ถอดแนวคิด “เมืองคาร์บอนต่ำ” ชั้นนำเอเชีย - Urban Creature

เมื่อวิกฤต “โลกร้อน” รุนแรงขึ้นเป็น “โลกเดือด” ยังมีสัญญาณที่ดีที่หลายประเทศเริ่มหาวิธีเปลี่ยนให้ ‘เมือง’ ศูนย์รวมของผู้คนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ช่วยแก้วิกฤตดังกล่าว พร้อมทำให้คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้ ด้วยแนวคิดการพัฒนา ‘เมืองคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon City)’ ซึ่งหมายถึง เมืองที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สาเหตุสำคัญของภาวะโลกเดือด ไม่ว่าจะมาจากกิจกรรมของภาคธุรกิจหรือการใช้ชีวิตของผู้คน

วิธีการสร้าง ‘เมืองคาร์บอนต่ำ’ ทำได้หลากหลาย แต่ต้องอาศัยการ “ร่วม-เร่ง-เปลี่ยน” ด้วยกัน ตั้งแต่ ‘ภาครัฐ’ ที่ต้องออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม วางผังเมืองที่เอื้อให้คนเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยมีระบบขนส่งสาธารณะครอบคลุม หรือสร้างแรงจูงใจให้คนเลือกอุปโภคบริโภคได้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ‘ภาคเอกชน’ ที่ต้องใช้หลัก ESG (Environmental, Social, Governance) ดำเนินธุรกิจ เช่น ลงทุนในเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ก่อสร้างโดยใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือเพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและยั่งยืน รวมทั้ง ‘ประชาชน’ ที่ต้องตระหนักรู้และมีส่วนร่วมลดการสร้างคาร์บอนในชีวิตประจำวัน

ภายในงาน ‘ESG Symposium 2023 : ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ’ ที่ SCG และพาร์ทเนอร์หลายภาคส่วนจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีผู้นำจากหลายประเทศชั้นนำในเอเชียมานำเสนอวิธีการสร้าง ‘เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ’ ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่ง Urban Creature จะพาไปเรียนรู้ เพื่อถอดแนวคิดที่เป็นประโยชน์ไปปรับใช้ให้ชีวิตของเราและโลกดีขึ้นไปพร้อมกัน

‘จีน’ ผู้นำด้านเทคโนโลยีที่ใช้นวัตกรรมและทุนสีเขียวสร้าง Low-Carbon City

ESG Symposium 2023

แม้จะเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่รองรับความต้องการทั่วโลก 

แต่จีนก็ให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจก ควบคู่การพัฒนาเมืองให้เติบโตแบบ Low Carbon
พร้อมดำเนินนโยบายอื่น ๆ เพื่อไปสู่เป้าการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2060

หนึ่งหัวใจสำคัญ คือ ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ที่ ‘Dr.Xu Qigong’ รองประธานสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจีน (CRAES) เล่าถึงการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้ประเทศไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน 

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงานสีเขียว โรงงาน Net Zero การทำงานร่วมกันของกลุ่มนวัตกรรม เพื่อให้การทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เดินหน้าควบคู่กับความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนและสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่างเช่นก่อนหน้านี้ จีนได้มีมาตรการจัดการมลพิษทางอากาศที่ทำให้ท้องฟ้าเมืองปักกิ่งในปี 2013 ที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศที่ร้ายแรงกลายเป็นท้องฟ้าที่ใสสะอาด ด้วยการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้รู้ถึงแหล่งที่มาของมลพิษทางอากาศ และหาวิธีจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภายในงาน ‘ESG Symposium 2023’ ยังมี ‘Luo Zhigang’ ตัวแทนจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ของจีน (Chinese Academy of Sciences : CAS) มาอธิบายถึงการส่งเสริมโครงการนำร่องที่ทำให้เมือง “กวางโจว” ศูนย์กลางการค้าและระบบการคมนาคมขนาดใหญ่ที่สำคัญของโลก กลายเป็น Low-carbon City อีกหนึ่งแห่งในจีน 

