“ว่ากันว่าใครก็ตามที่มีโอกาสเคยได้มาเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกินกว่าครึ่ง ถ้าได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่อื่นจะต้องอยากกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่อีกครั้ง”
นี่คือประโยคของ ตุ้ย-เนรมิต สร้างเอี่ยม นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของไทย อดีตผู้บริหารบริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการคอนโดมิเนียมแบรนด์ยูดีไลท์ โครงการบ้านบ้าน วิภาวดี 20 ที่ได้รับรางวัลโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อคุณภาพชีวิตดีเด่น ประจำปี 2562 ที่ไม่กี่ปีมานี้เขาเลือกที่จะวางตำแหน่งของเขาลง และย้ายชีวิตของเขากลับมาอยู่ที่เชียงใหม่ แถมยังเข้าซื้อกิจการโรงงานผักและผลไม้ดองเก่าแก่ของอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ยอดขายกำลังซบเซา
…เขาคิดอะไรของเขาอยู่
ไม่นานมานี้ตุ้ยได้ตอบข้อสงสัยนั้นด้วยการประกาศเปิดตัว ‘กาดเกรียงไกรมาหามิตร’ ตลาดของฝากที่รวมงานคราฟต์ สินค้ายะด้วยใจ๋ (ทำด้วยใจ) ของผู้คนในอำเภอแม่ริม ซึ่งตอนนี้กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก จนกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่ผู้คนต้องแวะเมื่อมีโอกาสมาเที่ยวที่อำเภอแม่ริม แถมการอุดหนุนสินค้าต่างๆ ของที่นี่ยังทำให้คุณได้มีส่วนร่วมช่วยส่งเสริมชุมชนต่างๆ ในอำเภอแม่ริมให้แข็งแรงยิ่งขึ้นอีกด้วย
คุณเนรมิตสามารถเนรมิตโรงงานผักและผลไม้ดองที่กำลังซบเซาให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งอย่างไร
วันนี้ตุ้ยจะพาคุณทำความรู้จักกับตลาดแห่งนี้ทุกซอกทุกมุม ตั้งแต่หน้าตลาดจนถึงท้ายตลาดที่เป็นเบื้องหลังการเกิดขึ้นของกาดเกรียงไกรมาหามิตร
กรุงเทพฯ-เชียงใหม่
นิยาย ความตาย ความรัก
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นจากความรู้สึกอยากกลับมาอยู่ที่เชียงใหม่…
“เดิมผมเป็นคนกรุงเทพฯ สมัยเป็นนักเรียนผมจะต้องนั่งรถข้ามสะพานพุทธทุกวันเพื่อไปโรงเรียน เวลาข้ามสะพานผมจะเห็นตึกต่างๆ ที่อยู่ริมน้ำ ก็เกิดความคิดกับตัวเองขึ้นมาว่าสักวันถ้าเรามีลูกแล้วได้บอกลูกว่าตึกนี้พ่อเป็นคนทำมันคงจะรู้สึกดีนะ หลังจากนั้นเลยทำให้ผมตัดสินใจที่จะเลือกเรียนด้านวิศวะ และต้องเป็นวิศวะโยธาเท่านั้น
“ทีนี้ผมเคยอ่านนิยายเล่มหนึ่งเกี่ยวกับความรักนักศึกษาในรั้วมหา’ลัยที่ดังมากๆ เป็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาเขียนบรรยาย มช. ไว้ได้โรแมนติกมากๆ เราไม่เคยเห็นหรอกตอนนั้น แต่จินตนาการภาพตามจากตัวหนังสือ เลยทำให้ตอนสอบเข้าผมตัดสินใจเลือกสมัครที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไว้ด้วย ซึ่งพอได้เข้าไปเรียน มช. ก็โรแมนติกจริงๆ อย่างในนิยาย มีอากาศหนาว ตอนเช้าหมอกลง ดอกไม้สีสันสวยงาม และวิวของดอยสุเทพ บรรยากาศแบบนี้ทำให้ผมหลงรักที่นี่ พอเรียนจบก็ตัดสินใจได้แล้วว่าต้องกลับมาอยู่ที่นี่ตอนแก่”
