หนึ่งวันใน INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน - Urban Creature

‘เงิน’ เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคิด และเชื่อว่ายิ่งอายุมากขึ้นเท่าไร หลายคนก็ยิ่งมีความกังวลเกี่ยวกับเงินเก็บมากขึ้น เช่น เงินที่เราเก็บมาตลอดทั้งชีวิตจะเพียงพอต่อการใช้หลังเกษียณไหม และทำอย่างไรจึงจะมีเงินเพียงพอ

ถึงจะบอกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ในขณะเดียวกัน การเงินและการลงทุนก็ดูเป็นเรื่องไกลตัว เพราะมีแต่ตัวเลข เข้าใจยาก แถมชวนงงสุดๆ กับกองทุนนั้น หุ้นนี้ หรือการออมเงินหลากหลายรูปแบบ

ด้วยเหตุนี้ Urban Creature อยากชวนทุกคนมาเรียนรู้เรื่องเงินๆ ทองๆ ไปด้วยกันที่ ‘พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน (Investment Discovery Museum)’ หรือ ‘INVESTORY’ ที่ซ่อนตัวอยู่ชั้นใต้ดินของอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

มากไปกว่านั้น ด้วยความที่เป็นซีรีส์คอนเทนต์ ‘MUSEUM-IN-SIGHT เพ่งพิศพิพิธภัณฑ์’ เราจะพาไปเจาะลึกเรื่องราวที่ซ่อนตัวอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ผ่านคนทำงานผู้อยู่เบื้องหลัง ตั้งแต่ที่มาที่ไปของที่นี่ ความมุ่งมั่นตั้งใจ ความใส่ใจในทุกรายละเอียด ตลอดจนเรื่องราวอินไซต์ที่ถ้ามาเยี่ยมชมเฉยๆ ก็อาจไม่รู้ว่ามีสิ่งนี้ซ่อนอยู่

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

แหล่งเรียนรู้ใต้ดินโบยบินสู่อิสรภาพทางการเงิน

ถัดไปไม่ไกลจาก MRT สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ นอกจากตึกสูงที่เป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ลึกลงไปชั้นใต้ดินยังเป็นที่ตั้งของห้องสมุดมารวย ห้องสมุดที่รวบรวมหนังสือและสื่อสารสนเทศเกี่ยวกับการเงินการลงทุน และ ‘พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน (Investment Discovery Museum)’ หรือ ‘INVESTORY’ แหล่งเรียนรู้เรื่องการเงินและการลงทุนแห่งแรกของประเทศไทย จุดหมายปลายทางของเราในวันนี้ด้วย

แม้จะเริ่มต้นวันด้วยท้องฟ้าขมุกขมัว มีเมฆครึ้มให้เห็นเป็นระยะ แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้เรื่องการลงทุนของ Super Beginner อย่างเราแน่นอน

เพราะวันนี้เราได้ ‘พี่ควีน-เดือนเพ็ญ จันทร์ศิริศรี’ ผู้อำนวยการ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาความรู้การเงินขั้นพื้นฐาน ‘พี่กบ-ปนัดดา เพิ่มประโยชน์’ ผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน และ ‘พี่ชล-ชลวัลลิ์ ตรงจิตร์’ ผู้ช่วยผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน ทีมที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาของพิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มาแนะนำและพูดคุยเบื้องต้นเกี่ยวกับรายละเอียดความเป็นมา รวมถึงความตั้งใจของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ก่อนที่จะเริ่มเดินทัวร์ทัศนศึกษาภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ไปทีละจุด

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

เหมือนเป็นอินโทรที่ทำให้รู้ว่าเรื่องลงทุนไม่ใช่เรื่องยากและน่ากลัวอย่างที่คิด แถมในตัวพิพิธภัณฑ์ฯ ก็ยังมีความสนุกรอพวกเราอยู่ไม่น้อย

ทั้งสามคนเริ่มต้นด้วยการพาเราย้อนไปถึงวันที่ย้ายที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจากเดิมที่อยู่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มายังอาคารแห่งใหม่บนถนนรัชดาภิเษกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2559 นับแล้วเป็นระยะเวลากว่า 9 ปีที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดทำการมา

