Facetook พื้นที่ระบายทุกข์เพื่อเพิ่มสุขให้ชีวิต - Urban Creature

เรา ‘ทุกข์’ กับ ‘โซเชียล’ มากเกินไปหรือเปล่า ?

คำถามที่ไม่เคยถูกตั้งเป็นโจทย์ในการใช้ชีวิต คำถามที่ใครหลายคนอาจมองข้าม เพราะจมจ่อกับโลกโซเชียลจนลืมตัวตนไว้ข้างหลัง ลืมความเป็นตัวเองจนเผลอเอาไป ‘เปรียบเทียบ’ กับคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกสีน้ำเงินที่มีชื่อว่า ‘Facebook’

ไม่ได้หมายความว่า เฟซบุ๊กเป็นตัวเปรียบเทียบเรากับใครๆ แต่เปรียบเทียบในที่นี้ หมายถึงการที่เอาใจไปผูกกับคนอื่น ก่อให้เกิดความรู้สึกอยากเป็น หรืออยากมีอย่างใครเขา จนกลายเป็นว่าหัวใจกำลังทุกข์อย่างไม่รู้ตัว

ถึงเวลาเผชิญหน้ากับความทุกข์ที่เข้ามาอย่างแยบยลด้วยโซเชียลมีเดียผ่าน ‘facetook.org’ เว็บไซต์โลกคู่ขนานเฟซบุ๊กที่เปิดให้คนมาแชร์ความช้ำในหัวใจ เราชวน ‘พี่เม้ง – ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์’ และ ‘พี่บอมบ์ – ปัณณวิชณ์ แซ่โง้ว’ แห่ง ‘ชูใจกะกัลยาณมิตร’ กลุ่มครีเอทีฟเอเจนซีผู้สร้าง ‘Facetook (เฟซทุกข์)’ มานั่งสนทนาถึงที่มาที่ไปของเฟซทุกข์ และมุมทุกข์สุขในชีวิต

ทุกข์ในเฟซบุ๊ก | จุดฉนวนสร้าง ‘Facetook’

พี่บอมบ์ : Facetook เป็นแคมเปญภายใต้โปรเจกต์ความสุขประเทศไทย ของสสส. ร่วมกับธนาคารจิตอาสา พูดถึงการรู้จักความสุข ผ่านการเข้าถึงความจริงในชีวิตแทนการพึ่งพาวัตถุ ซึ่งโจทย์ที่เราได้ คือต้องพูดเรื่องที่ลึกซึ้งระดับจิตใจให้สื่อสารถึงคนรุ่นใหม่ได้ เราเลยมองหาว่า คนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน แน่นอนว่าทุกคนอยู่บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก แล้วพบว่า การที่เขาอยู่กับโซเชิลเน็ตเวิร์กมากๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของความทุกข์ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะ ‘Facebook‘ จากการที่ใช้แล้วจมอยู่กับมัน เห็นโพสต์คนอื่นแล้วเอาตัวเองไปเปรียบเทียบ เหมือนเห้ย คนอื่นเขาชีวิตดีจังเลย แล้วเรามัวทำอะไรอยู่

เลยเกิดเป็น facetook.org ขึ้นมา เราพยายามสื่อสารว่า ในโลกออนไลน์ที่คนโพสต์ข้อความหรือรูปต่างๆ จริงๆ แล้วมันเป็นเพียงด้านเดียว มันยังมีอย่างอื่นที่เขาไม่ได้บอกในโพสต์นั้น ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักตรงนี้ เลยรู้สึกว่ามันเป็นปัญหาที่ทำให้คนทุกข์เหมือนกัน เพราะเอาจริงๆ ทุกคนก็มีด้านที่เป็นทุกข์