หลังเรียนจบ ตุ้ยได้เข้าไปทำงานเป็นวิศวกรโยธาอย่างที่ตั้งใจที่กรุงเทพฯ แต่ทำได้ไม่นานประเทศไทยก็เจอกับวิกฤตต้มยำกุ้ง งานก่อสร้างของบริษัทที่ทำก็แทบจะไม่เหลือ โชคดีที่ตอนเขาทำงานเป็นวิศวกร ตุ้ยมีโอกาสได้ใช้ระบบไอทีมาจัดการข้อมูลงานต่างๆ ในบริษัท ทำให้เจ้านายของเขาเสนอให้ตัวเขาลองเอาระบบซอฟต์แวร์นี้ไปขายกับบริษัทต่างๆ จากวิศวกรโยธา ตุ้ยจึงผันตัวเองมาเป็นคนขายซอฟต์แวร์และเป็นดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง
เขาต้องเรียนรู้เรื่องการตลาด การนำเสนอให้เจ้าของบริษัทต่างๆ ยอมซื้อระบบที่เขาขาย ซึ่งตุ้ยก็ทำหน้าที่ได้อย่างดี มีโอกาสได้เจอบริษัทใหญ่ในแทบทุกวงการธุรกิจของประเทศ โดยเฉพาะบริษัทอสังหาริมทรัพย์ กระทั่งเขามากทั้งความรู้และประสบการณ์ ต่อมาเมื่อเพื่อนชวนมาเป็นนักพัฒนาอสังหาฯ ความฝันที่จะได้สร้างตึกต่างๆ ของเขาก็กลับมาเป็นจริงอีกครั้ง และไปได้ด้วยดีจนเขาประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง มีโอกาสได้ไปบรรยายตามงานต่างๆ…ทุกอย่างดูไปได้สวย แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ตุ้ยต้องหยุดทบทวนตัวเองครั้งใหญ่
“จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของผมเกิดขึ้นตอนที่แม่ผมเสีย ตอนที่ทำอสังหาฯ ผมเป็นคนบ้างาน ทำจนความดันสูงมาก แต่เราไม่สน เราคิดว่ายังหนุ่มยังทำได้ ไม่มีใครตายเพราะงานหรอก คิดและก็ทำแบบนั้นมาเรื่อยๆ จนประสบผลสำเร็จ แต่แล้ววันหนึ่งแม่ผมป่วยเป็นตับแข็ง คุณแม่ผมไม่ใช่คนกินเหล้า แต่ที่บ้านเราเป็นร้านขายยา คุณแม่เป็นคนที่ทำมาหากินขยัน ฉะนั้น คุณแม่ผมเลยจะกลัวการเจ็บป่วยมาก พอเขารู้สึกเหมือนจะไม่สบายก็กินยากันไว้ก่อน ไม่ได้เป็นก็กินไว้ สุดท้ายยาที่กินไปจำนวนมากก็ลงไปที่ตับ
“ผมเห็นคุณแม่ตั้งแต่เริ่มป่วยจนแกจากไป คนเราเวลาเด็กๆ จะเริ่มตั้งแต่นอน แล้วก็คลาน เดิน และวิ่ง ส่วนคนแก่จะค่อยๆ ถอยย้อนกลับลงไปคลาน ลงไปนอน กระทั่งลุกไม่ไหว สิ่งนี้ทำให้ผมคิดว่าชีวิตคืออะไร ที่เราทำอยู่คืออะไร เราเคยคิดว่าบริษัทขาดเราไม่ได้หรอก เจ๊งแน่ๆ ต้องมีเรา เราต้องทำ เราเริ่มสงสัยแล้วว่ามันใช่รึเปล่า สุดท้ายผมก็คิดได้ว่าผมน่าจะต้องหาอะไรให้เกิดสมดุลกับชีวิต ความรู้สึกลึกๆ ที่อยากจะกลับมาอยู่เชียงใหม่ก็เลยกลับมา ผมเชื่อว่าเชียงใหม่คือสถานที่ที่จะทำให้ผมเจอสมดุลของชีวิต พอคุณแม่เสียเราก็ตัดสินใจลาออกจากงาน มาหาบ้านอยู่ที่เชียงใหม่
