สิ่งแวดล้อม ทำไร่หมุนเวียน ปกาเกอะญอ - Urban Creature

บนดอยกับในเมือง ห่างกันหลายกิโลเมตร

คนปกาเกอะญอกับคนเมือง ห่างกันระยะไกล

คนปกาเกอะญอเชื่อว่า ถ้าได้กินข้าวกับใครถือว่าเป็นญาติกัน

“อ่อเส๊อะเก๊อะเม” แปลว่า กินข้าวด้วยกัน

มา มากินข้าวด้วยกันเถอะ หิวแล้ว

จั๊ม-ณัฐดนัย ตระการศุภกร แห่ง Little Farm in Big Forest หนุ่มปกาเกอะญอผู้เป็นศูนย์กลางสื่อสารวิถีชีวิตคนปกาเกอะญอด้วยวัตถุดิบในป่าใหญ่ เขาจากบ้านป่าไปทำงานการตลาดในเมืองกรุงฯ แล้วเลี้ยวกลับบ้านมาพัฒนาชุมชนที่มีของดีเป็นวัตถุดิบ แต่เติมไอเดียนิด ผสมแนวคิดการตลาดหน่อย โชว์จุดเด่นของ 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านขุนแปะ บ้านขุนแม่หยอด บ้านขุนวิน และบ้านแม่ลาย ลงบนโปรเจกต์ ‘อ่อเส๊อะเก๊อะเม-กินข้าวด้วยกัน’ ที่ส่งวัตถุดิบจากไร่หมุนเวียนในป่าใหญ่สู่โต๊ะอาหารคนเมืองโดยฝีมือของคนปกาเกอะญอ 

บางบ้านเก่งครีเอทีฟนำฮ่อวอ (มินต์) มาทำผงโรยข้าว บางบ้านยืนหนึ่งเรื่องพืชสมุนไพร บางบ้านมีหัวด้าน Social Enterprise สอนเด็กๆ สร้างโปรดักต์พึ่งพาตัวเอง หรือบางบ้านช่างปรับตัว จำลองไร่หมุนเวียนในสวนเล็กๆ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ซึมซับวิถีชีวิตปกาเกอะญอง่ายขึ้น

มากกว่าเปิดออเดอร์จำหน่ายวัตถุดิบรสมือคนปกาเกอะญอให้คนเมือง CF โดยมีคนปกาเกอะญอขับรถไปส่งถึงหน้าบ้าน ยังเป็นการส่งต่อวิถีชีวิตของคนปกาเกอะญอให้คนเมืองได้เข้าใจมากขึ้น ผ่านโต๊ะอาหารที่ยาวจากภาคเหนือสู่ภูมิภาคอื่นๆ


01 กลับบ้านเล็กในป่าใหญ่


ตีนดอยที่ปกคลุมด้วยหมู่แมกไม้เขียวขจีในป่าใหญ่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ มีหมู่บ้านเล็กๆ ของคนปกาเกอะญอซ่อนอยู่ นามว่า ‘บ้านขุนแปะ’ 

‘จั๊ม’ เป็นเด็กหนุ่มในชุมชนกลางป่า แม่ของเขาชอบอ่านนวนิยาย เก่งเรื่องการเก็บผลผลิตและอาหาร พ่อของเขาเป็นเกษตรกรควบคู่กับนักพัฒนาชุมชนเพื่อดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของชาวปกาเกอะญอให้คงอยู่ เช่น การทำไร่หมุนเวียน แน่นอนพ่อชอบพาจั๊มไปดูงานในหมู่บ้านตัวเองและหมู่บ้านใกล้เคียง ตอนนั้นจั๊มตั้งธงในใจว่าอยากเป็นนักพัฒนา แต่เขายังไม่รู้หรอกว่าจะพัฒนาอะไร แค่อยากเป็นแบบพ่อ

“พ่อบอกผมเสมอว่า แม้จากบ้านไปเรียนในเมือง แต่อย่าหลงลืมกลิ่นอายปกาเกอะญอ ที่รักและดูแลป่าเท่าชีวิต เพราะป่าคือชีวิตของพวกเรา”

