พล หุยประเสริฐ ผู้ออกแบบ ‘เฟสติวัลออนไลน์’ - Urban Creature

คอนเสิร์ตออนไลน์ ? คำใหม่ที่ชวนสงสัยพอกับคำว่า New Normal หลังจากที่ค่ายเพลงอย่าง What The Duck ปล่อย ‘Whal & Dolph Fish Market’ คอนเสิร์ตวงเจ้าปลาเพิ่งจบไปหมาดๆ ก็ถูกพูดถึงและมีคนแชร์ในฟีดโซเชียลมากมาย ด้วยความสดใหม่ของคอนเสิร์ตแรกที่จัดบนออนไลน์ และไม่ใช่การไลฟ์บนแพลตฟอร์มทั่วๆ ไป เพราะเขาจัดกันผ่านโปรแกรมมีตติ้ง ‘Zoom’ ให้เหล่าแฟนๆ มาประชุมกันโดยนัดหมาย!

วันที่ 7 มิถุนายน คอนเสิร์ตออนไลน์จะเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่จัดใหญ่กว่าเดิมในรูปแบบเฟสติวัลกับ ‘First Interactive Online Music Festival: Top Hits Thailand’ ขนไลน์อัพท็อปฮิตศิลปินไทยกันมาแบบจัดเต็ม ทั้ง GUNGUN, ICE X JAYLER, BOWKYLION, SCRUBB, THE TOYS และอีกมากมาย

เรามาเยือนถึงสตูดิโอบ้านริกที่ตั้งของ Live Interactive Studio แห่งใหม่สำหรับงานนี้ ซึ่งกำลังเตรียมความพร้อมระบบก่อนที่ทุกอย่างจะเกิดขึ้น แค่เห็นสถานที่ก็ตื่นเต้นแล้ว แต่เราตื่นเต้นยิ่งกว่าเมื่อได้คุยกับ ‘พี่พล หุยประเสริฐ’ แห่ง H.U.I. นักออกแบบคอนเสิร์ตผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งได้ชื่อว่าพ่อมดผู้เสกคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ในประเทศไทยมานักต่อนัก ซึ่งนอกจากโปรดักชันอลังการ สร้างความประทับใจ ยังมอบไอเดียสดใหม่ให้กับวงการดนตรีมาตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา

ได้ยินดังนั้นเราจึงอยากมาทำความรู้จักตัวตนของ H.U.I  ที่ยิ่งคุยก็ยิ่งเห็นแนวคิดในการทำงานสุดเจ๋งของพี่พล ที่ไม่เคยหยุดคิดและกล้าที่จะลงมือทำมันให้กลายเป็นจริง ทุกวันนี้ H.U.I เปิดกว้างความคิดให้เด็กเจนใหม่ๆ เข้ามาในทีม แต่สายตาพี่พลก็ยังเต็มไปด้วยแพชชันไฟลุกโชน และสนุกกับการค้นหาวิธีการใหม่ๆ เหมือนเดิมไม่เปลี่ยน

ขณะที่การคุยกันตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมงเต็ม พี่พลพลังไม่ลดลงเลย เราจึงไม่พลาดที่จะล้วงเบื้องหลังความสนุกครั้งใหม่ของเฟสติวัลออนไลน์ ‘First Interactive Online Music Festival: Top Hits Thailand’ ที่เราเองก็อยากรู้แล้วว่าจะออกมาหน้าตาอย่างไร และต้องลองสัมผัสประสบการณ์นี้ด้วยตัวเองดูสักครั้ง

เป็ดที่รักในเสียงดนตรี

“เราเป็นเป็ดมาตลอด ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเป็ดอยู่ แต่เราอยากจะมีบางอย่างที่ชัดเจนเลยต้องเลือกสักทาง แล้วก็พบว่าเราชอบดนตรี”

