ไลฟ์สไตล์กรีน บอนไซ Tentacles N22 ต้นไม้ในบ้าน - Urban Creature

ก่อนหน้าเวิร์กช็อปทำ ‘บอนไซ’ ฉันรู้จักมันคร่าวๆ ว่าเป็นการเพาะเลี้ยงต้นไม้จากกระถางใหญ่สู่กระถางเล็ก ฟังดูไม่ต่างจากการที่โดเรมอนใช้ไฟฉายย่อส่วนต้นไม้ในสวนใหญ่ให้เป็นสวนขนาดกะทัดรัด

ถ้าให้เปรียบเปรยแบบติดตลก นิยามความสัมพันธ์ของฉันกับบอนไซไม่ต่างจากเพื่อนที่ไม่สนิท รู้จักกันผ่านๆ ทักทายบ้างตามโอกาส แต่แอบไปกระซิบบอกคนสนิทบ่อยๆ ว่าเจ้าบอนไซนี่น่ารักใช่ย่อยนะ!

จนมาถึงวันที่ได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปปลูกบอนไซกับ พี่ปัน-ปัญจพล นาน่วม ผู้หลงใหลบอนไซมาแล้ว 6 ปี ณ สตูดิโอ Tentacles N22 แหล่งรวบรวมเวิร์กช็อปศิลปะและงานคราฟต์ ที่ทำให้ฉันได้รู้จักบอนไซแบบลึกซึ้งมากขึ้น เพราะการทำมันแต่ละขั้นตอนต้องพิถีพิถันไปอย่างช้าๆ และเรียบง่าย (ก็ไม่ง่ายมากแต่ก็ไม่ยากขนาดนั้น)

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับฉันระหว่างทำความรู้จักบอนไซกลับน่าประหลาดใจเพราะ ‘บอนไซ แกทำให้คนฟุ้งซ่านอย่างฉันมีสมาธิขึ้นได้ว่ะ’

สายตาที่จดจ่อบอนไซตั้งแต่ลงมือปลูก ลงมือตัดแต่ง ลงมือย้ายกระถาง และลงมือดูแลมัน ทำให้ฉันไม่แปลกใจว่าสมญานามของบอนไซที่เป็น ‘ต้นไม้แห่งจิตวิญญาณ’ มาได้อย่างไร เพราะมากกว่าเป็นต้นไม้สง่างามในกระถาง กลับใส่วิญญาณของคนทำลงไปด้วยอย่างเต็มเปี่ยม

เมื่อบทความชิ้นนี้เผยแพร่แล้ว ฉันหวังลึกๆ ว่าคุณจะได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่ชื่อ ‘บอนไซ’ ผ่านเวิร์กช็อปนี้ และหาความสงบเล็กๆ ให้ตัวเองได้

01 BON = กระถาง, SAI = ต้นไม้

“อาจารย์คนแรกที่สอนผมทำบอนไซคือหลวงพี่ในวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เพราะครั้งแรกที่ผมรู้จักบอนไซคือตอนบวชหลังจากเรียนจบใหม่ๆ เมื่อมีเวลาว่างหลังจำวัด แก๊งหลวงพี่จะชวนกันไปทำบอนไซที่แทบจะเป็นไม้ประดับคู่วัด ซึ่งบอนไซดึงดูดผมอย่างแรง มันต้องใช้เวลาดู ใช้เวลาตกแต่ง และใช้เวลาถนอมเขาอย่างดี จนผมไม่ได้มองเขาเป็นต้นไม้ แต่มองมันเป็นชีวิต เป็นวิญญาณ”

ช่วงเวลาก่อนลงมือทำ พี่ปันเล่าเรื่องบอนไซให้ฉันฟังด้วยแววตาเป็นประกายตลอดเวลา เขาบอกว่า บอนไซต่างจากต้นไม้ทั่วไปตรงที่ได้รูปทรงต้นไม้ใหญ่ในป่าจริงๆ แต่ย่อลงมาให้อยู่ในรูปแบบที่จัดการได้ ควบคุมได้ นอกจากนี้ ยังได้ใช้สุนทรียศาสตร์ จินตนาการในหัวได้ว่าอยากให้ต้นไม้ตรงหน้ามีลักษณะแบบใด โดยมีแนวคิดหลักมาจากภูมิทัศน์ภาพเขียนพู่กันจีน

