หลายคนคิดว่าโลกของธรรมชาตินั้นห่างไกลจากชีวิตคนเมือง ทำให้ระยะห่างของความสัมพันธ์ระหว่างคน สัตว์ และธรรมชาติ กลายเป็นช่องว่างที่ยิ่งห่างขึ้น ห่างขึ้นเรื่อยๆ เราจึงอยากให้ทุกคนลองใช้เวลาคิดสักพักว่า นานแค่ไหนแล้วที่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสต้นไม้ใบหญ้า ถอดรองเท้าเดินเหยียบโคลน หรือได้เห็นสัตว์ป่าด้วยตาของตัวเองมากกว่าเห็นแค่ในภาพถ่ายหรือไถมือถือผ่านอินสตาแกรม
เราพาเอาความสงสัยไปพูดคุยกับ พี่วีโจ้ วากีส (Vijo Varghese) หนุ่มเชื้อชาติอินเดียที่พลิกฟื้นพื้นที่ไร่ที่ถูกทิ้งร้างให้กลายเป็นผืนป่าเนื้อที่กว่า 26 ไร่ในจังหวัดกาญจนบุรี ให้กลายเป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า Our Land
บ้านหลังแรกของมนุษย์คือธรรมชาติ
หากพูดถึงป่าในภาพจำของเราคงนึกถึงต้นไม้เขียวชอุ่มทั้งต้นเล็กต้นน้อยไปจนต้นสูงตระหง่านจนต้องเงยหน้ามอง ภูเขาลูกใหญ่ทั้งใกล้และไกลสุดลูกหูลูกตา สัตว์ป่ามากมายหลายพันธุ์ แต่หลายปีผ่านไปสัตว์ป่าเริ่มทยอยสูญพันธุ์ บ้านของพวกเขาก็เริ่มน้อยลงเต็มที ภาพในความคิดของเราอาจต่างไปจากความจริงในวันนี้ก็ได้
หลังจากนั่งครุ่นคิดอยู่สักพักก็ถึงเวลานัดพอดี เรายกหูโทรศัพท์หาพี่วีโจ้ทักทายกันเล็กน้อยก็เริ่มบทสนทนาอย่างรวดเร็ว “คุณรู้ไหม ธรรมชาติอยู่กับมนุษย์มานานตั้งแต่ยังพูดไม่เป็นภาษาเลยด้วยซ้ำ เราน่าจะคิดผิดกันไปว่าธรรมชาติไม่ใช่บ้านของเรา มนุษย์เกิดมาแล้ว 4.6 ล้านปี ก่อนหน้านั้นใช้ชีวิต กิน นอน อยู่กับธรรมชาติมาตลอด เพิ่งมาเริ่มรู้จักการอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านเมื่อ 50,000 ปี แล้วใช้ชีวิตแบบคนเมืองที่มีประชากรเยอะๆ กันเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมาเอง นี่คือสาเหตุที่ผมคิดว่ามนุษย์ทุกคนมีธรรมชาติอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่พอวิวัฒนาการมันเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนมันก็เปลี่ยนตามเป็นเรื่องปกติ แต่อาจต้องปรับความเข้าใจของคนที่มองธรรมชาติเปลี่ยนไปจากในอดีตมากกว่า
“สังเกตได้ง่ายๆ จากพฤติกรรมของคนเนอะ หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมันจะกลายเป็นกำแพงที่ปิดโอกาสไม่ให้เด็กเรียนรู้ มันจะเป็นอารมณ์แบบเด็กเห็นไส้เดือนแล้วกำลังจะจับ
“พ่อแม่ก็จะแบบอี๋…อย่าไปจับนะๆ เราเรียกอาการนี้ว่า Biophobia จริงๆ มันคืออาการที่ติดต่อกันในครอบครัวได้ เช่น คนในครอบครัวกลัวสัตว์ชนิดไหน เด็กๆ ก็จะกลัวสัตว์ชนิดนั้นตามไปด้วย เพราะพ่อแม่กลัวเลยส่งต่อให้ลูกกลัว เพราะว่าเด็กๆ ที่กลัวธรรมชาติแม้กระทั่งดินโคลนก็ยังถูกมองว่ามันสกปรกเลอะเทอะ พอเขาโตขึ้นมาก็จะไม่ได้รู้สึกอยากดูแลหรือหวงแหนธรรมชาติเลย
“เพราะชีวิตตั้งแต่เกิดอยู่ในเมืองมาตลอด เขาไม่รู้หรอกว่าป่าคืออะไร เข้าไปทำอะไร นี่คือหนึ่งในต้นเหตุที่น่ากลัวเพราะจำนวนป่าอาจไม่เพิ่มขึ้นเพราะมนุษย์กลัวป่า”
ก้าวเท้าสู่ OurLand ดินแดนของคนและสัตว์เป็นเจ้าของร่วมกัน