“นอกจากห้องสมุดมารวยแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมองว่าที่นี่ควรจะมีพื้นที่แหล่งเรียนรู้ทางการเงินและการลงทุนสำหรับผู้เริ่มต้นด้วยเหมือนกัน จึงเริ่มจากการจัดประกวดแนวคิดพิพิธภัณฑ์ มีการทำเวิร์กช็อปร่วมกับประชาชนทั่วไปที่สนใจกว่าสองร้อยคน แต่สุดท้ายมีผลงานที่ส่งเข้าประกวดแนวคิดแค่ยี่สิบกว่าคน” พี่ชลเล่าถึงความท้าทายในยุคเริ่มก่อตั้ง

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

ก่อนจะเล่าต่อว่า สาเหตุที่สุดท้ายแล้วมีจำนวนผู้ส่งประกวดแนวคิดนับเป็นแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมด น่าจะเป็นเพราะในสมัยนั้นการลงทุนเป็นเรื่องยาก ไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องนี้มากนัก การจะให้ตีองค์ความรู้ออกแบบเป็นพิพิธภัณฑ์จึงต้องมีการทำเวิร์กช็อปนำร่องเปิดประตูความสนใจก่อน

พี่ชลเท้าความถึงคำถามที่เป็นจุดเริ่มต้นของที่นี่ต่อว่า หากเกิดพิพิธภัณฑ์ภายใต้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะออกมาเป็นรูปแบบไหนดี เพื่อสำรวจความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน

“การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะเราเป็นพนักงานตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจเชี่ยวชาญในองค์ความรู้ด้านการเงินและการลงทุน แต่การจัดทำพิพิธภัณฑ์ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา จึงต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและทีมงานหลายฝ่าย” พี่กบบอกกับเราถึงความยากในช่วงเริ่มต้น

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลายแขนงเป็นส่วนสำคัญของการเดินทางสู่ความสำเร็จ วันที่ 4 มกราคม ปี 2559 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้เปิดให้บริการเป็นครั้งแรก แต่กว่าจะได้ชื่อที่โดนใจและฟังดูสนุกมาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องคุยกันหลายต่อหลายรอบ

ท้ายที่สุดก็ได้ชื่อเป็น ‘INVESTORY’ จากการผนวกคำว่า Investment และ Story เข้าด้วยกัน เพื่อเป็นการเชื้อเชิญผู้ชมว่า ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเจอกับเรื่องราวการลงทุนที่ร้อยเรียงด้วยการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่และน่าสนใจ อีกทั้งยังเป็นชื่อที่บอกถึงจุดเด่นและแสดงถึงบุคลิกของพิพิธภัณฑ์ได้ดีที่สุด

ทำเรื่องยากให้ง่าย ด้วยเนื้อหาที่ย่อยมาให้แล้ว

ด้วยความที่กลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ รูปแบบการนำเสนอของตัวพิพิธภัณฑ์ฯ จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน

“ปกติแล้วเวลาคนพูดถึงเรื่องเงินหรือตลาดหลักทรัพย์ฯ เขามักรู้สึกว่าเข้าใจยาก เพราะเต็มไปด้วยตัวเลขชวนงง อาจนำไปสู่การผลักไสให้ไกลห่างตัว หน้าที่ของพิพิธภัณฑ์เราคือการทำให้ความรู้สึกเหล่านี้หายไป” พี่ควีนเกริ่นถึงวัตถุประสงค์

“และเมื่อกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ เราจึงตั้งโจทย์ว่าการนำเสนอจะต้องน่าสนใจและสนุกสนานในเวลาเดียวกัน” พี่ชลเสริมถึงความท้าทายในการออกแบบเนื้อหา

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

พิพิธภัณฑ์ฯ แก้สมการนี้ด้วยการใช้ ‘สื่อปฏิสัมพันธ์’ (Interactive Media) ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกม แอนิเมชัน สื่อสัมผัส ฯลฯ รวมถึงการออกแบบงานศิลป์สไตล์ ‘Futuristic’ ผสมผสานสีสันสดใสสไตล์ ‘Pop Art’ ทำให้พิพิธภัณฑ์ฯ ดูสนุกสนานและดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์ภายใน

From Zero to Hero : จากศูนย์สู่ฮีโร่ทางการเงิน

หลังจากที่เราลงทะเบียนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ สิ่งที่เราจะได้รับติดมือคือ HERO Card หรือ บัตร RFID (Radio Frequency Identification) อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เสมือนสมุดบันทึกข้อมูลของเราตลอดการเดินชมพิพิธภัณฑ์ฯ ในวันนี้

แต่เราอยากให้ทุกคนเก็บเจ้าการ์ดนี้ใส่กระเป๋าไว้ก่อน แล้วไปเริ่มต้นจุดแรกกันที่หน้าจอ LED ขนาดใหญ่บริเวณด้านหน้าบันไดเลื่อน

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

ตรงนี้เป็นเหมือนปฐมบทให้ผู้ชมเห็นถึงปัญหาและอุปสรรคทางการเงินที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน เช่น นิสัยไม่ออมเงิน แพ้ป้ายเซลลดราคา เป็นหนี้บัตรเครดิต เศรษฐกิจตกต่ำ และอื่นๆ อีกมากมาย ผ่านการทำความรู้จัก ‘Money Monsters’ ตัวแทนภัยร้ายคุกคามการเงินที่เราต้องกำจัดจากชีวิต โดยตัวละครนี้จะอยู่กับเราตลอดการเดินชมพิพิธภัณฑ์ฯ

“เราอยากให้ผู้ชมได้มีปฏิสัมพันธ์กับเครื่องมือหรือสื่อต่างๆ ที่เราเตรียมไว้ให้ เพราะเราเชื่อว่าการเรียนรู้ผ่านการหยิบจับหรือการมีประสบการณ์ร่วม จะทำให้สามารถเรียนรู้และเข้าใจง่ายขึ้นอย่างไม่รู้ตัว” พี่ชลอธิบาย

จากนั้นพี่ๆ จะพาเราเดินเข้าสู่ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ที่มีการสร้างบรรยากาศด้วยการใช้เส้น Paradox เชื่อมโยงกับแนวคิดการเล่าเรื่องหลัก ‘From Zero to Hero’ เริ่มจากศูนย์สู่ฮีโร่คนใหม่ สังเกตได้ว่าบนเพดานของพิพิธภัณฑ์ฯ ช่วงแรกจะดูยุ่งเหยิง ขัดแย้ง ต่อมาเส้นสับสนวุ่นวายนี้จะค่อยๆ คลี่คลายไปตามลำดับเรื่องราว

เสร็จแล้วก็มาลอดผ่านอุโมงค์ที่เต็มไปด้วยแสงสีฟ้า แดง และเขียว ที่มาพร้อมเหล่า Money Monsters มากมาย เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า Money Monsters เป็นภัยร้ายที่คืบคลานตามติดเราในทุกย่างก้าว ก่อนห้องจะค่อยๆ สว่างขึ้นเมื่อเข้ามาถึงห้องโถงจุดลงทะเบียน ที่เราจะหยิบ HERO Card ที่ได้รับตั้งแต่ทางเข้า เพื่อเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลการเข้าร่วมฐานแต่ละฐานภายในพิพิธภัณฑ์ออกมาใช้เป็นจุดแรก

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย
INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

จุดนี้เป็นการบันทึกข้อมูลเบื้องต้นและสำรวจหา Money Monsters ในตัวเรา ซึ่งจะแปรผันตามค่าใช้จ่ายในหนึ่งเดือน สอดคล้องกับหนึ่งในความตั้งใจของพิพิธภัณฑ์ฯ ที่อยากให้ผู้ชมแต่ละคนได้เรียนรู้แนวทางที่เหมาะสมกับตัวเอง (Personalized Learning) และได้รับประสบการณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันไปตามสถานะทางการเงิน พฤติกรรมการใช้เงิน หรือการรับมือความเสี่ยงที่ไม่เหมือนกัน

พี่ชลยังบอกกับเราว่า เมื่อสิ้นสุดการเยี่ยมชมนิทรรศการ ข้อมูลในแต่ละด่านของเราจะถูกบันทึกไว้และส่งไปยังอีเมลที่ลงทะเบียน เพื่อนำไปต่อยอดสู่การลงมือทำและเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดในชีวิตจริงได้ด้วย

พวกเราเคลื่อนตัวไปยังพื้นที่ถัดไป โดยพี่ชลชี้ชวนให้เราสังเกตที่จุดลงทะเบียนว่าตัวหน้าจอมีระดับความสูงไม่เท่ากัน รวมถึงมีทางลาดและแผ่นเบรลล์บล็อกนำทางผู้พิการทางสายตาตลอดทางที่เดินผ่านมา

ที่เป็นแบบนี้เพราะทางพิพิธภัณฑ์ฯ ให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่ม และตั้งใจออกแบบพื้นที่โดยใช้แนวคิด ‘Universal Design’ หรืออารยสถาปัตย์ที่รองรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

“เรามีความตั้งใจให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่มีข้อจำกัด สามารถรองรับผู้ชมได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย เพราะในเมื่อผู้ชมก้าวเข้ามาแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ก็ต้องมีความรู้หรือประสบการณ์ดีๆ มอบกลับไปให้เขา” พี่กบเสริมถึงเบื้องหลังความใส่ใจ

จากการคำนึงถึงแนวคิดนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนตรงตามมาตรฐานสากลเทียบเท่ากับพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ระดับโลก

ปัญหาทางการเงินตัวร้ายกับผู้เชี่ยวชาญเก่งฉกาจ

จุดถัดไปคืออีกหนึ่งพื้นที่ที่พี่ชลบอกกับเราว่าพลาดไม่ได้ กับห้อง ‘Hero Power’ ภายใต้โซน ‘INVESTORY Land’ ที่ออกแบบมาในลักษณะโรงภาพยนตร์ขนาดย่อม

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

ถือเป็นครั้งแรกของวงการพิพิธภัณฑ์ไทยกับการฉายแอนิเมชันที่ไม่ได้เป็นเพียงภาพเคลื่อนไหว แต่ยังมีวัตถุเคลื่อนไหวที่จับต้องได้ผนวกอยู่ด้วย นั่นคือ ภาพยนตร์แอนิเมชันเปิดตัว ‘SET Heroes’ ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินที่ผนึกกำลังเพื่อปราบ Money Monsters อีกทั้งยังให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจจนเกิดฮีโรคนใหม่ขึ้นมา

“เราเล่าเรื่องผ่านนวัตกรรมกลไกแท่ง ‘Kinetic’ ผสมผสานเข้ากับแอนิเมชัน โดยมีเบื้องหลังการควบคุมและป้อนคำสั่งผ่านคอมพิวเตอร์ เพื่อปรับแต่งความเร็วขึ้นลง เพิ่มความน่าตื่นตาตื่นใจ รวมถึงทำให้ผู้ชมเสมือนได้รับชมแอนิเมชัน 3D” พี่ชลเล่าถึงความพิเศษของภาพยนตร์แอนิเมชันนี้ ก่อนเคลื่อนพลไปยังจุดต่อไป

จุดนี้คือการนำเสนอทางรอดและวิธีกำจัด Money Monsters ผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนกับผู้เชี่ยวชาญทางการเงินอย่าง SET Heroes ในห้อง ‘World of SET’

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

ห้องที่จะแนะนำให้รู้จักกับโลกตลาดทุน ซึ่งมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นศูนย์บัญชาการลับใต้ดินของเหล่า SET Heroes 4 ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินและการลงทุน ตัวแทนของผลิตภัณฑ์ในโลกของการลงทุน ได้แก่ ‘Guardian B’ ตัวแทนของตราสารหนี้ ‘Captain S’ ตัวแทนของหุ้น ‘Pro M’ ตัวแทนของกองทุนรวม และ ‘Lady D’ ตัวแทนของอนุพันธ์

“ย้อนกลับไปในวันแรกที่ริเริ่มวางเนื้อหาและการนำเสนอ อีกหนึ่งโจทย์ยากของเราคือการทำให้ผู้ชมได้รับความรู้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็สนุกและไม่น่าเบื่อ ตัวละครจึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ได้” พี่กบเล่าย้อนถึงวันแรกที่เหล่าตัวละครถูกสร้างขึ้น

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

“ความรู้เรื่องการเงินและการลงทุนดูเป็นเรื่องนามธรรม เข้าถึงยาก จับต้องไม่ได้ในสายตาของผู้ชม พิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องสร้างตัวละครขึ้นมาเพื่อสร้างความรู้สึกเป็นมิตร ให้ใกล้ชิดผู้ชมมากขึ้น โดยแทรกความรู้ผ่านสตอรีไลน์และบุคลิกของตัวละคร” พี่กบอธิบายเสริม

หนึ่งในนั้นคือรูปปั้นฮีโร่คนเสมือนจริง ที่พี่ควีนแอบกระซิบว่ามีต้นแบบจากคนจริงๆ ซึ่งเป็นพนักงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีบุคลิกและภาพลักษณ์สอดคล้องกับคาแรกเตอร์ที่ออกแบบไว้ และเชื่อมโยงกับแต่ละผลิตภัณฑ์การลงทุน