“ตอนคุณแม่เสีย ผมตกผลึกได้ว่าบั้นปลายชีวิตของเราต้องการแค่ 5 เรื่องเท่านั้น คือ ขอให้ตัวเรากินได้ เพราะเราเห็นคุณแม่กินไม่ได้ อันที่สองนอนได้ เราเห็นคุณแม่นอนไม่หลับ มันเจ็บปวด เรื่องที่สาม เดินได้ เราเห็นคุณแม่เดินไม่ได้ พอเดินไม่ได้ต้องพึ่งคนอื่นจิตใจมันย่ำแย่มากเลยครับ เราเป็นมนุษย์อยู่รึเปล่า เราช่วยอะไรตัวเองไม่ได้เลย อันที่สี่คือ อยากมีเพื่อนแต่ไม่ต้องเยอะ พอเราทำงานในตำแหน่งสูง เราก็จะมีสังคม มีเพื่อนเยอะ แต่เป็นเพื่อนในเชิงธุรกิจ เพื่อนจริงๆ คือใคร เราถามตัวเองแล้วลิสต์ออกมาก็พบว่ามันไม่เยอะหรอก มีอะไรเราบอกมันได้โดยที่เราสบายใจ วันที่เราตายฝากฝังกับมันได้ หรือวันที่มันตายก็ฝากฝังกับเราได้ และข้อที่ห้า ทำให้งานมีคุณค่าต่อคนอื่น
“นี่คือหัวใจสำคัญ งานที่ทำให้คนอื่นมีความสุขเป็นสิ่งที่สำคัญมากนะครับ มันทำให้ตัวเรารู้สึกมีค่า ทำให้เราอยากตื่นเช้าขึ้นมาทุกวัน มันน่าตื่น ไม่จำเป็นต้องถึงสิบล้านคน แค่หนึ่งคนคุณก็อยากตื่นมาแล้ว และถ้าเพิ่มไปได้อีก คุณก็จะยิ่งมีพลัง นี่คือหัวใจสำคัญที่ทำให้เราอายุยืนสำหรับผม ซึ่งผมก็นำมาใช้กับการทำกาดเกรียงไกรมาหามิตร”
ดองให้เป็นปกติ
ช่วงที่ตุ้ยเริ่มเดินทางมาเชียงใหม่เพื่อหาบ้านสำหรับบั้นปลายชีวิตของเขา ตุ้ยมีโอกาสได้รู้จักกับคุณลุงเกรียงไกร ผู้เป็นเจ้าของโรงงานผักและผลไม้ดองเก่าแก่ของอำเภอแม่ริม
“ตอนตัดสินใจจะย้ายมาอยู่เชียงใหม่ ผมต้องหาอะไรไว้ทำตอนแก่ ที่ไม่ยุ่งยากเท่าอสังหาฯ ซึ่งผมมีเรื่องสงสัยอยู่ในใจมานานแล้วว่า ทำไมคนทำเกษตรในไทยถึงไม่รวย ทำไมที่ญี่ปุ่นเขารวยกัน เราเลยอยากลองทำให้คนอื่นเห็นว่ามันทำให้รวยได้ ตอนแรกผมคิดอยากจะทำตั้งแต่ต้นน้ำ คือเริ่มตั้งแต่ปลูกเองเลย แต่แล้ววันหนึ่งคุณลุงเกรียงไกรก็มาเสนอขายโรงงานผักดองของเขากับผม ซึ่งเป็นกลางน้ำ เป็นการแปรรูปผลผลิตอีกที ผมก็เลยมองว่าน่าสนใจ ถ้าเราปรับกลางน้ำให้ดีได้ สร้างมูลค่าได้ พอไปทำต้นน้ำต่อไปก็จะง่ายละ แต่ถ้าไปทำต้นน้ำเลยอาจจะยากกว่า เราก็เลยตัดสินใจซื้อที่นี่”
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ตุ้ยตัดสินใจซื้อโรงงานผักและผลไม้ดองอายุเก่าแก่แห่งนี้ที่มียอดขายซบเซาลง
“ทุกวันนี้บางคนมองผักและผลไม้ดองในแง่ลบ เพราะบ้านเรามีของสดเยอะ เราเลยมองของดองเป็นเรื่องไม่ดี แต่บ้านเรากลับไปชอบแฮม เบคอน ซึ่งเป็นของหมักดองนะ เป็นของแปรรูป เราไปจ่ายกิมจิถ้วยหนึ่งตั้งเท่าไหร่ แต่ทำไมของดองบ้านเราถึงไม่มีราคา ถึงไม่กินกันล่ะ ซึ่งของดองถ้าดองอย่างมีคุณภาพมันมีประโยชน์ต่อการย่อย ต่อลำไส้ นะครับ
“ผมเลยมีความตั้งใจที่อยากทำของดองให้เป็นเรื่องปกติของผู้คน ผมเชื่อว่าโลกในอนาคตของสดจะลดน้อยลงเรื่อยๆ ทุกวันนี้ภาวะอากาศโลกแปรปรวนมาก เราไม่มีทางคาดเดาผลผลิตทางเกษตรได้ว่าปีนี้จะเท่าไหร่ ปีหน้าจะลดกว่าเดิมไหม ถ้าท้ายที่สุดมันจะไม่พอล่ะทำไง
