เส้นทางพลิกฟื้นเชียงดาวของ จิราวรรณ คำซาว - Urban Creature

เราเชื่อว่า ‘ดอยเชียงดาว’ คือสถานที่ท่องเที่ยวในเชียงใหม่ที่หลายคนหลงรักหรือปักหมุดอยากไปเยือนสักครั้ง เพราะที่นี่มีกิจกรรมไฮไลต์ที่จะพาผู้คนหนีความวุ่นวายในเมือง กลับสู่พื้นที่ท่ามกลางธรรมชาติที่สงบและสวยงาม ตั้งแต่การเดินป่าสำรวจสิ่งแวดล้อม แวะเข้าถ้ำ ลุยลำธารน้ำตก ไปจนถึงการตื่นเช้าขึ้นดอยไปดูทะเลหมอกสุดลูกหูลูกตาแบบฟินๆ

ทั้งนี้ หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าดอยเชียงดาวไม่ได้เป็นแค่จุดหมายปลายทางยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เมื่อปี 2564 ที่นี่ยังได้รับการยกย่องจากองค์การระดับโลกอย่าง ‘ยูเนสโก (UNESCO)’ ให้เป็น ‘พื้นที่สงวนชีวมณฑล’ แห่งที่ 5 ของไทย และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายพื้นที่สงวนชีวมณฑลของโลก พิจารณาจากการรักษาระบบนิเวศดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน การฟื้นฟูพื้นที่เพื่อคืนความสมบูรณ์ให้แก่ธรรมชาติ รวมไปถึงศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของพื้นที่ที่มีระบบการจัดการผลกระทบจากการท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ

ความโดดเด่นทางธรรมชาติและระบบนิเวศของดอยแห่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะการพัฒนาและความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และคนในท้องถิ่นที่มีจิตสำนึกรักบ้านเกิด ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อส่งต่อระบบนิเวศและทรัพยากรให้คนรุ่นต่อไป

วันนี้ เรามีนัดพูดคุยกับ ‘มล-จิราวรรณ คำซาว’ อดีตนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ หนึ่งในหัวหอกสำคัญที่เปลี่ยนวิถีเกษตรชุมชนของเชียงดาวผ่านการเผยแพร่ความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรมานานกว่า 10 ปี 

 ‘มล-จิราวรรณ คำซาว’ อดีตนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ หนึ่งในหัวหอกสำคัญที่เปลี่ยนวิถีเกษตรชุมชนของเชียงดาว

มลวัย 35 ปี เคยทำงานเป็นนักวิจัยที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 2 ปี แต่หลังจากเจอปัญหาสุขภาพที่เกิดจากอาหารปนเปื้อนเคมี เธอจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อกลับบ้านเกิดที่เชียวดาวไปทำเกษตรอินทรีย์ที่ส่งเสริมทั้งสุขภาพของตนเองและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน 

จากนั้นก็ขยับขยายก่อตั้งบริษัทพัฒนา วิจัย และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอย่าง ‘CNX Healthy Products’ ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ‘ทุ่งกับดอย’ และยังเป็นผู้นำ ‘แก๊งค์ถิ่นนิยม’ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รักและอยากพัฒนาถิ่นของตัวเองผ่านการให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์และกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่ สร้างความยั่งยืนให้ระบบนิเวศ ให้คนอยู่กับธรรมชาติได้อย่างสมดุลตราบนานเท่านาน

เบื้องหลังการกลับไปทำธุรกิจที่บ้านเกิดคืออะไร เกษตรอินทรีย์มีคุณค่าต่อชุมชนมากขนาดไหน ต้องลงทุนกับอะไรบ้างเพื่อสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมให้เป็นรูปธรรม ถ้าพร้อมแล้ว เราขอชวนทุกคนไปฟังคำตอบจากมลพร้อมกัน

คุณผูกพันกับธรรมชาติยังไง ถึงตัดสินใจเรียนและทำงานเป็นนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร

