เป็นที่รู้กันว่า การก่อสร้างเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษ ทั้งมลพิษทางเสียงจากเครื่องจักรหรือกระบวนการก่อสร้าง และมลพิษทางอากาศที่มาจากเศษอิฐหินดินปูนซึ่งทำให้เกิดฝุ่นละออง
หลายคนอาจเคยเห็นผ้าใบ สแลน สังกะสี หรือกำแพงไซต์ก่อสร้างรูปแบบต่างๆ ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง แม้จะมีการกั้นขอบเขตที่ชัดเจนแล้วแต่มลพิษที่เกิดจากการก่อสร้างไม่เพียงกักกันอยู่ในเส้นเขตนั้น แต่ยังกระจายตัวสู่พื้นที่โดยรอบและมีผลกระทบต่อผู้คนละแวกนั้นไปโดยปริยาย

ล่าสุดรัฐบาลจีนได้ติดตั้ง ‘โดมลมยักษ์’ (Inflatable Construction Dome) ความสูง 50 เมตร ครอบคลุมเขตพื้นที่การก่อสร้าง 20,000 ตารางเมตรในเมืองจี่หนาน ประเทศจีน หวังเป็นนวัตกรรมจัดการมลพิษ และทำให้การก่อสร้างอยู่ร่วมกับเมืองได้อย่างยั่งยืน
ตัวโดมทำจากพอลิเอสเตอร์เคลือบ PVDF ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่น ทนทานต่อทุกสภาพอากาศ ออกแบบให้โปร่งใสรับแสงธรรมชาติ มีการใช้ระบบแรงดันลม ไม่จำเป็นต้องใช้โครงค้ำยัน ที่สำคัญคือมีระบบควบคุมการหมุนเวียนอากาศและระบบกรองอากาศ ซึ่งสามารถดักจับฝุ่นละอองภายในโดมได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งโดมยักษ์นี้ยังทำหน้าที่เป็นกำแพงสกัดกั้นเสียงจากการก่อสร้างไปในตัว ด้วยการตัดเสียงรบกวนได้สูงสุดถึง 40 เดซิเบล เปรียบเทียบคือ เปลี่ยนจากเสียงเจาะถนนที่ดังสนั่นให้กลายเป็นเสียงหึ่งเบาๆ ของตู้เย็นได้

นวัตกรรมนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากสาธารณชนอย่างล้นหลาม เพราะอากาศดีขึ้นและเสียงรบกวนที่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ถือเป็นก้าวสำคัญของแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ที่ทางรัฐบาลจีนมองเห็นปัญหาและมีความพยายามที่จะแก้ไขเพื่อยกระดับชีวิตผู้คนในเมือง รวมถึงใส่ใจสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน
Source :
The Civil Studies | tinyurl.com/yxv5dzud