ชีวิตมนุษย์เงินเดือนอย่างเราช่วงพักกลางวันถือเป็นชั่วโมงล้ำค่า ที่อยากจะมีพื้นที่ผ่อนคลายใช้เวลากินอาหาร หรือนั่งคุยชิตแชตกับเพื่อนในบรรยากาศสบายๆ เหมือนได้ชาร์จพลังแล้วกลับไปทำงานต่อในช่วงบ่ายแบบไม่เฉา เราไม่รอช้าโทรนัดแนะ ‘พี่โต-ภัควัต วราภักดิ์’ ภูมิสถาปนิก และเจ้าของ Feast Bangkok โรงอาหารสำหรับคนเมืองเพื่อนบ้านคนใหม่ของชาวอารีย์ พร้อมขอเข้าไปพูดคุยถึงที่มาที่ไปของไอเดียการออกแบบพื้นที่ ซึ่งเปลี่ยนภาพจำของโรงอาหารที่โรงเรียนในวันวานให้กลายเป็นคอมมูนิตี้ใหม่ ที่รอต้อนรับทุกคนตั้งแต่เช้าจรดเย็น
Feast Bangkok โรงอาหารที่อยากเห็นคนเมืองกินดี อยู่ดี
หากพูดถึงทำเลย่านอารีย์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความฮอต ทั้งร้านอาหารละลานตาจนเลือกไม่ถูก คาเฟ่สุดคูลที่ชวนให้เหล่าอินสตาแกรมเมอร์ต้องตามมาให้ถึงถิ่น กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เราอยากรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่จุดประกายแนวคิดของ Feast Bangkok ให้เกิดขึ้น ก้าวแรกที่เราไปถึงในช่วงเช้าที่คนยังไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ละร้านเตรียมอาหารร้อนๆ พร้อมจัดหน้าร้านอย่างแข็งขัน พร้อมแล้วสำหรับช่วงเวลาพักเที่ยงที่กำลังจะมาถึง เราชวนพี่โตมานั่งหลบแดดใต้ร่มไม้ใหญ่แล้วเริ่มบทสนทนาอย่างเป็นกันเอง จากบ้านสวนสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่ท้าทายไม่ใช่เล่น พี่โตเริ่มเล่าให้เราฟังพร้อมชี้ชวนดูต้นไม้ใหญ่ที่กระจายอยู่ทั่วโครงการ
“นี่คือโจทย์แรกที่ต้องทำการบ้านพอสมควรเลย จะเห็นเลยว่าพอเข้ามาในพื้นที่ต้นไม้เยอะมาก ก็เลยมานั่งคิดต่อว่าจะทำอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงโดยที่ไม่ต้องทำร้ายพวกเขา เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมา ย่านอารีย์มันก็เริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นย่านของคนทำงาน มีออฟฟิศมากขึ้น
“ทำให้เราเห็นภาพความจอแจของพนักงานออฟฟิศช่วงพักเที่ยง ซึ่งเราก็เห็นว่ามีตัวเลือกของร้านไม่มาก ส่วนใหญ่ที่เห็นก็เลือกกินร้านอาหารข้างทาง ต้องเจอปัญหาฝุ่น สุขอนามัยอาจไม่ดีเท่าที่ควร หรือจะให้เลือกเข้าไปกินในห้างฯ ราคาก็แพงเกินไป กินทุกวันคงไม่ไหว กลายเป็นโจทย์ข้อที่สองว่าจะทำอย่างไรให้คนที่นี่มีทั้งการกินที่ดี และการอยู่ที่ดี มาพร้อมกับราคาที่รับไหว ซึ่งอารีย์ยังขาดจุดนี้อยู่ เลยคิดว่าทำไมเราไม่ลองทำเป็นโรงอาหารดูล่ะ จนเกิดเป็นไอเดียโรงอาหารของคนเมืองขึ้นมา”
หน้าบ้านตอบโจทย์การใช้งานพื้นที่ หลังบ้านเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