แรกเริ่มจั๊มเข้าเมืองไปเป็นนักเรียนกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อหวังศึกษากฎหมายเกี่ยวกับชุมชนปกาเกอะญอ แต่พอร่ำเรียนไปสักพัก เขากลับชอบงานครีเอทีฟมากกว่า แถมมีโอกาสได้เป็นพนักงานฝ่ายบุคคลในออฟฟิศใจกลางกรุง ทว่าทำได้ 3 เดือน ทีมการตลาดในบริษัทลาออกยกทีม กลายเป็นว่าจั๊มจึงได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลสายงานการตลาดแทนถึง 3 ปี ซึ่งกลายเป็นความชอบใหม่ของเขา

“องค์ความรู้ด้านการตลาดในบริษัทที่เน้นการหายอดขายเป็นหลัก ทำให้ผมคิดถึงบ้านป่าของผม การตลาดในบริษัทที่ทำมันเน้นเม็ดเงินและทำเพื่อตัวเองเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโคตรไม่ใช่วิถีแบบปกาเกอะญอที่ทำงานเพื่อส่วนรวมและห่วงใยธรรมชาติ มันขัดจากสิ่งที่ไอดอล (พ่อ) ของเราทำ ผมก็เลยตกงาน ลาออก เดินกลับเข้าป่า”

วิธีคิด การสื่อสาร การทำคอนเทนต์ หัวการตลาดและครีเอทีฟ เหล่านี้เป็นสิ่งที่จั๊มพกกลับมาบ้านป่า และสร้าง Little Farm in Big Forest ศูนย์กลางการสื่อสารของชาวปกาเกอะญอผ่าน ‘อาหาร’ โดยมีสโลแกนคือ ‘Inspired from the Roots’ หรือแรงบันดาลใจที่เกิดจากรากเหง้า


02 สื่อสารจากราก

สื่อสารจากราก ?

ก่อนจะสื่อสารออกไปได้ ต้องรู้ว่าจะสื่อสารอย่างไรให้ดีก่อน จั๊มจึงวิเคราะห์จุดเด่นและจุดอ่อนของชุมชน จนพบจุดเด่นที่เห็นได้ชัดโดยไม่ต้องสืบคือคนปกาเกอะญอมี ‘วัตถุดิบเต็มบ้าน’ แต่จุดอ่อนของเขาคือไม่รู้จะต่อยอดอย่างไร

“ผมเข้าไปบอกคนในชุมชนเลยว่า คนในเมืองเขาว้าวกับสิ่งที่ชาวบ้านทำนะ เพราะเราไปอยู่เมืองกรุงมาก็พอจะรู้ว่าคนข้างนอกชอบไอเดียการทำไร่หมุนเวียนของคนปกาเกอะญอ เพื่อให้ชาวบ้านรู้สึกมั่นใจกับสิ่งที่ทำ และอยากสื่อสารตัวตนของตัวเองให้คนเมืองรู้จักมากขึ้น”

สิ่งที่จั๊มอยากเห็นในชุมชนอีกอย่างคือ การสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชนผ่านการสร้างแบรนด์ไว้ขายวัตถุดิบในชุมชน เพื่อให้ศักยภาพของเขาได้เฉิดฉายออกสู่สายตาคนหมู่มาก และย้อนกลับมาสร้างรายได้ให้พวกเขา

Little Farm in Big Forest จึงเข้าไปสอนวิธีการทำคอนเทนต์และการถ่ายภาพให้คนในชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนมีวิธีการสื่อสารได้เอง แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลากันทั้งนั้น จั๊มเล็งเห็นว่าเขาไม่สามารถมานั่งบอกคนกรุงว่าคนปกาเกอะญอเป็นแบบนั้น แบบนี้ แต่ ‘ผลผลิต’ ของพวกเขาจะเป็นสื่อกลางให้พวกเขาได้ จึงปิ๊งไอเดียการสร้างประสบการณ์ผ่านอาหารการกิน เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน คุณก็ต้องกินใช่ไหมล่ะ

ปกาเกอะญอปลูกอะไรด้วยวิธีอะไร แล้วคนเมืองกินแล้วรู้สึกอย่างไร นี่คือการแลกเปลี่ยนจิตวิญญาณและทำให้ปกาเกอะญอมีตัวตน

“เราเป็นเหมือนพื้นที่โยนไอเดียของคนในชุมชนและทำให้มันเกิดขึ้นจริง ทั้งการออกแบบโปรดักต์ การสื่อสาร หรือการประยุกต์ โดยจะเน้นกับชุมชนเสมอว่าถ้าช่วงแรกมันไม่เวิร์ก มันยังไม่พังทลายนะ เพราะคุณกำลังทดลองทำกับเราเฉยๆ ไม่ได้ลงมือทำแบรนด์ของตัวเองจริงๆ (แต่จริงจังนะ) เพื่อรอให้วันหนึ่งพวกเขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์และเปิดแบรนด์ของตัวเองได้อย่างแข็งแรง” 