“อย่างที่เกาหลีเขาทำกิมจิเพื่อเก็บไว้กินตอนหน้าหนาว เพราะหน้าหนาวเขาปลูกผักอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นอีกหน่อยคนไทยก็ปฏิเสธของดองไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรจะกิน อาหารสดจะร่อยหรอไปเรื่อยๆ น้ำก็มีปัญหา อากาศก็มีปัญหา ผมเลยเชื่อว่าของดองจะมา”
วันที่ซื้อขายโรงงานคุณลุงเกรียงไกรตกลงกับตุ้ยว่าจะอยู่ช่วยเขาเรียนรู้เรื่องการดำเนินกิจการโรงงานเป็นเวลา 1 ปี แต่ 3 เดือนหลังจากนั้นคุณลุงเกรียงไกรก็เสีย
“ผมยังไม่ทันได้เรียนรู้อะไรเลยครับ แต่โชคดีมีคนที่มีความรู้จากคุณเกรียงไกรอยู่ เราก็อาศัยเรียนจากคนนี้ ผมชอบคิดอย่างนี้นะ ชีวิตผมต้องลำบาก ต้องตกต่ำ ตกน้ำก่อนมันถึงจะขึ้น พอเจอภาวะนี้สมองมันจะทำงานเต็มที่ ผมมีความรู้สึกอย่างนี้นะครับว่ามหา’ลัยคือสถานที่ที่สอนวิธีคิดให้กับเรา ตราบใดที่เรารู้วิธีคิดเราจะทำอะไรก็ได้ จากวิศวกรโยธา มาทำงานไอที มาทำอสังหาฯ จนมาจบที่ดองกระเทียม” ตุ้ยหัวเราะสนุกหลังแซวตัวเอง
ทำโรงงานของดองให้เป็น Outlet
เมื่อเข้ามารับช่วงต่อกิจการโรงงานจากคุณเกรียงไกร สิ่งแรกที่ตุ้ยเริ่มปรับคือเรื่องของ Flow การทำงาน หลังจากที่เขาพบว่าพื้นที่ของโรงงานนี้มีทั้งหมด 7 ไร่ แต่พื้นที่จำนวนมากกลับไม่ถูกใช้ประโยชน์
“ผมตั้งโจทย์ว่า จริงๆ เราต้องใช้พื้นที่เท่าไหร่ เราก็เริ่มมาดูว่าพื้นที่ส่วนใหญ่หมดไปกับการกองถังใหญ่ๆ แต่การทำงานจริงๆ มันใช้ไม่ถึงหรอก เนื่องจากที่เขามีเยอะ ตอนนั้นเขาก็คงไม่ได้คิดอะไร ซึ่งมันทำให้เกิด Movement Waste ต้องเดิน ต้องเคลื่อนที่เยอะ
“การเข็นถังใบหนึ่ง สมมติวันหนึ่งเข็นสิบรอบ รอบละสิบนาทีเป็นร้อยนาที ก็ชั่วโมงกว่าละ ทำงานแปดชั่วโมง เข็นอยู่ชั่วโมงกว่ามันเสียเปล่า เราก็กลับมาคิดว่าต้องทำยังไงให้ไม่ต้องเข็น หาเหตุผลการวางตำแหน่งของต่างๆ ค่อยๆ ย้ายจนเจอจุดที่เหมาะสม ที่จะประหยัดที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด ท้ายที่สุดเราต้องการพื้นที่สำหรับทำผักและผลไม้ดองแค่สามร้อยตารางเมตรเท่านั้นเอง และเรายังได้ที่ข้างหน้าโรงงานเพิ่มสามไร่”
เมื่อได้พื้นที่เพิ่ม ตุ้ยก็เริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ เขาตัดสินใจเปลี่ยนร้านด้านหน้าโรงงานที่เดิมลุงเกรียงไกรไว้ขายของในโรงงาน ทำเป็น Outlet ขายผลิตภัณฑ์ในโรงงานไว้ให้คนที่มาเที่ยวแม่ริมได้แวะซื้อเป็นของฝาก โดยออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้ดียิ่งขึ้น
