ในยุคสมัยที่เรารับข้อมูลมากมายจากหลากหลายช่องทางตลอดเวลา อาจทำให้เราคิดว่าตัวเองได้มองเห็นและเปิดรับมุมมองที่แตกต่างมากกว่าที่เคย แต่แท้จริงแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมนุษย์มีความลำเอียงที่จะยืนยันความคิดของตัวเอง (Confirmation Bias) ที่ทำให้เราค้นหาและยอมรับข้อมูลที่สอดคล้องกับสิ่งที่คิดหรือเชื่ออยู่เดิม และสนับสนุนกลุ่มคนที่มีทัศนคติสอดคล้องกับตนเองได้อย่างง่ายดาย ในขณะเดียวกันก็ปิดกั้นหรือปฏิเสธข้อมูล และความเห็นต่างได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ Echo Chamber จึงเกิดขึ้น โดยภายในห้องแห่งเสียงสะท้อนนี้ คุณจะได้ยินแต่ข้อมูล ความคิด หรือความเชื่อหนึ่งซ้ำๆ โดยไม่ได้ยินเสียงของคนที่ตั้งคำถามหรือเห็นต่างเลย นอกจากในชีวิตออฟไลน์ที่เราอาจเลือกที่จะแวดล้อมตนเองไปด้วยคนที่มีความคิดสอดคล้องกับตนแล้ว สิ่งนี้ยังปรากฏให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ที่ระบบอัลกอริทึมช่วยกลั่นกรอง เสนอเนื้อหาที่ตรงกับความเชื่อของเรา และตีวงล้อมเราให้พบกับคนที่มีมุมมองเหมือนกับเรา ทำให้ความเชื่อและมุมมองของเราถูกตอกย้ำว่าเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียว และเชื่อไปว่าแนวคิดของตนเองถูกต้องที่สุด มันอาจกลายเป็นการสะสมความลำเอียงและอคติทางความคิดที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่ความคิดสุดโต่งและความรุนแรงกับผู้เห็นต่างได้
ลองดูเหตุการณ์ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บุกอาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 เป็นตัวอย่าง แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียฝ่ายขวาจัด เช่น Gab และ Parler มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์นี้ และใช้แฮชแท็ก #StoptheSteal ที่สื่อเป็นนัยว่าอีกฝ่าย ‘ขโมย’ ชัยชนะและตำแหน่งประธานาธิบดีไปจากคนที่พวกเขาสนับสนุน เพื่อปลุกระดมให้คนในฝั่งเดียวกันเข้าร่วมโดยไม่เปิดรับข้อเท็จจริงและความเห็นอื่นจากคนนอกกลุ่ม นำไปสู่โพสต์สนับสนุนให้พกปืนเข้าไปที่โถงของรัฐสภา ในที่สุดการเคลื่อนไหวทางออนไลน์ก็กลายเป็นความรุนแรงในโลกจริง
เหตุการณ์ลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับผลการวิจัย ‘ห้องแห่งเสียงสะท้อนออนไลน์กับผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562’ ในประเทศไทยที่พบว่า การติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กระดมคนที่สนใจในเรื่องเดียวกันและมีจุดยืนของความคิดทางการเมืองเดียวกัน ทำให้เกิดการ ‘สร้างกลุ่มก้อน’ นำไปสู่การประท้วง การสร้างกระแส หรือแสดงออกทางการเมืองร่วมกัน สื่อสังคมออนไลน์จึงสามารถกลายเป็นสังคมปิดแทนที่จะกระตุ้นให้เกิดเวทีเปิด (Forum) เพื่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างความคิดเห็นที่หลากหลาย
นอกเหนือจากประเด็นทางการเมืองแล้ว Echo Chamber ยังนำไปสู่ผลกระทบด้านสังคม เช่น กลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีนที่ได้รับข้อมูลผิดๆ มาว่าภูมิคุ้มกันหมู่จะช่วยป้องกันไวรัสโดยที่แต่ละคนไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน หรือกลัวว่าการพัฒนาวัคซีนอย่างรวดเร็วจะให้ผลข้างเคียงรุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับข้อมูลจากแหล่งที่แทบไม่มีการควบคุมอย่าง YouTube ซึ่งแนะนำวิดีโอตามประวัติการชมของผู้ใช้ ที่ยิ่งตอกย้ำความเชื่อเดิมให้ฝังแน่นยิ่งขึ้น
นอกจากข้อมูลเกี่ยวกับ Echo Chamber ที่กล่าวมาข้างต้น อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรากับอีกฝ่ายทำความเข้าใจกันและกันได้ยากมากขึ้นคือ ‘มลพิษทางข้อมูล’
รายงานโดย UNDP Oslo Governance Centre (OGC) อธิบายว่า ข้อมูลที่บิดเบือน ข้อมูลที่ผิด และข้อมูลเท็จ คือ ‘มลพิษทางข้อมูล (Information Pollution)’ ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งและการแตกแยก เพราะต่างคนต่างตัดสินใจโดยไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะคนใน Echo Chamber ที่ผลิตมลพิษทางข้อมูลออกมาเพื่อตอกย้ำความเชื่อของตัวเอง ส่วนความเห็นที่แตกต่างหรือต้องการโต้แย้งจะถูกกลบ ลบ หรือปิดกั้นให้หายไป ส่งผลให้สุดท้ายแล้วเราไม่อาจหาข้อตกลงที่เป็นข้อเท็จจริงร่วมกันในสังคมได้เลย
ปัจจุบันรัฐบาลทั่วโลกรับมือกับมลพิษทางข้อมูลที่เกิดขึ้นด้วยวิธีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายดำเนินคดี การจับกุม การตั้งกองกำลังเฉพาะกิจ และการส่งเสริมให้รู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ส่วนทางประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวปลอมคือ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ที่จัดตั้งโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1155 หรือ 1599
ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อตระหนักได้ว่าเราล้วนมี Echo Chamber เป็นของตัวเอง และห้องแห่งเสียงสะท้อนที่ว่านี้อาจไม่ได้มีเพียงห้องเดียว นี่อาจถึงเวลาแล้วที่ต้องตั้งคำถามว่าเราเชื่อถือข่าวสารต่าง ๆ ที่ได้รับ โดยไม่มีการตั้งคำถามหรือไม่ เราคัดกรองเนื้อหาและปิดกั้นความเห็นต่างจนเป็นความเคยชินหรือไม่ การรู้เท่าทันมลพิษทางข้อมูล ปรับทัศนคติให้เปิดใจรับฟัง มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่าง และตระหนักว่าควรตรวจสอบข้อมูลกับแหล่งข่าวหลาย ๆ ที่ก่อนเสมอ น่าจะเป็นหนทางที่ช่วยให้เราไม่ติดอยู่ใน Echo Chamber ของตัวเอง เริ่มรับฟังและเรียนรู้จากมุมมองที่แตกต่างมากขึ้น
.
Sources :
BSOS | shorturl.asia/KQvCV
MDPI | shorturl.asia/UWr3c
Royal Thai Government | shorturl.asia/uZUoz
SPSP | shorturl.asia/rZq5e
ThaiJO | shorturl.asia/0QIJw
The Guardian | shorturl.asia/QAYwf
UNDP | shorturl.asia/5EPuj, shorturl.asia/gmTR8
ThaiPublica | shorturl.at/gMT03