ในยุคที่คนหวนคิดถึงยุคแอนะล็อกกันมากขึ้น ‘กล้องฟิล์ม’ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่กลับมาเป็นที่นิยมของตลาดและจับใจเด็กยุค 2000 ด้วยเสน่ห์ความคลาสสิกและโรแมนติกแบบที่หาไม่ได้ในกล้องดิจิทัล
แต่ด้วยความที่การใช้กล้องฟิล์มแต่ละครั้งก่อให้เกิดขยะพลาสติกจากตัวฟิล์มและบอดี้ตัวกล้องใช้แล้วทิ้งจำนวนมาก ‘Kelric Mullen’ และ ‘Mackenzie Salisbury’ คู่หูนักออกแบบที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงสร้าง ‘กล้องฟิล์มกึ่งดิจิทัล’ ที่รับผิดชอบต่อปัญหาขยะพลาสติกขึ้นในชื่อ ‘Flashback’
เมื่อมอง Flashback แบบผิวเผินอาจดูเหมือนเป็นกล้องฟิล์มทั่วๆ ไป ที่มาพร้อมช่องมองภาพ ตัวหมุนโฟกัส และแฟลชแบบ Xenon แต่ความจริงแล้วภายใต้รูปลักษณ์แบบคลาสสิกที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล Flashback ยังซ่อนรูปแบบของความเป็นดิจิทัลได้อย่างแนบเนียน
แต่ละครั้งที่กดชัตเตอร์ ภาพจะถูกบันทึกด้วยเทคโนโลยีฟิล์มดิจิทัล (Digital Film Technology) ที่แม้จะไม่มีม้วนฟิล์มอยู่ภายใน แต่ยังให้ความรู้สึกเหมือนกำลังถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มที่สามารถถ่ายภาพได้สูงสุด 27 ภาพอยู่จริงๆ
หลังจากถ่ายภาพครบหนึ่งชุด ภาพถ่ายทั้งหมดจะถ่ายโอนแบบไร้สายไปยังแอปพลิเคชัน ‘Flashback’ บนสมาร์ตโฟน ที่ต้องรอเวลาอีก 24 ชั่วโมงถึงจะได้ออกมาเป็นรูปภาพแบบสมบูรณ์ให้เราเห็น ถือเป็นการคงไว้ซึ่งความโรแมนติกของการถ่ายภาพแบบแอนะล็อก
นอกจากนี้ ตัวกล้อง Flashback ยังสามารถใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ ผ่านการชาร์จไฟด้วยสาย USB ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายจำนวนมากเมื่อเทียบกับการใช้กล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้ง และตัวฟิล์มที่มีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ
ใครที่สนใจ สั่งซื้อกล้อง Flashback ในราคาเริ่มต้นที่ 125 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 2,800 บาท ได้ที่ t.ly/rAAu
Source :
Designboom | t.ly/s43z