ความยั่งยืนและความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจยุคปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจหากความสำคัญของ ESG (Environment Society และ Governance) จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการธุรกิจมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ธุรกิจธนาคารเองก็ไม่เคยหยุดนิ่ง ในฐานะต้นน้ำของระบบเศรษฐกิจ จึงถือเป็นภารกิจที่จะต้องทำเรื่องนี้ต่อไปให้มากขึ้น ธนาคารเจ้าใหญ่อย่าง KBank ก็ได้มีการดำเนินการพัฒนาองค์กรเพื่อสร้างความเติบโตให้สอดคล้องกับยุคสมัย บนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) ที่นำมาเป็นยุทธศาสตร์ของธนาคารและอยู่ในกระบวนการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยกำหนดกลยุทธ์การทำงานที่เป็นระบบ เน้นการวัดผล รวมถึงเป้าหมายสำหรับอนาคตที่ท้าทาย กับภารกิจที่ต้องชวนทุกคนลงมือทำไปด้วยกัน
สำหรับใครที่สงสัยว่าธุรกิจธนาคารจะเติบโตไปพร้อมกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร KBank ก็อธิบายถึงคำตอบไว้ในงานแถลงข่าว KBank ESG Strategy 2023 โดยมี ‘กฤษณ์ จิตต์แจ้ง’ กรรมการผู้จัดการ KBank มาเล่าถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาและเป้าหมายในอนาคตเพื่อให้การทำงานบนหลัก ESG บรรลุผลที่เป็นรูปธรรม ทั้งในมิติการลดผลกระทบเชิงลบ และการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อโลก
ด้วยบริบทการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้นักลงทุน ลูกค้า และคู่ค้าประเทศต่างๆ ล้วนให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น ขณะเดียวกัน KBank เองก็พัฒนาปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กลุ่มลูกค้าว่า KBank จะเป็นธนาคารที่ตามทันโลกและให้ความสำคัญกับ ESG ในการดำเนินธุรกิจด้วย โดยทางธนาคารเองได้พยายามสร้างความสมดุลอย่างไม่เร่งรีบเกินไป พร้อมกับการเรียนรู้ที่ไม่ว่าจะเจออุปสรรคแบบไหนก็จะไม่ทิ้งโจทย์ของความยั่งยืนไป สะท้อนผ่านทุกๆ โครงการที่มีการนำเรื่องความยั่งยืนเข้าไปพัฒนาร่วมกับธุรกิจด้วย
แผนการดำเนินงานของ KBank ล้วนควบคู่ไปกับความยั่งยืนเสมอ โดยประกอบด้วยเรื่องของ Beyond Banking & Innovation, Strong Brand และการทำอย่างไรให้ ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กร
กฤษณ์เล่าว่า ที่เป็นแบบนั้นเพราะสถานการณ์ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคก็มีการคำนึงถึงเรื่องของ ESG มากขึ้น นักลงทุนก็มีการนำปัจจัยความเสี่ยงด้าน ESG มาประกอบการตัดสินใจในการลงทุน หรือแม้แต่หน่วยงานกำกับดูแลก็ให้ความสำคัญกับประเด็นของ ESG เช่นกัน ดังนั้น KBank เลยมองว่าหากทำเรื่องเหล่านี้ช้าเกินไป อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นได้ จึงต้องเริ่มลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ และพร้อมที่จะเป็นผู้นำด้าน ESG เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ในวงกว้างและเกิดเป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ESG คือแนวคิดในเรื่องของการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยเน้นในเรื่องของ Environment, Society, และ Governance ซึ่งในปัจจุบันบริบททางด้าน ESG มีผลต่อธุรกิจมากขึ้น เพราะเป็นแนวคิดที่นักลงทุนส่วนใหญ่ใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อลงทุน ผู้ประกอบการยุคใหม่จึงต้องวางแผนการทำธุรกิจอย่างรอบด้าน เพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ทั้งในแง่ของการทำงานและการให้ความสำคัญต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
สำหรับแนวคิดด้าน Environment ที่เป็นการคำนึงถึงความรับผิดชอบขององค์กรต่อสิ่งแวดล้อม KBank ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคารเป็น Net Zero ภายในปี 2030
อย่างตอนนี้ KBank ก็เริ่มต้นด้วยการปรับปรุงการใช้ไฟฟ้าในอาคารให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และมีการเปลี่ยนประเภทของน้ำมันรถที่ใช้ของธนาคาร ทำให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้ส่วนหนึ่ง ทั้งยังตั้งเป้าว่าจะทยอยเปลี่ยนรถของธนาคารเป็น EV Car และใช้ไฟฟ้าโดยการติด Solar Roof ตามตึกต่างๆ ของธนาคารและสาขาที่ทำได้ เพื่อประหยัดพลังงานให้ได้มากที่สุด
ไม่เพียงแต่การเริ่มต้นที่ตัวธนาคารเท่านั้น สินเชื่อที่เป็นเงินให้ลูกค้านำไปใช้ในธุรกิจต่างๆ ก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่แตกต่างกัน เพราะจากการ ประเมิน portfolio สินเชื่อของธนาคาร พบว่า ในธุรกิจกลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มเหมืองถ่านหิน มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันกว่า 27% ของ Portfolio Emission ของธนาคารทั้งหมด ซึ่ง KBank ได้เริ่มดำเนินการวางแผนร่วมกันกับลูกค้ากลุ่มนี้และสร้างจุดเริ่มต้นที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และจะขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมอีก 2 กลุ่มธุรกิจในปี 2566
