‘เนเธอร์แลนด์’ ประเทศที่คนจ่ายภาษีเพื่อระบบจัดการน้ำที่ดีที่สุดในโลก - Urban Creature

จริงๆ แล้วประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ กับประเทศเนเธอร์แลนด์ มีสภาพภูมิประเทศที่ใกล้เคียงกันมาก คือหมายถึงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าน้ำทะเลเพียงนิดเดียว แต่สิ่งที่ทำให้เนเธอร์แลนด์แตกต่างจากเรา คือเขาเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาและมีการจัดการเรื่องน้ำอย่างจริงจัง ผ่านการสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้นมาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำโดยเฉพาะ และให้ประชาชนทุกคน ‘เสียภาษี’ เพื่อมีส่วนร่วมในการดูแลและปกป้องบ้านของพวกเขาจากเหตุการณ์อุทกภัยอีกด้วย

01 | ‘เนเธอร์แลนด์’ ประเทศที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล

‘เนเธอร์แลนด์’ ถือเป็น 1 ในประเทศที่มีสถานะเป็น ‘ประเทศแผ่นดินต่ำ’ (Low Countries) เช่นเดียวกันกับเบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และฝรั่งเศส (ทางตอนเหนือ) เนื่องจากประเทศเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ต่ำกว่าน้ำทะเล ดังนั้นเมื่อก่อนเราจึงมักได้ยินการรายงานข่าวเกี่ยวกับการเกิดอุทกภัยจากประเทศเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง

เนเธอร์แลนด์ มีพื้นที่ประมาณ 41,543 ตร.กม. แบ่งเป็นพื้นดิน 33,893 ตร.กม. และน้ำ 7,650 ตร.กม. โดยพื้นที่กว่า 17 เปอร์เซ็นต์ของประเทศเป็นพื้นที่ที่เกิดจากการถมทะเล และพื้นที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ส่วนอีก 50 เปอร์เซ็นต์อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1 เมตร เท่านั้น ส่งผลให้ลักษณะของสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม พื้นที่ส่วนใหญ่เคยเป็นน้ำทะเลมาก่อน มีเพียงทางตะวันออกเฉียงใต้ในเขตลิมเบิร์กเท่านั้นที่พบเห็นเนินเขาได้ 

ย้อนกลับไปเมื่อ 67 ปีที่แล้ว ในช่วงคืนของวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1953 เนเธอร์แลนด์เผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ ที่มีชื่อว่า ‘The 1953 North Sea Flood’ โดยสาเหตุเกิดจากการรวมกันของน้ำในฤดูใบไม้ผลิจำนวนมหาศาล บวกกับลมพายุตะวันตกเฉียงเหนือที่รุนแรงจนทำให้เกิดคลื่นสูง ส่งผลให้เขื่อนพังทลายลง ทำให้พื้นที่ร้อยละ 9 ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ และเหตุการณ์ครั้งนั้นคร่าชีวิตชาวดัตช์ไปกว่า 1,836 คน บ้านเรือน 4,500 หลังถูกทำลาย รวมไปถึงประชาชนกว่า 100,000 คนที่กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยโดยชั่วคราว

ความเจ็บปวดในครั้งนั้น กลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยอมทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลไปกับโครงการ ‘Delta Project’ ที่ประกอบด้วยการสร้างคันกั้นน้ำ เขื่อน และสร้างกำแพงกันคลื่นจากลมพายุกว่า 14 แห่งรอบพื้นที่ที่ติดทะเลทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง

02 | ‘Delta Works’ โครงการป้องกันน้ำท่วม จุดเปลี่ยนของเนเธอร์แลนด์

‘Delta Works’ คือโครงการพัฒนาระบบจัดการน้ำ และควบคุมผลกระทบจากภัยพิบัติทางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก อยู่บริเวณปากแม่น้ำไรน์-เมิส-เชลดา ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งดำเนินการโดย หน่วยงานจัดการน้ำ Rijkswaterstaat (RWS) ประกอบไปด้วย เขื่อน พนังกั้นน้ำ กำแพงกันคลื่น รวมทั้งสร้างประตูระบายน้ำบริเวณปากอ่าว เพื่อควบคุมน้ำทะเลไม่ให้ทะลักเข้าแม่น้ำ ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมในพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน โดยการก่อสร้างเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1950 จนถึง ค.ศ. 1997 โดยใช้งบประมาณกว่า 2.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 0.84 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทั้งประเทศ จากเดิมที่ตั้งไว้เพียง 3.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

แม้จะลงเม็ดเงินไปมากมายมหาศาล แต่ความคุ้มค่าที่ตามมานอกจากทำให้เนเธอร์แลนด์กลายเป็นประเทศที่จัดการน้ำดีที่สุดในโลก จนทำให้หลายหน่วยงานหลายประเทศต่างบินไปดูงานรวมถึงไทยแล้ว ด้านการเกษตรก็ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้ตามที่ต้องการ เพราะมีแหล่งน้ำจืดใช้อย่างเพียงพอ จนปัจจุบันเนเธอร์แลนด์สามารถส่งออกสินค้าเกษตรสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท

03 | ‘Water Authority Tax’ ภาษีจัดการน้ำ

เพราะในระหว่างการจัดทำโครงการต้องใช้งบปริมาณมหาศาล อีกทั้งเนเธอร์แลนด์ยังเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลองมากมาย ประชาชนทุกครัวเรือนจึงต้องจ่าย ‘ภาษีเกี่ยวกับน้ำ’ ให้กับ ‘Waterschap’ องค์กรการจัดการน้ำระดับท้องถิ่น และ ‘Rijkswaterstaat’ องค์กรการจัดการน้ำระดับประเทศ เพื่อนำมาใช้ในการซ่อมแซมเขื่อน ประตูระบายน้ำ ระบบป้องกันน้ำท่วมต่างๆ รวมถึงการบริการจัดการน้ำอื่นๆ เช่น การบำบัดน้ำเสีย ซึ่งโดยรวมแล้วค่าใช้จ่ายส่วนนี้ชาวดัตช์จะจ่ายราวๆ 200 – 500 ยูโร/ปี หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 7,000 – 17,000 บาท/ปี (ขึ้นอยู่กับรายได้และพื้นที่อยู่อาศัย) 

ไม่เพียงเท่านี้ ในรายการ รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี ตอน ‘อยู่อย่างดัตช์ อยู่กับน้ำ’ ได้อธิบายว่า ที่เนเธอร์แลนด์ออกกฎหมายให้ประชาชนทุกคนต้องว่ายน้ำเป็นเพื่อเอาตัวรอด เพราะถึงแม้ Delta Works จะได้รับการรับรองว่ามีความแข็งแรงมากๆ แต่ก็ใช่ว่าในอนาคตจะไม่เกิดเหตุฉุกเฉินที่มีน้ำท่วมหรือเขื่อนกั้นน้ำพังลงเหมือนอย่างในอดีตอีก

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.