“ไม้กระถางทั่วไป เราจะปล่อยให้โตเองเรื่อยๆ ไร้รูปทรงชัดเจน แต่บอนไซเราได้คิดแต่แรกว่าอยากเห็นมันอยู่ในฟอร์มไหน เช่น ทรงตกกระถาง จำลองมาจากต้นไม้ที่กำลังเอนตกหน้าผา ทรงลู่ลม จำลองต้นไม้ที่โดนลมพัดแรง หรือทรงเกาะหิน จำลองต้นไม้ที่โตบนโขดหิน ซึ่งต้องเพาะเมล็ดให้เกาะอยู่บนหินและรั้งลวดไว้ จะเห็นว่าเราสามารถบังคับมันให้เป็นไปตามจินตนาการด้วยการค่อยๆ ตอนกิ่ง พันลวด ที่ต้องใช้ความใจเย็น เพราะเรากำลังทำงานกับสิ่งมีชีวิต”

พี่ปันอธิบายว่า บอนไซเป็นศิลปะที่สืบทอดกันมากว่าพันปี พบครั้งแรกจากภาพเขียนในสุสานช่วงราชวงศ์ถัง และมีภาพเขียนทางพุทธศาสนาบ่งบอกว่าบอนไซได้เดินทางมาถึงญี่ปุ่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 โดยแพร่หลายในหมู่นักปราชญ์ จนพัฒนามาเป็นที่นิยมของคนญี่ปุ่นอย่างยาวนาน

ต้นไม้ที่นิยมนำมาทำบอนไซมักเป็นตระกูลสนซึ่งเป็นไม้อายุยืนอยู่ได้ 100 – 200 ปี เพราะหากใช้ไม้ล้มลุก ปลูกไปแป๊บเดียวอาจตายได้ ต้องเป็นไม้ใบละเอียดติดๆ กัน สามารถเลี้ยงกลางแดด และมีกิ่งก้านสมบูรณ์


02 เตรียมอาวุธ

มา! ถึงเวลาเรียนรู้วิชาบอนไซ 101 ไปพร้อมๆ กันแล้ว

สิ่งที่ต้องเตรียม :
1. ต้นสนเลื้อย-เนื้อเหนียว ไม่เปราะง่าย และยืดหยุ่นกว่าไม้ทั่วไป แถมมีใบละเอียดตามสไตล์บอนไซ แม้ตอนแรกจะรกสุดๆ แต่ไม่ต้องตกใจไป จัดการมันได้แน่นอน 

2. ดินอาคาดามะ-ดินอบญี่ปุ่น โปร่งกว่าดินทั่วไป และระบายน้ำได้ดี

3. มอส-ไว้คลุมหน้าดินไม่ให้รากโดนแสง

4. กระถางต้นไม้จากดินเทอราคอตตา-เตรียมไว้ 2 ใบ ใบแรกใช้รองกระถางต้นไม้ ควรมีรูขนาดใหญ่ที่ก้นกระถางสำหรับรั้งลวด ส่วนอีกใบใช้สำหรับลงต้นไม้ ยิ่งกระถางเล็กยิ่งน่ารัก ถ้าใหญ่จะดูไม่ออกว่ามันย่อส่วนอย่างไร

5. ลวดอะลูมิเนียมชุบทองแดง-เตรียมไว้ทั้งเบอร์ใหญ่และเบอร์เล็ก เป็นลวดที่ยืดหยุ่น บิดได้ และไม่เป็นสนิม 

6. กรรไกรและคีมตัดกิ่ง

อุปกรณ์ทั้งหมดนี้หาซื้อง่ายๆ ตามร้านต้นไม้หรือสวนจตุจักรได้เลยไม่ต้องกังวล


03 มาสนิทกับบอนไซกันเถอะ

เพื่อนใหม่ที่ชื่อ ‘บอนไซ’ ตั้งอยู่ด้านหน้าฉันเรียบร้อย คุณปันบอกให้ฉันสำรวจเพื่อนใหม่ต้นนี้ว่ามีลักษณะแบบใด แล้วจะนำมันลงปลูกกระถางเล็กในรูปทรงไหนดี

ต้นใหญ่ กิ่งแข็งแรง ใบรกขึ้นถี่ หากไม่ระวังอาจเผลอเจ็บมือโดยไม่รู้ตัว จึงต้องค่อยๆ ระมัดระวังในการทำความรู้จัก นี่ไงได้แล้วข้อคิดแรก “ค่อยๆ เรียนรู้กันไป อย่ารีบจนเจ็บตัว” 

หลังจากสำรวจภายนอกคร่าวๆ พี่ปันแนะให้นึกภาพในหัวว่าอยากทำบอนไซทรงไหน ครั้งนี้ฉันเลือกทำทรงตกกระถาง ซึ่งพี่ปันบอกว่าไม่ยากสำหรับมือใหม่ จึงต้องจับดูว่าอยากเก็บกิ่งไหนเป็นกิ่งหลักที่เป็นกิ่งด้านหน้าซึ่งลาดลงเหมือนตกกระถาง และกิ่งรองหรือกิ่งด้านหลังที่เชิดเข้าหาแสง (ในหัวฉันคิดถึงสไลเดอร์เป็นอันดับแรก) หลังจากนั้นก็เริ่มตัดกิ่งตั้งแต่โคนนอกเหนือจากสองกิ่งที่เลือกได้เลย

ป.ล. ไม่ต้องกลัวว่าน้องกิ่งแต่ละอันที่ตัดไปจะตายนะ มันยังไม่ตาย! พี่ปันบอกว่า สามารถตัดปลายเฉียงๆ แล้วแช่น้ำยาเร่งรากไว้ข้ามคืน น้องจะแตกรากออกมาและนำไปลงดินปลูกต่อได้

ข้อคิดอย่างที่ 2 ระหว่างตัดกิ่งออกให้โปร่งที่สุด คือบอกตัวเองในใจว่าออกกำลังกายบ้างนะ เรี่ยวแรงแทบไม่มี เพราะสองมือที่กำลังตัดฉับ ฉับ ฉับ ชิดโคนจนได้ทรง ต้องออกกำลังประมาณหนึ่ง ซึ่งเป็นอย่างที่พี่ปันพูดไว้เลยว่าต้นไม้ที่ถูกเลือกเป็นบอนไซต้องแข็งแรง 

เมื่อขั้นตอนคัดกิ่งหลัก 2 กิ่งผ่านไป ถึงเวลาที่ต้องโฟกัสสัดส่วนที่แคบลงมาหน่อย นั่นก็คือ ‘กิ่งย่อย’ ของกิ่งหลักทั้งสองฝั่ง วิธีการคือแหวกใบบนกิ่งให้แยกเป็นซ้ายขวา แล้วตัดใบที่ขึ้นด้านบนและด้านล่างกิ่งให้หมด จนเหลือแค่ใบด้านข้างราวกับเป็นทางเดินโปร่งที่ขนาบไปด้วยใบสีเขียว

ต่อมาให้ตัดกิ่งที่ขึ้นติดกันออก ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ ก็ตัดให้เป็นแนวขั้นบันไดนั่นแหละ ค่อยๆ ตัดซ้าย ขวา ซ้าย ขวาไปไม่ต้องรีบ หรือจะตัดคู่ขนานไปก็ได้นะ แล้วแต่เราเลย ซึ่งการตัดให้ไม่ชิดกันจะทำให้เห็นดีเทลของกิ่งมากขึ้น ในตอนนี้แม้ใจจะกลัวตัดแหว่งจนมือสั่น แต่พี่ปันก็เรียกสติของฉันเสมอว่า “ไม่ต้องสมบูรณ์ก็ได้ ความงามมันไม่มีผิดมีถูก” 

จริงด้วยแฮะ

เมื่อเก็บรายละเอียดทั้งกิ่งหน้าและกิ่งหลังแล้ว ก็ถึงเวลาโฟกัสจุดที่เล็กไปกว่ากิ่งย่อยอีก นั่นก็คือ ‘ใบ’

สิ่งที่ต้องทำคือ แต่งใบ โดยการตัดใบให้เข้ารูปมากที่สุด โดยเลือกตัดเฉพาะใบที่ชิดโคนกิ่งออกให้หมด เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และง่ายต่อการเข้าลวด แต่ขั้นตอนนี้ต้องระวังหน่อย เพราะถ้าเผลอสติหลุด มือลั่น อาจตัดใบไปทั้งกิ่งเลยก็ได้ ฉันจึงใช้เวลาเพ่งสมาธิกับมันอยู่พอควร

วินาทีที่ฉันวางคีมลงบนโต๊ะ และถอยหลังมาดูภาพกว้างไม่กี่ก้าว ก็พบว่าต้นไม้รกที่ตอนแรกมองไม่เห็นรูปทรง กลับโล่งสบาย ใจฉันตอนนั้นก็เช่นกัน สบายใจจัง