“ผมไม่ได้มองว่าจะทำแพ็กเกจจิ้งให้ตอบแค่ลุคแอนด์ฟีลอย่างเดียว เพราะผมว่าเราต้องตอบฟังก์ชันด้วย สมมติผมทำถุงมา ผมเรียกว่าถุงซิปล็อกแดง ผมมองว่าผลไม้ดองที่เขาซื้อไปสมมติสี่ร้อยกรัม ถ้ากินคนเดียวเขาไม่มีทางกินมันหมดภายในวันเดียวหรอก ผมเลยคิดว่าถ้าเอาถุงซิปล็อกมาใช้ เขาปิดไว้ก่อนแล้วค่อยกินต่อก็ได้ แต่ถ้าลูกค้าใช้หนังยางรัดมันไม่แน่นเท่า ของข้างในก็จะเสีย
“แต่หลายอย่างที่ดีอยู่แล้วผมจะไม่เปลี่ยน เพราะผมเองก็เคารพในสิ่งที่ลุงเกรียงไกรเคยทำมาอยู่แล้ว ฉลากบางอันที่มีความคลาสสิกเราก็คงไว้ แค่ปรับปรุงนิดหน่อย อย่างกระเทียมดองอันนี้ สังเกตไหมครับว่าเขาจะวางเรียงโดยเอาก้านหันเข้าตรงกลางโหล และเอาตัวกระเทียมออกด้านหน้ารอบโหล เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจและคุณภาพการดองของที่นี่”
เมื่อมี Outlet ให้คนมาซื้อผลิตภัณฑ์ของโรงงานได้โดยตรงจากโรงงาน ตุ้ยยังคงมองต่อเมื่อพบว่าลูกค้าจำนวนมากที่มา หลายคนเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางท่องเที่ยว อาจจะเพิ่งลงมาจากม่อนแจ่มในอำเภอแม่ริม หรือบางคนก็รอคนในครอบครัวเดินเลือกซื้อสินค้า ตุ้ยพบว่าเขาขาดการบริการเครื่องดื่มหรือสถานที่ให้คนได้พัก ถ้าจะทำคาเฟ่ไว้ใน Outlet ที่ก็เล็กเกินไป แล้วสายตาของเขาก็มองไปเห็นอาคารหลังใหญ่ที่ไม่ได้ถูกใช้งาน หลังจากเขาจัดการเรื่องการใช้พื้นที่ของโรงงานผลิตไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การนำคาเฟ่มาไว้ภายในอาคารนั้นก็ยังคงมีพื้นที่เหลืออีกมาก
ในสายตาของนักพัฒนาอสังหาฯ เขาจึงเกิดไอเดียที่จะใช้พื้นที่นี้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด และประโยชน์นั้นจะต้องตอบหลักข้อที่ 5 ซึ่งเป็นหัวใจของเขา นั่นคือการทำให้มันมีคุณค่าต่อคนอื่น และนี่เองจึงเป็นที่มาของ ‘กาดเกรียงไกรมาหามิตร’
“เดิมที่ตรงนี้ไว้ใช้สำหรับวางไหดองผักจำนวนห้าหมื่นใบครับ วางซ้อนกันขึ้นไป ถ้าลองจินตนาการดูมันจะต้องสูงมากๆ เป็นภาพที่หลายคนไม่เคยเห็น มันน่าสนใจ ผมอยากจะนำการดองด้วยไหกลับมาด้วย แต่ตอนที่ผมมาซื้อคุณลุงเกรียงไกรขายออกไปหมดแล้ว ผมพยายามตามหาซื้อกลับมาแต่ก็ได้แค่สามพันใบ ใบที่ยังสภาพดีเราก็นำไปใช้ดองผัก ส่วนใบที่มีรอยแตกเราก็นำมาตกแต่งอาคาร ทำเป็นจุดให้คนถ่ายรูป
“เราพยายามเก็บความเดิมของอาคารไว้ ร่องรอยอะไรต่างๆ เราแค่ทำความสะอาดเท่านั้น ช่องลมตรงผนังที่เห็นก็มีอยู่เดิมแล้วครับ เพราะที่นี่ไว้ใช้สำหรับวางไหดอง มันต้องอาศัยลมถ่ายเท ไม่โดนแดด พื้นที่เป็นกรวดที่เราเหยียบอยู่นี้ เราเอามาโรยไว้ครับ ข้างล่างจริงๆ เป็นดิน เพื่อทำให้ภายในอาคารนี้เย็นเหมาะกับการดอง ที่นี่จึงมีอากาศถ่ายเท ไม่ดูอึดอัด