“H.U.I. ทำมาประมาณ 14-15 ปี แล้ว ถ้านับเป็นคอนเสิร์ตก็น่าจะพี่ใหม่ กรีนคอนเสิร์ตครั้งที่ 10 ตอนแรกทำบริษัทดีไซน์มาก่อน แล้วเผอิญได้มาทำงานกับพี่ฉอด เราพบว่าเราชอบเล่นดนตรี เป็นคนดนตรี คิดว่าเราน่าจะอยู่ตรงนี้ได้นาน ก็เลยเลือกมาทำสิ่งนี้ดู ตั้งแต่วันนั้นก็เริ่มตั้งแต่ทำฉาก แล้วก็ไปยุ่งกับการทำไฟ ทำสคริปต์ ทำเสียง เริ่มแก้โน่นแก้นี่ จนกระทั่งได้มาจัดเอง”

“ถ้าเราเริ่มจากจุดเล็กๆ จุดไหนก็ได้ และเราค่อยๆ สงสัย
แล้วเริ่มมองหาสิ่งที่ใหญ่ขึ้น เราก็จะโตขึ้น”

“การทำคอนเสิร์ตเราต้องมีความเป็น ‘เป็ด’ นิดหน่อย เพราะมันมีองค์ประกอบเยอะมาก ถ้าเราอยากให้คอนเสิร์ตมันออกมาดีในภาพรวมที่จบมาแล้วฟินมากเลย เราจะเริ่มเห็นส่วนประกอบเล็กๆ ในภาพใหญ่ เราจะค่อยๆ ก้าวออกไปดูว่า สิ่งที่มันเกี่ยวข้องกับเรามีอะไรบ้าง”

ใจความสำคัญของ ‘นักออกแบบคอนเสิร์ต’

“การออกแบบคือกระบวนการตั้งแต่รีเสิร์ชทาร์เก็ตกรุ๊ปไปจนถึงทำโปรดักท์ โปรดักท์ของเราคือคอนเสิร์ต ‘นักออกแบบคอนเสิร์ต’ เลยเป็นคำที่สรุปว่าตัวเราคืออะไรกันแน่”

“พี่เรียน Industrial design หรือออกแบบอุตสาหกรรม เราเอาความคิดนี้มาใช้กับการทำคอนเสิร์ตเกือบทั้งหมด เราต้องรีเสิร์ชทาร์เก็ตว่าเขาสนใจอะไรบ้าง เราต้องรู้โปรดักท์ของเราว่าศิลปินเป็นยังไง เราต้องรู้องค์ประกอบในงานของเรา เช่น สถานที่มีอะไรบ้าง อุปกรณ์มีอะไรบ้าง เรียนรู้เทคโนโลยีว่ามีอะไรเข้ามาบ้าง เพื่อมาดีไซน์งานหนึ่งชิ้น มันคือเรื่องเดียวกันเลย มันใช้โปรเซสเดียวกับการดีไซน์โปรดักท์ แต่คอนเสิร์ตจะไม่เหมือนกับสินค้าอย่างสุขภัณฑ์หรือรถยนต์ สินค้าเราคือ ‘ความรู้สึก’ ‘อารมณ์’ และ ‘ความรัก’

“คอนเสิร์ตคืออารมณ์ เราดีไซน์ให้คนดูมีความสุข
และจบที่ความรักในศิลปิน” 

“พี่ว่าโจทย์ของการเป็นนักออกแบบที่ดี ต้องเข้าใจเรื่อง ‘การสื่อสาร’ เป็นหลัก คอนเสิร์ตมันประกอบไปด้วยศิลปินและคนดู เราอยู่ระหว่างกลางของสองสิ่งนี้ ศิลปินจะพูดอะไรเราต้องเข้าใจ เขาจะสื่อถึงความเศร้า ไฟต้องมืดรึเปล่า หรือถ้าเราอยากให้คนดูเต้น เราใช้ไฟที่ให้คนดูอยากเต้นไหม ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ได้ ที่เหลือคือเทคนิค”

เทคโนโลยีกับคอนเสิร์ต

“เทคโนโลยีมันเดินไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่เดินเราก็จะล้าหลัง เราแค่ต้องสนุกกับมัน เมื่อเข้ามาเราก็เปิดรับ” 