ไม่แน่ว่าหลังเดินออกไปจากพิพิธภัณฑ์ฯ เราอาจจะเดินสวนกับเจ้าของรูปปั้นตัวจริงก็ได้

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

นอกจากนี้ ภายในห้องยังมีอีกหนึ่งสิ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ ‘SET Ecosystem’ ภาพจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ ผลงานของ ‘ฟ้าวลัย ศิริสมพล’ ที่หยิบเอาศิลปะไทยมาประยุกต์ให้ทันสมัย มีสีสะดุดตา โดยมีการลดทอนรายละเอียด สร้างตัวละคร และแทรกเรื่องราวต่างๆ ไว้ โดยเล่าถึงโครงสร้างของตลาดทุน ความสำคัญและกลไกของตลาดหลักทรัพย์ฯ

ยิ่งไปกว่านั้น ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ยังเพิ่มความน่าตื่นตาตื่นใจให้กับภาพวาดด้วยวีดิทัศน์ที่จะฉายไปที่จิตรกรรมฝาผนัง เล่าเรื่องราวด้วยภาพเคลื่อนไหว เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานทั้งเทคโนโลยี ความเป็นไทย และสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ในเวลาเดียวกัน

บอกเลยว่ามาแล้วห้ามพลาดเด็ดขาด เพราะในเวลาเพียงไม่กี่นาทีก็ทำให้เราเข้าใจกลไกตลาดทุนแบบคร่าวๆ ได้แล้ว

“ด้วยความที่เราคือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงอยากคงเอกลักษณ์ของไทยไว้ในพิพิธภัณฑ์ฯ ด้วย เราเลยคัดเลือกศิลปินรุ่นใหม่ที่มีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์ และตรงกับความเห็นชอบของคณะทำงาน ซึ่งคุณฟ้าวลัยมีเสน่ห์บางอย่างที่แทรกอยู่ในงานศิลป์ของเขาอย่างลงตัว” พี่กบเล่าถึงที่มาที่ไปของตัวละครที่ยังคงมีกลิ่นอายของภาพวาดฝาผนังในวัด

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

นอกจากนี้ พี่ชลยังเชื้อเชิญให้เราเดินเข้าไปดูภาพใกล้ๆ เพราะนอกจากเรื่องราวของกลไกตลาดทุนแล้ว ศิลปินยังสอดแทรกภาพแมวไทยเอาไว้ทั่วทั้งผนัง

“หากมองไกลๆ หรือมองเผินๆ เราจะเห็นภาพรวม แต่ถ้าขยับเข้าไปใกล้ๆ จะเห็นถึงเสน่ห์และเรื่องราวที่ศิลปินซ่อนไว้ในมุมเล็กมุมน้อยของภาพ ถ้ามีเวลาอยากให้มาลองนับดูว่าทั้งภาพมีแมวเหมียวซ่อนอยู่กี่ตัว” พี่ชลพูดเชิญชวนด้วยรอยยิ้ม

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

ใกล้ๆ กันมีการจำลองวิธีการลงทุนรูปแบบดั้งเดิมอย่างการเคาะกระดาน ให้ผู้ชมได้ลองสวมเสื้อสูทประจำตำแหน่ง ยกหูโทรศัพท์ หยิบกล้องส่องทางไกล นั่งเครื่องย้อนเวลากลับไปลองซื้อขายหุ้นแบบเคาะกระดานกัน

“รายชื่อหุ้นที่เห็นบนกระดานจำลองคือหุ้นที่มีการซื้อขายตั้งแต่วันแรกที่เปิดทำการ และในปัจจุบันยังคงซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ” พี่ชลอธิบายเสริม

ถัดมาคือ ‘SET Timeline’ ผนังที่สรุปประวัติและวิวัฒนาการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา โดยเล่าเรื่องราวผ่าน ‘SET Index’ หรือดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีลักษณะคล้ายชีพจรที่เต้นขึ้นลงอยู่เรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ไม่เพียงแต่แบ่งไทม์ไลน์ออกเป็น 5 ทศวรรษ โดยเล่าสัมพันธ์กับเหตุการณ์สำคัญ สถานการณ์ วิกฤต หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่พี่ชลเล่าให้เราฟังว่า ที่นี่ยังนำเสนอแต่ละทศวรรษด้วยเครื่องมือตามยุคสมัยนั้นๆ ด้วย

