ย้อนกลับไปในช่วงเวลานี้ของปีที่แล้วพอดี ก่อนที่พายุโควิด-19 จะเคลื่อนตัวเข้าถล่มประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เรายังเป็นนักศึกษาปริญญาโทด้านการจัดการเพื่อความยั่งยืนอยู่ในมหาวิทยาลัยประจำเมืองมัลเม่อ (Malmö) ที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ เมืองที่เรากับเพื่อนๆ คนไทยตั้งชื่อเล่นให้ว่า ‘หาดใหญ่สวีเดน’ เพราะมันเป็นเมืองใหญ่ที่มีทุกอย่างเหมือนเมืองหลวง แม้จะมีอย่างละนิดละหน่อย แต่เราไม่เคยรู้สึกว่าการใช้ชีวิตในมัลเม่อเหมือนขาดอะไรไป เว้นแค่อย่างเดียว…
หิมะ
จากบ้านที่เมืองไทยไปเรียนไกลถึงสวีเดน เราอดหวังไม่ได้หรอกว่าจะได้ใช้ชีวิตท่ามกลาง White Winter ได้เดินทางไปเรียนท่ามกลางหิมะฟูๆ นุ่มๆ ดูสักครั้ง แต่เอาเข้าจริงหาดใหญ่สวีเดนนั้นไม่ได้มีหิมะเยอะอย่างที่คิด ตามสถิติแล้วหิมะตกแค่ปีละไม่ถึง 10 วัน
ซ้ำร้ายปี 2018 – 2019 ยังเป็นปีที่ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างหนักในภูมิภาค ในฤดูร้อนเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ แล้วจะเอาอะไรมาหวังว่าจะมีหิมะนุ่มๆ ในฤดูหนาว
และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้เรากับเพื่อนสาวชาวเบลเยียมวางแผนมุ่งหน้าขึ้นเหนือเพื่อหวังไปนอนกอดหิมะให้สาแก่ใจ
ปลายทางของทริปสองสาวนักศึกษาครั้งนี้อยู่ที่เมืองคีรูน่า (Kiruna) เมืองขนาดเล็กที่อยู่เหนือสุดของประเทศสวีเดน ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นภูเขาปกคลุมด้วยหิมะและป่าสน และเป็นเมืองชายแดนติดเมืองนาร์วิก (Narvik) ประเทศนอร์เวย์
นอกจากนี้ บริเวณที่ตั้งของเมืองคีรูน่ามีชื่อเรียกในหมู่นักเดินทางว่า Swedish Lapland ซึ่งเป็นบริเวณที่มีโอกาสมองเห็นแสงเหนือในตำนานอีกด้วย แต่น่าเสียดายที่ช่วงเวลาที่เราเดินทางไม่ใช่ฤดูกาลล่าแสงเหนือ จึงอดไปตามระเบียบ
เราตั้งใจใช้สิทธิ์ความเป็นนักศึกษาให้เต็มที่ จึงจองทริปราคาประหยัดกับเอเจนซี่ที่ให้บริการทริปสำหรับนักเรียนโดยเฉพาะ ทำให้ได้ทริปที่มีหมุดหมายสมใจอยากในราคาน่ารักน่าเอ็นดู
ทั้งการเล่นเลื่อนหิมะกับเหล่าน้องหมาฮัสกี้ เยี่ยมชมฟาร์มเรนเดียร์ของชนพื้นเมือง เดินชมเขตเหมืองเหล็กเก่าตั้งแต่สมัยสงครามโลก ข้ามชายแดนไปแช่ทะเลสาบที่ไม่มีวันเป็นน้ำแข็ง สิริรวมค่าเดินทาง ที่พัก 4 คืนในสกีรีสอร์ต และกิจกรรมอยู่ที่ราวๆ 15,000 บาทเท่านั้น ไม่ไปตอนนี้ก็ไม่รู้จะไปตอนไหน เรากับเพื่อนกดจ่ายเงินไปโดยไม่ลังเล โดยไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังจะต้องเจอกับอะไร
คีรู่น่าอยู่ห่างขึ้นไปทางเหนือแบบไกลสุดกู่ ขนาดเราเลือกที่จะนั่งรถไฟนาน 5 ชั่วโมงจากมัลเม่อไปถึงสตอกโฮล์ม (Stockholm) เพื่อร่นระยะเวลาในการนั่งรถบัสแล้ว เราก็ยังต้องใช้เวลาอีก 20 ชั่วโมงบนรถบัสจากสตอกโฮล์มก่อนจะถึงคีรูน่า
ตลอดเส้นทางเดินรถเป็นภูเขา ถนนที่เป็นน้ำแข็ง และยิ่งมุ่งหน้าขึ้นเหนือ หิมะก็ยิ่งโปรยตัวลงมาหนักขึ้น ทำให้รถบัสต้องหยุดพักเป็นระยะ อาการของเราและเพื่อนตอนรถเทียบท่าที่สกีรีสอร์ตใกล้เคียงกับการเป็นแผลกดทับ เราได้แต่มองหน้ากันพลางคิดว่า โอกาสหน้าขึ้นเครื่องบินมาเถอะ!
