เป็นเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ที่ประชาชนชาวไทยอยู่ในความเศร้าจากเหตุการณ์ #กราดยิงหนองบัวลำภู โศกนาฏกรรมที่เกิดจากการบุกเข้าไปกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 37 ราย และผู้บาดเจ็บอีกกว่า 10 ราย เป็นหนึ่งในเหตุกราดยิงที่น่าสลดใจที่สุดของโลก เนื่องจากเหยื่อส่วนใหญ่คือเด็กเล็กอายุ 2 – 5 ปีเท่านั้น
ผู้ก่อเหตุคืออดีตข้าราชการตำรวจที่ถูกไล่ออกจากราชการ เพราะมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จึงทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ทำไมอดีตข้าราชการที่พ้นจากตำแหน่งแล้วจึงไม่โดนยึดอาวุธ และยังสามารถครอบครองปืนได้อยู่
ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้เรายังเห็นข่าวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากการใช้อาวุธปืนอยู่เรื่อยๆ จนอดสงสัยไม่ได้ว่า สังคมของเราวนเวียนอยู่กับความรุนแรงจากการใช้ปืน เพราะคนไทยเข้าถึงอาวุธประเภทนี้ได้ง่ายเกินไปหรือเปล่า
ไทยครอบครองปืนมากเป็นอันดับ 13 ของโลก อันดับ 1 ของอาเซียน
แม้ว่าอาวุธปืนจะดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับใครหลายคน แต่เมื่อ Small Arms Survey (SAS) หรือ องค์กรที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธเบาของสวิตเซอร์แลนด์ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืนทั่วโลกกลับพบว่า สหรัฐอเมริกาคือประเทศที่มี ‘จำนวนปืน’ ในครอบครองมากที่สุดในโลก หรือมากถึง 393.9 ล้านกระบอก
ขณะที่ประเทศไทยติดอันดับที่ 13 ของโลก โดยจำนวนดังกล่าวอยู่ที่ 10.3 ล้านกระบอก ซึ่งจากตัวเลขนี้เอง ส่งผลให้ประเทศไทยมีสัดส่วนการครอบครองปืนมากเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน
ขณะเดียวกัน ถ้าเทียบเป็น ‘สัดส่วนปืนต่อประชากร’ ประเทศไทยมีการครอบครองปืนเฉลี่ย 15 กระบอกต่อประชากร 100 คน เป็นอัตราที่มากเป็นอันดับที่ 48 ของโลก เรียกว่าเป็นจำนวนตัวเลขที่ดูน่ากลัวไม่น้อยเลยทีเดียว
ปืนผิดกฎหมายกว่า 4 ล้านกระบอก
สำหรับข้อกำหนดเกี่ยวกับการครอบครองปืนในประเทศไทย ตามกฎหมายแล้ว ผู้ที่ต้องการซื้อปืนไว้ในครอบครองต้องทำเรื่องขอใบอนุญาตราชการในการซื้อปืน (ป.3) โดยหลังจากซื้อปืนจากร้านที่ถูกกฎหมายแล้ว ต้องนำอาวุธดังกล่าวไปทำเรื่องสำหรับขออนุญาตครอบครอง (ป.4) ถึงจะถือว่าปืนนั้นมีทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายโดยสมบูรณ์
แต่หากอ้างอิงจากข้อมูลของ SAS จะพบว่า จากจำนวนปืน 10.3 ล้านกระบอกในประเทศไทยนั้น มีเพียง 6.2 ล้านกระบอกเท่านั้นที่ลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เท่ากับว่า อีกกว่า 4.1 ล้านกระบอกเป็นปืนที่ไม่มีทะเบียน หรือคนทั่วไปเรียกว่าปืนผิดกฎหมายหรือปืนเถื่อนนั่นเอง
สาเหตุของการครอบครองปืนเถื่อนอาจเกิดจากการไม่นำปืนไปขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องหรือเลขทะเบียนถูกลบแก้ไข ซึ่งทำให้ปืนเหล่านั้นกลายเป็นปืนเถื่อนทันที ส่วนกรณีอื่นๆ อาจเป็นปืนที่ลักลอบนำเข้ามาขายในไทย รวมถึงปืนที่ประดิษฐ์ขึ้นเองด้วย แต่ถ้าผู้ครอบครองปืนนำปืนไปขึ้นทะเบียนตามขั้นตอน ต่อให้เป็นปืนทำมือก็กลายเป็นปืนที่มีทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายได้เช่นกัน