โดยสนับสนุน ‘Carbon Market’ หรือตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต ที่ทำให้ก๊าซเรือนกระจกลดลงด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด ด้วยการนำเทคโนโลยี Blockchain มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

ขณะเดียวกัน ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน ยังสนับสนุนการจัดหาเงินทุนแบบต้นทุนต่ำให้สถาบันการเงิน เพื่อช่วยเหลือองค์กรต่าง ๆ ในการลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงชี้แนะการจัดหาเงินกู้สำหรับดำเนินการนโยบายนี้ให้องค์กรที่อยู่ในพื้นที่สำคัญของการลดการปล่อยคาร์บอนอีกด้วย

‘Nusantara’ เมืองหลวงใหม่ ‘อินโดนีเซีย’
คงความหลากหลายทางธรรมชาติ ควบคู่การยกระดับชีวิตคน

ESG Symposium 2023

ข้ามมาที่ฝั่งอาเซียนบ้าง ซึ่ง ‘Dr.Dino Patti Djalal’ Founder of Foreign Policy Community of Indonesia (FPCI) เล่าว่า อินโดนีเซียมีแผนสร้างเมืองและประเทศที่ยั่งยืน ด้วยการใช้เทคโนโลยี เศรษฐกิจหมุนเวียน และแนวทางอื่น ๆ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการกู้โลกเดือด

อย่างการย้ายเมืองหลวงจาก ‘จาการ์ตา’ สู่ ‘นูซันตารา (Nusantara)’ เพราะเมืองเดิมนั้นมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจกับส่วนภูมิภาค การจราจรติดขัด พื้นดินยุบตัวเพราะการสูบน้ำประปา มีมลพิษทางอากาศ รวมถึงมีความกังวลว่าในอนาคตเมืองแห่งนี้อาจจมน้ำได้ 

โดยเมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซียนี้มีพื้นที่ราว 2,000 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าจาการ์ตากว่า 3 เท่า แต่มีการวางแผนใหม่ ให้ 25% เป็นพื้นที่เมือง และอีก 75% เป็นพื้นที่สีเขียว พร้อมผสานความหลากหลายทางธรรมชาติของเกาะบอร์เนียวที่เป็นแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์ป่าสำคัญเข้ากับการพัฒนาเมือง  ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘เมืองอัจฉริยะสีเขียว’ ให้อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และมุ่งใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2060 ด้วย

เปลี่ยน ‘กรุงเทพฯ’ เพิ่มพื้นที่สีเขียว และสร้างความเข้าใจว่าโลกเดือดแก้ได้ด้วยเรา 

ESG Symposium 2023

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ มองว่าสิ่งสำคัญของการเปลี่ยน ‘กรุงเทพมหานคร’ สู่การเป็น Low-Carbon City คือ ‘ทุกคน’ ต้องตระหนักรู้ถึง ‘ความจำเป็นเร่งด่วน’ ในการเปลี่ยนแปลงเสียก่อน เพราะเมื่อพูดถึงแนวคิด ESG อาจจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับองค์กรใหญ่ แต่หากพูดถึง Net Zero หรือ Carbon Neutrality กับชาวบ้านทั่วไปก็อาจเป็นเรื่องไกลตัวของกลุ่มคนเหล่านี้

กทม. จึงส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลระดับพื้นฐาน อย่างการให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะในชุมชนและโรงเรียนสังกัด กทม. เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการรีไซเคิลในเบื้องต้น และทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวผู้คนมากขึ้น

และปี 2024 ก็มีแผนการลดคาร์บอน ด้วยการเปลี่ยนรถเก็บขยะของ กทม. เป็นรถ EV การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองให้มากขึ้น รวมไปถึงการเตรียมเปลี่ยนไปใช้รถเมล์ไฟฟ้าภายใน 7 ปีอีกด้วย โดย กทม. มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลง 19% ในปี 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050

‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ นำร่องเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย

ESG Symposium 2023

นอกจากกรุงเทพฯ ประเทศไทยยังนำร่องปลุกปั้นเรื่องนี้ในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย นั่นคือ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ที่เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในรูปแบบของ ‘Public-Private Partnership: PPP’ ที่จะขับเคลื่อนเมืองและเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว เกษตรคาร์บอนต่ำ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ด้วยความที่สระบุรีมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมหนัก การเกษตร การท่องเที่ยว และเป็นศูนย์รวมของผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัยมากมาย จึงสามารถเป็นตัวแทนของไทย ในการทำโครงการย่อยเพื่อศึกษาปัจจัยความสำเร็จและข้อจำกัดต่าง ๆ ในการเปลี่ยนสู่เมืองคาร์บอนต่ำได้ 

โดยปัจจุบันมีความร่วมมือที่เกิดขึ้นแล้วมากมาย เช่น การกำหนดใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำในทุกงานก่อสร้างของจังหวัดสระบุรีตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป การทำนาเปียกสลับแห้งเพื่อช่วยลดการใช้น้ำ การปลูกพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์ที่นำมาผลิตก๊าซชีวภาพสำหรับผลิตไฟฟ้า การติดโซลาร์ในพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ รวมถึงการปลูกป่าชุมชน 38 แห่งทั่วจังหวัด เพื่อช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้ให้ชุมชน

หากผลลัพธ์เป็นไปในทางที่ดี ต้นแบบของจังหวัดนี้ก็จะถูกนำไปปรับใช้กับจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศ เพื่อเปลี่ยนให้ไทยกลายเป็น ‘ประเทศคาร์บอนต่ำ’ ได้ในที่สุด

ความร่วมมือคือหัวใจ ดัน ‘โยโกฮามา’ เมืองท่าสำคัญ สู่ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ

ESG Symposium 2023

นอกจากรายชื่อประเทศที่กล่าวมาบนเวที ‘ESG Symposium 2023’ ยังมีเมืองใหญ่อย่าง ‘โยโกฮามา’ ประเทศญี่ปุ่น ที่นับเป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำระดับโลกที่เราอยากแนะนำให้รู้จักอีกด้วย

ตั้งแต่ปี 2008 โยโกฮามาได้จัดตั้ง ‘Climate Change Policy Headquarters’ เพื่อเร่งรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยบูรณาการนโยบายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 24% ในปี 2030 และ 80% ในปี 2050 ด้วยการปรับปรุงการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งติดตั้งระบบการรายงานข้อมูลการใช้พลังงาน 

นอกจากนี้ โยโกฮามายังเป็นอีกหนึ่งเมืองที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จด้านการจัดการขยะ โดยเริ่มต้นจากการปลูกฝังความรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนในการแยกขยะ ก่อนจะนำขยะเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการจัดการต่าง ๆ รวมไปถึงการรีไซเคิล ที่นอกจากจะช่วยลดขยะแล้ว ชาวเมืองยังได้รับสิ่งของใหม่ ๆ จากขยะเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นทางเดินจากขยะ เสื้อจากไฟเบอร์ขวดน้ำ หรือแม้แต่พลังงานไฟฟ้าจากการเผาไหม้ขยะ

แม้ว่าโยโกฮามาจะเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ จนทำให้ดูเหมือนว่าการขอความร่วมมือจากชาวเมืองนั้นอาจเป็นไปได้ยาก แต่ความสำเร็จทั้งหมดเกิดขึ้นได้เพราะการประชาสัมพันธ์ให้ประชากรในเมืองมีความรู้ ความตระหนัก และความร่วมมือ ผ่านอีเวนต์แบบออฟไลน์ รวมถึงการให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ โยโกฮามาจึงกลายเป็นอีกหนึ่งเมืองที่ประสบความสำเร็จในการร่วมมือกันช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไม่ยากเลย