เพื่อไม่ให้เสียเวลา ฉันไม่รีรอทำขั้นตอนถัดไปทันที ขั้นตอนนี้คือ ‘การเข้าลวด’ โดยตัดลวดอะลูมิเนียมชุบทองแดงเบอร์ใหญ่ยาวเผื่อไว้โดยประมาณ เริ่มขึ้นลวดจากโคนต้นไม้ก่อน โดยซ่อนลวดไว้ข้างหลังเพื่อหลบสายตา เกี่ยวมันในลักษณะคล้ายเบ็ดตกปลา กดมันไว้แล้วค่อยๆ ม้วนขึ้นไปให้กระชับ โดยเว้นระยะห่างให้ดูไม่ชิดกันเกินไป แล้วพาดลวดมาบริเวณกิ่งหลัก ม้วนต่อไปจนสุดปลาย ที่สำคัญคือห้ามทับใบ พยายามหลบหลีกใบให้ได้มากที่สุด หากลวดหมด ให้ตัดลวดเพิ่ม แล้วขึ้นลวดใหม่ให้ขนานกับลวดเดิม ซึ่งพี่ปันแนะว่าถ้าอยากให้กระชับให้เริ่มขึ้นลวดไกลๆ จากส่วนที่กำลังจะม้วน

ระหว่างการม้วนลวด แน่นอน มีตะกุกตะกักอยู่แล้ว บางช่วงอาจจะถี่ไปบ้าง แต่บางช่วงก็ห่างกำลังสวยน่าพอใจ ข้อคิดในช่วงเวลานี้คือถ้าทำผิดพลาดกับบอนไซต้นนี้ ต้นหน้าก็มีโอกาสผิดน้อยลง

พอม้วนจนใกล้สุดปลาย ให้หยุดม้วนแล้วซ่อนมันเป็นทางตรง เพื่อเว้นส่วนพุ่มไม้ตรงปลายให้เป็นเมฆปุยๆ เช่นเดียวกับใบฝั่งซ้ายขวาที่เราแยกไว้ก่อนหน้า จากนั้นให้ใช้ลวดเบอร์เล็ก ตัดไม่ยาวมาก ขึ้นลวดจากตอของกิ่งเล็กที่แยกออกมา แล้วม้วนขนานขึ้นไปอย่างเบามือ ไม่ต้องแน่น เอาให้พอควบคุมใบให้แยกฝั่งซ้ายขวาชัดเจนเป็นพอ

04 พาเธอกลับบ้าน

ใช้เวลากับเพื่อนต้นนี้มาเกือบ 3 ชั่วโมง ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ทิ้งบาดแผลไว้ตามนิ้วบ้าง หยาดเหงื่อบ้าง แต่เราสองคนแลกเปลี่ยนพลังงานดีๆ ผ่านทุกขั้นตอนที่แสนพิถีพิถัน 

บอนไซรู้ว่าฉันเป็นคนแรงน้อย ขี้หงุดหงิดในบางครั้ง ขี้กลัวในบางที แต่ไม่คิดจะล้มเลิกความตั้งใจ

ฉันรู้ว่าบอนไซเป็นต้นไม้ที่แข็งแรง มีเกราะป้องกันในการทำความรู้จัก จนเผลอทำฉันเจ็บตัวไปบ้าง แต่พอสนิทกันมากขึ้นก็ใจดีและมอบความสดชื่นให้แก่ฉัน

แสงแดดอ่อนๆ ยามเย็นพาฉันยกบอนไซมานอกสตู พี่ปันช่วยฉันนำต้นไม้ใหญ่ลงกระถางเล็ก โดยรดน้ำให้ดินคลายตัว แล้วค่อยๆ ดึงรากฝอย และกากมะพร้าวออก แต่อย่าดึงรากแก้วแข็งๆ ออกเด็ดขาด ไม่งั้นน้องจะตาย

กระถางบอนไซชิ้นแรกที่มีรูตรงกลางไว้ใส่ลวดสำหรับยึดกิ่งหลักให้โน้มลงมากขึ้น จัดเตรียมไว้พร้อมกับกระถางบอนไซที่นำต้นลงไปเรียบร้อย เพียงจับลวดมาพันกับกิ่งหลักที่ต้องการให้ลาดลงตามรูปทรงตกกระถาง ก่อนจะเทดินอาคาดามะลงให้เต็มโดยไม่เหลือช่องว่าง ปูมอสทับทั่วพื้นที่ราวกับเป็นสนามหญ้าย่อมๆ แล้วกดมันให้แนบ เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

เย่!

หลังจากนี้พี่ปันบอกวิธีการดูแลไว้ว่าให้พักบอนไซไว้ที่ร่ม ไม่ให้โดนแดด 4 วัน แล้วใช้ฟ็อกกี้ฉีดมอส เมื่อเลย 4 วันไปแล้ว ให้ตั้งกลางแดดเฉพาะครึ่งเช้า และรดน้ำให้ชุ่มจนน้ำซึม 

“ฝากดูแลมันด้วยนะ” พี่ปันฝากฉัน

แน่นอน ฉันรับปาก เพราะตอนนี้บอนไซกับฉันเป็นเพื่อนสนิทกันแล้วแหละ

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.