พี่เม้ง : พี่คิดว่า Facetook มันเป็นมุมหนึ่งนะ เราไม่ได้เลือกทุกมุม แต่หยิบมุมที่เด่นที่สุดของเฟซบุ๊ก คือมุมการโชว์ตัวตน บอกว่าเราเป็นใครมาเล่น มุมนี้มันดูย้อนแย้งในตัวเอง คือมุมด่ามันแน่นอนอยู่แล้วว่าทุกข์ เพราะมันกระทำกับเราโดยตรง มีคนผิดคนถูกทันที มันแยบยลไง แต่พอยท์ของ Facetook มันกำลังพูดถึงการที่เราเห็นคนที่ชีวิตดี แล้วไปเปรียบเทียบกับเขาจนเราเป็นทุกข์ ปัญหาต่อมาเราก็อยากลบปม อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อไปอวดให้คนอื่นเห็นว่าเราก็ไม่ได้มีชีวิตที่แย่ เหมือนเวลาไปเที่ยว เราพุ่งไปที่จุดที่เราอยากจะถ่ายรูป โดยที่ระหว่างทางอาจไม่สนุก แต่ก็ยิ้มแย้มแจ่มใส เพื่อมาลงเฟซบุ๊ก แล้วมันก็ไปเกิดวงจรนี้กับคนอื่น เราก็อยากจะมีตัวตนกันเนอะ เพราะตัวตนเราเล็กลง คือมันไม่พอ เรายังไม่เป็นที่รู้จัก

พี่บอมบ์ : จริงๆ เราอยากหมายรวมถึงโซเชียลมีเดียช่องทางอื่นด้วยนะ เพราะหัวใจของโลกโซเชียล คือพื้นที่ที่เราแสดงตัวตนสู่สาธารณะที่ชัดมาก แล้วทันทีที่มีคนชีวิตดีกว่าเรา ได้ไปทำนู้นทำนี่ที่รู้สึกว่า โห คนนี้มันเพอร์เฟกต์จังวะ มันก็จะกลบตัวตนของเราไป

โซเชียลมีเดีย = เครื่องมือ | ที่คนใช้สร้างความทุกข์โดยไม่รู้ตัว

พี่เม้ง : จริงๆ มันมีความสุขด้วยนะ แต่สิ่งที่เราอยากจะนำเสนอ คือ เอ้ย ! ทำไมภาพความสุขมันกลับสร้างความทุกข์ ทำไมเราเห็นคนอื่นสุขแล้วเราไม่สุขตาม ทำไมเราไม่ได้มีมุทิตาจิต ที่จะยินดีปรีดาไปกับเขา สำหรับพี่มันเป็นเรื่องของตัวเราเป็นหลัก

รวมถึงพวก Hate Speech ที่ฟังแล้วโมโห แต่มันกลายเป็นว่า เรากำลังโต้ตอบกับสิ่งที่ไม่มีตัวตน เพราะสำหรับพี่ มันคือการสู้กับตัวเอง สู้กับความโมโหเรา ทุกคนมีความเห็นหมด แต่พอเราพูดกันไม่ดีมันก็จะมีอารมณ์ พี่เชื่อว่าบางทีด็อกเตอร์แม่งโดนเด็กป. 1 ด่า แต่ไม่รู้ว่าคือเด็กก็โมโหแล้ว เพราะทุกคนแม่งดูมีเหตุผลไปหมดบนโลกโซเชียล คือทุกคนมีสิทธิมีเสียงมันดีนะสำหรับพี่ แต่บางทีในมุมที่เราถูกกระทำ มันกลายเป็นว่า พอโดนใครว่า เราก็รู้สึกไปหมด เราอยากจะวิ่งไปโต้เถียงมันทุกอย่าง

โซเชียลมีเดีย = เครื่องมือ | ที่ช่วยบรรเทาทุกข์ได้เช่นกัน

พี่เม้ง : เอาจริงๆ มันก็มีประโยชน์ มันคอนเนคเรากับสิ่งต่างๆ แต่พี่เลือกที่จะนำเสนออีกด้านมากกว่า คือมีคอมเมนต์ไม่เห็นด้วยนะที่บอกว่า เฟซบุ๊กไม่ดี ซึ่งเราก็เห็นด้วย เพราะเขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีปัญหา หรือติดใจอะไร เราเห็นเขามีความสุข เราก็มีความสุข ไม่ได้ต้านมุมนี้

พี่บอมบ์ : เราว่าโซเชียลมีเดียมันเป็นแค่เครื่องมือ ซึ่งมันทำให้คนมีทั้งความสุขและความทุกข์ได้อยู่แล้ว เพราะสำหรับบางคน มันเป็นพื้นที่ที่เขาได้เจอคนที่คิดเหมือนกัน เป็น community ที่ทำให้แม้จะไม่ได้อยู่ใกล้กันแต่ก็มาเจอกันได้ เป็นพื้นที่เยียวยาและให้กำลังใจ