“อย่างเครื่องโทรทัศน์ที่มีทั้งตัวเครื่องและฟอนต์ที่ใช้เป็นไปตามเทรนด์สมัยนั้น รวมถึงใช้วัสดุแห่งยุคทำสันแฟ้มเหตุการณ์ในแต่ละปี เช่น การใช้วัสดุมันวาว (Shiny Materials) ในยุคมิลเลนเนียมช่วงปี 2539 – 2548 หรือการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ไม้ไผ่ประสาน ในช่วงปี 2559 – 2563 ที่มีการตระหนักเรื่องความยั่งยืนและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

นอกจากความรู้และความพิเศษของการนำเสนอแล้ว อีกสิ่งที่เราค้นพบคือ การลองพลิกดูว่าในปีที่เราเกิดมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง สถานการณ์โลกหรือประเทศไทยในยุคนั้นเป็นอย่างไร อย่างปี 2546 ที่เป็นปีเกิดของเรา เป็นปีขาขึ้นของเศรษฐกิจ บอกลาวิกฤตต้มยำกุ้ง และเป็นยุคที่กระทิงผงาดครองตลาดขาขึ้นอย่างคึกคัก นับเป็นความสนุกที่อยากให้ลองมาดึงแฟ้มไปอ่านกัน

การตระหนักรู้คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

ถัดจากห้องโถงใหญ่คือ ห้อง Check up Station เรียกอีกชื่อว่า ‘Check & Shock’ ห้องที่จะทำให้เห็นว่า หลังจากวันที่เกษียณต้องมีเงินเท่าไรถึงจะเพียงพอ จะเห็นว่าเรามีความจำเป็นต้องใช้เงินแต่ละเดือนมากกว่าปัจจุบันเพราะอัตราเงินเฟ้อในอนาคตนั่นเอง คำถามคือ แล้วเราจะต้องทำงานกี่ปี เก็บออมเดือนละเท่าไร หรือต้องการผลตอบแทนเพิ่มมากแค่ไหนถึงจะไม่เดือดร้อนและมีเงินเพียงพอในอนาคต

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

วิธีการก็ง่ายๆ โดยการสำรวจข้อมูลผ่านจุด ‘Check up Station’ แค่วางการ์ด RFID และกรอกข้อมูล ระบบก็จะช่วยวางแผนชีวิตล่วงหน้าคร่าวๆ ว่าในระยะเวลาที่ยังทำงานหารายได้จะต้องเก็บเงินเท่าไร และกว่าจะไปถึงตอนเกษียณเราต้องหาผลตอบแทนเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์เงินออมถึงจะพอใช้

“ถ้าเราได้เริ่มสำรวจตัวเอง เริ่มเห็นความสำคัญว่าพฤติกรรมการใช้เงินหรือสิ่งที่เราปฏิบัติในปัจจุบันจะนำไปสู่ภาพอนาคตแบบไหน ปัญหาทางการเงินที่หลายคนเผชิญในตอนนี้อย่างปัญหาเรื่องหนี้เกินตัวหรือขาดความมั่นคงทางการเงินน่าจะน้อยลงได้” พี่ควีนให้เหตุผลที่ตนยกให้ห้องนี้เป็นห้องที่ชอบและอยากแนะนำมากที่สุด

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

ฐานต่อไปคือ ‘Hero Training Station’ ที่เหล่า SET Heroes จะแนะนำวิธีทำให้เรารอดพ้นจาก Money Monsters และมีเงินพอใช้ในอนาคต ผ่านการลงทุนประเภทต่างๆ โดยมีการให้ความรู้ผ่านกราฟิกบอร์ดและสื่อหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นวีดิทัศน์หรือเกม ยิ่งไปกว่านั้น ในฐานนี้เราจะได้รู้จักกับ SET Heroes คนใหม่ ‘Power G’ ตัวแทนผู้ลงทุนยุคใหม่ที่ใส่ใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม สังคม และโลกมากขึ้น

“รูปปั้นของ Power G ทำจากกระดาษสาใยมะม่วง และกาวชนิดพิเศษเพื่อให้เป็นวัสดุจากธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ ออกแบบให้เป็นตัวแทนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainability)” พี่ชลเล่าถึงที่มาฮีโร่ตัวใหม่ที่มีต้นแบบมาจากคนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นกัน

