เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นสถานที่ที่มีอาณาเขตกว้างขวาง แต่พื้นที่เหล่านั้นกลับมีประโยชน์ใช้สอยน้อย และเกิดเป็นพื้นที่ว่างที่ทำให้รู้สึกไม่คุ้มค่าอยู่หลายแห่ง
วันนี้เราขอพาไปเที่ยว ‘ตลาดปลากูซาน’ (Gushan) ในเมืองเกาสง (Kaohsiung) ประเทศไต้หวัน ที่มีอายุเกือบ 100 ปี ซึ่งในยุครุ่งเรืองสถานที่แห่งนี้เคยเป็นทั้งท่าเรือประมงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจสำคัญในท้องถิ่น แต่เนื่องจากการมีอุตสาหกรรมประมงนอกชายฝั่งที่เฟื่องฟูกว่า เศรษฐกิจในตลาดปลาแห่งนี้จึงถูกลดบทบาทสำคัญลง
เพื่อรื้อฟื้นความรุ่งเรืองในครั้งอดีตของตลาดปลาแห่งนี้ ทีมออกแบบได้รื้อถอนอาคารที่ชำรุดและปรับปรุงสภาพแวดล้อมโดยรวมให้สะอาดและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ด้วยความกว้างขวางของพื้นที่กว่า 7,243.64 ตารางเมตร ทำให้สามารถแบ่งพื้นที่ที่มีทั้งหมดออกได้เป็น สำนักงานประมง พลาซา ตลาดปลา Gushan ที่ตั้งของสถานี Gushan Ferry Station และศูนย์แสดงสินค้าเกษตรและประมงของเกาสง
อาคารหลักถูกออกแบบให้มีลักษณะล่องหน เพื่อให้ผู้ใช้งานมองเห็นธรรมชาติได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ด้วยการใช้กระจกหลอมขึ้นรูป (Fused Glass) และผนังกระจกพ่นทรายสองชั้น (Double Sandblasted Glass Wall) เมื่อแสงแดดหรืออุณหภูมิเปลี่ยนไป กระจกรอบตัวอาคารก็จะสร้างบรรยากาศและมอบอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกันให้กับผู้ใช้งานด้วย
นอกจากนี้ ตลาดปลาที่ปัดฝุ่นใหม่แห่งนี้ยังเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการติดตั้งแผ่นฉนวนกันความร้อนและทาสีทับบนหลังคา เพื่อแก้ปัญหาเรื่องมลภาวะทางความร้อนและระบายอากาศ ส่วนตรงกลางของอาคารเป็นแบบเปิด ใช้ผนังกระจก 2 ชั้นกันความร้อน เพื่อให้ด้านหน้าและด้านหลังอาคารสามารถรับแสงได้ ทั้งยังมีผนังกันลมทำจากไม้ลามิเนตติดกาวที่รีไซเคิลได้ ส่วนพื้นที่ภายนอกอาคารก็เลือกตกแต่งด้วยต้นไม้ เพื่อเพิ่มความชุ่มฉ่ำสบายตาและมอบอากาศที่สดชื่นให้กับทุกคนที่มาเยือน
ด้านการใช้งาน ที่นี่รองรับคนได้มากถึง 30,000 คนต่อวันเลยทีเดียว โดยทีมออกแบบได้แบ่งการใช้งานเพื่อแยกคนและยานพาหนะออกจากกัน ผู้โดยสารรถจักรยานยนต์และจักรยานสามารถขึ้นเรือเฟอร์รีได้จากห้องรอของสถานีเฟอร์รีเดิม สำหรับคนสัญจรทั่วไปก็แยกมารออีกห้องเพื่อหลีกเลี่ยงอันตราย
การสัญจรที่สะดวกสบาย มีสินค้ามากมายให้เลือกสรร เป็นสิ่งที่ไม่ได้ดึงดูดแค่ผู้ซื้อปลาเท่านั้น แต่ความสวยงามทางประวัติศาสตร์ยังช่วยให้การท่องเที่ยวเป็นไปอย่างคึกคักอีกด้วย เพราะตลาดปลา Gushan ตั้งใจปรับปรุงอาคารแห่งใหม่ให้ยังคงรักษาองค์ประกอบดั้งเดิมไว้ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นร่องรอยที่ผ่านมาของสถานที่ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมและสำรวจพื้นที่แห่งนี้ได้ฟรี และยังสามารถมีส่วนร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้ดีมากยิ่งขึ้นด้วย
Source :
ArchDaily | bit.ly/3pEkgxb