“เทคโนโลยีเป็นอะไรที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตมนุษย์เลย ในโลกนี้เราต้องอยู่กับเทคโนโลยี เราต้องอยู่กับรถยนต์ คอนเสิร์ตก็เช่นกันมันโตขึ้นตามเทคโนโลยี พี่อยู่มาตั้งแต่ตอนที่คอนเสิร์ตจอเล็กนิดเดียว บางอันไม่มีจอเลย พอจอเข้ามาเยอะขึ้น คอนเทนต์ก็เปลี่ยน ต้องเอาบางอย่างขึ้นไปเล่นกับจอบ้าง มันก็เริ่มโตขึ้นมาเรื่อยๆ”

“เทคโนโลยีคือสิ่งที่ทำให้เราได้ค้นหาอะไรใหม่ๆ”

“ในวันนี้พี่รู้สึกว่าโลกของอินเตอร์เน็ตมันเชื่อมต่อกับคนมากขึ้น คนเชื่อมต่อกับมือถือ อุปกรณ์ที่เรามีในชีวิตมันเยอะขึ้น พี่ก็เลยเริ่มหาอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทำให้คนสื่อสารกับศิลปินได้หลายช่องทางขึ้น เหมือนคอนเสิร์ตออนไลน์ที่ตอนนี้มันก็ยังไม่ชัดเจนนะ มันแค่มีกระแสความน่าสนใจ แต่ตลาดจริงๆ มันก็ยังไม่ถึงขนาดคนมาดูออนไลน์อย่างเข้าใจ คนยังงงว่าออนไลน์คืออะไร มันคือเทคโนโลยีหนึ่งที่เข้ามาและเราลองเรียนรู้กับมัน ถ้ามันดีมันก็จะอยู่ ถ้ามันไม่ดีมันก็จะค่อยๆ ออกไป มันเป็นการทดลองสิ่งใหม่ๆ”

คอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งแรก ‘Whal & Dolph Fish Market’

“มันเริ่มมาจากจะทำยังไงให้คนที่ทำงานในวงการนี้มีทางออกบ้าง มันมีโจทย์ขึ้นมาทันทีในจังหวะที่มีโควิด”

“ต้นคิดเลยมาจากพี่กับมอย What The Duck เป็น 2 คนที่ไม่มีงานทำ เลยเกิดโปรเจกต์คอนเสิร์ตออนไลน์นี้ขึ้นมา มันค่อยๆ ผุดไอเดียขึ้นมาว่า ทำคอนเสิร์ตออนไลน์ยังไงคนถึงจะดู เพราะว่าเขาดูฟรีกันอยู่ อะไรที่จะทำให้มันไม่เหมือนปกติ และเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้มันเปลี่ยนแปลงไปได้ยังไงบ้าง ซึ่งเราต้องคอนเนกต์คนที่อยู่ห่างมาก คนดูอยู่บ้าน ศิลปินอยู่ในสตูดิโอ ทำยังไงถึงจะเชื่อมกัน”

“เราพยายามเชื่อมศิลปินกับคนดูให้ใกล้กัน เช่น เรามีช่วงให้คนดูพูดคุยกับศิลปิน มีแฟนโปรเจกต์ให้คนดูเขียนความในใจลงกระดาษ โดยเราสื่อสารกับคนดูผ่านการขึ้นหน้าจอว่าทำแบบนี้นะ แล้วให้จังหวะชูขึ้นพร้อมกันเหมือนพี่เชียร์ เป็นการทำเซอร์ไพรส์ให้กับศิลปิน” 

“รวมถึงเราทำแอปฯ ขึ้นมา ซึ่งมี AR ให้เล่น พอยกมือถือขึ้นมาถ่ายภาพในจอก็จะมีปลาลอยขึ้นมา บางเพลงก็มีเอ็มวีที่คนดูจำๆ โผล่ขึ้นมาในมือถือเลย หรือศิลปินสามารถเปลี่ยนสีมือถือให้ตรงกับสีไฟแบบสดๆ ได้ ก็เป็นมุกต่างๆ ที่เราเอาเข้ามาเพื่อคอนเนกต์ความรู้สึกของคนดูกับโชว์นั้นๆ”

Live Interactive Studio

“คอนเสิร์ตออนไลน์ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่สำหรับคนดู ไม่ต้องมีเวที แต่ต้องมีบางอย่างที่ทำให้สื่อสารกับคนดูได้”

