เอสกิโม ในภาวะโรคร้อนน้ำแข็งละลาย - Urban Creature

สูงขึ้นไปบริเวณขั้วโลกเหนือ ใครจะคิดว่าท่ามกลางความหนาวเหน็บเกือบ -50 องศาเซียลเซียส ยังมีผู้คนอาศัยอยู่ นั่นคือกลุ่มคนที่ทั่วโลกเรียกพวกเขาว่า เอสกิโม ที่มีสัตว์คู่ใจเป็นเจ้าสุนัขลากเลื่อน ซึ่งเมื่อพูดถึงสุนัข หลายคนคงคุ้นเคยกับคลิปวิดิโอสุนัขลากเลื่อนวิ่งผ่านน้ำบริเวณกรีนแลนด์ ที่เมื่อไม่กี่ปีก่อนมันเคยเป็นน้ำแข็งทั้งหมด แต่กลับละลายเพราะปัญหาสภาวะโลกร้อน

เราจึงพาไปทำความรู้จักกับ ‘อินูอิต’ หรือที่ทุกคนรู้จักพวกเขาในชื่อ ‘เอสกิโม’ ชนเผ่าเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 8,000 ปี ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณรอบขั้วโลกเหนือ เจาะลึกถึงวิถีชีวิตของชาวอินูอิตจากอดีตถึงปัจจุบันว่าเปลี่ยนไปแค่ไหน แล้วพวกเขาปรับตัวอย่างไรกับสภาวะโลกร้อนที่กำลังสะเทือนทั่วโลก ณ ขณะนี้

| Focusing on Geographical Pole

ท่ามกลางพื้นที่แสนไกลโพ้น ณ บริเวณขั้วโลกเหนืออันหนาวเหน็บ จะเป็นอย่างไรเมื่อมนุษย์ต้องอยู่ในสภาพภูมิอากาศหนาวจัด โดยในฤดูหนาวก็หนาวสุดถึง -30 ถึง -50 องศาเซลเซียส บวกกับสภาพลมแรงที่ยิ่งทำให้หนาวจัดมากขึ้น แต่ช่วงฤดูร้อนในบางเขตก็มีอากาศร้อนได้ถึง 37 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนเท่ากับอุณหภูมิร้อนสุดของประเทศไทยเลยทีเดียว

และนี่คือที่อยู่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีอาชีพล่าสัตว์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเรารู้จักกันในนาม เอสกิโม (Eskimo) ซึ่งมีต้นกำเนิดเดียวกับชาวมองโกลที่แพร่กระจายมาเรื่อยๆ โดยนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า บรรพบุรุษของพวกเขาเกิดบริเวณช่องแคบแบริ่ง และอพยพจากทวีปเอเชีย เข้าไปอยู่บริเวณตอนเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ และกรีนแลนด์ 

ปัจจุบันชนเผ่านี้อาศัยอยู่รอบๆ ขั้วโลกเหนือ มีทั้งแถบไซบีเรียตะวันออก รัสเซีย ข้ามมาที่รัฐอลาสกา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา แคนาดา และกรีนแลนด์ที่มีจำนวนประชากรเชื้อสายเอสกิโมดั้งเดิมอาศัยอยู่มากสุดถึง 70% แต่หลังจากยุคล่าอาณานิคมของชาวยุโรป กาลเวลาเปลี่ยนไป สภาพอากาศก็เปลี่ยนตาม ทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างมาก ต้องเริ่มเข้ามาอยู่ในเมืองใช้ชีวิตแบบสมัยใหม่มากขึ้น ควบคู่ไปกับวิถีดั้งเดิม

| Focusing on Inuit 

เอสกิโม (Eskimo) ชนเผ่าดั้งเดิมจากขั้วโลกเหนือ กลายเป็นคำเรียกติดปากจนยากที่จะแกะออก แต่รู้หรือไม่คำนี้เป็นคำต้องห้ามที่แสนสะเทือนใจของพวกเขา เพราะเอสกิโมแท้จริงมีความหมายว่า “คนกินเนื้อดิบ” ซึ่งนั่นถูกเรียกตามวิถีชีวิตสมัยก่อนที่มีการกินเนื้อดิบกันเป็นปกติ แต่สำหรับพวกเขาแล้ว คำว่าเอสกิโมคือคำที่ไม่ค่อยสุภาพสักเท่าไหร่ พวกเขาอยากให้คนเรียกว่า อินูอิต หรือ ฮีนูอิธ (Inuit) มากกว่า