“พอเป็นกาดผมเชื่อนะครับว่าคนเราถ้าร่างกายได้สัมผัสกับลมพัด เขาจะรู้สึกโอเค นอกจากช่องลมจำนวนมากที่ช่วยแล้ว ผมเลยตัดสินใจติดพัดลมใหญ่บนเพดานอีกตัว เพราะผมเชื่อว่าเราไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องแอร์ และที่นี่ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ คนนั่งกันอยู่ด้านนอกห้องแอร์มากกว่า”
ยะด้วยใจ๋ ยะโดยคนแม่ริม
“เมื่อเดินเข้ามาในอาคาร ทุกคนจะเจอกับหลองข้าว ผมอยากเอาหลองข้าวมาไว้เพราะผมมีความรู้สึกส่วนตัว สมัยก่อนเกษตรกรปลูกข้าว เขาจะเก็บข้าวที่จะกินไว้ในหลองและขายที่เหลือออก แต่ปัจจุบันคนขายหลองข้าวออก แล้วก็ขายข้าวออกทั้งหมด สมมติขายข้าวออกไปกิโลละสี่บาท แต่เวลากลับไปซื้อมากิน มันตกกิโลละสี่สิบ สามสิบหกบาทที่เพิ่มมาจากค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่ง ค่าการตลาด เราก็อยากจะทำหลองข้าวกลับมาเตือนใจว่า หลายสิ่งหลายอย่างบางทีเราก็ควรจะทำเอง ถ้าทำได้เราก็ควรทำ เหลือก็ค่อยปล่อยสู่ตลาด”
แนวคิดจากหลองข้าวได้ขยายออกมาเป็นหัวใจของการเลือกเฟ้นร้านต่างๆ ภายในกาด โดยตุ้ยตั้งใจที่จะเน้นร้านที่ทำผลิตภัณฑ์ด้วยมือตนเอง เป็นงานคราฟต์ ตั้งแต่ขนม สบู่ เสื้อผ้า กระเป๋า ผักปลอดสาร คอมบุฉะ และอีกมาก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นคอนเซปต์ ‘ยะด้วยใจ๋’ ของที่นี่
“กรอบใหญ่ๆ ในการคัดร้านค้าภายในกาดก็คือ ยะด้วยใจ๋ หนึ่งคือ ต้องทำเอง ทำด้วยใจ ไม่เอาซื้อมาขายไป สองคือ ต้องเป็นคนในแม่ริม ถ้าบางอย่างเราหาที่แม่ริมไม่ได้จริงๆ ก็จะเป็นอำเภอโดยรอบ เพราะเราอยากให้คนที่มาได้สนับสนุนคนที่นี่ ในเมื่อโรงงานของเรากาดของเราตั้งอยู่ที่อำเภอแม่ริม มันก็ควรที่จะต้องให้อะไรตอบแทนกับแม่ริมครับ หลักข้อที่สามคือ คนสูงอายุ อย่างที่ผมเคยเล่าไปเรื่องหลักข้อที่ห้าของผม ความมีค่า ผมอยากให้คนสูงอายุที่เกษียณแล้วเขาได้มีอะไรทำ ให้เขาได้รู้สึกว่าตัวเองมีค่าอยู่
“อย่างร้านพายมะพร้าวของแม่แดงที่ขายอยู่ที่นี่ แม่แดงติดต่อเรามาทางออนไลน์ ทันสมัยมาก ผมขอนัดแกมาเจอกัน ก็ถามแกว่าจะขายอะไร แม่แดงบอกพายมะพร้าว ผมถามว่า ทำไมต้องพายมะพร้าว เขาบอกว่า เขารักที่จะทำพายมะพร้าว พอผมได้ชิมเข้าไปคำแรก ผมถามว่า แม่แดงขายเท่าไหร่ ขายสี่สิบบาท
“ผมเรียกพวกลูกน้องมาลองชิมแล้วให้ทายว่าควรราคาเท่าไหร่ คนหนึ่งบอกเจ็ดสิบ อีกคนบอกร้อยยี่สิบก็มี พอแม่แดงได้ยินก็ตกใจ มันจะขายได้เหรอ ถ้าแม่แดงเชื่อว่ามันขายได้ มันก็จะขายได้ แต่มันต้องปรับอะไรอีกนิดหน่อย พายมะพร้าวแกทำแป้งเอง มะพร้าวกัดเข้าไปอร่อยมาก แกคัดมาแต่ละลูกดีมาก ไม่เกี่ยงราคาเลย แต่แกไม่รู้ว่าพายที่แกทำขึ้นมามีคุณค่าขนาดไหน และผมเชื่อว่าทุกคนที่ได้มาลองทานพายของป้าแดงจะต้องชอบ และเข้าใจสิ่งที่ผมเล่าไป แม่แดงเองก็มีความสุข เพราะเขาได้ทำในสิ่งที่รัก และรู้สึกตัวเองมีค่า ซึ่งมันสำคัญมากสำหรับคนสูงอายุนะครับ”