หลังจากได้นอนพักให้อาการแผลกดทับทุเลาลงไปคืนหนึ่ง เช้าวันรุ่งขึ้นก็ถึงเวลามุ่งหน้าไปผ่อนคลายกับแก๊งหมาฮัสกี้ที่ฟาร์ม ต้องออกตัวตรงนี้เลยว่า แรกสุดเราเคลือบแคลงใจไม่น้อยต่อจริยธรรมในการเลี้ยงหมาเอาไว้ลากเลื่อนและใช้งานหนัก แต่เมื่อไปถึงฟาร์มก็มีผู้ดูแลให้ความกระจ่างถึงวิธีการดูแลน้องหมาของพวกเขา
เจ้าฮัสกี้เหล่านี้ไม่ใช่ไซบีเรียนฮัสกี้แบบที่เราคุ้นเคย แต่เป็นสวีดิชฮัสกี้ที่ขนาดตัวเล็กกว่า ปราดเปรียวและแข็งแรงมาก สวีดิชฮัสกี้เป็นสายพันธุ์พื้นถิ่นที่อาศัยอยู่ในเขตภูมิอากาศหนาวเย็น พวกมันจึงต้องการการออกแรงและใช้พลังงานเพื่อทำให้ร่างกายอุ่นอยู่เสมอ
ก่อนจะมีการตัดถนนหรือระบบขนส่งสาธารณะ การใช้สุนัขลากเลื่อนเป็นวิธีการเดินทางหลักของคนพื้นถิ่นในคีรูน่า ถ้าจะเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับที่คนไทยสมัยก่อนพายเรือในคลองนั่นแหละ
นอกจากนี้ อาหารหลักของพวกเจ้าสวีดิชฮัสกี้ตั้งแต่อดีตก็คือเนื้อที่มีไขมันแทรกอยู่เยอะ อย่างปลาแซลมอน ในฟาร์มเองก็ยังให้แซลมอนสดเป็นอาหารอยู่เช่นกัน เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าหมาจะมีสุขภาพสมบูรณ์ นอกจากนี้ ฟาร์มจะรับแขกแค่วันละ 2 รอบ (เช้า-บ่าย) และใช้หมาคนละชุดในการลากเลื่อน เพื่อไม่ให้น้องหมาทำงานหนักจนเกินไป
เมื่อเรื่องที่ข้องใจถูกไขกระจ่างแล้ว เราจึงเดินไปเปลี่ยนชุดเป็นชุดลุยหิมะอย่างสบายใจ เพื่อเตรียมไปท่องทุ่งหิมะกับเพื่อนๆ ขนฟูกัน
ความเท่อีกอย่างก็คือ ระหว่างที่เจ้าหมาลากเลื่อนไปรอบทุ่งหิมะ ระยะทางไม่น่าจะน้อยกว่า 5 กิโลเมตร แต่เราไม่เห็นคุณผู้ดูแลชี้ทางให้พวกมันเลย พอลองถามดูจึงรู้ว่าพวกมันรู้เส้นทางเองจากรอยเท้าและกลิ่นของเพื่อนหมาที่เคยวิ่งมาก่อนหน้านี้ สังเกตดีๆ จะเห็นว่าบนหิมะตลอดทางมีคราบสีเหลือง นั่นก็คือฉี่น้องหมาที่เอาไว้บอกทางกันนั่นเอง
และนี่คือที่มาของคำเตือนที่เราจำได้ขึ้นใจตลอดทริปว่า “อย่าลองชิมหิมะสีเหลือง”
บ่ายวันเดียวกันเป็นวิชาประวัติศาสตร์เมืองคีรูน่า ซึ่งไกด์ทัวร์พาเรากลับเข้ามาในตัวเมืองอีกครั้ง ถึงจะบอกว่าเป็นตัวเมืองแต่ให้อารมณ์เหมือนเดินอยู่ในหมู่บ้านซานตาคลอสที่เต็มไปด้วยหิมะเสียมากกว่า
ในความเป็นจริงแล้ว เมืองซานต้าแห่งนี้ไม่ใช่โรงงานของเล่น แต่เป็นเหมืองผลิตเหล็กที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปที่ตั้งมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เรื่องราวของมันทำเอาเราตะลึงไปเลยเมื่อได้ฟัง