เราเกิดและโตที่เชียงดาว พ่อแม่ทำเกษตรในพื้นที่ราบติดกับป่า เราเองก็ต้องช่วยพ่อแม่ทำการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก นอกจากนั้น พ่อและปู่ยังชอบเข้าป่า เราเลยมีโอกาสเข้าไปสำรวจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยเป็นประจำ ทำให้มีทักษะและความรู้เรื่องการเกษตร ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ ไปจนถึงพืชผักพื้นบ้าน ติดตัวมาตั้งแต่ตอนนั้น เลยตัดสินใจเรียนปริญญาตรีด้านชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ต่อด้วยปริญญาโทด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่มหา’ลัยเดิม

 ‘มล-จิราวรรณ คำซาว’ อดีตนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ หนึ่งในหัวหอกสำคัญที่เปลี่ยนวิถีเกษตรชุมชนของเชียงดาว

แล้วอะไรทำให้นักวิจัยที่จากบ้านไปไกล หันมาทำธุรกิจขายสินค้าการเกษตร

พอดีว่าสำนักงานของ สวทช. ที่รังสิตอยู่ใกล้กับตลาดไท ซึ่งเป็นตลาดสินค้าการเกษตรขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของไทย ช่วงเรียนปริญญาโท เรามีโอกาสไป-กลับเชียงใหม่หลายครั้ง เลยปิ๊งไอเดียว่า ไหนๆ เราก็ต้องเดินทางไปเชียงใหม่เป็นประจำอยู่แล้ว เราน่าจะหาผักมาขายที่ตลาดไทด้วย จะได้ไม่เสียเที่ยว นั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจขายสินค้าการเกษตร

ช่วงแรกเหนื่อยมากเลยนะ การรับผักสดมาขายเจอปัญหา เพราะบางทีชาวบ้านเอาผักมาส่งหนึ่งล็อต แต่ในจำนวนนี้ก็มีผักที่คุณภาพได้มาตรฐานบ้าง เสียหายบ้าง ทำให้ต้องคัดสินค้าออกเยอะเหมือนกัน เหลือที่ส่งได้จริงๆ ไม่เยอะเท่าไหร่ ระหว่างส่งไปขายก็จะมีส่วนที่เสียหายเพิ่มอีก ดังนั้น เราจะเห็นและเข้าใจวงจรการปลูกผลผลิตทางการเกษตร รวมไปถึงระบบขนส่งที่มีปัญหา ไม่เอื้อต่อการขายสินค้าประเภทนี้เท่าไหร่

การทำธุรกิจในช่วงที่เรียนปริญญาโทไปด้วยเราได้ประสบการณ์เยอะมาก เข้าใจวงการเกษตรมากขึ้น ตอนนั้นเราเลยมีความรู้สึกว่า ถ้าเราเรียนจบและได้เป็นนักวิจัย เราอยากจะพัฒนาวัตถุดิบที่มีคุณภาพ 

คุณบอกเองว่าเหนื่อยมาก แต่กลับตัดสินใจลาออกจากงานเดิม มาทำเกษตรที่บ้านเกิดเต็มตัว

จากการลงพื้นที่ เราพบปัญหาใหญ่ก็คือ นักวิจัยมีชุดความรู้ด้านการเกษตรที่กำหนดไว้ชัดเจนแล้ว เป็นข้อมูลเกิดจากการศึกษาในห้องแล็บ ซึ่งมีการควบคุมภูมิอากาศ มีสภาพดินที่ผ่านการฆ่าเชื้อ เติมสารอาหารได้ตามความต้องการโดยไม่ต้องแคร์เรื่องของต้นทุนการเพาะปลูก เพราะวิจัยเหล่านี้มีทุนและงบประมาณสนับสนุนอยู่แล้ว เป็นการศึกษาที่ได้ผลลัพธ์ดี แต่นักวิจัยจะเอาชุดความรู้และแนวทางเหล่านี้ไปให้ชาวบ้านทำไม่ได้ เพราะในความเป็นจริง เกษตรกรไม่มีต้นทุนแบบนี้ บางชุมชนยังมีปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ สภาพดินไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก มันเป็นดินทรายไม่ใช่ดินร่วน แถมเป็นดินทรายที่ถูกใช้สารเคมีมานาน ส่วนเงินทุนชาวบ้านก็ไม่รู้จะเอามาจากไหน เพราะผลผลิตของปีก่อนหน้านั้นยังไม่ได้เงินเลย ยังขาดทุนอยู่เลย