ความทุกข์น่ากลัว | แต่ต้องยอมรับเพื่อผ่านไปให้ได้

พี่เม้ง :  ความทุกข์น่ากลัวแน่นอน แต่มันดีนะสำหรับพี่ เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ถึงแม้ว่าทุกข์แล้วมันจะเหนื่อย จะเครียด คือเอาจริงไม่ต้องกลัวหรอกโรคซึมเศร้า เพราะทุกวันนี้มันก็เศร้าอยู่แล้ว ความทุกข์มันเป็นอะไรที่งงๆ เบลอๆ ชีวิตมันหมองๆ ไม่ค่อยมีเอเนอร์จี ไม่เบิกบาน เราเลยต้องยอมรับความทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะถ้าไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นทุกข์ มันก็จะยิ่งทุกข์ และผ่านจุดนั้นไปไม่ได้

พี่บอมบ์ : ถ้าเราตอบก็คงตอบเป็นชุดความคิด เราอาจไม่ได้เข้าใจจริงๆ เราว่ามันอยู่ที่ทาทีของคนนั้น คือความทุกข์มันก็เป็นความทุกข์ แต่อยู่ที่ว่าเราตีความยังไง สำหรับบางคนอาจมองว่ามันไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากในชีวิต แต่กับบางคนเขารู้สึกว่ามันทุกข์มาก เราเลยคิดว่าน่าจะมีทั้งน่ากลัวและไม่น่ากลัว แต่ธรรมชาติของทุกคน มันต้องน่ากลัวอยู่แล้วแหละ แต่ความกลัวเกิดจากอะไร ? มันเกิดจากการที่เรารู้จักไม่มากพอ ถ้าเราทำความเข้าใจได้ ก็อาจจะถึงจุดหนึ่งที่มองว่า ความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา ก็แค่สิ่งหนึ่งที่เข้ามาแล้วผ่านไป 

หนทางสู่ความสุข | ในวันที่คนเป็นทุกข์กันง่ายเหลือเกิน

พี่บอมบ์ : เราจะไปวิ่ง ซึ่งการวิ่งทำให้เราได้ปลดปล่อยสิ่งที่อยู่ข้างใน วันนั้นจะรู้สึก productive มากเลย คือจะไปทำอะไรมา จะล้มเหลว หรือจะแย่อะไรมา แต่ถ้าเราได้ลองวิ่งไปถึงจุดหมาย ก็จะรู้สึกว่าประสบความสำเร็จแล้ว ในความสุขประเทศไทยก็พูดถึงการเคลื่อนไหวร่างกายเหมือนกัน เพราะเป็นทางหนึ่งที่เราได้กลับมาอยู่กับตัวเอง

พี่เม้ง : พี่ว่าการที่เราเล่นโซเชียลมีเดียให้น้อยลงก็ช่วยนะ ไปมีกิจกรรมอื่นบ้าง ไปวิ่งเหมือนที่บอมบ์ทำ หรือไปใช้เวลากับครอบครัว จริงๆ มันช่วยหมดเลย แต่คนอย่างเราก็พ่ายแพ้ทุกที (หัวเราะ) มันชินเหมือนกับติดบุหรี่ มันคือบุหรี่ที่หยิบสะดวก สูบในห้องก็ได้ ตรงไหนก็ได้ ประชุมยังหยิบเลย บางทีมันเผลอ พี่รู้สึกเหมือนสูบบุหรี่จริงๆ นะ ตอนจุดเสร็จแล้ว ก็คิดว่าเห้ย เราจุดทำไมวะ แต่มันจุดไปแล้ว และก็ยินดีที่จะสูบต่อ เหมือนกันกับที่เราไถนิ้วตามโซเชียลไปแล้ว แล้วก็มาคิดว่าเราไถทำไม มีทั้งรู้ตัว และไม่รู้ตัว ส่วนใหญ่ก็เลยแพ้

หัวใจสำคัญของ Facetook | เตือนว่าอย่าตัดสินแค่สิ่งที่เห็น

พี่เม้ง : กระบวนการของ Facetook มาจากคนทำงานจริงอย่างพวกเรานี่แหละ เราเคยเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นมาก่อน แล้วการทำงานตรงนี้ มันก็คอยเตือนเราด้วย คือพูดแบบนี้ดูเหมือนแม่งเก่งเนอะ (หัวเราะ) แต่เอาจริงๆ เราคือคนที่แพ้คนหนึ่ง แล้วมานำเสนอมุมมอง เราเล่าในฝั่งที่มันพ่ายแพ้ คนที่ไม่รู้สึกกับแคมเปญนี้ เรายินดีด้วยนะ เพราะเขาไม่ได้ทุกข์ หรืออยู่ในประเภทเดียวกับเรา คือเฟซบุ๊กมันรวบรวมความอิจฉามาให้เราแล้ว มันเป็นแพลตฟอร์มที่ โอ้โห มันโกยมาหมดเลย มันจับอัลกอริทึมให้เราเป็นชุด สำหรับพี่มันเลยมีผลเรื่องความทุกข์ คือแหมเราก็ไม่เก่งนะ มันยากที่จะไม่รู้สึก