เมื่อทำความเข้าใจและผ่านการฝึกฝนกันมาได้พอประมาณ ก็ถึงเวลาตามหาสัดส่วนพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับเราตามความเสี่ยงที่รับได้ในห้อง ‘Asset Allocation’ แล้วลงสนามซ้อมก่อนกระโดดเข้าสู่สนามจริงภายนอกกับ ‘Big Battle’ ห้องทดลองลงทุนเสมือนจริง

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

“ตอนแรกผู้ชมอาจมองว่าการลงทุนเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าผู้ชมได้ลองมาฝึกการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจที่นี่แล้ว อย่างน้อยจะทำให้เกิดความคุ้นเคยและมีประสบการณ์กับการลงทุนมากขึ้น” พี่ชลเล่าถึงจุดประสงค์ของห้อง Big Battle

“ที่นี่ถือเป็นสนามทดลองไร้ความเสี่ยง ที่เรียกได้ว่าพลาดในห้องดีกว่าพลาดในชีวิตจริง” พี่ควีนเสริม

“ห้องนี้ถูกใจผู้ชมมากที่สุด ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์ฯ เลย ยิ่งมากันหลายคน ได้แข่งกับเพื่อนยิ่งสนุก” พี่กบแชร์ผลตอบรับจากผู้เยี่ยมชม

หลังจากลงสนามดวลฝีมือการลงทุนกันไปแล้ว มาถึงจุดส่งท้ายผู้ชมกับโซน ‘New Hero’ ที่ออกแบบให้สว่างสดใส แสดงถึงอิสรภาพและความหวัง

อีกทั้งยังมีมุมถ่ายรูปที่ระลึกเป็นจุดสุดท้ายตามไทม์ไลน์การเล่าเรื่องด้วยแนวคิด From Zero to Hero ที่สุดท้ายแล้วทุกคนต่างเป็นฮีโร่ของตัวเอง ที่จะพาชีวิตก้าวสู่อิสรภาพทางการเงิน และการมาพิพิธภัณฑ์ฯ ในครั้งนี้ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผู้ชมได้ก้าวเข้าสู่โลกแห่งการเรียนรู้ เป็นการเริ่มต้นครั้งยิ่งใหญ่ที่จะนำไปสู่การต่อยอดวางแผนการเงินและการลงทุนในอนาคต

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

ความมั่งคั่งคู่ความยั่งยืน

แม้เราจะเดินชมโซนนิทรรศการหลักครบทุกจุดแล้ว แต่อีกโซนที่ห้ามพลาดคือ ‘INVESTORY Hall’ พื้นที่จัดแสดง ‘นิทรรศการชุดพิเศษ’ ที่นำเสนอประเด็นในความสนใจของประชาชน

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

“ถึงแม้นิทรรศการนี้จะไม่ได้ตั้งอยู่ถาวร แต่จะเป็นนิทรรศการชุดพิเศษที่มีการเปลี่ยนแปลงตามเรื่องราวที่เป็นประโยชน์และได้รับความสนใจในช่วงเวลานั้นๆ เราจึงไม่เรียกว่านิทรรศการหมุนเวียน” พี่กบอธิบายถึงเหตุผลที่ไม่เรียกว่านิทรรศการหมุนเวียนแต่ใช้คำว่านิทรรศการชุดพิเศษแทน

อย่างตอนที่เรามาเยี่ยมชมก็อยู่ในช่วงที่ทางพิพิธภัณฑ์ฯ จัดนิทรรศการชุดพิเศษในธีม ‘Investopia’ หรือ นครหุ้นยั่งยืน เป็นการนำเสนอเรื่องการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ

“เราอยากสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ตระหนักว่า เขาสามารถใช้บทบาทความเป็นผู้ถือหุ้นส่งเสริมให้ธุรกิจหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลที่ดี เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ถือหุ้นได้อีกด้วย” พี่ชลอธิบายถึงวัตถุประสงค์

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

นอกจากการลงทุนเพื่อความยั่งยืนที่คนให้ความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ยังพยายามมองหาการนำเสนออื่นๆ ที่ทั้งดึงคนให้มาสนใจ และเข้ากับสถานการณ์มากขึ้น