เราได้เห็นระบบการเอาองค์ความรู้จากห้องแล็บไปพัฒนาชุมชน แต่ข้อมูลเหล่านั้นกลับไม่สอดคล้องกับการทำเกษตรในพื้นที่จริง เมื่อทั้งสองปัจจัยนี้ไปด้วยกันไม่ได้ การส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรของนักวิจัยจึงไม่มีประสิทธิภาพหรือแก้ปัญหาได้สักที 

 ‘มล-จิราวรรณ คำซาว’ อดีตนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ หนึ่งในหัวหอกสำคัญที่เปลี่ยนวิถีเกษตรชุมชนของเชียงดาว

ทั้งนี้ การทำงานเป็นนักวิจัยก็ยังไม่ตอบโจทย์แพสชันและไลฟ์สไตล์ของเรามากนัก เพราะเราอยากทำงานที่ช่วยเหลือชาวบ้านได้มากกว่านี้ นอกจากนี้ ระหว่างที่เราทำงานที่รังสิต เราก็ยังเดินทางกลับเชียงดาวบ่อย เพราะเราเป็นคนติดบ้าน ทำให้เราเห็นว่าเชียงดาวเริ่มกลายเป็นสังคมชนบทที่มีแต่ผู้สูงอายุ ซึ่งคนที่นั่นก็อยากให้ลูกหลานกลับมาอยู่บ้าน เราเลยเริ่มมีไอเดียกลับไปพัฒนาและใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิด

ประกอบกับช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ในกรุงเทพฯ ซึ่งตอนนั้นน้ำก็ท่วม สวทช. ที่รังสิตด้วย เราเลยต้องหยุดงานแบบไม่มีกำหนด เพราะเข้าพื้นที่ไม่ได้เลย ไม่รู้ว่าน้ำจะลดตอนไหนด้วย เราเลยกลับบ้านที่เชียงดาวเพื่อหางานทำ หารายได้ เพราะตอนนั้นเรายังมีหนี้ที่กู้มาทำฟาร์มเห็ดอยู่ 

งานที่คุณจับตอนกลับมาบ้านเกิดคืออะไร

เราทำงานหลายอย่างเลย ขายก๋วยเตี๋ยว ขายกล้วยทอด โปรเจกต์งานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เป็นวิทยากร ได้ทำเรื่องการท่องเที่ยว ทำเรื่องป่าไม้ งานอนุรักษ์ทรัพยากร แล้วหลังจากเราไปตรวจร่างกายแล้วพบว่าเลือดมีสารพิษอยู่มากถึงระดับ 4 ทำให้เรามองย้อนกลับมาที่อาหารการกินของเรา แม้ว่าเราจะเป็นสายรักสุขภาพอยู่แล้ว แต่วัตถุดิบที่เรากินสะสมมาหลายปี โดยเฉพาะช่วงที่ทำงานอยู่รังสิต ส่วนใหญ่ก็มาจากการทำเกษตรที่ใช้สารเคมีทั้งนั้น 

ดินเชียงดาว

เรามองกลับมาที่ชุมชนในเชียงดาว สินค้าการเกษตรในพื้นที่ก็ไม่ใช่ออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังใช้ยาฆ่าหญ้าอยู่ ชุมชนก็ไม่ได้กังวลเกี่ยวกับสารปนเปื้อนในอาหารขนาดนั้น เราเลยเห็นว่าตลาดมีความต้องการสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ เราเลยก่อตั้งบริษัท ‘CNX Healthy Products’ เพื่อวิจัย ผลิต และจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ

ในตอนแรก เพราะเรามีเครือข่ายและคอนเนกชันเยอะอยู่แล้ว บริษัทของเราเลยมีวิธีแปรรูปสินค้า มีโรงงานที่จะรับผลิตสินค้าให้ มีหน่วยงานที่มาสนับสนุนงานวิจัยของเราอยู่แล้ว เราจึงสามารถทำวิจัยเพื่อพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรมหรือมีสารสกัดพิเศษอะไรบางอย่างได้ แต่สิ่งที่เราขาดตอนนั้นคือวัตถุดิบที่ปลอดภัย ไม่มีสารเคมีหรือสารปนเปื้อน แต่ชาวบ้านไม่มีความรู้หรือแนวทางเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ 