กาดรวมมิตร เป็นมิตรกับชุมชน
นอกจากพ่อค้าแม่ค้าในอำเภอแม่ริมที่มาออกบูทกัน ภายในกาดบริเวณชั้นแรกยังมี ‘ร้านมินิม่วน’ (Minimuan) ร้านขายขนมไทยที่ตุ้ยและทีมกาดเกรียงไกรฯ ไปเฟ้นหากันจากทั่วอำเภอแม่ริม กับน้ำแข็งไสรสต่างๆ
“เราอยากทำเป็นร้านขนมไทย เพราะผมนึกถึงขนมญี่ปุ่น เขาจะมีขนมถั่วห่อแป้ง แป้งห่อถั่ว กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ แต่มันขายได้แพง แต่ขนมไทยคนทำต้องอดทนหลังขดหลังแข็ง แต่ทำไมถึงขายไม่ค่อยได้ราคา เราเลยอยากทำขนมไทยให้กลับมาอยู่ในใจของคนอีกครั้ง โดยการไปตามหาขนมไทยที่ป้าๆ แม่ๆ ที่มีฝีมือดีทำ เราใช้วิธีซื้อขาด พวกเขาจะมีรายได้ทุกวันแน่นอน แล้วนำมาจัดวางใหม่ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น
“ชั้นสองจะเป็นที่ตั้งของร้านอาหารชื่อ NOW Social ซึ่งตุ้ยได้ชวน เชฟกิ๊ก-กมล ชอบดีงาม เจ้าของร้านอาหารชื่อดัง ‘เลิศทิพย์’ มาร่วมสร้างสรรค์เมนูน่าสนใจจากวัตถุดิบท้องถิ่นแม่ริมให้เกิดขึ้นภายในกาด
“คำว่า NOW ย่อมาจาก Nouvelle Oriental Wisdom ก็คือภูมิปัญญาตะวันออกที่ปรับให้สมัยใหม่ เป็นร้านอาหารที่มีคอนเซปต์นำเอาวัตถุดิบของโรงงานเรา พวกผลไม้ดอง กระเทียม บ๊วย ท้อ มะนาว ขิงดองต่างๆ มาสร้างสรรค์บวกกับวัตถุดิบท้องถิ่นของแม่ริม”
ถัดไปส่วนชั้นที่สามเป็นที่ตั้งของ ‘ภูเขาไหแกลเลอรี่’ ซึ่งตุ้ยมองว่าเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีศิลปินอยู่จำนวนเยอะมาก แต่หลายครั้งสถานที่จัดแสดงงานสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ที่ฝีมือดีแต่ยังไม่มีชื่อเสียงกลับน้อย พื้นที่ตรงนี้จะช่วยเปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้มีสถานที่แสดงงานของพวกเขาให้คนได้รู้จักมากขึ้น
บริเวณลานกลางอาคารที่เป็นที่ตั้งของหลองข้าว ที่ตุ้ยตั้งใจไว้เตือนใจให้คนหันมาพึ่งตนเอง เมื่อมองจากมุมคนรุ่นใหม่ เขาพบว่าเด็กๆ เริ่มไม่รู้จักและไม่เคยเห็นหลองข้าวกันแล้ว จะทำยังไงให้เขามาสนใจ
“ผมพยายามคิดว่าเด็กรุ่นใหม่เขากำลังสนใจอะไร นั่นก็คือ ญี่ปุ่น ซึ่งผมมองว่ามีความใกล้เคียงกับเรา เขาก็มียุ้งฉางสถานที่เก็บข้าวเหมือนกัน เขาก็ปลูกข้าว เขาเรียกว่า โกเมกุระ เราก็เลยตั้งชื่อร้านเป็น โกเมกุระ เอาความเป็นญี่ปุ่นมาผสมกับหลองข้าวแบบล้านนา ด้านล่างเป็นเอสเปรสโซ่บาร์ ข้างบนเป็นที่นั่งสไตล์ญี่ปุ่น มีสวนญี่ปุ่นอยู่ในหลองข้าวด้วย เขาจะได้สัมผัสกับหลองข้าว”
ทุกอย่างภายในกาดเกรียงไกรมาหามิตรตุ้ยตั้งใจที่จะทำให้ที่แห่งนี้สร้างประโยชน์ให้กับแม่ริมทั้งในแง่ของคุณค่าและมูลค่า ที่สามารถกระจายไปถึงชุมชนต่างๆ ได้
