Delta Works วิศวกรรมป้องกันน้ำท่วมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก - Urban Creature

เคยเกริ่นกันไปแล้วถึงประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการป้องกันน้ำท่วมที่ดีที่สุดในโลก กับโปรเจคป้องกันน้ำท่วมยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อว่า Delta Works ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ที่สมควรค่าแก่การพูดถึงและศึกษามาก

เราจะย้อนกลับตั้งแต่ปี 1937 ซึ่งเป็นจุดแรกเริ่มของโครงการ Delta Works ทางรัฐมีวิจัยออกมาว่าหลายๆ พื้นที่ในเนเธอร์แลนด์นั้นไม่สามารถการันตีได้ว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยในสภาวะพายุกระหน่ำและน้ำทะเลหนุนสูง และเนื่องจากพื้นที่เหล่านี้คือพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นบริเวณปากแม่น้ำและริมแม่น้ำ Rhine, Meuse, และ Schelde การสร้างคันกั้นน้ำใหม่ หรือทำของเก่าที่มีอยู่แล้วให้แข็งแรงขึ้นนั้นไม่ใช่ออพชั่น จึงมีการเสนอให้มีการปิดปากแม่น้ำฝั่ง Western Schelde, Eastern Schelde, Haringvliet, และ Brouwershavense Gat ทั้งหมด ซึ่ง ณ ตอนนั้นโครงการนี้ถูกเรียกว่า “Deltaplan” โดยที่ในปี 1950 ปากแม่น้ำ Brieles’ Gat และ Botlek คือสองจุดแรกที่ถูกปิด เป็นการเริ่มต้นของโครงการ ซึ่งการปิดปากแม่น้ำนอกจากทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำอยู่ในระดับปลอดภัยแล้ว ยังทำให้ส่วนของแม่น้ำนั้นมีน้ำจืดใช้อีกด้วย. แผนต่อมาคือการทยอยสร้างเขื่อนในระยะเวลา 10 ปี แต่โชคร้ายที่ในปี 1953 เนเธอร์แลนด์เกิดอุทกภัยรุนแรงจากทะเลเหนือซะก่อน ซึ่งกระทบพื้นที่ถึง 150,000 เฮคเตอร์ คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 2,000 คน และกินเวลาไปร่วมเดือน

ผู้คนรวมถึงรัฐบาลเลยตระหนักถึงความรุนแรงและซีเรียสของปัญหาน้ำท่วมในประเทศ จนรู้สึกว่านี่เป็นปัญหาที่นิ่งนอนใจและรอไม่ได้อีกต่อไป ผ่านมา 20 วันหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนั้น หน่วยงาน Deltaplan ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแนะนำแนวทางก่อสร้างและปฏิบัติของโครงการ Deltaplan แก่รัฐบาลเพื่อแก้ไขและจัดการปัญหาป้องกันน้ำท่วมแบบระยะยาว โดยรับผิดชอบพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำทั้งหมด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความปลอดภัยคือเรื่องที่สำคัญที่สุด แต่เส้นทางทางทะเลบางเส้นยังคงต้องเปิดอยู่ เนื่องจากเป็นทางผ่านท่าสำคัญ อย่าง ports of Rotterdam and port of Antwerp. ฉะนั้นการที่จะสร้างเขื่อนปิดปากแม่น้ำนี้ จะต้องมีการสร้างเขื่อนแบบพิเศษเสริมขึ้นมาก่อนในบางจุด ซึ่งเรียกว่า ‘compartment dams’ ซึ่งมีหน้าที่แบ่งน้ำออกเป็น 2 ช่องใหญ่ๆ ตามคำว่า ‘compartment’ ได้ผ่านร่างกฏหมายอนุมัติการสร้างในปี 1959 ถือกำเนิดเป็นจุดเริ่มต้นเดินหน้าโครงการ Delta Works อย่างเป็นทางการ

The First Works

จุดแรกซึ่งอันที่จริงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Delta Works ที่ใช้งานอยู่ก่อนหน้าแล้ว ก็คือตัวกั้นพายุ (storm barrier) ในแม่น้ำ Hollandse Ijssel นอกจากจะป้องกันทิศตะวันตกอันหนาแน่นของเนเธอร์แลนด์แล้ว พอทางกั้นปากแม่น้ำของ 2 ฝั่งของแบริเออร์นี้ถูกปิดในเวลาต่อมา ทำให้น้ำในส่วนระหว่าง 2 ทางกั้นปากแม่น้ำนี้กลายเป็นน้ำจืดและกลายเป็นทะเลสาบ Veere ในปัจจุบัน