แล้วนักวิจัยอย่างคุณทำไง

เราเลยต้องเป็นเกษตรกรเพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้าน เพราะผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น สุดท้ายเราก็ต้องทำการเกษตรแบบครบวงจร ตั้งแต่การเพาะปลูกวัตถุดิบ แปรรูป ไปจนถึงจัดจำหน่าย

ทีมงานลงปลูดเชียงดาว

นักธุรกิจคนนี้ลงทุนกับ CNX Healthy Products และเชียงดาวไปกี่บาท

เราใช้เงินลงทุนไม่เยอะเลยค่ะ เพราะเรามีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรอยู่แล้วหนึ่งแปลง อีกแหล่งเงินทุนก็มาจากเงินสนับสนุนการทำวิจัย เพราะตอนแรกเราขออาจารย์ที่มหา’ลัยราชภัฏเชียงใหม่ทำวิจัยปุ๋ยชีวภาพในนามบริษัท CNX Healthy Products อาจารย์เลยแนะนำให้เราเรียนขอทุนวิจัยปริญญาเอกแบบที่ไม่ต้องเข้าห้องเรียน ทำวิจัยในห้องแล็บอย่างเดียว เราสนใจการทดลองวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว เลยตัดสินใจเรียนปริญญาเอกเพื่อเอาความรู้มาพัฒนาสินค้าของบริษัท

นอกจาก CNX Healthy Products เชียงดาวมีอะไรใหม่หลังการกลับบ้านของคุณ

เราก็ได้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ‘ทุ่งกับดอย’ สำหรับทำงานวิจัยด้านจุลชีววิทยาเพื่อพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน วัตถุดิบหลักที่ปลูกคือข้าว เราต้องการผลิตข้าวเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง เช่น คนไทยส่วนใหญ่ได้กินข้าวราคาถูก ข้าวคุณภาพไม่ค่อยดี เพราะข้าวคุณภาพดีส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปขายต่างประเทศหมดแล้ว ทั้งๆ ที่ข้าวเป็นแหล่งพลังงานหลักของคนไทย แต่ทำไมเราถึงได้กินข้าวคุณภาพต่ำ 

ข้าวจากเชียงดาว

อีกปัญหาก็คือ ข้าวประเทศไทยมีราคาถูกเกินไป จนชาวนาต้องออกมาประท้วง แต่ถ้าไปดูในห้างฯ ข้าวที่วางจำหน่ายกลับมีราคาแพง จึงเกิดคำถามว่าทำไมรายได้มันไม่ถึงมือชาวบ้าน เราจึงอยากแก้ปัญหาสังคม เพราะถึงแม้ว่าปัจจุบันตัวเราเองจะมีบ้านอยู่ มีข้าวกิน พูดง่ายๆ คือเราอยู่ได้แล้ว ชีวิตเราไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้ แต่เราไม่ได้คิดถึงแค่ตัวเอง เราอยากเอาเวลาและความรู้ของเราไปแก้ปัญหาและช่วยเหลือชาวบ้าน เราเลยทำโมเดลเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์มาเรื่อยๆ เผยแพร่ความรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่ และได้มีโอกาสเข้าร่วมเครือข่ายและวงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่มุ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายมิติ เช่น ไฟป่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น

นอกจากนั้น เราก็ได้ก่อตั้ง ‘แก๊งค์ถิ่นนิยม’ เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นที่รวมตัวของคนที่กลับมาอยู่บ้านเกิด คนที่รักในถิ่นของตัวเอง ภูมิใจในถิ่นของตัวเอง และอยากพัฒนาถิ่นของตัวเอง กลุ่มนี้จะจัดกิจกรรมต่างๆ ที่สอนและให้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์และธรรมชาติ ที่สำคัญ ถิ่นนิยมยังเป็นแหล่งรายได้ของเด็กๆ และคนท้องถิ่นด้วย มากไปกว่านั้น เรายังนำผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณค่าของชุมชนมาจำหน่ายภายใต้แบรนด์ ‘Tinniyom Selected’ ด้วย มีทั้งข้าวหอมนิลอินทรีย์ ส้มอินทรีย์ ขิงอินทรีย์อบแห้ง กระชายอินทรีย์อบแห้ง และน้ำผึ้งแท้เดือนห้า 