“ดังนั้นมันเลยกลายเป็นสตูดิโอที่เอาคนดูเข้ามาอยู่ในนี้แบบออนไลน์ได้ และศิลปินสามารถเพอร์ฟอร์มได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่บนเวที จะอยู่ตรงไหนก็ได้ผ่านกล้องหนึ่งตัวก็สามารถสื่อสารกับคนดูที่บ้านได้ ทีนี้เราจะต้องมีอินเตอร์เน็ตไลน์ตรง เพื่อไม่ให้มีการแชร์เน็ตและไม่กระตุก อันนี้สำคัญมากเน็ตนี่เปรียบเสมือนช่องทางที่เราจะมาถึงที่นี่ได้”

“ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในการดูก็ต้องเลือกที่จะสามารถเอาคนดูเข้ามาให้เยอะที่สุด ซึ่งเราอแดปต์ใช้โปรแกรมสำหรับมีทติ้งอย่าง Zoom แต่โปรแกรมเขาก็ไม่ได้ทำมารองรับคอนเสิร์ตออนไลน์ ที่ทุกคนจะมาเห็นหน้ากันแบบนี้ เราจึงจำเป็นต้องเพิ่มคอมพิวเตอร์ประมาณ 30 เครื่อง เพื่อให้ภาพคนดูสามารถขึ้นไปอยู่บนจอได้ทุกคน”

“พอโควิดเข้ามาไอเดียที่ค้างไว้ทั้งหมดก็ถูกงัดออกมากองไว้ในนี้”

“ไอเดียนี้มันมีอยู่พักนึงแล้วล่ะ แต่มันยังไม่มีจังหวะ พอโควิดเข้ามาไอเดียนี้ก็ป๊อปอัพขึ้นมาชัดมากขึ้น จนกระทั่งเจอ Whal & dolph ถ้านับว่าวันนั้นเป็นวันที่เริ่มสตาร์ทจนวันคอนเสิร์ต มันผ่านมาแค่ประมาณ 2 อาทิตย์ด้วยซ้ำ ถ้าไม่มีสิ่งนี้คนอาจจะยังไม่สนใจคำว่ามีทติ้งออนไลน์เลย ซึ่งมันไม่ได้เพิ่งมีนะ มันมีมาตั้งนานแล้ว โควิดแค่เร่งให้คนต้องรีบเข้าใจมัน พี่เองด้วยเหมือนกัน โควิดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้มันสามารถเกิดขึ้นได้เร็วขนาดนี้”

‘เว้นระยะห่าง’ แต่ใจไม่ห่าง

“ความใกล้ชิดมันอาจจะมากกว่าแฟนมีทอีกนะ เพราะเห็นหน้ากันใกล้ๆ ถ้าอยู่ในคอนเสิร์ตปกติก็จะดูไม่ออกว่าใครเป็นใคร”

“ความฟินของคนดูมันจะไม่ได้เหมือนในคอนเสิร์ตจริงๆ แต่มันจะรู้สึกอบอุ่นน่ารัก ศิลปินก็แฮปปี้อย่างมีซีนนึงที่พี่เอากล้องลิงก์กับมือถือ ให้ศิลปินเดินไปหาคนดูแล้วยืนถ่ายรูปคู่เหมือนเซลฟี่ เขาก็บอกว่าเหมือนทุกคนอยู่ด้วยตรงนั้น การมีจอเลยสำคัญ ยิ่งสำหรับกลุ่มแฟนเขาก็อยากให้ศิลปินเห็นว่า หนูมาดูด้วยนะ ศิลปินเองก็ได้เห็นหน้าแฟนคลับ”

“บางคนเขาไม่เคยมาดูวาฬมาก่อนเลยเพราะเขาอยู่ต่างจังหวัด พี่ทำสถิติของวาฬจากที่เราแอปฯ มันมีคนจากต่างประเทศมาดูด้วยนะ ญี่ปุ่น เมกา แสดงว่าพอมันไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเดินทางด้วยรถยนต์ มันก็พาเราไปสู่ทาร์เก็ตอีกกลุ่มนึงด้วย”

“แม้ตัวจะไม่ได้อยู่ด้วยกันแต่เราสื่อสารกันได้”