อย่างปี 2564 ที่ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ปิดปรับปรุงไปช่วงหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงโควิดระบาดพอดี สอดคล้องกับความเห็นว่าพิพิธภัณฑ์ฯ เปิดให้บริการมาอย่างยาวนาน เห็นทีจะต้องมีการพัฒนาเนื้อหาและปิดปรับปรุงสักครั้ง

“ตอนนั้นแม้ตัวพิพิธภัณฑ์จะปิด แต่ทางทีมงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่อยู่เบื้องหลังยังคงทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานในการให้บริการให้เข้ากับสถานการณ์ โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ช่วงนั้นถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของพิพิธภัณฑ์ฯ” พี่กบเล่าถึงการปรับตัวในช่วงเวลานั้น

ด้วยเหตุนี้ ทางพิพิธภัณฑ์ฯ จึงมีนิทรรศการเสมือนจริงที่จะพาเราเยี่ยมชมทุกจุดผ่านทางออนไลน์ สำหรับใครที่ยังไม่สามารถเดินทางมาที่พิพิธภัณฑ์ฯ ลองไปทัวร์ผ่านหน้าจอก่อนได้ที่ INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน

คุณคือฮีโร่คนต่อไป

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

หลังจากสำรวจทั่วทุกจุดภายในพิพิธภัณฑ์ฯ แล้ว เมื่อเดินตามเส้นทางที่เรียงลำดับไว้เป็นลูปที่เข้า-ออกทางเดียวจะพบกับ ‘ประติมากรรมรูปหมีกับกระทิง (Bull and Bear)’ รูปปั้นโดดเด่นสีทองแดง ผลงานของ ‘ธีรพงศ์ อุทัยเสน’ สัญลักษณ์สากลอันแสดงถึงภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยกระทิงแทนสภาวะตลาดขาขึ้น ส่วนหมีแทนสภาวะตลาดขาลง

แต่แม้จะเป็นสัญลักษณ์สากลที่ใช้กันทั่วโลก แต่รูปปั้นสไตล์นี้มีเฉพาะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้น

จุดนี้ถือเป็นแลนด์มาร์กของพิพิธภัณฑ์ฯ ที่ถูกใจทั้งผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ สนใจงานประติมากรรมและการลงทุน เราเลยขอแวะถ่ายภาพเป็นที่ระลึกสักหน่อย และพูดคุยอีกเล็กๆ น้อยๆ ส่งท้ายกับทั้งสามคนก่อนบอกลากันไปในวันนี้

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของไทย

“เราอยากให้พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนเป็นพื้นที่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชมเริ่มต้นเรียนรู้ และนำประสบการณ์ที่ได้ไปต่อยอดในชีวิตจริง เพราะไม่มีใครรู้ปัญหาหรือเป้าหมายทางการเงินของเราได้เท่ากับตัวเราเอง และในที่สุดคนที่จะจูงมือเราก้าวสู่อิสรภาพในอนาคตได้ก็คือตัวทุกคนเอง” เราหยักหัวเห็นด้วยกับสิ่งที่พี่ชลบอก

“สื่อการเรียนรู้ของเรามีความพิเศษคือ นอกจากจะช่วยย่อยเรื่องยากให้เคี้ยวง่าย เหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย ทำให้เกิดความรู้สึกสนุกสนานและไม่รู้สึกเหมือนว่าความรู้พุ่งชนอย่างจังแล้ว ยังช่วยลดน้ำเสียงจริงจังของคำว่า ‘การเงินและการลงทุน’ ได้อีกด้วย” พี่ควีนเสริม

“อย่างน้อยที่สุดเมื่อออกจากที่นี่ เพียงผู้ชมมีความคิดว่าอยากไปหาข้อมูลเพิ่มเติม เกิดความสนใจใคร่รู้เรื่องการเงินและการลงทุน เท่านี้ก็ถือว่าพิพิธภัณฑ์ฯ ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว” พี่กบกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม


‘MUSEUM-IN-SIGHT เพ่งพิศพิพิธภัณฑ์’ คือซีรีส์บทสัมภาษณ์ในคอลัมน์ One Day With… จาก Urban Creature ที่จะพาไปสำรวจพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล Museum STAR ว่า กว่าจะมาเป็นแหล่งเรียนรู้ติดดาวให้เราเข้าชม มีอินไซต์อะไรที่คนเข้าชมอย่างเราๆ ไม่เคยเห็นมาก่อนบ้าง

Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.