คุณไกด์เล่าว่า ย้อนกลับไปราวๆ 100 ปีก่อน เมืองคีรูน่ายังไม่ถือกำเนิด ในบริเวณนี้มีแต่หิมะกับสัตว์ขั้วโลก จนกระทั่งมีการค้นพบว่าใต้ภูเขามีแร่เหล็กที่บริสุทธิ์มาก หลังจากสกัดฟอสฟอรัสออกแล้วยังมีความเข้มข้นถึง 60% เทียบกับเหล็กปกติจะมีความเข้มข้นแค่ 20 – 30% เท่านั้น จึงเริ่มมีการทำเหมืองแร่เหล็กขึ้นมา กลายเป็นเหมืองที่ใหญ่และลึกที่สุดในยุโรป ส่งออกแร่เหล็กไปทั่วโลก และเมืองคีรูน่าก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นจากบรรดาคนงานที่เข้ามาทำงานในเหมืองแร่
ความพีกมันอยู่ตรงที่แร่เหล็กจากเหมืองนี้คืออาวุธสำคัญของสวีเดนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งทั้งโลกรับรู้ว่าสวีเดนวางตัวเป็นกลางมาโดยตลอด แต่ก็รอดตัวจากการโจมตีของเยอรมนีและความพังพินาศของเศรษฐกิจมาได้ด้วยการขายแร่เหล็กให้เยอรมนีเอาไปผลิตอาวุธนั่นเอง แม้กระทั่งคนสวีเดนเองยังรู้สึกว่าเรื่องนี้ช่างเป็นเรื่องไม่ซื่อสัตย์และไม่น่าภาคภูมิใจเอาเสียเลย
เล่ามาขนาดนี้แล้วจะไม่เชื่อมโยงมาถึงการเมืองปัจจุบันของสวีเดนก็น่าเสียดาย คงเดาได้ไม่ยากว่าบริษัทที่ทำเหมืองแร่คีรูน่านี้น่าจะมีรายได้มหาศาลจากการค้าและส่งออกเหล็ก นำมาซึ่งอิทธิพลมหาศาลในการพัฒนาเมืองคีรูน่า การสร้างทางรถไฟ (ซึ่งหลักๆ ก็สร้างไว้ขนแร่เหล็กนั่นแหละ) สวนสาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาล
แต่เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลสวีเดนและนักวิจัยเพิ่งค้นพบว่า การทำเหมืองแร่ส่งผลกระทบให้พื้นดินโดยรอบเหมืองทรุดตัวเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อตัวเมืองที่อยู่ไม่ห่างจากเหมืองมากนัก แต่จะด้วยอิทธิพลล้นฟ้าของบริษัทหรือก็ไม่ทราบ รัฐบาลจึงไม่สามารถเพิกถอนใบอนุญาตทำเหมือง เลยแก้ปัญหาโดยการสั่งย้ายเมืองออกไปให้อยู่ไกลกว่าเดิมอีก 3 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าน่าจะไกลพอที่จะไม่โดนผลกระทบจากดินทรุดอีก
แต่รัฐบาลสวีเดนก็เยียวยาประชากรของเมืองคีรูน่า โดยการจัดสรรพื้นที่ที่อยู่อาศัยใหม่ให้ชาวเมืองทุกคน ย้ายวันนี้ อยู่ฟรี 9 เดือน แถมมีดีลจากบริษัทเหมืองมาขอซื้อบ้านเก่าในราคาสูงกว่าราคาตลาด 15% ชาวคีรูน่าก็เลยแฮปปี้กันไป แต่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจะเยียวยาอย่างไรก็ยังไม่มีใครพูดถึง
พอจบทัวร์เมืองคีรูน่าลงอีท่านี้ นักศึกษา ป.โท ด้านความยั่งยืนอย่างเราและเพื่อนก็เลยมีเรื่องให้ถกเถียงกันไม่จบสิ้นไปจนหมดวัน