“สิ่งที่ได้จากการทำคอนเสิร์ตออนไลน์ เราพบพฤติกรรมใหม่นะ คนที่เข้ามาดูและคาดหวังความรู้สึกแบบคอนเสิร์ตก็จะไม่ได้ แต่จะได้ความรู้สึกอีกอย่าง เช่น คนดูจะพยายามหาตัวเองในจอว่าอยู่ตรงไหน เพื่อนพี่คนนึงบอกว่า เปลี่ยนแบล็กกราวน์เป็นสีที่คนอื่นเขาไม่ใช้กัน จะได้รู้ว่านั่นคือเขาอยู่ตรงนั้น เราได้เห็นว่าคนดูยอมรับที่จะเล่นอะไรใหม่ๆ ศิลปินเองก็เจอสิ่งใหม่เหมือนกัน อาจจะเห็นคนกินขนมไปดูไป หรือบางคนเป่าผมไรงี้ พี่ว่าบางมุมคนดูอาจจะรู้สึกว่าเป็นอีกฟีลชิลๆ ที่บ้านได้ ซึ่งมันก็สนุกไปอีกแบบ”

จากคอนเสิร์ตสู่ ‘เฟสติวัลออนไลน์’
First Interactive Online Music Festival: Top Hits Thailand

“มีความท้าทายขึ้นเยอะ เราก็อยากลองทำอะไรใหม่เพราะถ้าทำแบบเดิมมันก็ไม่ต่าง มันเป็นของใหม่ คนเยอะขึ้น รูปแบบงานก็เรียกว่าไม่เหมือนกันเลย”

“สิ่งที่ทำให้เกิดมิวสิคเฟส เพราะหลังจากเราทำวาฬเสร็จ เรารู้สึกว่าศิลปินน่าจะคิดถึงคนดูแล้ว คนดูก็น่าจะคิดถึงบรรยากาศ ความรู้สึกของการดูคอนเสิร์ตแล้วเหมือนกัน พี่คิดว่ามันน่าจะน่าสนใจไม่แพ้วาฬ เพราะเราคงใช้ทุกกลยุทธ์ที่เราใช้วาฬแล้วเวิร์ก เอามาใช้กับที่นี่ และวางกลยุทธ์ใหม่ที่คิดว่าคนดูจะชอบ”

“สตูดิโอนี้เป็นที่ใหม่จากรอบที่แล้ว ใหญ่กว่าที่เดิมเยอะ ดังนั้นพี่คิดว่าจะเป็น full performance ประมาณหนึ่ง มันไม่เชิงมิวสิคเฟสติวัลที่เล่นสิบเพลงแล้วไป เพราะมันอยู่ในจอไม่เหมือนอยู่ในฮอล์ที่เราโดนบังคับให้อยู่ ซึ่งมันเล่นธรรมดาไปเรื่อยๆ ได้ แต่เราอาจจะต้องมีโชว์มากขึ้น บางเพลงชวนคนให้เอนเกจกับเรา มันน่าจะมีรูปแบบผสมระหว่างโชว์และ interaction มวลความสนุกมันจะผสมๆ กันในมิวสิคเฟส ก็เรียกว่ารอดูเหมือนกัน”

ไลน์อัพจัดเต็ม เล่นใหญ่กว่าเดิม

“เราลิสต์วงที่ท็อปฮิตตอนนี้จริงๆ เปิด Spotify ดูเลยว่ามีใครบ้าง พอเลือกไลน์อัพเสร็จปุ๊บ สเต็ปต่อไปก็คือ ดูว่าศิลปินแต่ละคนมีความสามารถอะไร”

“พี่อาจจะให้ ICE X JAYLER มาเต้นแบบที่เราไม่เคยเห็น หรือ TILLY BIRDS กับ THREE MAN DOWN พี่อาจจะจับมาคู่กันเลย หรือ THE TOYS อาจจะมีอะไรที่ไม่เหมือนปกติ มันก็จะมีความครีเอทีฟบนโจทย์ของศิลปินมากขึ้น เราพยายามจะทำให้มีอะไรในแต่ละโชว์ไม่เหมือนกัน”