เมื่อการเป็นคนเมืองอาจทำให้มนุษย์เริ่มห่างไกลจากธรรมชาติ พื้นที่ Our Land จึงเกิดขึ้น “ผมเองเมื่อก่อนเคยเป็นพนักงานออฟฟิศคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วก็มาคิดได้ว่าการอยู่ในเมืองมันไม่ใช่สำหรับเรา เหมือนมันมีความรู้สึกอะไรสักอย่างเกิดขึ้นแล้วดึงให้เราอยากกลับไปอยู่กับธรรมชาติ ช่วงนั้นเราก็ใช้เวลาทุกๆ เสาร์อาทิตย์เริ่มทำอาสาสมัครที่บ้าน ช.ช้างชรา เป็นโครงการที่ดูแลช้างแก่ในจังหวัดกาญจนบุรี เลยลองถามว่ามีพื้นที่ตรงไหนบ้าง
“พูดคุยปรึกษากับพาร์ตเนอร์ Anshuman Tripathy สุดท้ายก็มาได้ที่ตรงนี้เป็น Our Land ในปัจจุบัน เพื่อทำให้กลายเป็นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นตัวกลางสำคัญในการช่วยอนุรักษ์สัตว์ป่าไว้ เพราะหลังจากที่เราสังเกตตั้งแต่เริ่มแรกมีสัตว์ป่าเข้ามาเยอะมากทั้งพี่ช้าง เก้ง กวาง หมาใน งู วัวแดง ลิงลม และอีกหลากหลายชนิดที่หายาก เราจึงไปศึกษาข้อมูลต่อก็เลยได้รู้ว่าที่ตรงนี้มันเป็นช่องที่สัตว์ป่าลงมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระเพื่อกินน้ำในแม่น้ำแควใหญ่ ซึ่ง ณ จุดนี้เป็นต้นน้ำที่สำคัญสำหรับสัตว์มากๆ เราก็เลยฉุกคิดขึ้นมาว่าถ้าเราเปลี่ยนพื้นที่ของเราเป็นที่ท่องเที่ยวล่ะ สัตว์ป่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
“อย่างที่บอกไปว่าจุดที่ Our Land ตั้งอยู่นั้นห่างจากสลักพระเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทยเพียงไม่กี่เมตร ทั้งยังมีอาณาเขตรอบข้างกว้างออกไปติดกับเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอีกหลายที่ เช่น ไทรโยค เอราวัณ ทุ่งใหญ่นเรศวร โดยทั้งโซนนี้เราจะเรียกว่า ‘Western Forest Complex’ หรือผืนป่าตะวันตก ซึ่งเป็นผืนป่าที่มีอาณาเขตต่อเนื่องกันใหญ่ที่สุดใน South Asia โดยในประเทศไทยจะมีอยู่ทั้งหมดสิบเจ็ดพื้นที่ด้วยกัน
“นี่เป็นสิ่งที่ผมดีใจมากที่ Our Land มาอยู่ตรงนี้แล้วเราได้เป็นอีกหนึ่งพลังที่ช่วยเหลือสัตว์ป่า เพราะในโซนนี้ไม่เพียงแต่สมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ ยังสมบูรณ์ด้วยสัตว์หลากหลายสปีชีส์จนเราคาดไม่ถึง เช่น พี่ช้าง ผมเชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้ว่าบ้านของช้างทั้ง 1,500 – 1,800 ตัว อยู่ที่นี่ เรียกว่าเป็นครอบครัวของช้างที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ เสือโคร่งก็ยังคงหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ ซึ่งทุกคนน่าจะรู้อยู่แล้วว่าปริมาณของเสือโคร่งน้อยลงเรื่อยๆ แล้วยังมีวัวแดงที่หลงเหลืออยู่ห้าร้อยตัวจากทั่วโลก ถ้าตั้งใจหาจริงๆ คิดว่ามีเป็นร้อยเลยแหละ ถือว่าจุด ‘Western Forest Complex’ เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดที่หลงเหลืออยู่ในไทยก็ว่าได้”
“แล้วเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าสำคัญอย่างไร”
หลายคนอาจตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์กับวิถีชีวิตคนมันเกี่ยวข้องกันตรงไหน พี่วีโจ้ไม่รอช้ารีบตอบความสงสัยให้เรา “หลักๆ มันคือพื้นที่ที่สัตว์ป่าเข้าออกได้โดยที่ไม่มีการล่าสัตว์เลย ซึ่งมันเกิดมาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จากการที่ชาวบ้านเขาล่าสัตว์ เจอนก เจอเก้ง ซึ่งเราก็ไม่ได้มองว่าผิดนะ เพราะมันเป็นวิถีของเขาที่การหาอาหารเพื่อดำรงชีวิตต้องขึ้นอยู่กับป่า แค่อาจจะต้องมีกฎเกณฑ์มากกว่า อย่างการจำกัดปริมาณการล่าสัตว์ พันธุ์ไหนล่าได้ ล่าไม่ได้ แต่อีกมุมหนึ่งมันก็เกิดปัญหาจากสัตว์ป่าเข้ามากินพืชผักในพื้นที่ของชาวบ้าน เลยต้องหาจุดตรงกลางให้มนุษย์อยู่ร่วมกับสัตว์ได้
“ผมเรียกมันว่าทฤษฎีวนเกษตร หรือ Agroforestry คือการปรับพื้นที่ปลูกพืชที่เป็นอาหารได้ทั้งสำหรับคนและสัตว์ไปพร้อมๆ กัน โดยพืชที่เราเลือกส่วนใหญ่จะอยู่ในป่าได้โดยไม่ต้องดูแลอะไรมากมาย มันจะไม่เหมือนการทำเกษตรแบบทั่วไปนะ เพราะพืชทั่วไปมันต้องมีน้ำ มีปุ๋ย หลายอย่างกว่ามันจะออกดอกออกผล แต่ถ้าเป็นวิถีวนเกษตรคือปลูกเอาไว้ได้เลยแล้วก็ทิ้งให้มันเจริญเติบโตเอง
“แต่มันอาจจะไม่ใช่สูตรสำเร็จเสมอไปหรอก ผมขอเรียก Our Land ว่าเป็นพื้นที่แห่งการทดลองแล้วกัน เปิดโอกาสให้คนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ว่าทางเลือกที่จะอนุรักษ์ป่ามันมีอะไรบ้าง หาแนวทางที่มันดีที่สุดจากหลากหลายมุมมอง เพราะเราเองก็เป็นทีมที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่แรก
“เราลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ จนวันนี้ก็ห้าปีแล้ว เลยอยากเป็นกระจกสะท้อนอีกมุมหนึ่งให้คนอื่นที่เขามีพลัง มีเงิน ออกมาช่วยกันขับเคลื่อนสิ่งนี้ไปด้วยกัน เพราะว่าวิธีนี้ในแถบบ้านเรายังมีอยู่น้อยมาก ถ้าเทียบกับฝั่งยุโรปหรือประเทศที่เขารวยๆ ซึ่งคอสตาริกาคือหนึ่งประเทศที่น่าสนใจ เพราะคนในประเทศออกมาร่วมด้วยช่วยกันอย่างจริงจัง ประชาชนเขามีใจอนุรักษ์ทั้งประเทศเลย มันเลยขับเคลื่อนให้แนวคิดออกมากลายเป็นจริงได้ ผมอยากเห็นพลังแบบนั้นในไทยเหมือนกัน”
จากคำพูดของพี่วีโจ้ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าจึงสำคัญ ไม่ใช่สำคัญแค่ต่อสัตว์เท่านั้น ยังสำคัญต่อมนุษย์อย่างพวกเราด้วยเหมือนกัน
พี่ช้าง ตัวละคร (ที่ไม่) ลับของป่า
หลังจากก้าวเท้าเข้ามาฟังเรื่องราวจากพี่วีโจ้แล้ว เราได้ศัพท์ใหม่มา 1 คำ ‘พี่ช้าง’ สรรพนามคุ้นหูตั้งแต่เริ่มสัมภาษณ์ ถึงเวลามาทำความรู้จักพี่ช้างแล้วล่ะ “พี่ช้างเหรอ (หัวเราะ) จริงๆ พี่ช้างก็คือช้างนั่นแหละ ผมยกให้เขาเป็น Keystone Species ของธรรมชาติเลย เพราะว่าช้างเป็นผู้สร้างอุโมงค์แสง (Light Hole) ลองนึกภาพง่ายๆ เหมือนกับหนังเรื่อง Jungle Book เราจะสังเกตเห็นพฤติกรรมของช้างได้ว่าเขาชอบดันต้นไม้ลง แต่แค่ล้มลงเฉยๆ นะมันยังมีชีวิตอยู่ เพราะว่ารากมันยังอยู่ในพื้นดินเหมือนเดิม
“การที่พี่ช้างดันต้นไม้ล้มก็เพราะว่าช้างมันถูตัวกับต้นไม้ แล้วถ้าต้นไม้ไม่แข็งแรงพอเขาก็จะล้มลง แต่พอนานไปเขาก็จะฟื้นกลับมายืนต้นอีกครั้ง ซึ่งหลังจากต้นไม้ล้มจะเกิดแสงที่ส่องผ่านช่องต้นไม้ที่ล้มลง ทำให้แสงส่องถึงพื้นดินซึ่งนี่แหละเป็นคีย์ที่สำคัญมาก