แม้วันที่ 2 ของทริปจะจบลงแบบอึนๆ เพราะเกิดข้อกังขาในใจต่อประเทศสวีเดน ในฐานะผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกจากกรณีเหมืองคีรูน่า แต่ไฮไลต์ของวันต่อมาก็ทำให้เราพอจะลืมความเซ็งไปได้บ้าง นั่นคือการไปเยี่ยมชนเผ่าซามี่ (The Sámi) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของราชินีหิมะแห่งจักรวาลดิสนีย์อย่าง Elsa และเป็นเจ้าของฟาร์มกวางเรนเดียร์ดั้งเดิมประจำดินแดน Swedish Lapland
ย้อนกลับไปในวันที่ยังไม่มีเส้นแบ่งประเทศ ชาวซามี่เป็นชนพื้นเมืองเดียวในยุโรปที่มีวัฒนธรรมและมีภาษาเป็นของตัวเอง ชนเผ่าซามี่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายในพื้นที่นอร์เวย์ สวีเดน และรัสเซีย ซึ่งมีพรมแดนต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ช่วงยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย ถ้านับนิ้วดูดีๆ ก็น่าจะประมาณหมื่นปีมาแล้ว
ต่อมาเมื่อชนเผ่าไวกิ้งเริ่มเข้มแข็งและอยากก่อร่างสร้างประเทศของตัวเอง ก็พากันมาเคลมผืนดินที่ชาวซามี่อยู่กันมาทั้งในนอร์เวย์ สวีเดน และรัสเซีย ระหว่างที่รบกัน ชาวซามี่ก็โดนเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาให้ขึ้นกับประเทศนั้นที ประเทศนี้ที ทำให้บางจังหวะชนเผ่าต้องจ่ายภาษีให้คิง 2 องค์ (ของนอร์เวย์และสวีเดน) บางจังหวะก็คิง 1 องค์ และพระเจ้าซาร์ 1 องค์ (จากรัสเซีย)
สุดท้ายชาวซามี่ที่อาศัยในพื้นที่เมืองคีรูน่าก็ตกมาอยู่กับสวีเดน เพราะกองทัพสวีเดนมาสร้างโบสถ์คริสต์ในพื้นที่นี้สำเร็จก่อนใคร และใช้ศาสนาคริสต์เป็นเครื่องมือในการล่าอาณานิคมสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย
ในอดีตวิถีชีวิตหลักของชาวซามี่คือการเข้าป่า ล่าสัตว์ อาหารหลักที่ล่าง่ายและหาได้ทั่วไปในพื้นที่ป่าแถบอาร์กติกก็คือกวางเรนเดียร์ ที่เนื้อทั้งให้พลังงานเยอะ โปรตีนแน่น วิตามินล้น (14 ชนิด เทียบกับหมูมีวิตามิน 4 ชนิด) แต่พอนานเข้าก็มาถึงจุดที่ชาวซามี่ตัดสินใจว่าเลิกล่าแล้วหันมาเพาะเลี้ยงแทนเลยแล้วกัน เหตุเพราะเรนเดียร์เป็นสัตว์ที่ย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาล หาตัวจับยาก บางครั้งการออกไปล่าเรนเดียร์ใช้เวลาหลายวันหรือเป็นสัปดาห์
การตัดสินใจครั้งนั้นส่งผลให้ในปัจจุบันเรนเดียร์กลายเป็นสัตว์กึ่งๆ ปศุสัตว์ไปเสียแล้ว เหลือกวางเรนเดียร์ที่อยู่กันเองตามธรรมชาติน้อยมากจนแทบจะไม่มีเลย และอาชีพคนเพาะเลี้ยงเรนเดียร์เลยกลายเป็นอาชีพหลักของชาวซามี่ไป ประกอบกับการเข้าป่าล่าสัตว์ จับปลาเพื่อเลี้ยงชีพ แต่ก็มีคนที่ทำงานในระบบทุนนิยมด้วยบ้างปนๆ กันไปเพื่อความอยู่รอด