 ‘แก๊งค์ถิ่นนิยม’ ที่เชียงดาว

นอกจากสินค้าการเกษตร ถิ่นนิยมยังทำ ‘Chiang Dao Classroom’ ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ เช่น เดินป่าเก็บเห็ด เรียนรู้เรื่องไฟป่า ทดลองปลูกข้าว ทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ และเรียนรู้การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ทั้งหมดเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้คนได้ใกล้ชิดธรรมชาติและเข้าใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อีกบทบาทหลักที่เราทำก็คือการเป็นสมาชิกกลุ่ม ‘ม่วนใจ๋’ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาว เป็นเครือข่ายที่นำวัตถุดิบจากเกษตรกรในพื้นที่มาแปรรูปและจำหน่ายเป็นสินค้าเกษตรภายใต้แบรนด์ ‘ม่วนใจ๋’ ปัจจุบันมีเครือข่ายชาวบ้านกว่า 200 ครัวเรือน หรือราว 400 – 500 คน ที่ผลิตวัตถุดิบให้เรา

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนี้ดูแลเกษตรกรทั่วทั้งอำเภอเชียงดาว ลงพื้นที่ดูแลและให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ให้กับหลายๆ หมู่บ้าน ช่วยชาวบ้านวิเคราะห์ว่าแต่ละพื้นที่ควรปลูกอะไรจึงจะเหมาะสม บางครั้งก็ต้องเอาวิจัยเข้าไปช่วย เช่น หมู่บ้านนี้ปลูกมะม่วงพื้นบ้านได้ดี ปลอดภัย มีคุณภาพ แต่ปัญหาคือไม่มีคนซื้อ เราก็จะช่วยซื้อมะม่วงของชาวบ้านมาเป็นตัวอย่าง เพื่อส่งต่อให้อาจารย์หรือมหาวิทยาลัยรับไปวิจัยต่อ

และตอนนี้กลุ่มม่วนใจ๋กำลังทำงานขับเคลื่อนนโยบายระดับอำเภอ เขียนยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันให้เชียงดาวเป็น ‘เมืองสุขภาวะดี’ หรือ ‘Wellness City’ โดยตั้งเป้าหมายทำให้เชียงดาวเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้และเกษตรอินทรีย์

คุณแทบจะเป็น Icon ของเชียงดาว จนใครจะมาเรียนรู้เรื่องทำเกษตรอินทรีย์ที่นี่ต้องมาหาจิราวรรณ คำซาว

มีมาตลอดค่ะ มีทั้งนักธุรกิจและเกษตรกรที่สนใจงานเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ และหน่วยงานที่สนใจโครงการด้านการพัฒนาพื้นที่ รวมไปถึงงานด้านอนุรักษ์ธรรมชาติ

ส่วนมากกลุ่มคนที่มาดูงานคือคนที่อยากได้แรงบันดาลใจ เขาอาจลงมือทำการเกษตรแล้วเจอปัญหา เจอทางตัน ไม่รู้จะแก้ไขยังไง เลยอยากมาดูโครงการของเราเป็นแนวทาง แต่เอาความรู้กลับไปแล้วจะทำได้จริงหรือเปล่า อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ เพราะบริบทของแต่ละชุมชนไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะการผลักดันให้ชาวบ้านในพื้นที่ลุกขึ้นมาสนใจหรือทำเกษตรอินทรีย์ 

ถ้าอยากให้ชาวบ้านผลิตวัตถุดิบออร์แกนิก ปลอดภัยจากสารเคมี ก็ต้องถามตัวเองกลับว่า คุณกล้าจ่ายค่าวัตถุดิบที่มีต้นทุนแพงขึ้นไหม นอกจากนั้นจะเป็นเรื่องของการทำธุรกิจ การตลาด การเพิ่มมูลค่าและสร้างคุณค่าให้กับสินค้า เช่น การหักรายได้จากสินค้าไปช่วยดูแลป่า อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมชุมชน เพราะสิ่งเหล่านี้คือคุณค่าที่ผู้บริโภคยุคปัจจุบันมองหา 