ประตูกั้นน้ำ Haringvliet และ เขื่อน Brouwers

ส่วนต่อมาคือประตูกั้นน้ำยาวเป็นแถวตรงปากแม่น้ำ Haringvliet ซึ่งมีหน้าที่ปล่อยน้ำส่วนเกินจากแม่น้ำลงทะเล และในหน้าหนาวประตูจะถูกเปิดเพื่อให้มีการไหลผ่านคงกระแสน้ำของแม่น้ำไว้ให้ไม่แข็งตัวเป็นน้ำแข็ง ซึ่งน้อยเวลานักที่จะมีการปล่อยน้ำทะเลเหนือเข้ามาในแม่น้ำ Haringvliet ยกเว้นในช่วงวิกฤต พอเขื่อน Haringvliet สร้างเสร็จในปี 1971 น้ำในแม่น้ำ Haringvliet ก็ค่อยๆ กลายเป็นน้ำจืด และเขื่อน Brouwers ทางใต้ของแม่น้ำ Haringvliet ก็สร้างเสร็จต่อมาหนึ่งปีให้หลัง

 Schelde ตะวันออก

ตามแผนเดิม ปากแม่น้ำ Schelde จะมีการสร้างประตูกั้นน้ำแบบปิด พร้อมกับเขื่อน เหมือนของแม่น้ำ Haringvliet แต่เนื่องจากน้ำในแม่น้ำ Schelde มีลักษณะพิเศษคือเป็นน้ำเค็มปนน้ำจืด ซึ่งเป็นแหล่งประมงเลี้ยงชีพของประชาชนแถบนั้น จึงมีการคัดค้าน ไม่อยากให้สร้างประตูกั้นน้ำแบบปิด และ เขื่อน ที่จะทำให้น้ำในแม่น้ำกลายเป็นน้ำจืดนิ่งๆ ส่งผลกระทบต่อชาวประมงมาก ซึ่งทางรัฐก็ตกลงที่จะสร้างประตูกั้นน้ำแบบเปิดแทนที่จะสร้างเขื่อน ซึ่งจะปิดเฉพาะเวลาที่พายุเข้าหนักๆ เท่านั้น ก่อเกิดเป็นประตูกั้นน้ำแบบเปิด 62 ช่อง กว้าง 40 เมตรต่อช่อง มีหน้าที่รักษากระแสน้ำในเวลาปกติ และป้องกันพายุคลื่นสูงจากทะเลเหนือในยามฉุกเฉิน ซึ่งประตูกั้นน้ำแห่งนี้คือหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีมูลค่าในการใช้งานสูงมากด้วย

ความสำคัญของ Delta Works

นอกจากจะชดเชยระยะคันกั้นน้ำเก่าไปถึง 700 กิโลเมตรแล้ว Delta Works ยังก่อเกิดประโยชน์อีกหลายอย่างเช่นเปลี่ยนสภาพน้ำให้กลายเป็นน้ำจืดซึ่งเกิดประโยชน์มากแก่การทำเกษตรกรรม, ปรับสมดุลของระดับน้ำในแม่น้ำแต่ละช่วงซึ่งทำให้การบริหารจัดการน้ำนั้นง่ายขึ้นมาก, ก่อให้เกิดเส้นทางการสัญจรไปยังเกาะและแหลมต่างๆ ละแวกนั้นจากการสร้างสะพานและอุโมงค์ใต้ดิน, สร้างเส้นทางขนส่งทางเรือระหว่างท่าเรือ Antwerp และ Rotterdam. นอกจากนั้น Delta Works ยังเป็นโครงการระยะยาวที่ยังมีการพัฒนา ต่อเติม ซ่อมแซม อยู่เรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่งเนื่องจากสภาวะโลกและสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกปี ปลายศตวรรษที่ 20 Delta Works ยังคลอดสิ่งก่อสร้างยักษ์ใหญ่ชื่อว่า ‘Maeslantkering’ หรือ ‘Maeslant Barrier’ ซึ่งเป็นแบริเออร์กั้นพายุที่หน้าตาสุดล้ำเหมือนพัดอันใหญ่ ควบคุมโดยระบบซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ซึ่งจะโอบแขนสองข้างปิดกั้นแม่น้ำออกจากกันเมื่ออยู่ในสภาวะเสี่ยง

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.