“SCRUBB รุ่นใหญ่ในคอนเสิร์ตนี้ พี่รู้สึกว่าเพลงเขาอมตะประมาณนึง แล้วเขายังอยู่ในสมัยนิยม ตอนนี้สไตล์คนฟังมันหมุนกลับมาหาป๊อปพอดี ดังนั้นสครับมาอยู่ในโชว์นี้ พี่รู้สึกว่าไม่เขินเลย และเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่สุดเลยด้วยนะ เป็นจังหวะของวงที่ดีด้วย”

“ส่วน GUNGUN เป็นความตื่นเต้นของพี่เลยเพราะเขาใหม่มาก พี่ก็เลยคิดว่ามันเป็นของสดๆ ที่เราจะได้ลองทำว่าโชว์ของเขาจะออกมาเป็นยังไง เอาตรงๆ ตอนนี้ยังคิดไม่ออก แต่เดี๋ยวจะได้เริ่มคิดกับศิลปินเหล่านี้มากขึ้น พี่ว่ามันก็คงจะมีความใหญ่ในเชิงโปรดักชันแบบมิวสิคเฟสประมาณนึง”

ภาพของ H.U.I. ในอนาคต

“รสนิยมมันเป็นภาษาอะ ในสายตาพี่ความสวยงามมันไม่ได้ absolute สวยวันนั้นกับสวยวันนี้ มันก็คนละสวยกัน ดังนั้นเราก็ต้องฟังคนรุ่นใหม่เขาพูด ฟังทาร์เก็ตกลุ่มใหม่ที่เขาพูดกลับมาหาเรา เราก็พูดกลับไปหาคนดู เป็นเรื่องที่ต้องจูนกัน”

“พี่ใช้คำว่า H.U.I. คือ เจเนอเรชันนะ บริษัท H.U.I. ก็มีพี่แหละที่อยู่ยาวที่สุด แต่จริงๆ มีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาตลอด ในวันนี้พี่ก็เริ่มให้น้องๆ ทำมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเราขี้เกียจนะ แต่เราชอบที่จะเห็นเด็กทุกคนได้แสดงงานของเขา เพราะคนดูส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น วัยรุ่นก็ต้องคุยกับวัยรุ่น H.U.I. ก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามเจเนอเรชันที่เข้ามา สไตล์ก็เปลี่ยน”

“ถ้าไปดูงานเก่าๆ พี่ โอโห ห๊วยห่วย ถ้าเทียบงานทีมน้องกับที่พี่ทำเอง น้องยังทำดีกว่าเลยบางที ยกตัวอย่างความสว่างของแสงที่ตัวศิลปิน มันก็ไม่เหมือนเดิม สมัยก่อนศิลปินต้องสว่างจัดๆ เลย  เดี๋ยวนี้มืดๆ เท่ๆ เห้ย เด็กมันชอบว่ะ พี่อาจจะรู้สึกว่ามันมืดไปป่าววะ แต่สมมติทุกคนฟีดแบ็กมาว่า โอโห เจ๋ง เท่มาก เราก็ต้องหยุดฟังนะ” 

“เราชอบที่เราจะโตไปตามคนที่เข้ามา เพราะเราก็ไม่อยากจะเป็นแบรนด์ที่ตายไปกับเวลา”

“คอนเสิร์ตมันเกิดมาจากเป็นปลายน้ำของธุรกิจดนตรี ในอนาคตข้างหน้า พี่ก็ไม่แน่ใจว่าศิลปินจะหน้าตาเป็นยังไง มันอาจจะมี virtual ศิลปินก็ไม่มีใครรู้ เมื่อคอนเทนต์มันเปลี่ยน วิธีการนำเสนอก็คงต้องเปลี่ยนรูปแบบไป” 

“ในอีก 10 ปีข้างหน้า พี่ว่าเทคโนโลยีมันคงไปไกลกว่านี้เยอะมาก จนพี่ยังนึกไม่ออกว่ามันจะไปไกลแค่ไหน เพราะจากวันที่พี่ทำคอนเสิร์ตมาระยะเวลาแค่ 10 กว่าปี จากที่คอนเสิร์ตมีแค่ไฟ วันนี้มันก้าวมาถึงคอนเสิร์ตออนไลน์นี้แล้ว ก็ต้องรอดูปีต่อๆ ไปว่าเราจะทำไรได้อีกบ้าง”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.