พอลองนั่งคิดตามแล้วมองออกไปรอบๆ พื้นที่ Feast Bangkok เราสัมผัสได้ว่าสถานที่แห่งนี้ ไม่ใช่แค่พื้นที่กินอาหารสำหรับมนุษย์ออฟฟิศอย่างเราเท่านั้น แต่บรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้ และพื้นที่โปร่งจนสายลมพัดผ่านตลอดทั้งวัน กลับเติมเต็มช่วงเวลาพักเที่ยงไปพร้อมบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างตักอาหารเข้าปาก ยิ่งเพิ่มความสุขในการกินเป็นเท่าตัว
“คนเมืองสมัยนี้ตกอยู่ในสภาวะเครียด พี่ว่าพื้นที่กับต้นไม้ช่วยฮีลจิตใจคนได้เยอะนะ มันเลยกลายเป็นแนวคิดแบบ Semi-Public Zone หรือพื้นที่กึ่งสาธารณะ ที่ทั้งคนและชุมชนโดยรอบได้ประโยชน์ร่วมกัน สังเกตได้จากบริเวณรอบโครงการจะไม่มีรั้วกั้น เดินทะลุเข้ามาได้เลย”
นอกจากมุมของการสร้างพื้นที่ให้เชื่อมโยงเข้าหาผู้คนได้แล้ว การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทำได้จริง “เรามองไปถึงการลดมลพิษและการกำจัดขยะ เพราะพี่คิดว่าหลังจากอาหารแต่ละจานถูกเสิร์ฟออกไป มันมีส่วนที่เหลือทิ้งอยู่แล้ว เลยมานั่งคิดว่าปลายทางของขยะเหล่านี้จะไปที่ไหน เราเป็นคนสร้างขยะเองหรือเปล่า ก็คิดหาทางออกอยู่นานเหมือนกัน เลยลองจับมือกับพาร์ตเนอร์อย่างทีม ‘เก็บ’ (GEPP) ที่ช่วยแนะนำในเรื่องที่เราก็ไม่เคยทำมาก่อน อย่างการเก็บข้อมูลน้ำหนักขยะที่เก็บได้ในแต่ละเดือน หรือแม้กระทั่งน้ำล้างจานในแต่ละวันบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้นะ
“แล้วก็ยังมีอีกหนึ่งพาร์ตเนอร์คือ ‘พี่ชูเกียรติ’ จาก My City Farm เข้ามาช่วยในเรื่องของการทำปุ๋ยจากเศษอาหารเหลือทิ้งในโครงการ ปุ๋ยเหล่านี้ยังเอาไปใช้ต่อที่สวนดาดฟ้าซึ่งเราตั้งใจให้เป็น Urban Farm ผักที่ปลูกในสวนก็จะนำกลับมาให้ร้านค้าเอาไปใช้ประกอบอาหารได้ หรือถ้าเหลือก็เอามาวางขายได้เหมือนกัน พี่มองว่านอกเหนือจากการออกแบบพื้นที่แล้วระบบหลังบ้านก็สำคัญ ต้องพยายามทำให้ดีไปพร้อมๆ กัน”
จากโรงอาหารตอนกลางวัน สู่พื้นที่แฮงเอาต์ยามเย็น
หลังจากพูดคุยไปสักพัก เราเหลือบไปเห็นร้านไก่ทอดเกาหลีที่ขายพร้อมโซจู ให้ความรู้สึกเหมือนหลุดออกมาจากซีรีส์เกาหลี พี่โตเลยเล่าเสริมขึ้นมาว่า
“โซนตรงนี้จะคึกคักช่วงเย็นๆ เหมือนพอทุกคนเลิกงานแล้ว พื้นที่ตรงนี้ก็กลายเป็นที่พักผ่อนให้คนมารวมกัน ซึ่ง Feast Bangkok ไม่ได้ตอบโจทย์แค่กลางวันอย่างเดียวแล้ว พี่อยากให้มันตอบโจทย์ตอนกลางคืนด้วย จะเห็นได้จากร้านค้าในโครงการมันมีความหลากหลายมาก ไม่ใช่แค่หลากหลายเรื่องเมนูอาหารนะ ราคาก็หลากหลายด้วย ที่สำคัญ การคัดเลือกร้านพี่จะมีเกณฑ์อยู่ว่า ไม่เอาร้านที่มีแฟรนไชส์ แต่จะเป็นร้านเล็กๆ ที่เจ้าของลงมาทำด้วยตัวเอง หรือเป็นทายาทที่พยายามสานต่อร้านให้มันโตต่อไปได้”