ทว่าสำหรับบ้านขุนแปะ บ้านเกิดของจั๊ม ในทุกๆ ปีการทำไร่หมุนเวียนจะลดลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ทยอยจากบ้านเกิดไปมากขึ้นด้วยหลากปัจจัย

โจทย์ของจั๊มในการสร้างความแข็งแรงในชุมชน คือการเชื่อมคนปกาเกอะญอรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ให้เข้ากันเสียก่อน

“เรารู้สึกว่าคนรุ่นใหม่จะรู้สึกว่าไร่หมุนเวียนดูไกลจากเขา เพราะมันคือการทำทั้งป่าใหญ่ เลยเกิดไอเดียว่าถ้าย่อส่วนมันลงมา น่าจะเขยิบให้ใกล้พวกเขามากขึ้น จึงเปลี่ยนพื้นที่ 5 ไร่ ที่เรามีเพื่อทำ ‘แปลงสาธิตไร่หมุนเวียน’ ขึ้นมา โดยเริ่มจากแบ่งพื้นที่ในสวนเป็น 7 ส่วน แล้วลองเวียนพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนดู สาธิตให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องการปลูก ดูแล เก็บเกี่ยว แบบฉบับดั้งเดิมในป่าใหญ่ โดยมีผู้เฒ่า ผู้แก่เป็นคนสอน

“เราทำให้คนรุ่นใหม่เห็นว่า ถึงจะทำไร่หมุนเวียนแบบย่อส่วน แต่ก็ปลูกได้เป็น 100 ชนิด เช่น ข้าว แตง ฟักทอง อาโวคาโด เราจะได้กินอาหารตามฤดูกาลและเกิดความมั่นคงทางอาหารที่มีแค่คนปกาเกอะญอที่ทำได้ดี”

03 กินข้าวด้วยกัน


เมื่อผนึกคนในบ้านขุนแปะให้เข้มแข็งได้ประมาณหนึ่ง จั๊มไม่ลืมต่อยอดชวนอีก 3 ชุมชนมา ร่วมกินข้าวด้วยกัน และร่วมทำงานด้วยกัน ผ่านโปรเจกต์ ‘อ่อเส๊อะเก๊อะเม’

“อ่อเส๊อะเก๊อะเมเกิดตอนโควิด-19 ระบาดรอบแรก ในวันที่ชุมชนปกาเกอะญอทั้งสี่หมู่บ้านทำพิธีปิดหมู่บ้าน ห้ามเข้า ห้ามออก ประจวบเหมาะกับที่มีข่าวเรื่องกักตุนสินค้าในห้างฯ จนของขาดแคลน ตัดภาพมาที่หมู่บ้านของเรา กลับไม่มีปัญหาอะไรเลย กลายเป็นว่าไร่หมุนเวียนมันตอบโจทย์เรื่องอาหารมากๆ”

คนปกาเกอะญอถือเป็นผู้ร่ำรวยทางอาหารในช่วงนั้น จั๊มจึงมีโอกาสได้ร่วมทำงานกับเครือข่ายชุมชนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนขาดแคลน ทั้งชาวเลในโปรเจกต์ข้าวแลกปลา และส่งข้าวจากไร่หมุนเวียนไปยังกรุงเทพฯ แต่กิจกรรมที่ทำ จั๊มกลับมองว่าเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าที่ไม่ยั่งยืน เลยชวนคนปกาเกอะญอจากบ้านขุนแม่หยอด บ้านขุนวิน และบ้านแม่ลาย รวมตัวกันตั้งราคา วางแผนการตลาด พร้อมเช็กลิสต์ว่าแต่ละบ้านมีอะไรเด่น อะไรเด็ด ที่สามารถส่งให้คนเมืองพรีออเดอร์สั่งได้