โดยธรรมชาติแล้ว ในฤดูหนาวชาวอินูอิตมักรวมตัวอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ ส่วนในฤดูร้อนก็จะแยกกันอยู่เป็นครอบครัว แต่จะไม่อาศัยอยู่บริเวณหมู่บ้านหรือที่พักที่ต้องอยู่นานๆ เน้นอาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราวซึ่งสามารถล่าสัตว์ได้มากกว่า ตามความเชื่อที่ว่า การล่าสัตว์คือชีวิตที่แท้จริง เพราะการล่าสัตว์เป็นการปฏิสัมพันธ์พูดคุยกันระหว่างคนในชนเผ่า ทั้งการร่วมล่า ลงมือแล่ชำแหละ แบ่งปันเนื้อหนังให้กลุ่มคนล่าไปเก็บไว้ทำอาหาร ส่วนหนังก็นำมาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มได้ต่อไป ถึงแม้ว่าจะดูโหดร้ายไปสักหน่อย แต่ในการล่าหนึ่งครั้ง พวกเขาใช้ทรัพยากรทุกอย่างด้วยความคุ้มค่า ซึ่งใน 1 ปี จะมีการออกล่าสัตว์ใหญ่เพียง 2 ครั้งเท่านั้น

นอกจากนี้ในการล่าสัตว์จะมีพาหนะสำคัญที่ชื่อว่า เรือคายัค ซึ่งชาวอินูอิตถือเป็นชนเผ่าแรกที่คิดค้นเรือคายัคขึ้นมา โดยสมัยก่อนโครงสร้างภายในทำมาจากไม้ ส่วนภายนอกห่อหุ้มด้วยหนังสัตว์ที่นำมาเย็บติดกัน และปิดผนึกด้วยไขมันวาฬ เพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำ ไม่เพียงเท่านั้นเรือคายัคยังสามารถใช้เคลื่อนย้ายคนเมื่อจำเป็นต้องอพยพถิ่นฐานได้ ต่อมาแนวคิดของเรือคายัคถูกนำไปพัฒนาต่อและใช้กันในหลายประเทศทั่วโลก

 | Focusing on Igloo

นอกจากเอกลักษณ์ในการใช้ชีวิตของชาวอินูอิตแล้ว การสร้างที่อยู่อาศัยของพวกเขาก็น่าสนใจไม่แพ้กัน อิกลู (igloo) คือบ้านที่สร้างจากน้ำแข็งที่ถูกตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมแล้วนำไปวางซ้อนกันเป็นชั้นๆ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะมีลักษณะคล้ายโดม โดยเจาะทางเข้าไว้ที่ระดับต่ำเพื่อป้องกันลมหนาวจากภายนอกพัดเข้ามา ส่วนภายในจะมีหนังสัตว์ขึงไว้ที่ผนังเพื่อกักเก็บความร้อน ที่เกิดจากการจุดตะเกียงหรือความร้อนจากร่างกายมนุษย์ไม่ให้ออกไป 