มล มิ้น af แพรี่พาย ที่เชียงดาว

คุณคิดว่าการทำธุรกิจด้านการเกษตรต้องลงทุนกับอะไรมากที่สุด

ต้นทุนและทรัพยากรและการวิจัยค่ะ เราต้องศึกษาให้ดีว่างานวิจัยจะทำให้เราใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่ามั้ย สมมติว่าเรามีวัตถุดิบ 100 กิโลกรัม ถ้าเราทำงานวิจัยมั่วๆ ทำแบบไม่ใส่ใจ เราอาจได้สารสกัดแค่หนึ่งกิโลกรัม แต่ถ้าให้ความสำคัญและลงทุนกับขั้นตอนต่างๆ เช่น ควบคุมอุณหภูมิให้ดี ไม่เก็บวัตถุดิบในที่ชื้น เราอาจลดการสูญเสียวัตถุดิบได้ เราอาจสกัดได้มากขึ้นเป็น 10 กิโลกรัมแทน ทำยังไงก็ได้ให้เราได้สารสกัดที่มีคุณภาพและสูญเสียวัตถุดิบให้น้อยที่สุด

แต่ต้นทุนทรัพยากรเนี่ย เราไม่ได้ได้มาฟรีนะ มันเกิดจากการลงทุนตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษจนถึงรุ่นของเรา การช่วยดูแลทรัพยากรธรรมชาติของเราไม่ใช่แค่การทำรั้วกั้น หรือห้ามคนบุกรุกเข้าไปนะ แต่มันหมายถึงการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น การเข้าไปช่วยชาวบ้านปลูกป่า การเข้าร่วมพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ (พิธีสังเวยผีหรือเทวดาอารักษ์ที่ปกปักรักษาป่าไม้อันเป็นต้นน้ำลำธาร เพื่อขอบคุณเทวดาที่บันดาลให้มีน้ำใช้ทำเกษตรกรรม) เป็นต้น มันคือการเอาตัวเองไปมีส่วนร่วมในชุมชนให้ชาวบ้านเห็นว่าเราจริงใจที่จะเข้ามาช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ เมื่อเราจะพาแขกหรือนักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่ ชาวบ้านจะรู้สึกว่าเราควรได้เข้าไปใช้ทรัพยากรตรงนี้ เพราะเราช่วยเหลือพวกเขามาตลอด

ชาวบ้านเกษตรที่เชียงดาว

เพราะฉะนั้น การลงทุนมันไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว มันคือการเข้าไปมีส่วนร่วม การสนับสนุน การช่วยเหลือชาวบ้านในหลายๆ มิติ เพื่อทำให้เขาไว้เนื้อเชื่อใจเรา และอนุญาตให้เราเข้าไปใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ถ้าชาวบ้านไม่เคยเห็นหน้าหรือรู้จักเรามาก่อน แล้วเราขอจ่ายเงินเพื่อเข้าไปในป่าหรือใช้พื้นที่ของเขา ใครเขาจะให้เข้าไป เพราะฉะนั้น เราต้องลงทุนกับผู้คน เงินไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกสิ่ง

คุณคิดว่าการทำเกษตรอินทรีย์ส่งผลต่อชุมชนหรือประเทศของเรายังไง

เรามองว่าเกษตรอินทรีย์ไม่ได้ส่งผลดีต่อชุมชนหรือประเทศไทยเท่านั้นนะ แต่ประโยชน์ของมันครอบคลุมระดับโลก เพราะอากาศบริสุทธิ์จากต้นไม้ไม่ได้ถูกกั้นไว้ในประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือหมุนเวียนในเฉพาะพื้นที่นั้นๆ แต่อากาศมันไหลเวียนไปทุกที่ ดังนั้น ประโยชน์ของการทำเกษตรอินทรีย์คือช่วยรักษาดิน น้ำ ป่า และระบบนิเวศไม่ให้เน่าเสีย เมื่อระบบนิเวศมีความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ ก็จะช่วยโลกดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจก ทำให้โลกไม่ร้อน

เกษตรอินทรีย์ที่เชียงดาว

พูดง่ายๆ ก็คือ เกษตรอินทรีย์คือการเกษตรที่ทำให้คนมีรายได้ โดยไม่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ ไม่ทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล ถ้าระบบนิเวศไม่เสียสมดุล มนุษย์ก็จะมีทรัพยากรทั้งดิน น้ำ ป่า ให้ทำมาหากินไปเรื่อยๆ สิ่งนี้เรียกว่าการทำเกษตรยั่งยืน เพราะมนุษย์มีทรัพยากรธรรมชาติอยู่ในมือ แต่ถ้าเราเลือกทำการเกษตรที่ทำลายระบบนิเวศ สุดท้ายระบบนิเวศก็จะไม่เหลืออะไรให้เราเอาไปผลิตเป็นอาหาร นอกจากจะไม่มีรายได้แล้ว มนุษย์ยังจะตายไปด้วย

