองความต้องการของนายจ้าง

  • ฝึกอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในครัวเรือน จำนวน 7,800 คน
  • โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ค่าตอบแทนรายวัน 300 บาท จำนวน 7,740 ตำแหน่ง

| มาตรการเยียวยาสำหรับ ‘แรงงานต่างด้าว’

ส่วนกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยผ่านระบบ ‘Memorandum of Understanding (MOU)’ ทั้งในกลุ่มแรงงานนอกระบบ และแรงงานในระบบ มีจำนวน 2.99 ล้านคน และมีผู้ที่เข้ามาโดยบัตรผ่านชั่วคราวอีกจำนวนหนึ่ง จะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการจ่ายเงินชดเชยจากกรณีว่างงาน โดยตอนนี้รัฐให้สิทธิเพียงการขยายเวลาใบอนุญาตให้เท่านั้น

1. แรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 สามารถอยู่อาศัย และทำงานในประเทศไทยต่อไปได้ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 พร้อมขยายใบรับรองแพทย์ให้มีอายุ 90 วัน


Sources :
TDRI
ประชาไท
กระทรวงแรงงาน
กรุงเทพธุรกิจ
BBC Thai

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.