ที่น่าสนใจก็คือ วิถีชีวิตชาวซามี่กลับถูกจับตามองโดยรัฐบาลสวีเดน เมื่อราวๆ ยี่สิบกว่าปีก่อน รัฐบาลก็ออกประกาศห้ามชาวซามี่ล่าสัตว์โดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ชาวซามี่ในฐานะประชากรสวีเดนก็เลยรวมพลังกันฟ้องรัฐบาลต่อศาลสวีเดน กลายเป็นคดีใหญ่ที่ต่อสู้กันยาวนานถึง 10 ปี
เดชะบุญที่ศาลสวีเดนไม่ใช่แค่ศาลพระภูมิ ชาวซามี่เลยชนะคดี และได้สิทธิ์ในการล่าสัตว์เลี้ยงชีพกลับคืนมา หนุ่มซามี่ที่เล่าเรื่องนี้ให้เราฟังถึงกับแซวว่า รัฐบาลสวีเดนอดเพิ่มรายได้จากการขายสิทธิ์ในการล่าสัตว์ด้วยประการฉะนี้
ทุกวันนี้ชาวซามี่ก็ยังคงมีระบบปกครองกันเองแบบหลวมๆ ช่วยกันตัดสินใจว่าจะเอาเงินรายได้ของชุมชน (ที่หลักๆ ได้มาจากเงินค่าปรับของคนที่ขับรถชนเรนเดียร์ตาย) ไปทำอะไรดี แล้วก็ยังคงเลี้ยงเรนเดียร์กันอยู่เหมือนเดิม อันเป็นที่มาของฟาร์มที่เราได้มาเยี่ยมชมและให้อาหารน้องกวางด้วยมือตัวเอง
บทสนทนาระหว่างเรากับเพื่อนบนรถบัสเที่ยวที่กลับจากฟาร์มเรนเดียร์เปลี่ยนจากการบ่นรัฐบาลสวีเดน มาเป็นเสียงชื่นชมแทน เพราะฟังเรื่องของชาวซามี่แล้วก็อดคิดถึงชนเผ่าในไทยไม่ได้ ถ้าพวกเขาอยู่ในประเทศที่มีศาลที่โปร่งใส และมีความเป็นประชาธิปไตยแบบสวีเดนก็น่าจะได้มีโอกาสเรียกร้องสิทธิที่ตัวเองควรได้ไม่ต่างจากชาวซามี่
และแล้วก็มาถึงวันสุดท้ายของทริปซึ่งเป็นวันที่เราจะได้ข้ามเส้นพรมแดนไปยังฝั่งนอร์เวย์ ซึ่งเป็นปลายทางที่หนุ่มๆ สาวๆ เพื่อนร่วมทริปของเรา (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาปริญญาตรี) ตื่นเต้นเป็นพิเศษ เพราะมีกิจกรรม ‘ว่ายน้ำในทะเลสาบท่ามกลางหิมะ’ เป็นเหตุ สังเกตได้
รถบัสคันเดิมพาเราลัดเลาะจากสกีรีสอร์ต ข้ามทิวเขาสีขาวโพลนมาไม่นานก็ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเล็กๆ ใช้ระยะเวลาน้อยกว่าเดินทางเข้าตัวเมืองคีรูน่าเสียอีก พอพ้นด่านตรวจมาแล้วพื้นที่สีขาวสุดลูกหูลูกตาก็กลายเป็นพื้นที่เมืองนาร์วิก เขตปกครองของนอร์เวย์
ระหว่างที่รถบัสเคลื่อนผ่านหุบเขาหิมะที่เวิ้งว้างจนเหมือนจะไม่มีวันจบสิ้น คุณไกด์ประจำทริปก็ได้เล่าให้เราฟังเล็กน้อยถึงทะเลสาบที่เป็นจุดหมายในการจุ่มตัวของทุกคน ซึ่งจะไม่กลายเป็นน้ำแข็งแม้ในฤดูหนาวเพราะมีกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมไหลผ่าน อุณหภูมิของน้ำจะอยู่ที่ 3 – 4 องศา และเป็นแหล่งหาปลาสำคัญของประเทศนอร์เวย์
นาร์วิกเป็นเมืองเล็กๆ ก็จริง แต่ในทางประวัติศาสตร์แล้วที่นี่เป็นเมืองท่าสำคัญ กองทัพเยอรมันเคยเข้ายึดเมืองนี้เพื่อใช้เป็นฐานให้กับทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จากการรุกรานของกองทัพอารยันครั้งนั้น ทำให้เมืองนี้เป็นแหล่งรวมหลักฐานสำคัญมากมายจนถูกนำมาจัดเอาไว้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เล่าเรื่องราวจากมุมมองของชาวนอร์เวย์