“อย่างป่าเมืองไทยจะถูกจัดเป็น Tropical Forest ส่วนใหญ่แสงที่ส่องลงถึงพื้นดินมีเพียงสองถึงห้าเปอร์เซ็นต์เองนะ เพราะบ้านเรามันมีชั้นของใบไม้หนาห้าถึงเจ็ดชั้น ต้นไม้ใหญ่สุดจะเป็นต้นไม้ชั้นบนเขาก็จะเก็บแสงทั้งหมดไว้ แล้วที่หลุดลงมาก็จะเป็นต้นไม้ชั้นสอง ชั้นสาม จนถึงพื้นดิน สมมุติถ้าพี่ช้างไม่ดันเปิดป่าออกไป แสงก็จะไม่มีโอกาสโดนพื้นเลย พืชเล็กพืชน้อยต่างๆ ส่งผลให้สัตว์ไม่มีอะไรกินด้วย เพราะมันยังมีสัตว์อื่นๆ ที่ยังกินพืชเล็กๆ อยู่
“ถ้าไม่มีช้างสัตว์ป่าอื่นๆ ก็จะหายไปด้วย ซึ่งปัจจุบันช้างป่าในไทยเหลืออยู่แค่ 4,000 ตัวเท่านั้น แต่ในข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดี เมืองไทยเป็นเคสพิเศษซึ่งเป็นประเทศเดียวในแถบเอเชียที่ปริมาณช้างมากขึ้นเรื่อยๆ มันสุดยอดมากที่ปริมาณช้างของเรามากขึ้นแปดถึงสิบสองเปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่พื้นที่ป่าไม่ได้มากขึ้นนะก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้ วิธีเดียวที่จะรักษาช้างไว้ได้คือการเซฟพื้นที่ป่าเอาไว้ให้สัตว์ยังสามารถอยู่ได้นั่นเอง”
เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าพี่ช้างสำคัญกับป่ามากขนาดนี้ เราเลยรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องสำคัญที่หลายคนอาจต้องกลับมาทำความเข้าใจสัตว์และธรรมชาติ ซึ่งการที่เราไม่รู้หรือไม่เข้าใจไม่ใช่เรื่องผิด แต่หลังจากนี้ถึงเวลาที่เราควรกลับมาตระหนักถึงปัญหากันแล้ว
ความกลัวจะหายไปเพราะเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น
จากบ้านของสัตว์ป่ากลายเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนเข้าไปเรียนรู้ชีวิตของพวกเขาโดยไม่ล้ำเส้น ซึ่งเรากำลังพูดถึงศูนย์การเรียนรู้ของ Our Land ดินแดนที่ทำให้คนเข้าใจว่าแท้จริงแล้วกำแพงระหว่างคน สัตว์ และธรรมชาติไม่มีอยู่จริง
“พื้นที่การเรียนรู้ของ Our Land ไม่ได้สอนเกี่ยวกับธรรมชาติอย่างเดียวนะ แต่เรากระตุ้นธรรมชาติที่อยู่ข้างในตัวเขาให้ออกมามากกว่า เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์เรามีจุดเชื่อมโยงกับธรรมชาติอยู่แล้ว อยากให้มุมมองของคนที่มาที่นี่แล้วพอกลับออกไปเขาเปลี่ยนความคิด เข้าใจพี่ช้าง รู้จักวัวแดง เลิกกลัวงู เหมือนเราสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ
“เช่นเวลาเจองูเข้าบ้านครั้งต่อไปอาจไม่ได้ตกใจจนเสียสติยังสามารถโทรแจ้งหน่วยงานให้มาจับออกไปได้ อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าตีจนตาย มันอาจจะเป็นแนวคิดที่ดูมองโลกในแง่ดีไปสักหน่อย ความเชื่อหนึ่งของคนอินเดีย เขาจะเชื่อกันว่าเวลามีงูเข้าบ้าน มันหมายถึงชีวิตเรากำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรือถึงเวลาที่เราต้องเป็นคนใหม่แล้วนะ เหมือนงูที่กำลังลอกคราบ มันเป็นการมองโลกในอีกมุมหนึ่งมากกว่า โดยการมองสัตว์ป่าเป็นอีกหนึ่งชีวิตที่อยู่ร่วมกันบนโลก มากกว่าเป็นสัตว์ป่าที่ดุร้าย”