เวลาพักกลางวันใกล้เข้ามา บรรยากาศรอบข้างเริ่มคึกคักขึ้นต่างจากตอนที่มาถึง เราลองไล่สายตามองร้านอาหารแต่ละร้าน ก็เจอทั้งเมนูที่ทานง่ายสบายกระเป๋าละลานตาไปหมด เช่น ผัดไทย กะเพรา ก๋วยเตี๋ยวโบราณ ข้าวซอยจากภาคเหนือ ไปจนถึงคั่วกลิ้งจากภาคใต้ หรือจะเป็นเมนูหนักๆ อย่าง หมูชาชูยอดฮิต ไก่ทอดเกาหลี หรือแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นโต คือไม่ว่าจะมาคนเดียว มาเป็นแก๊ง ก็เลือกกินได้ไม่ยาก
คอมมูนิตี้ที่เชื่อมโยงผู้คนกับเมืองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ภาพร้านรวงมากมายในโครงการ Feast Bangkok ทำให้เราเผลอคิดไปถึงร้านอาหารข้างทาง หรือร้านอาหารที่เป็นรถเข็น ที่ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ค้าขายค่อนข้างน้อยและอาจไปรบกวนทางเท้า จนเกิดเป็นความสงสัยแล้วลองถามความเห็นพี่โตดูว่า ร้านค้าขาจรจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ตรงนี้ได้บ้างไหม
“คิดไว้เหมือนกันนะ อย่างพวกร้านขนมจีนรถเข็น ก๋วยเตี๋ยวป๊อกป๊อก หรือร้านอื่นๆ เราก็อยากให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่ โดยที่พี่มีพื้นที่รองรับ มีห้องล้างจาน มีโต๊ะสำหรับกินอาหารให้ อนาคตก็อยากทำให้ได้แบบนั้นเหมือนกัน
“แต่ถ้ามองในรูปแบบธุรกิจ อันดับแรกต้องอยู่ให้ได้ก่อน พอเราเข้มแข็งแล้วก็เริ่มออกไปคุยกับชุมชน บรรดาพ่อค้าแม่ค้า ให้ทุกคนออกมามีส่วนร่วมกับพื้นที่ตรงนี้ได้ ซึ่งมันก็ตรงกับความตั้งใจของพี่ที่อยากพัฒนาการใช้งานพื้นที่ให้หลากหลาย อาจจะสร้างอีเวนต์หมุนเวียนมากขึ้น เช่น Farmer Market, Talk, Exhibition ต่างๆ คือไม่อยากให้พื้นที่นี้ถูกปิดกั้น พี่อยากสร้าง Feast Bangkok ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมือง และเปิดโอกาสให้คนเข้ามาใช้ได้ จริงๆ มองว่าแนวคิดนี้มันสอดแทรกไปยังย่านอื่นได้ด้วย สำหรับโปรเจกต์นี้ พี่ว่ามันเป็นโมเดลที่น่าสนใจในแง่ของการพัฒนาเมืองในยุคนี้เลยล่ะ”
บทสนทนาของเรากับพี่โตจบลง ทำให้เราฉุกคิดได้อย่างหนึ่งว่า แท้จริงแล้ว Feast Bangkok เป็นมากกว่าโรงอาหารที่ผู้คนแวะมากินข้าว แต่ที่นี่กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่เชื่อมโยงพ่อค้าแม่ค้า ผู้คนทั้งในและนอกย่าน ไปจนถึงชุมชน ให้อยู่ร่วมกันได้แบบที่ทุกคนต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
| FEAST BANGKOK
ที่ตั้ง : ซอยพหลโยธิน 5 (ก่อนถึงแยกอารีย์ 1) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
เวลาเปิด-ปิด : 07.00 – 24.00 น.
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://feastbangkok.com/