ตามที่เนื้อหาในพิพิธภัณฑ์บอกเล่า ในสายตาของฮิตเลอร์แล้ว ชาวนอร์เวย์ถือว่าเป็น ‘ชนเผ่าอารยัน’ ที่มีสายเลือดสูงส่งตามความเชื่อของเขา ชาวเยอรมนีในช่วงเวลานั้นได้รับการปลูกฝังให้หาคู่ชีวิตเป็นชาวนอร์เวย์เพื่อคงไว้ซึ่งสายเลือดบริสุทธิ์ เป็นสายเลือดของพระผู้เป็นเจ้า
กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้การรุกรานในช่วงสงครามโลกของทหารเยอรมนีหนักหน่วงน้อยลง ณ เวลานั้นไม่ว่าชาวประมงในเมืองนาร์วิกจะจับปลามาได้มากเท่าไหร่ ก็จะถูกสั่งให้ส่งไปให้กองทัพเยอรมันจนหมด นอกจากนั้น พิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงวิดีโอบทสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดของกองทัพเยอรมันที่น่าสะเทือนใจไว้หลายชิ้น
แม้ขนาดของพิพิธภัณฑ์จะไม่ได้ใหญ่โตมาก แต่ก็เฉียบคมมากพอที่จะทำให้ผู้มาเยือนจากอีกซีกโลกอย่างเราฉุกคิดเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง นั่นคือประวัติศาสตร์เป็นสิ่งดิ้นได้ และจะเปลี่ยนไปตามมุมมองของผู้เล่า
ดังเช่นที่เราได้เรียนรู้จากหลักฐานอยู่ทั้งในพิพิธภัณฑ์ในนาร์วิก และหลักฐานที่มีชีวิตอยู่ภายนอกอย่างเหมืองแร่เหล็กในคีรูน่า ที่ต่างบอกเล่าเรื่องราวของสงครามโลกจากมุมมองที่แตกต่างกัน ทั้งที่เป็นเมืองที่อยู่ห่างกันเพียงช่วงขับรถ 2 – 3 ชั่วโมง
ไม่รู้ว่าเราเนิร์ดเกินไปหรือเรื่องราวในสถานที่เหล่านี้มันน่าสนใจเกินไป จนทำให้ทริปกอดหิมะนุ่มฟูที่เขตอาร์กติกของเราในคราวนี้กลายเป็นทริปเรียนนอกสถานที่ ทั้งวิชาประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา ภูมิศาสตร์ จริยศาสตร์ และการเมือง ที่เกี่ยวพันกับความยั่งยืนซึ่งเป็นเรื่องที่เราสนใจเป็นทุน
แต่การเรียนระหว่างการท่องเที่ยวแบบนี้ก็ไม่ได้ทำให้สมองเราทำงานหนักเกินไปนัก ตรงกันข้าม มันกลับทำให้เรื่องราวเหล่านั้นฝังติดอยู่ในใจ จนผ่านไป 1 ปีก็ยังเล่าได้เป็นฉากๆ
ตลอดระยะเวลา 20 ชั่วโมงในการนั่งรถบัสกลับลงมาจากคีรูน่า และอีก 5 ชั่วโมงจากสตอกโฮล์มจนถึงมัลเม่อจึงเต็มไปด้วยบทสนทนาแสนสนุกกับเพื่อนที่ไปด้วยกัน และการวางแผนทริปถัดๆ ไป น่าเสียดายที่โควิดหยุดเราไว้ นั่นเลยกลายเป็นทริปสุดท้ายก่อนเรียนจบของเราไปเฉยเลย (ร้องไห้)
แต่อย่างน้อยเราก็ได้แวะดื่มค็อกเทลแก้วน้ำแข็งในปราสาทน้ำแข็งกันก่อนกลับ ถือว่าไม่เสียเที่ยวเนอะ!