การร่วมมือกันของ 4 หมู่บ้าน ทำให้จั๊มได้เห็นวิธีการทำงานที่ต่างกัน บ้านขุนแปะ เขารู้อยู่แล้วว่าเป็นชุมชนที่แข็งแกร่งเรื่องเกษตรอินทรีย์ เน้นพืชสวนและผลไม้เยอะ ส่วนบ้านขุนวินเก่งเรื่อง Social Enterprise กว่าที่คิด เพราะเปิดศูนย์การเรียนหลักสูตรท้องถิ่นซึ่งเป็นตัวเชื่อมให้เด็กๆ เข้าใจทั้งเนื้อหากระแสหลักและประเพณีวัฒนธรรมประจำบ้านที่เน้นให้คนในชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ ผ่านป่าชุมชน มีทั้งไร่หมุนเวียน เลี้ยงหมู ไก่ จิ้งหรีด แถมยังมีน้ำผึ้งกับมะแขว่นเป็นของดีที่ต้องยกให้เขา 

บ้านแม่ลายอนุรักษ์ไร่หมุนเวียนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และมีองค์ความรู้เรื่องสมุนไพร ส่วนแม่ๆ บ้านขุนแม่หยอดเป็นนักสร้างสรรค์ ชอบประยุกต์วัตถุดิบให้ดูมีอะไรมากขึ้น เช่น ช่วงไหนมีกล้วยเยอะ ก็นำมาทำกล้วยฉาบ นำฮ่อวอหรือมินต์ มาทำเป็นผงโรยข้าวรสนัว เก็บเกี่ยวถั่วมาเยอะๆ สำหรับทำเป็นถั่วเน่าเหมือนเครื่องเคียงของเกาหลีก็เคยทำ หรือจะเป็นป็อปข้าวฟ่าง ที่ต้นแบบมาจากป็อปคอร์น แต่นำข้าวฟ่างมาคั่วทำเองเป็นขนมกินเล่น ก็อร่อยจนจั๊มต้องยกนิ้วให้ความเก๋นี้

การทำงานของ 4 หมู่บ้านทำให้คน 2 รุ่นได้เจอกัน และร่วมทำอะไรบางอย่าง แถมยังช่วยให้เกิดพื้นที่สร้างเครือข่ายในหมู่บ้านที่แข็งแกร่งของคนปกาเกอะญอ

“เจ๊ะเปอะแก กึ๊ บือเตอะเปอะแก กึ๊ เงินเต็มกระบุง ข้าวไม่เต็มกระบุง” คือประโยคเปรียบเทียบว่าบางคนมีเงิน แต่ถ้าไม่มีข้าวกินก็อยู่ไม่ได้ อาหารดีๆ จึงเป็นสิ่งที่คนปกาเกอะญออยากส่งต่อให้คนเมืองได้กินด้วย 

“ถ้าพวกเราได้กินข้าวร่วมโต๊ะกับคนเมือง เท่ากับว่าเราเป็นญาติกันนะ ซึ่งการเป็นญาติมันหมายความว่า เราจะไม่ทอดทิ้งกัน เพราะเราเป็นครอบครัวเดียวกัน”


04 เชื่อมปกาเกอะญอกับคนเมือง

ฮ่อวอ ของคนปกาเกอะญอ คนเมืองนำไปทำเป็นยีสต์ขนมปัง ซอส และไอศกรีม

ข้าวดอย ของคนปกาเกอะญอ คนเมืองนำไปทำเป็นข้าวปั้นญี่ปุ่น

บะเกอเออ หรือผักกาดแห้ง ที่คนปกาเกอะญอนำไปหมักกับน้ำร้อน 7 วัน แล้วมาตากแห้ง คนเมืองนำไปกินแทนสาหร่ายอบกรอบนัวๆ

ไปจนถึงห่อทีหล่า หรือเฟิร์นบนต้นน้ำในป่า ที่คนปกาเกอะญอใช้ปรุงรสแทนผงชูรสด้วยการนำไปตากแห้งแล้วบดขาย โดยมีฉายาว่า ‘ชูรสดอย’ ซึ่งคนปกาเกอะญอแนะนำให้คนเมืองกิน จนขายหมดภายในไม่กี่วันหลังเปิดขาย

ทั้งหมดคือสิ่งที่ทำให้คนปกาเกอะญอดีใจทุกครั้ง เมื่อได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับคนเมือง ขณะเดียวกันก็ได้ร่วมโต๊ะอาหารกันผ่านทางไกล

“ช่วงแรกผมจะขับไปรับของในแต่ละหมู่บ้าน แม่ๆ จะเตรียมวัตถุดิบออกมาใส่รถเรา แล้วขับไปที่ตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อแพ็กของกับทีมส่งไปกรุงเทพฯ อีกที