นอกจากนี้ กฤษณ์ยังเล่าถึงแนวคิดใหม่ที่น่าสนใจอย่าง SolarPlus ที่ธนาคารร่วมมือกับพันธมิตรสนับสนุนคนที่อยากรักษ์โลกแต่ลังเลเรื่องเงินลงทุน ด้วยการที่ธนาคารให้สินเชื่อแก่บริษัทพันธมิตรในการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟ ให้แก่เจ้าของบ้านในโครงการนำร่อง โดยที่เจ้าของบ้านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งค่าติดตั้งและค่าบำรุงรักษา อีกทั้งเจ้าของบ้านยังได้ประโยชน์จากการลดค่าไฟฟ้า 20% ในส่วนของการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์
นอกจากนี้ธนาคารยังรับซื้อไฟฟ้าในส่วนที่เหลือจากการใช้งานในบ้านเรือน ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจโซลาร์ฯ ที่เป็นพลังงานสะอาดได้ขยับขยาย ธนาคารเองก็ได้ Carbon Credit และเจ้าของบ้านไม่ต้องเสียเงินลงทุนติดโซลาร์ฯ แถมได้ประหยัดค่าไฟด้วย
ขยับมาส่วนของ Society ที่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และการสื่อสารกับลูกค้า กฤษณ์เริ่มต้นด้วยการยกสถานการณ์ปัจจุบันที่การเข้าถึงบริการทางการเงินทำได้สะดวกสบายมากขึ้นผ่านสมาร์ตโฟน ก่อนเสริมว่าในฐานะตัวกลางทางการเงิน ธนาคารก็พยายามทำให้ทุกคนทำธุรกรรมอย่างปลอดภัย โดยเน้นทั้งด้าน Privacy และ Human Rights เพราะความเชื่อใจที่ลูกค้ามีให้คือสิ่งที่ธุรกิจธนาคารหวงแหนที่สุด ทาง KBank จึงตั้งใจดูแลระบบธนาคารให้ปลอดภัยที่สุด และการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ล้วนต้องผ่านการยินยอมจากลูกค้าทุกครั้ง หากเกิดข้อผิดพลาดก็พร้อมเข้าไปช่วยแก้ไขทันที
แต่ขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าการทำธุรกรรมจะเข้าถึงง่ายขึ้นแล้วก็ตาม ในฐานะตัวแทนของ KBank กฤษณ์มองว่ายังมีเรื่องของสินเชื่อที่หลายคนยังเข้าไม่ถึง ทางธนาคารจึงค่อยๆ เข้าไปพัฒนาความสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านพาร์ตเนอร์ต่างๆ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือทางด้านสินเชื่อขยายการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าได้กว้างยิ่งขึ้นและทำให้ระดับของหนี้กับรายได้สมดุลกัน รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินและภัยทางไซเบอร์ให้กับลูกค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร
ปิดท้ายที่แนวคิด Governance ที่เน้นระบบบริหารจัดการภายในกับการสร้างความโปร่งใส ซึ่ง KBank เองก็ทำการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างๆ รวมถึงสร้างกระบวนการในการประเมินสินเชื่อว่ามีโครงการไหนที่มีโอกาสสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมบ้าง
โดยในปีนี้ สินเชื่อโครงการและเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไปทุกโครงการต้องผ่านกระบวนการประเมินสินเชื่อด้าน ESG ทั้งหมด ทั้งนี้หากมีโครงการใดที่ไม่ผ่านการพิจารณา ธนาคารก็ไม่ปล่อยให้ดำเนินการต่อไปได้ เพราะในตอนนี้ธนาคารเองก็ไม่ได้มองแค่เรื่องสินเชื่อและเครดิตเท่านั้น แต่มองถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมประกอบกันด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าทุกเม็ดเงินสินเชื่อที่ปล่อยออกไปไม่ได้สร้างผลกระทบเชิงลบให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่หรือแผนงานในอนาคต ทั้งหมดนี้ KBank ไม่ได้จะเปลี่ยนแค่องค์กรของตัวเองอย่างเดียวเท่านั้น แต่ธนาคารจะยินดีมากหากเกิดการตั้งคำถามว่า KBank จะสามารถสร้างความยั่งยืนในการดำเนินการธุรกิจธนาคารได้อย่างไร และธุรกิจอื่นๆ จะทำแบบนี้ได้อย่างไรบ้าง เพราะธนาคารเองก็มีความตั้งใจในการเป็นผู้นำในด้านนี้ทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กฤษณ์เน้นย้ำว่าเรื่องความยั่งยืน เป็นเรื่องที่รอไม่ได้ ก้าวแรกคือสิ่งที่สำคัญ และตอนนี้ KBank ได้เริ่มเดินก้าวแรกไปแล้ว และเราหวังว่าจะมีภาคธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก้าวเดินไปด้วยกันกับเราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่และขยายวงกว้างมากขึ้น และร่วมกันสร้างความยั่งยืนให้กับโลกต่อไป
ทั้งนี้ กฤษณ์ ในฐานะตัวแทน KBank ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามแผนนั้น ไม่ใช่การทำเพียงครั้งเดียวแต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่มีหยุด และ KBank เองไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว เพราะทั้งลูกค้าและพาร์ตเนอร์ก็ต้องมีความเข้าใจในส่วนนี้เพื่อเดินหน้าร่วมพัฒนาและเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน