‘แยก-ทิ้ง-เก็บ’ สไตล์เยอรมัน จนได้แชมป์โลกรีไซเคิลขยะ - Urban Creature

เวลาเจอขยะ 1 ชิ้น คุณทำอย่างไร หยิบไปทิ้งเลย หรือยืนคิดสักประเดี๋ยวว่าเจ้าขยะชิ้นนี้ควรจัดการอย่างไร สำหรับชาวเยอรมนีคงเป็นอย่างหลัง พวกเขาจะประมวลผลการจัดการเหล่าขยะอย่างตั้งใจ จะเริ่มคิด วิเคราะห์ ไปจนถึงแยกชิ้นส่วนขยะ ให้สมกับตำแหน่งอันดับหนึ่งของโลกด้าน ‘การรีไซเคิลขยะชุมชน’ ในปี 2017 ซึ่งรีไซเคิลได้ถึง 56.1% (จัดอันดับโดย Eunomia บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมอิสระในสหราชอาณาจักร)

เราเองในฐานะที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศเยอรมนีเลยมีเรื่องราวการแยกขยะแบบฉบับเยอรมนีมาฝากกัน เริ่มตั้งแต่นโยบายรัฐในการจัดการ การแยก การลดปริมาณขยะ ไปจนถึงโครงการต่างๆ จากภาคเอกชนที่สนับสนุนการลดขยะในเมือง

| ฉันแยกและทิ้งแบบมีระบบ

นโยบายการทิ้งขยะในครัวเรือนของประเทศเยอรมนีมีรายละเอียดยิบย่อยแตกต่างกันไปตามแต่ละเมือง ซึ่งขึ้นกับรัฐอีกทีว่ามีรูปแบบการกำจัดขยะอย่างไร แต่โดยรวมแล้วการแยกขยะในครัวเรือนแบ่งได้ตามนี้

1.ขวดน้ำ กระป๋อง ขวดแก้วที่มีค่ามัดจำขวด – นำไปคืนเพื่อรับเงินตามซูเปอร์มาร์เก็ตได้ (ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละที่จะรับคืนขวดแบบไหนด้วยนะ) นอกจากนี้อาจวางไว้ข้างถังขยะ ให้ผู้คนที่หาเงินจากการเก็บขวดคืนมารับไป

2.ขยะรีไซเคิล เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติก ขวดแก้วสีต่างๆ อะลูมิเนียม – เหล่านี้จะมีรายละเอียดเฉพาะของแต่ละเมือง เช่น มิวนิกจะตั้งคอนเทนเนอร์รอบเมืองให้คนทิ้งขยะรีไซเคิลที่ล้างมาเรียบร้อยแล้ว 

3.เสื้อผ้าและรองเท้า – บริจาคได้ตามตู้รับบริจาครอบเมืองต่างๆ มีหลายองค์กรที่เปิดรับ เช่น สภากาชาดเยอรมนี ซึ่งรับบริจาคเพื่อนำไปขายมือสองต่อให้กลุ่มคนรายได้น้อย

4.ขยะอิเล็กทรอนิกส์ – ทิ้งได้ตามร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือตามตู้ทิ้งเฉพาะ

5.ขยะอินทรีย์ กระดาษต่างๆ และขยะอื่นๆ ที่เหลือจากที่กล่าวมาด้านบนทั้งหมด ระบบการทิ้งจะขึ้นอยู่กับมาตรการของแต่ละรัฐ แต่ส่วนมากทิ้งได้ที่ถังขยะหน้าบ้าน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีทางเลือกอื่นให้แก่ผู้อยู่อาศัยในกรอบของนโยบาย เพื่อผลักดันให้ผู้อยู่อาศัยแยกขยะสำหรับเพิ่มการรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด โดยคิดค่าเก็บขยะตามปริมาณและประเภทของขยะ และขยะอื่นๆ จะเสียค่าใช้จ่ายแพงกว่าขยะรีไซเคิลนั่นเอง

| แผนลดขยะแบบ (เยอร) มันๆ

เยอรมนียังมีแผนระยะยาวในการลดจำนวนขยะอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าการลดเป็นพื้นฐานสำคัญของการจัดการขยะ อย่างปี 2021 นี้จะเริ่มใช้นโยบายคิดภาษีตามน้ำหนักสำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิล และภายในกลางปียังมีแผนจะเลิกใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งทุกรูปแบบ เช่น หลอดพลาสติก ไม้พันสำลี บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม

ตอนนี้เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงบ้างแล้วตามร้านอาหารและเครื่องดื่มในเมือง ซึ่งมีหลอดรักษ์โลกมากมายแทนที่หลอดพลาสติก หรือเปลี่ยนมาใช้ฝาแก้วแบบยกดื่มได้เลย เช่น ร้าน Longgrain Thai Cuisine ในเมืองมิวนิก ที่ใช้หลอดจากใยแอปเปิล ผลิตจากกากแอปเปิลที่คั้นน้ำหมด ข้อดีคือไม่เปื่อยง่ายเท่ากระดาษและกินได้ด้วย ซึ่งเราลองมาแล้วเลยรู้ว่ามีรสเปรี้ยวหน่อย แต่กลิ่นแอบฉุน

หรือในมหาวิทยาลัยก็มีการจัดการกับแก้วกาแฟอย่างเป็นระบบมานานแล้ว เช่น Technical University of Munich มีแก้วพอร์ซซีลานให้บริการเมื่อซื้อกาแฟ เราสามารถถือไปดื่มที่ไหนก็ได้แล้วค่อยนำแก้วไปคืนที่โรงอาหาร แต่ถ้าวันไหนแก้วกาแฟหมด ก็ซื้อใส่แก้วกระดาษได้ โดยจะมีค่าบริการเพิ่มอีก 75 เซ็นต์นั่นเอง

| แคมเปญกรีนๆ ช่วยลีนของเสีย

นอกจากนโยบายดี และการวางแผนอย่างมีระบบแล้ว ชาวเยอรมนียังร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างโครงการดีๆ มากมาย เพื่อสู้กับขยะในเมือง เช่น

Recup – บริการให้ยืมแก้วกาแฟ to go สำหรับให้ลูกค้าซื้อกาแฟใส่แก้ว to go ที่ใช้ซ้ำได้ แล้วค่อยนำมาคืนภายหลัง โดยคิดค่ามัดจำไว้ 1 ยูโร ซึ่งความสะดวกอยู่ที่หลายคาเฟ่ทั่วประเทศเยอรมนีนั้นตบเท้าเข้าร่วมโครงการนี้ คอกาแฟจึงไม่จำเป็นต้องนำแก้วไปคืนที่ร้านเดิม เพราะผ่านที่ไหนก็คืนที่นั่นได้เลย

Too good to go – บริการขายอาหารเกือบเหลือในราคาพิเศษสุดๆ เรียกได้ว่าเป็นการเซฟอาหารและวัตถุดิบเหลือใช้ไว้ก่อนที่จะโดนโยนทิ้งลงถังจนเป็นขยะอาหาร ซึ่งมีร้านอาหารน้อยใหญ่ตามเมืองเข้าร่วม ไม่เว้นแม้แต่ร้านกาแฟสุดดังอย่างสตาร์บัคส์

ระบบการแยก ทิ้ง และเก็บขยะแบบฉบับเยอรมนีทำให้เราได้เรียนรู้ว่า สุดท้ายแล้วการแยกขยะไม่ใช่แค่หน้าที่ของภาครัฐ แต่คือความรับผิดชอบต่อสังคมของเราทุกคน เพราะทั้งนโยบายรัฐ มาตรการ และแคมเปญต่างๆ จะไม่สำเร็จเลย ถ้าประชาชนทุกคนไม่ให้ความร่วมมือ

ในทางกลับกัน ถ้าไม่มีนโยบายในการจัดการและผลักดันจากภาครัฐที่เข้มแข็ง ก็คงไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในสังคมเช่นกัน ดังนั้นความสำเร็จในการแยก ทิ้ง เก็บ ไปจนถึงรีไซเคิลขยะจึงต้องเกิดจากความร่วมมือกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อไม่เป็นภาระแก่มนุษย์ในรุ่นหลังที่ต้องมาตามแก้ปัญหาที่คนรุ่นนี้ร่วมกันสร้างไว้ และเพื่อรักษาโลกของเราในอนาคตให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.