“แต่บางครั้งเรากลับเจอปัญหาขนส่งล่ม ทำให้ของเสียหาย จึงคิดแผนหาขนส่งแบบใหม่ เผอิญพี่ที่เรารู้จักเป็นคนขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ช่วงโควิดคนขึ้นน้อยลง เราเลยปิ๊งไอเดีย งั้นรวมตัวคนปกาเกอะญอที่เป็นคนขับแท็กซี่มารับบทไปรษณีย์ส่งวัตถุดิบถึงหน้าบ้านลูกค้า โดยไปส่งตั้งแต่กรุงเทพฯ ยันชลบุรี

“สิ่งที่ตามกลับมาคือคนเมืองได้พบ ได้คุยกับคนปกาเกอะญอ รู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยค่าส่งทุกบาทจะให้คนขับแท็กซี่เต็มจำนวน ส่วนรายได้จากการขาย จะส่งให้ชาวบ้านที่ขายวัตถุดิบของหมู่บ้านตัวเอง เพื่อพัฒนาชุมชนต่อไป”


05 ขอบคุณสำหรับมื้ออาหาร

ทรัพยากรในป่าใหญ่ที่คนปกาเกอะญอตั้งใจฟูมฟัก ไม่ใช่แค่การปลูกไปวันๆ แต่เป็นการดูแลมันด้วยความลึกซึ้ง ความผูกพัน และความเข้าใจธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่จั๊มเรียกว่า ‘จักรวาลวิทยาของชาวปกาเกอะญอ’

“การดูแลผลผลิตในป่า เราไม่ได้ดูแค่ต้นไม้ แต่เราดูดิน อากาศ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ รวมไปถึงดวงดาว”

ดวงดาว-การดูดาวสมัยก่อน เวลาทำไร่ คนปกาเกอะญอจะใช้วิธีการดูดาวจับสัญญาณของธรรมชาติแทนการจดบันทึกเป็นรูปเล่ม เช่น กลุ่มดาวช้าง บ่งบอกถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว

สิ่งแวดล้อม-ถ้าสมมติต้นมะเดื่อป่ามีเมล็ดขึ้นตรงส่วนบนของต้นเยอะๆ แปลว่าครึ่งปีหลังจะมีฝนเยอะ หรือบางปีมีลูกทั้งต้น แสดงว่าฝนตกทั้งปี

ระบบนิเวศ-ถ้าปีไหนผึ้งไปทำรังอยู่บนต้นไม้สูงมากๆ เท่ากับว่าลมไม่แรง แต่ปีไหนผึ้งทำรังต่ำ จะมีพายุแน่นอน หรือเสียงจักจั่นในป่าเป็นตัวบ่งบอกเวลาในการเตรียมไร่ ปลูก และเก็บเกี่ยว

อากาศ-การเผาเป็นหนึ่งในวิธีการทำไร่หมุนเวียนที่จั๊มได้ทำงานวิจัยกับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสวีเดน พบว่าการเผาตามวิถีแบบปกาเกอะญอซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที พร้อมมีการติดตั้งแนวกันไฟ และดูทิศทางลม จะช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้

ดิน-ขี้เถ้าจากการเผาจะส่งผลดีต่อโภชนาการในดิน ทำให้คนปกาเกอะญอไม่ต้องใส่ปุ๋ยหรือใส่สารเคมีเพิ่มเติม ซึ่งคนปกาเกอะญอจะหยอดข้าวทันทีหลังการเผา

น้ำ-คนปกาเกอะญอไม่มีการรดน้ำ แต่ใช้น้ำฝนคอยดูแล หากไม่ใช่หน้าฝน จะใช้การฟังเสียงจักจั่นเพื่อดูการดูดน้ำ คลายน้ำของต้นไม้ และตัดต้นไม้ในระดับเข่าเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ต้นไม้ไม่ตาย แล้วจะแตกหน่อออกผลมากมายขึ้นมาจนกลายเป็นป่าใหญ่อีกครั้ง

“การทำไร่หมุนเวียนคือวัฒนธรรมของคนปกาเกอะญอที่ส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่น แต่มีหัวใจเดียวกันคือการทำให้ป่ามัน Active ตลอดเวลา ไม่มีความเสื่อมโทรม”

วัตถุดิบที่คุณได้จากคนปกาเกอะญอ จึงแฝงเรื่องราวของคนชาติพันธุ์ไว้ในนั้นพร้อมๆ กับความอร่อย สด สะอาด ซึ่งเป็นเสน่ห์ในป่าใหญ่ที่หาไม่ได้จากในเมือง

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.