6 การกราดยิงครั้งใหญ่ในช่วง 3 ปี
เมื่อสำรวจทราบว่าประเทศไทยมีปืนในครอบครองหลายล้านกระบอก และเกือบครึ่งยังเป็นปืนเถื่อนอีกด้วย จึงพอช่วยให้เราเข้าใจว่า ทำไมไทยถึงมีเหตุความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนทำให้อัตราผู้เสียชีวิตจากปืนในประเทศไทยนั้นสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากอิรักและฟิลิปปินส์
หากพูดถึงการใช้อาวุธปืนก่อเหตุกราดยิงของประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายคนคงนึกถึงเหตุการณ์กราดยิงโคราช (2563) ที่นับเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งใหญ่ จนทำให้หลายคนออกมาตั้งคำถามถึงการเข้าถึงและการใช้อาวุธของผู้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการทหาร
แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีข่าวในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งกราดยิงปทุมธานี-สระบุรี (2563), กราดยิงโรงพยาบาลสนาม (2564), กราดยิงอุบลฯ (2565), กราดยิงค่ายทหาร (2565) และล่าสุดคือกราดยิงหนองบัวลำภู (2565)
เมื่อย้อนกลับไปอ่านข่าวเหล่านี้โดยละเอียดจะพบว่า จากทั้งหมด 6 เหตุการณ์กราดยิง มีถึง 4 เหตุการณ์ ที่ผู้ก่อเหตุเป็นข้าราชการทหารและตำรวจ ทั้งที่พ้นราชการแล้วและยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ นำมาสู่การตั้งคำถามตามมาว่า ทำไมผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่จึงเป็นคนในเครื่องแบบที่มีหน้าที่คอยดูแลประชาชนให้ปลอดภัย และในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งแล้ว ทำไมอดีตข้าราชการเหล่านี้ถึงยังครอบครองอาวุธปืนที่ควรเป็นของส่วนกลางได้
หลังจากหาข้อมูลทำให้เราทราบว่า อาวุธปืนของตำรวจและทหารนั้นไม่ได้เป็นของภาครัฐทั้งหมด เนื่องจากรัฐอาจมีอาวุธที่สภาพไม่พร้อมใช้งานหรือมีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้เจ้าหน้าที่หลายนายต้องซื้อปืนมาใช้ส่วนตัว และบางคนอาจมีปืนในครอบครองเกินกว่าที่จำเป็น เพราะฉะนั้น ต่อให้ออกจากราชการไปแล้ว ปืนเหล่านั้นก็ยังอยู่กับผู้ครอบครอง ไม่ได้ถูกยึดคืนเข้าสู่ภาครัฐอย่างที่ควรจะเป็น
จากเหตุการณ์กราดยิงโดยอดีตทหารและตำรวจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเข้มงวดเรื่องการคัดกรองเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำรอย มากไปกว่านั้น ภาครัฐยังต้องเร่งแก้ปัญหาสังคมในมิติต่างๆ ทั้งมาตรการครอบครองปืนที่หละหลวม วัฒนธรรมปืน ปัญหายาเสพติด ปัญหาสุขภาพจิต การผลิตสื่อที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมเลียนแบบ ฯลฯ เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมและออกแบบสังคมที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย
Sources :
CNN | cnn.it/3EOoNlV
Dailynews | bit.ly/3CIxpYD
Facebook : พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu | bit.ly/3CMIAAw
Thai PBS | bit.ly/3MlTq3z
The Thaiger | bit.ly/3COfa5d
World Population Review | bit.ly/3rLgEGV