‘สิงคโปร์’ ประเทศที่ไม่หยุดพัฒนา
ทั้งความเจริญของเมืองและความเขียวของสิ่งแวดล้อม

ESG Symposium 2023

ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ ที่ขึ้นชื่อว่ามีความก้าวหน้าและมีการพัฒนาประเทศอยู่ตลอดเวลา ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในพื้นที่ต่าง ๆ การส่งเสริมการใช้รถสาธารณะเพื่อลดมลภาวะ รวมไปถึงโครงการ ‘Cooling Singapore’ โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อสร้าง ‘Digital Urban Climate Twin (DUCT)’ ในการลดอุณหภูมิทดแทนการทำความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ ตลอดจนการจัดการให้เมืองและพื้นที่สีเขียวอยู่ร่วมกัน ทำให้เราได้เห็นพื้นที่สีเขียวในหลาย ๆ ที่ เช่น บนดาดฟ้า สวนแนวตั้ง หรือแม้แต่พื้นที่เล็ก ๆ บนตึกสูงเกือบทุกที่ในประเทศเลยทีเดียว

สิงคโปร์ยังตั้งเป้า ‘Singapore Green Plan 2030’ ซึ่งเป็นแผนพัฒนาเมืองกับพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน ด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มกว่า 1 ล้านต้น เพิ่มพื้นที่สำหรับจักรยานให้มากขึ้น ยกเลิกรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลให้ได้ภายในปี 2025 ลดปริมาณขยะฝังกลบต่อครัวเรือนลง 30% และพัฒนาโครงสร้างการรีไซเคิลขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ มีความรับผิดชอบต่อขยะที่สร้างขึ้น รวมไปถึงตึกที่สร้างภายในปี 2030 จะต้องใช้พลังงานต่ำสุดตามมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนดด้วย 

เมื่อทั้งประเทศให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ทำให้กลุ่มนักลงทุนที่เริ่มทำธุรกิจใหม่ หรือมีธุรกิจในมือหันมาดำเนินงานโดยใช้แนวคิด ESG เป็นหลักด้วย เพราะไม่ใช่แค่มาตรการจากรัฐบาลเท่านั้น แต่ชาวสิงคโปร์โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับปัญหาโลกเดือดมากกว่าช่วงวัยอื่น ดังนั้น ธุรกิจที่จะไปต่อได้ก็ต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้ว่าจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือให้ประเทศพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นทุกด้านด้วย

ESG Symposium 2023

แม้การสร้างหรือพัฒนาให้เกิดเมืองคาร์บอนต่ำจะเป็นเรื่องใหญ่และต้องเริ่มวางแผนจากระดับนโยบายของภาครัฐ แต่สิ่งสำคัญกว่าก็คือ การที่พวกเราในฐานะประชากรของเมืองและโลก ลุกขึ้นมาร่วมผลักดันให้บ้านเมืองของเราดีขึ้นได้ 

เริ่มจากเรื่องง่าย ๆ อย่างการใช้รถขนส่งสาธารณะ เปลี่ยนมาใช้รถ EV การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ‘ใช้ให้คุ้ม-แยกให้เป็น-ทิ้งให้ถูก’ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน จนถึงการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG ที่ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ ก็เริ่มทำได้

ทั้งหมดนี้ ก็สามารถ ‘ร่วม-เร่ง-เปลี่ยน’ สู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อกู้วิกฤตโลกเดือดได้ด้วยเช่นกัน 

หากอยากดูแนวทางการ ‘ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ อื่น ๆ เพิ่มเติม  สามารถรับชม Live งาน ‘ESG Symposium 2023: Accelerating Changes towards Low Carbon Society’


Sources :
Carbon Neutral Cities Alliance | tinyurl.com/2rwvv3hr
Open Yokohama | tinyurl.com/wr8cw2h5
SCG I tinyurl.com/mhueu5mz 
Thai Biz SingaporeI tinyurl.com/4at4dnes 
Urban Creature I tinyurl.com/484sfy3n , tinyurl.com/54cuppj6 
Urban Redevelopment Authority I tinyurl.com/z55zm465
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) | tinyurl.com/3mbwtd3h

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.