หลายครั้งที่การชุมนุมประท้วงหรือการต่อต้าน มักถูกฉายด้วยภาพจากฝั่งรัฐว่าเป็นการกระทำที่ผิดปกติ ก่อให้เกิดความวุ่นวาย จนประชาชนทั่วไปติดภาพของการออกมาชุมนุมว่าเป็นสิ่งที่เลวร้าย ทั้งที่จริงแล้วในรัฐธรรมนูญไทยหลายฉบับต่างรับรองเสรีภาพในการชุมนุมว่าเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงมี เพื่อให้การชุมนุมเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้สื่อสารความต้องการของตัวเองออกมาได้
และในการชุมนุมประท้วงเหล่านี้เอง สิ่งที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงเจตจำนงอย่างมีศิลปะและความคิดสร้างสรรค์แต่คงไว้ด้วยความตรงไปตรงมา เพื่อให้สารหรือข้อเรียกร้องมีพลังและไปถึงผู้คนที่หลากหลายมากขึ้น นั่นก็คืออุปกรณ์ เครื่องแต่งกาย หรือวัตถุพยานอื่นๆ ในช่วงเวลานั้นๆ
เพื่อรวบรวมวัตถุพยานที่หลงเหลือจากเหตุการณ์การชุมนุมเอาไว้ ‘พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of Popular History’ จึงได้ร่วมมือกับ ‘พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ โดยมี ‘KINJAI CONTEMPORARY’ เป็นผู้จัดร่วมและออกแบบจนเกิดเป็นนิทรรศการ ‘วัตถุพยานแห่งการต่อต้าน (Evidences of Resistance)’ ขึ้น
ภายในจะจัดแสดงวัตถุพยานสำคัญของความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐ รวมไปถึงวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และอารมณ์ขันของผู้ชุมนุม ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียดจนเหมือนไร้ซึ่งความหวัง เพราะสำหรับประชาชนมือเปล่าที่ไร้อำนาจและอาวุธ ความคิดสร้างสรรค์จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญเพียงไม่กี่อย่างที่พวกเขาใช้ได้
นิทรรศการ ‘วัตถุพยานแห่งการต่อต้าน’ จัดขึ้นที่ห้อง 112 พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ม.ธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 26 พฤษภาคม 2566 โดยเปิดให้เข้าชมได้ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.30 – 15.30 น. (ปิดทำการทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)