Next Chapter ของจิราวรรณ คำซาว คืออะไร

เราจะทำงานที่ส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมต่อไป เพราะมนุษย์ต้องอยู่กับธรรมชาติ เราอยากให้ทุกคนได้อยู่กับธรรมชาติต่อไป การใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบันอาจทำให้โลกดำเนินไปได้อีกหนึ่งพันปี แต่สมมติว่าทุกคนหันมาใช้ชีวิตแบบที่เราคิด แบบที่กลุ่มถิ่นนิยมคิด แล้วกระจายแนวคิดนี้ให้ทุกคนในประเทศไทยร่วมกันทำ ทำให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบหรือแรงบันดาลใจให้ประเทศอื่นๆ ถ้าทำได้ โลกของเราอาจอยู่ได้นานถึงสองพันปี

เราเลยกลับเชียงดาวมาทำให้เห็นว่า การที่มนุษย์จะอยู่บนโลกนี้ให้นานยิ่งขึ้น หรืออยู่ร่วมกับธรรมชาติและชาวบ้านคนอื่นๆ ให้มากขึ้นมันควรจะใช้ชีวิตยังไง เป้าหมายของเราจึงเป็นการสร้างโมเดลการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและธรรมชาติให้เห็นเป็นรูปธรรม 

มล-จิราวรรณ คำซาว กับชาวบ้านที่เชียงดาว

อะไรคือสิ่งที่คุณอยากบอกคนที่อยากทำธุรกิจเกษตรอินทรีย์ หรือคนอยากทำตามความฝันของตัวเอง แต่ยังไม่กล้าลงมือทำ

ลงมือทำเลยค่ะ ถ้าไม่ลงมือทำก็จะไม่รู้ว่ามันจะเวิร์กไหม ถ้าทำแล้วไม่เวิร์กก็หยุดพัก ปรับปรุง และหาวิธีใหม่ๆ จากประสบการณ์ที่เราเล่ามา เราต้องทำโครงการและกิจกรรมหลายอย่างมาก เรานิยามไม่ได้หรอกว่าตอนนี้เราทำอาชีพหรือตำแหน่งอะไร เรารู้แค่ว่าเราอยากทำให้ทุกคนในชุมชนอยู่ดีกินดี อยากให้เด็กรุ่นใหม่หรือเพื่อนๆ กลับมาอยู่บ้านเกิด คนเฒ่าคนแก่จะได้ยิ้มได้บ้าง เชียงดาวมีสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่สวยงาม เราอยากให้คนต่างจังหวัดหรือชาวต่างชาติได้มาสัมผัสของจริง เพราะฉะนั้น เราจึงพยายามอนุรักษ์ทรัพยากร ควบคู่ไปกับการสร้างงานในพื้นที่เพื่อรองรับคนที่อยากกลับบ้านหรือเด็กรุ่นใหม่ที่อยากทำให้ชุมชนของเราดีขึ้น


บทความนี้สนับสนุนโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนระดับโลก ให้บริการด้านการลงทุนครบวงจรทั้งกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล เพื่อช่วยเหลือผู้คนให้บรรลุเป้าหมายด้านการเงินและการใช้ชีวิตอย่างที่ตั้งใจ ตามแนวคิด For All It’s Worth ชีวิตที่คุ้มค่า ชีวิตที่เลือกได้ เพราะนอกจากความมั่นคงทางการเงิน ความมั่นใจในการใช้ชีวิตในแบบที่อยากเป็นก็สำคัญไม่แพ้กัน 

ติดตามข่าวสาร ความรู้ และดูข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมจาก บลจ.พรินซิเพิล ได้ทุกช่องทางออนไลน์ 

Facebook : https://www.facebook.com/principalthailand

YouTube : https://www.youtube.com/c/PrincipalThailand

Line : @PrincipalThailand

Website : https://www.principal.th/

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02-686-9595

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน


SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.