คนเรามันต้องรู้สึก ไม่งั้นมันก็ไม่ต้องมีน้ำตา” 

แต่ในทางกลับกัน แพล็ตฟอร์มก็มาช่วยเตือน ว่าอย่าไปปรุงแต่ง อย่าไปคิดมาก อย่าไปคิดว่าโมเมนต์นั้นโมเมนต์เดียวที่เราเห็นเขามีความสุขคือทั้งหมด อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ มันอยู่นอกภาพที่เราเห็น เพราะในภาพเราคิดเองหมดเลย เพราะฉะนั้น อย่าไปปักใจ อย่าไปคิด อย่าไปเชื่อสิ่งที่อยู่ในหัวเราทั้งหมด ทุกชีวิตมีอีกด้านหนึ่ง ทุกคนคือเพื่อนทุกข์กันทั้งนั้น

พี่บอมบ์ : ใช่ เพราะมันโชว์ให้เห็นแต่ความเป็นภาพ ภาพที่ตามองเห็น หูได้ยิน แต่ไอ้ความรู้สึกของเขา เราไม่สามารถรู้ได้ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก แคปชั่นที่เขาเขียน มันอาจจะไม่ได้ตรงกับความรู้สึกเขาจริงๆ ก็ได้ ความเป็นมนุษย์มันน้อยลง เราเห็นแค่ตัวหนังสือ เราก็ตีความได้มากมาย ทั้งที่เขาอาจจะไม่รู้สึกอย่างนั้นก็ได้

อนาคต Facetook | “นิทรรศการเพื่อนร่วมทุกข์

พี่เม้ง :  ไม่ได้มองอนาคตไกลๆ เลยนะ พี่มองว่ามันเป็น exhibition เหมือนเราเดินเข้าไป แล้วให้คอนเทนต์มันกระทำกับเรา ไม่ได้เอามาเพื่อ disrupt เฟซบุ๊ก แต่ให้คอยอยู่ข้างๆ เป็นเงา ตั้งแต่โลโก้ก็บอกอยู่ ทีท่ามันคือการอยู่ข้างๆ ให้เรามองมาเห็นพื้นสีดำข้างหลังบ้าง หรือถ้าจะทำต่อ ก็คงรอดูว่า เฟซบุ๊กจะเปลี่ยนไปยังไง กูก็จะล้อตาม (หัวเราะ)

พี่บอมบ์ : อีกอย่างเราคิดว่า ถ้าให้ดีกว่านี้ ต้องพาคนไปเยียวยา ไปเจอวิธีแก้ไขปัญหาเรื่องความทุกข์จริงๆ เช่น คอร์สเรื่องการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) เพราะปัญหาอย่างหนึ่งคือ ในสังคมเรา คนออกความเห็นกันเยอะ อย่างเวลามีคนมาระบายความทุกข์ให้เราฟัง เรายังไปตัดสินเขาว่า ทำอย่างนั้นสิ ทำอย่างนี้สิ มันก็เลยกลายเป็นว่า คนฟังไม่ได้เข้าใจจริงๆ เพราะบางทีคนทุกข์เขาต้องการแค่มาฟังหน่อย คอยอยู่ข้างๆ นะ ไม่ต้องตัดสิน ซึ่งมันเป็นวิธีที่ทำให้เขารู้สึกว่า เขามีตัวตน และเขาจะสบายใจขึ้น ไม่ว่าจะทุกข์ยังไง ก็ยังมีคนยอมรับ

“มีคนเคยแซวว่า ถ้าคนไปอ่าน Facetook เยอะๆ จะยิ่งหดหู่หรือเปล่า ส่วนตัวพี่ว่าไม่นะ มันออกจะดีด้วยซ้ำ ที่เราหันหน้ามาคุยเรื่องความทุกข์กันบ้าง มาให้กำลังใจกันบ้าง มันคือมุมน่ารัก มันคือความสวยงาม” – พี่เม้ง 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.