“ที่กาดเกรียงไกรมาหามิตร ผมตั้งใจที่จะให้ร้าน Minimuan ร้านอาหาร NOW Social ชั้นสอง ร้านกาแฟ ซึ่งเป็นส่วนที่เราทำเอง เราจะเอารายได้หนึ่งเปอร์เซ็นต์ไปให้ชุมชน พอเราประกาศไอเดียนี้ออกไป ปรากฏว่าพ่อค้าแม่ค้าในกาดของเราก็ขอมาร่วมด้วย ผมรู้สึกดีใจอย่างมากเลย ผมต้องการที่จะให้เงินเหล่านี้กระจายไปสู่ชุมชนในแม่ริมให้ได้มากที่สุด”
Kad Kriengkrai Model
“มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมตั้งใจทำกาดแห่งนี้ขึ้นมา สมัยก่อนคนมาเชียงใหม่เขาจะต้องซื้อลูกท้อ ซื้อกระเทียมกลับไปกันนะครับ เพราะเชียงใหม่เป็นแหล่งปลูกกระเทียมเยอะที่สุด แต่วันนี้คนซื้อกระเทียมที่ไหนก็ได้ มันเหมือนกับที่ผมไม่เห็นด้วยที่ทุเรียนจะถูกปลูกไปทั่วประเทศ หรือต้นยางอยู่ทั่วประเทศ ถ้าเป็นญี่ปุ่นเขาไม่ทำโมเดลนี้แน่ ญี่ปุ่นถ้าคุณอยากกินอะไรต้องไปที่นั่นเท่านั้น มันทำให้เกิดการเดินทาง การท่องเที่ยว และกระจายเงินออกไปสู่แต่ละท้องที่
“แต่ไทยเราไม่ได้บริหารแบบนั้น เราอยากกินอะไรเราได้หมดทุกอย่าง มันก็มีข้อดี ลูกค้าสะดวก แต่ทุกอย่างจะหมดคุณค่าลง มันไม่มีประสบการณ์ มันง่ายไปหมด พอง่าย มันจะตามมาด้วยราคาลงไปเรื่อยๆ จนคนผลิตอยู่ไม่ไหว ไม่ไหวก็ต้องตาย คนก็จะไม่มีอะไรกินต่อ เช่นเดียวกันกับร้านขายของชำที่ตายไปเกือบหมดแล้วตอนนี้ เพราะการเกิดขึ้นของมินิมาร์ตเจ้าใหญ่ๆ เดิมร้านของชำเขาก็ไปหาซื้อจากผู้ผลิตในชุมชนต่างๆ เงินที่เขาจ่ายไปมันก็จะไปกระจายอยู่ในชุมชน แต่ถ้าเราเข้ารายใหญ่ เงินมันก็ไปเลย ไม่กระจายไปไหน ผมมองว่านี่เป็นปัญหาที่เราควรมองในวันนี้นะครับ
“ถ้าการเกิดขึ้นของกาดเกรียงไกรมาหามิตรสามารถเป็นตัวอย่าง เป็นสังคมเล็กๆ ให้เงินมันหมุนอยู่แค่ในแม่ริม กระจายไปหาผู้คนต่างๆ สู่ชุมชน หมุนไปถึงคนผลิต นี่คือหัวใจ เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
“คำว่า กาด หรือตลาด สำหรับผมมันไม่ใช่สถานที่ซื้อขายของ สำหรับผมตลาดคือสถานที่ที่มิตรมาคุยกัน แล้วมีของมาแลกเปลี่ยนกัน สมัยก่อนเป็นแบบนั้น สมัยนี้เราใช้เงินเป็นตัวกลาง แต่มันก็คือการแลกของกับของอยู่ดี ผมคิดว่ากาดที่ดี ที่ยั่งยืน เวลาเราไปกาดเก่าๆ จะเห็นว่าแม่ค้าเขาจะคุยกัน คนซื้อก็ไปทักทายแม่ค้า ไม่ได้คุยกันเรื่องสินค้านะ แต่คุยเรื่องสัพเพเหระเลย มันคือสมาคม มันคือสังคม ผมอยากให้ที่นี่เป็นสังคม เป็นสังคมที่ดี เท่ ร่วมสมัย เด็กรุ่นใหม่มาอยู่ร่วมกับคนเก่าแก่ก็ได้ คนเก่าแก่ก็อยู่ร่วมกับเด็กรุ่นใหม่ได้ ไม่มีช่องว่างระหว่างวัย ผมจึงตั้งชื่อห้อยท้ายที่นี่ว่า มาหามิตร ที่มาจากการมาหามิตร และอีกความหมายก็คือ มิตรที่ยิ่งใหญ่
“หากใครอยากจะมาก๊อบปี้โมเดลของกาดแห่งนี้เอาไปใช้กับชุมชนอื่นๆ ผมยินดีมากเลยนะครับ มันจะกลายเป็นคุณค่าที่ส่งต่อไปเรื่อยๆ แค่นี้ผมก็มีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำไว้แล้ว”