ซึ่งหลักการสร้างนี้ทำให้อุณหภูมิด้านในอิกลูลดลงจากภายนอกที่ต่ำถึง -45 องศาเซลเซียสเหลือเพียง -7 จนถึง 16 องศาเซลเซียสเท่านั้น นอกจากนี้ขนาดของอิกลูจะถูกปรับเปลี่ยนให้แตกต่างกันออกไปตามการใช้งาน เช่น ถ้าต้องการใช้เพื่อพักอาศัยชั่วคราวสำหรับวันที่ออกล่าสัตว์ ก็จะสร้างเป็นอิกลูขนาดเล็กที่มีโครงสร้างง่ายๆ ไม่ซับซ้อนมากนัก แต่ถ้าต้องการสร้างสำหรับพักอาศัยในระยะยาวก็อาจสร้างให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และแบ่งสัดส่วนภายในให้ชัดเจนมากขึ้น

โดยการสร้างกลูนั้น ทางวิศวกรได้มีการวิเคราะห์โครงสร้างเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า บ้านน้ำแข็งอิกลูได้ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนกว่าจะสมบูรณ์ขนาดนี้ ซึ่งลักษณะส่วนโค้งครึ่งวงกลมของตัวบ้าน พวกเขาได้นำหลักพาราโบลามาใช้ เพื่อป้องกันการพังทลาย แถมหิมะที่พารู้สึกหนาวเหน็บ ยังใช้เป็นฉนวนกันความร้อนชั้นเยี่ยมได้อีกด้วย เพราะสีขาวของแผ่นน้ำแข็งและหิมะสามารถสะท้อนความร้อนออกไป เช่นเดียวกันกับความสำคัญ ของผืนน้ำแข็งของทั้งบริเวณขั้วโลกเหนือและใต้ ที่ช่วยลดความร้อนที่เกิดขึ้นกับโลกใบนี้ได้

| Focusing on Global Warming

เมื่อสภาวะโลกร้อนกลายเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึก และดูเหมือนว่าจะสร้างผลกระทบอย่างต่อเนื่องเหมือนโดมิโนที่กำลังล้ม จากวิถีชีวิตของชาวอินูอิตที่ขี่รถฝูงสุนัขล้อเลื่อน หรือขับรถสโนว์โมบายแล่นไปทั่วเมือง บ้างตกปลาในหลุมน้ำแข็งอันกว้างใหญ่ที่ปกคลุมไปด้วยหิมะตลอดทั้งปี แต่ตอนนี้ ฤดูหนาวของพวกเขากลับสั้นลงกว่าปกติถึง 6 สัปดาห์ บริเวณพื้นทะเลปกคลุมด้วยน้ำแข็งหดเล็กกว่า 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา 

นักอุตุนิยมวิทยาชี้ว่า ช่วงเวลาสิบปีที่ผ่านมา
สภาวะภูมิอากาศโดยรอบขั้วโลกเหนือ
เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

สิ่งนี้ถือเป็นสถานการณ์ใหม่ที่ไม่มีใครเคยเจอมาก่อน ‘เดอร์ริก พอตเติล’ ชาวอินูอิตซึ่งคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตตามวิถีบรรพบุรุษให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ทักษะและประสบการณ์ที่ฝึกฝนเรียนรู้จากรุ่นพ่อรุ่นปู่อาจจะใช้ไม่ได้แล้วกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะตอนนี้วิถีชีวิตของเราแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับอดีต ชาวอินูอิตต้องซื้ออาหารแช่แข็งจากร้านค้ามากินแทนการออกไปล่าสัตว์ เพราะง่ายกว่าและปลอดภัยกว่า และนั่นเป็นผลกระทบโดยตรงจากสภาวะโลกร้อน พื้นผิวน้ำแข็งที่เคยแข็งแกร่งกลับเปราะบาง จนทำให้การออกไปล่าสัตว์มีความเสี่ยงสูงและอันตรายมากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าแผ่นน้ำแข็งจะแตกหรือละลายเมื่อไหร่ หากเปรียบเทียบว่าธารน้ำแข็งที่สมบูรณ์ของพวกเขามีค่ามากแค่ไหน ก็คงจะเปรียบได้กับลมหายใจที่ตอนนี้ไม่สามารถเดาได้ว่า ทุกอย่างจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้หรือเปล่า ?

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.